บีบีซีไทย - BBC Thai
ความหลากหลายของแบคทีเรียในอุจจาระ มีผลต่อปริมาณไขมันในช่องท้องคนเรา
งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน บ่งชี้ว่า ความหลากหลายของแบคทีเรียในอุจจาระ มีผลต่อปริมาณไขมันในช่องท้องของคนเรา โดยผู้ที่มีความหลากหลายของแบคทีเรียในอุจจาระมากก็จะยิ่งมีปริมาณไขมันในช่องท้องต่ำ ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และอาจช่วยอธิบายว่าเหตุใดโรคอ้วนจึงสามารถถ่ายทอดสู่คนในครอบครัวเดียวกันได้
ผลการศึกษาครั้งนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Genome Biology โดยทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างอุจจาระของฝาแฝด 3,600 คน เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในอุจจาระของอาสาสมัครเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมินโรคอ้วน เช่น ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และไขมันชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย
ผลปรากฏว่า อาสาสมัครที่มีความหลากหลายของแบคทีเรียในอุจจาระมากมักมีปริมาณไขมันในช่องท้องต่ำ ซึ่งไขมันประเภทนี้จะเกาะอยู่บริเวณหน้าท้องทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ดังนั้นผู้ที่มีไขมันในช่องท้องมากก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคเบาหวาน เพราะไขมันบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ตับอ่อน และลำไส้
ดร.มิเชล โบมอนต์ หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า แม้การศึกษาครั้งนี้จะพบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับความหลากหลายของแบคทีเรียในอุจจาระกับปริมาณไขมันในช่องท้อง อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ แต่สันนิษฐานว่า การที่แบคทีเรียในอุจจาระมีความหลากหลายน้อยจะทำให้ระดับของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ช่วยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นไขมันเพิ่มสูงขึ้น
ดร.โบมอนต์ ชี้ว่า จะต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดต่อไปเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าจุลินทรีย์ในลำไส้และในอุจจาระส่งผลต่อสุขภาพของคนเราอย่างไร โดยที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า แบคทีเรียในลำไส้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดโรคอ้วน ด้วยเหตุนี้ ดร.โบมอนต์ จึงแนะนำให้รับประทานอาหารหลากหลายประเภท เพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ #Obesity
แสดงความคิดเห็น