กลุ่มนักการเมืองเสนอรัฐบาลและมารา ปาตานีเปิดกว้างรับฟังเสียงประชาชนอย่างเป็นระบบในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยผลของการรวบรวมความเห็นของนักการเมืองในท้องที่และระดับชาติจำนวนราว 20 คนที่ได้เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพว่า พวกเขามีข้อเรียกร้องต่อทั้งสองฝ่ายให้เปิดกว้างรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านการมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมและอื่นๆเข้าร่วม พร้อมทั้งเสนอให้เปิดเผยข้อมูลการพูดคุยในระหว่างสองฝ่ายสู่ประชาชนเป็นระยะ
สถาบันระบุว่า การจัดสานเสวนาในกลุ่มนักการเมืองที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนต.ค. 2558 จนถึงส.ค. 2559 รวม 32 ครั้งทำให้ได้รับความคิดเห็นจากนักการเมืองที่เข้าร่วมที่มีต่อการพูดคุยของตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มมารา ปาตานีที่น่าสนใจหลายข้อ ที่สำคัญคือข้อเสนอให้ทั้งรัฐบาลและมารา ปาตานีเปิดกว้างในเรื่องของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ รับฟังเสียงของประชาชนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยในระดับท้องถิ่นควรกระทำผ่านการคัดสรรตัวแทนที่ประชาชนยอมรับจากแต่ละจังหวัดในพื้นที่ความขัดแย้งเพื่อให้พูดคุยกับฝ่ายที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ นำข้อเสนอจากในพื้นที่ไปสู่เวทีการหารือในภาพใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ยกระดับการพูดคุยจากระดับของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพให้เร็วขึ้นและพูดคุยเพื่อมองหาผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยกลุ่มนักการเมืองเห็นว่า การทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น กลุ่มนักการเมืองเห็นว่า ควรจะปล่อยให้การเข้าร่วมพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยสมัครใจไม่มีการบังคับ
กลุ่มนักการเมืองสนับสนุนให้ตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มมารา ปาตานีกำหนดกรอบกติกาในการพูดคุยให้ได้โดยเร็วเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในเนื้อหาส่วนอื่น ซึ่งมีผู้เสนอว่าควรจะมีเรื่องของการคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายที่อาจถูกทำร้ายได้โดยง่าย เช่นผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ
นอกจากนั้นในส่วนของทางออกที่อาจจะมีเรื่องของการกำหนดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นพิเศษ พวกเขาเห็นว่า การได้มาซึ่งความคิดในเรื่องนี้ ควรจะเปิดกว้างให้ฝ่ายต่างๆไม่ว่าภาคประชาสังคม การเมืองและผู้นำศาสนาสามารถร่วมเสนอแนะความคิดเห็นได้ด้วยเช่นกัน
แต่สิ่งสำคัญที่กลุ่มนักการเมืองเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรจะทำ คือควรพูดคุยกันให้ตกผลึกเพื่อกำหนดเป้าหมายใหญ่ของการสร้างสังคมในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งหารือกันให้ได้ในเรื่องของสันติภาพในแบบฉบับที่ต้องการ และที่สำคัญ ในระหว่างการพูดคุยควรจะเปิดเผยสิ่งที่หารือและบทสรุปให้กับประชาชนได้รับทราบด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่ติดตามกระบวนการพูดคุยได้มีความหวังและเกิดพลังในอันที่จะสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป
ภาพประกอบจากคลังภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.