แอมเนสตี้ขอทางการไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นฯ 3 นักสิทธิหลังฟ้องปมรายงานซ้อมทรมาน
Posted: 17 Feb 2017 01:59 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ส่ง จม.ถึง สภ.9 และอัยการ จ.ปัตตานี พิจารณาถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาท กับ สมชาย-พรเพ็ญ-อัญชนา พร้อมแนะแก้ไข กม.อาญาโดยให้ยกเลิกโทษอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ 

17 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมาย อีเมล แฟกซ์ และโทรศัพท์ถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอัยการจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้สั่งไม่ฟ้องและถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาและกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ต่อ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยให้ยกเลิกโทษอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 30 มี.ค. 2560
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คาดว่าเร็วๆ นี้ พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งถูกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาททางอาญา และกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการจัดทำข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เจ้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีได้เรียกตัวทั้งสามมาพบที่สถานีตำรวจในวันที่ 21 ก.พ. 2560 และปฏิเสธคำขอที่จะให้ขยายเวลาสอบสวนปากคำของพยานเพิ่มเติมตามที่มีการเสนอโดยผู้ต้องหา
มีรายงานข่าวว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้สรุปสำนวนการสอบสวนแล้ว และคาดว่าจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปที่สำนักงานอัยการและเสนอให้มีการสั่งฟ้อง ข้อหาดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี รวมทั้งอาจมีค่าปรับไม่เกิน 300,000 บาท
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เนปาล สวีเดน ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม เวเนซุเอลา โปแลนด์ ฯลฯ ร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อพวกเขา
ข้อมูลเพิ่มเติม : 
ทันทีหลังการเผยแพร่รายงาน “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างปี 2557-2558” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทางโฆษกกองทัพบกกล่าวหาว่าทางผู้จัดพิมพ์ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี กลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ตบแต่งข้อมูลรายงานการทรมานเพื่อขอทุนจากต่างชาติ โฆษกยังได้ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และขู่ว่าอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท
สมชาย หอมลออเป็นที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลการปฏิบัติมิชอบในการบริหารงานยุติธรรม และแสวงหาการเยียวยาทางกฎหมาย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและยังเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อัญชนา หีมมิหน๊ะ เคยเป็นนักธุรกิจ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ โดยเธอได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับครอบครัวของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
นับเป็นครั้งที่สองที่กองทัพบกได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาในคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อ สมชาย หอมลออและพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อันเป็นผลจากการทำงานด้านการทรมานของพวกเขา สมชายและ พรเพ็ญเคยได้รับหมายเรียกให้พบพนักงานสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากกองทัพบกกล่าวหาพวกเขาว่ากระทำการทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก เนื่องจากมีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 เรียกร้องให้ทางการสอบสวนทางอาญาตามข้อกล่าวหาว่ามีการทรมาน ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อเดือนกันยายน 2558
นักกิจกรรมทั้ง 3 คนมีกำหนดต้องเข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีทางภาคใต้ของไทยสองครั้งด้วยกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นประมาทต่อตน โดยจะมีการเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 ก.พ. 2560
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากขึ้นในไทยกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา โดยเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมที่ชอบธรรมเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และแสวงหาการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ทางการมักบอกปัดอย่างรวดเร็วเมื่อมีข้อร้องเรียนและรายงานว่ามีการทรมาน โดยมักอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มุ่งโจมตีทางการเพื่อให้เสียภาพลักษณ์ หรือเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งในเดือนกันยายน 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องยกเลิกงานแถลงข่าวที่จัดเตรียมไว้เพื่อเปิดตัวรายงานการทรมาน หลังจากทางการไทยข่มขู่จะจับกุมวิทยากรในงานหากเดินหน้าจัดงานต่อไป
การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา เป็นการละเมิดพันธกรณีทางกฎหมายของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกระตุ้นให้รัฐต่าง ๆ พิจารณายกเลิกโทษอาญาต่อคดีหมิ่นประมาท และเน้นว่าการจัดทำกฎหมายหมิ่นประมาทต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อประกันให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตนได้ และไม่ส่งผลในเชิงปฏิบัติที่จะคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก รัฐควรยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ อาจใช้เป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายได้ และรัฐควรดูแลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้บทลงโทษที่รุนแรงเกินควร 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.