นักวิจัยชี้การใช้อุปกรณ์ตรวจจับการออกกำลังกายไม่ช่วยลดน้ำหนัก
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ในสหรัฐฯ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) ชี้ว่า ไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าอุปกรณ์เพื่อสุขภาพที่ช่วยนับจำนวนก้าว หรือตรวจจับการทำกิจกรรมมีประสิทธิภาพในการทำให้คนเราลดน้ำหนักได้มากขึ้น
ทีมนักวิจัยใช้เวลา 2 ปี ศึกษาเรื่องนี้ด้วยการให้อาสาสมัครที่มีน้ำหนักตัวเกินเกือบ 500 คน ควบคุมอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยที่อาสาสมัครครึ่งหนึ่งสวมอุปกรณ์ตรวจจับการออกกำลังกาย ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้ใส่ ผลจากการวิจัยพบว่าคนกลุ่มที่สวมอุปกรณ์ดังกล่าวลดน้ำหนักไปเฉลี่ย 3.6 กก. น้อยกว่าคนกลุ่มที่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ใด ๆ ซึ่งลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 5.9 กก.
ทีมนักวิจัยบอกว่า ข้อมูลที่ได้ไม่ได้หมายความว่า ผู้รักการออกกำลังกายควรเลิกใช้อุปกรณ์เหล่านี้เสีย เพียงแต่ไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่ามันมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก จึงไม่ควรยึดติดกับการใช้อุปกรณ์มากนัก
ดร.จอห์น จาคิซิก หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า โดยมากคนมีแนวโน้มจะสวมอุปกรณ์นี้ในช่วงแรก แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มหมดความสนใจและเลิกใช้ นอกจากนี้ บางคนพอเห็นว่าออกกำลังกายได้ตามเป้าหมายแล้วก็เริ่มตามใจปาก ทำให้การลดน้ำหนักไม่เป็นผล ทั้งนี้ ดร.จาคิซิก ตั้งข้อสังเกตว่าอุปกรณ์ประเภทนี้อาจส่งผลดีต่อคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น คนที่ชอบตั้งเป้าหมายให้ตัวเองอาจรู้สึกว่าอุปกรณ์นี้เป็นแรงกระตุ้นในการออกกำลังกาย ในขณะที่คนอื่นอาจใช้แล้วรู้สึกท้อเมื่อไม่สามารถทำตามเป้าได้ตลอด
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อสุขภาพบอกว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากนับจากมีการศึกษาเรื่องนี้ และผลการวิจัยของผู้ผลิตเองชี้ว่า อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยลดน้ำหนักได้เมื่อใช้ควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด แต่ ดร.จาคิซิก เห็นว่าเทคโนโลยีที่ดีขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้อยู่ดี
ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ซีซีเอส อินไซท์ คาดว่ายอดขายอุปกรณ์สวมใส่เพื่อตรวจจับการออกกำลังกาย และนาฬิกาอัจฉริยะในอังกฤษจะเพิ่มสูงถึง 5 ล้านชิ้น โดยภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ราว 10 ล้านชิ้น
คุณผู้อ่านพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้ในการออกกำลังกายมากน้อยเพียงใด? #Obesity#Fitness #ThBBCShorts
แสดงความคิดเห็น