เห็นใจทุกข์ปชช.! รองอธิบดีอัยการ เล่ากรณีชาวบ้านมาขอพบ เหตุคดีขัดคำสั่งจนท.รัฐ จึงชี้มุมมองที่ผิดของนักกฎหมาย

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว "ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" ระบุว่า "มุมมองที่ผิดของนักกฎหมาย" มีชาวบ้านมาขอพบผมที่ทำงานบอกว่ามีเรื่องจะปรึกษา เขาเล่าให้ฟังว่า เขาถูกคดีหาว่าขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดี พอส่งเรื่องถึงอัยการ ท่านอัยการก็สั่งฟ้อง พอไปถึงศาล. ทั้งอัยการและศาลก็พูดเหมือนกันว่า. คดีนี้โทษนิดเดียวแค่ปรับ. รับสารภาพก็จบไม่เสียเวลา. จะสู้คดีทำไม? เขาถามผมว่าเขาควรจะรับสารภาพดีมั๊ย แต่เขาไม่ได้กระทำความตามที่ถูกกล่าวหา

ฟังแล้วก็เหนื่อยครับ การดำเนินคดีหาว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น. ประการแรก พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาก่อนว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่. ถ้าเป็นต้องสอบให้ชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นได้ปฏิบัติตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองครบถ้วนแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ฟ้องคดีฐานขัดคำสั่งไม่ได้. ไม่เหมือนคำสั่งในการบังคับทางอาญา เช่น การออกใบสั่งจราจร. การสั่งให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน. เอาละสมมุติว่าสอบสวนชัดเจนแล้ว ฟ้องคดีได้. ผมว่า อัยการก็ดี. ศาลก็ดี ไม่มีหน้าที่บอกให้จำเลยรับสารภาพนะครับ.

โดยเฉพาะอัยการ ไม่มีบทกฎหมายอนุญาตให้ถามหรือบอกให้จำเลยรับสารภาพ. ส่วนศาลเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องอ่านฟ้องให้จำเลยทราบ. แล้วถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไรเท่านั้น การที่เราไปบอกให้เขารับสารภาพทั้งๆที่เขาบอกว่าเขาไม่ได้กระทำผิด โดยให้เหตุผลว่า "คดีมีโทษแค่ปรับไม่กี่บาท. รับๆไปเถอะ จะได้จบๆ ไม่เสียเวลา" ฟังดูไม่ดีเลยครับ เพราะเท่ากับ ๑) เราละเลยต่อการรักษาความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ๒) เราแนะนำให้ประชาชนสละการรักษาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา.

ถ้าเขาจะต่อสู้ เราต้องให้โอกาสเขา. บ้านเมืองเราอย่างนี้มาตลอด จนทำประเทศให้ขาดวินัย ขาดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน. เหมือนเวลาคนแทรกคิว หรือมีคนแซงซ้ายมาแย่งเข้าทางนั่นแหละ ผมอยากให้พวกเราไม่ว่าอัยการ ตุลาการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที อย่ามองว่าคดีนั้นเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่. แต่ควรมองว่าทุกคดีมีความสำคัญเท่าๆกัน. ท่านเห็นอย่างไรครับ. อยากฟังครับ. กระบวนยุติธรรมต้องฟังคนอื่นด้วย จริงมั๊ยครับ


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.