สัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ รัฐทุ่มกว่าพันล้านในปีหน้า ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ให้ล้ม-ลุก อย่างรวดเร็ว
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงโครงการ “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ แคมเปญ” ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขยับตัวมาส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าวิสาหกิจเริ่มต้น หรือที่ติดหูติดปากคนทั่วไปว่า “สตาร์ท อัพ” ในช่วงปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปถึงปี 2560 ที่จะถึง เพื่อส่งเสริม 8 ภาคธุรกิจ รวมถึงเจาะลงไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษากว่า 30 แห่งทั่วประเทศโดยมีเป้าหมายว่าจะเข้าถึงนักศึกษาหลักหมื่นคน
ดร.พันธุ์อาจอธิบายว่า “สตาร์ทอัพ” ที่จะได้รับการส่งเสริมจากรัฐภายใต้โครงการ “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ แคมเปญ” นั้นหมายถึงธุรกิจโตเร็วที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการเติบโตของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งจะต้องมีแผนการตลาดที่ชัดเจนเป็นไปได้
ส่วนสาเหตุที่รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมสตาร์ทอัพก็เพราะการปล่อยให้ธุรกิจดำเนินไปตามรูปแบบเดิมๆ ก็จะเป็นเรื่องของปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก และเป็นเรื่องยากที่ปลาเล็กจะเติบโตหรือรวมตัวไล่กินปลาใหญ่ได้ ซึ่งขณะนี้สตาร์ทอัพเมืองไทยยังไม่ได้มีจำนวนมากนัก แต่รัฐอยากเห็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดขึ้นให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมมีผู้ล้มหายตายจากมากตามไปด้วยเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่สนช. ให้ความสนใจก็คือ การส่งเสริมให้สตาร์ทอัพทั้งหลายได้เรียนรู้การบริหารจัดการความเสี่ยง
“หน้าที่ของรัฐคือทำให้มีตัวเลือกให้มากที่สุด รัฐมีหน้าที่สร้างเงื่อนไขทางธุรกิจที่มีคุณภาพระดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัย จากการอบรม จากกลไกที่รัฐสนับสนุน แต่ถ้ารัฐไม่ทำ เงินที่จะลงทุนสตาร์ทอัพในประเทศไทยก็จะไหลออกนอกประเทศเพราะเอกชนมีแนวโน้มลงทุนเฉพาะโครงการที่มีความเป็นไปได้แต่ความเสี่ยงต่ำ” ผู้อำนวยการ สนช. กล่าว
ดร. พันธุ์อาจกล่าวว่า การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ที่จะเริ่มต้นโมเดลธุรกิจนั้น ไม่ได้หมายความรัฐต้องการให้คนกระโจนเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จกันทุกราย เพราะในความเป็นจริงแล้วต้องมีคนล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ อันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยซึ่งมีค่านิยมของความสำเร็จที่ไม่ผ่านความล้มเหลว
“วิธีคิดว่าความล้มเหลวคือครูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คุณค่าในไทยนั้นมักจะไม่อยากล้มเหลว ที่ผ่านมาเด็กๆ ต้องเรียนพิเศษ อยากเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีๆ และอยากได้ทำงานที่ดี ๆ ไม่อยากล้มเหลว แต่ค่านิยมนี้เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน สตาร์ทอัพเป็นตัวเร่งตัวหนึ่ง แต่ไม่ใช่การขายฝันว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ รัฐไม่ได้ต้องการให้เด็กพวกนี้เป็นสตาร์ทอัพทั้งหมด แล้วไปให้เขาล้มเหลว แต่เราต้องสอนให้เขารู้ว่าความล้มเหลวเป็นครู และต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง”
ดร. พันธุ์อาจระบุว่า สำหรับปี 2560 นั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักนวัตกรรมแห่งชาติจะมีบทบาทเป็นผู้บริหารโครงการร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ, ภาคการเงิน หรือฟินเทค ซึ่งเป็นบริการการเงินที่เทคโนโลยีเข้ามาทำให้สะดวกสบายขึ้น, ภาคธุรกิจวัฒนธรรมทั้งไลฟ์สไตล์ การเดินทางท่องเที่ยว และสื่อสารมวลชนที่มีเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าคัลเจอร์เทค, ภาคเกษตรและอาหาร, ภาคการออกแบบ หรือ ดีไซน์เทค, ภาคการบริการด้านสุขภาพ, ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคที่สำคัญมากก็คือภาคการให้บริการภาครัฐ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้ประเทศโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายที่จะทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย 30 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่ออบรมและวางแผนธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอความคิดเพื่อดำเนินวิสาหกิจเริ่มต้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
แสดงความคิดเห็น