บีบีซีไทย - BBC Thai

อินเดียกับโครงการอวกาศเชิงพาณิชย์ที่กำลังเฟื่องฟู

โครงการอวกาศอินเดียกำลังน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ก็ทำให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำโครงการอวกาศเชิงพาณิชย์ที่มีต่างชาติให้ความสนใจใช้บริการเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล และช่วยหักล้างคำวิจารณ์เรื่องการทุ่มงบประมาณก้อนโตในโครงการนี้ทั้งที่อินเดียยังคงมีปัญหาความยากจนอยู่มาก

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา อินเดียได้ส่งจรวดนำดาวเทียม 8 ดวงขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันจากศูนย์อวกาศบนเกาะศรีหริโคตา ในรัฐอานธรประเทศ บริเวณชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย โดยดาวเทียมดังกล่าวประกอบไปด้วยดาวเทียมพยากรณ์อากาศของอินเดียเอง รวมทั้งดาวเทียมของต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา และแอลจีเรีย

ความสำเร็จครั้งนี้มีขึ้นหลังจากอินเดียเพิ่งจะสร้างสถิติปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกันรวดเดียวถึง 20 ดวงเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยดาวเทียมของอินเดีย 3 ดวง ส่วนที่เหลืออีก 17 ดวงเป็นของต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ต่างชาติว่าจ้างให้อินเดียนำขึ้นสู่วงโคจรแล้วถึง 79 ดวง สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4,200 ล้านบาท) นอกจากนี้ องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (Isro) ก็ยังบรรลุข้อตกลงที่จะนำดาวเทียมต่างชาติขึ้นสู่วงโคจรอีกหลายสิบดวงอีกด้วย

หลายฝ่ายมองว่าความสำเร็จในเชิงพาณิชย์นี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับอินเดียที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุ่มงบประมาณมหาศาลในโครงการอวกาศทั้งที่อัตราความยากจนและความอดอยากของประชากรในประเทศยังมีอยู่มาก ซึ่ง นาย เอ.เอส. กุมาร ประธาน Isro บอกว่าองค์กรของตนพยายามสร้างรายได้ให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐลงทุนไป

ประธาน Isro ชี้ว่า ความสามารถของอินเดียในการส่งดาวเทียมหลายดวงขึ้นสู่วงโคจรพร้อม ๆ กันในภารกิจเดียวนั้น ทำให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ เพราะปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติจำนวนมากต้องการส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ของตนขึ้นสู่วงโคจรแต่ไม่สามารถทำได้เองจึงต้องใช้บริการของหน่วยงานอย่าง Isro นอกจากนี้ การที่อินเดียสามารถให้บริการส่งดาวเทียมได้บ่อยครั้ง กล่าวคือ ปีละ 12 ครั้ง ก็ช่วยให้อินเดียได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นด้วย #IndianSpaceResearch




แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.