สปท.เล็งลดโควต้าตัวแทนรัฐในสภาวิชาชีพสื่อลงแต่ย้ำต้องมีอยู่ หารืออีกครั้งพรุ่งนี้
Posted: 20 Feb 2017 05:37 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ - กมธ.สื่อ สปท.เล็งลดตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อลงแต่ย้ำต้องมีอยู่ หารืออีกครั้งพรุ่งนี้ ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อยืนยันไม่รับร่างกฎหมายให้อำนาจรัฐลงโทษสื่อ อดีตประธานสภาการ นสพ. ยันผิดหลักการ คนถูกตรวจสอบมาอยู่ในองค์กรตรวจสอบเสียเอง เทพชัยชี้ออก กม.คุมสื่อในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่อาจนำสู่การปกครองประชาธิปไตยได้
20 ก.พ. 2560 กรณีสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงความคืบหน้าการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สปท. วันนี้ ได้ทบทวนเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ตามที่วิป สปท.ให้ความเป็นห่วง โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีปลัดกระทรวง 4 คน ร่วมเป็นกรรมการฯ ซึ่ง กมธ.เห็นควรให้คงสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพไว้ที่ 13 คน ตามเดิม แต่มีการเสนอให้ลดโควตาตัวแทนภาครัฐลงจากเดิม
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ข้อเสนอครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ใจให้เห็นว่า สปท.สื่อสารมวลชนไม่ได้เสนอโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อไปแทรกแซงการทำงานสื่อ ส่วนเหตุผลที่ยังให้มีตัวแทนภาครัฐในโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เนื่องจากภาคราชการกับภาคเอกชนต้องเดินไปด้วยกัน ไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้ภาคเอกชน หรือภาคราชการเดินไปเดี่ยวๆ เหมือนทำอาหารต้องใส่หลายๆ อย่างให้อาหารอร่อยขึ้น
เขาระบุว่า แนวทางที่เสนอมาหลายรูปแบบเช่น 1.การลดโควตาปลัดกระทรวง จาก 4 คน เหลือ 2 คน แล้วนำโควตาไปเพิ่มตัวแทนสื่อและตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิอย่างละ 1 คน 2.การลดโควตาปลัดกระทรวง จาก 4 คน เหลือ 2 คน แล้วนำโควตาไปเพิ่มตัวแทนสื่อ 2 คน ทำให้ภาคสื่อมีตัวแทนในสภาวิชาชีพเพิ่มเป็น 7 คน 3.การให้มีปลัดกระทรวงเป็นตัวแทนภาครัฐ 4 คนเท่าเดิม แต่ให้เขียนบทเฉพาะกาลว่า เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปลัดกระทรวงทั้ง 4 คนต้องพ้นหน้าที่ไป แล้วนำโควตาไปเพิ่มให้ตัวแทนภาคอื่นๆ แนวทางทั้งหมดเหล่านี้ กมธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใด โดยจะประชุมกมธ.อีกครั้งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เพื่อหาข้อสรุปว่ากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 13 คน จะมีสัดส่วนจากภาคใดบ้าง


ยันผิดหลักการ คนถูกตรวจสอบมาอยู่ในองค์กรตรวจสอบเสียเอง

ด้านจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า สิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องตั้งแต่ต้นไม่ใช่เรื่องการลดสัดส่วนตัวแทนรัฐ แต่คือการไม่ให้มีตัวแทนรัฐเลย เพราะประเด็นสำคัญคือ สื่อมีภาระหน้าที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐ การมีตัวแทนของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกตรวจสอบอยู่ในองค์กรตรวจสอบเสียเองนับเป็นเรื่องแปลก นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อย่างวิศวกร หรือหมอ ในสภาวิชาชีพจะไม่มีตัวแทนรัฐเลย
"ไม่ว่ามีตัวแทนรัฐเท่าไหร่ ผิดหลักการทั้งนั้น รับไม่ได้ทุกกรณี" จักร์กฤษกล่าว
เขากล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจในการออกและถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยว่า ทราบมาว่า สปท.จะคงเรื่องนี้ไว้ โดยอาจเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตแบบตามความสมัครใจแทน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่ควรมีอำนาจนี้เลย

 

เทพชัยชี้ออก กม.คุมสื่อในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่อาจนำสู่การปกครองประชาธิปไตยได้

วันเดียวกัน เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เปิดเผยภายหลังการประชุมแกนนำองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกับสื่อมวลชนอาวุโส โดยยืนยันว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาพยายามจะทบทวนแก้ไขนั้น มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยยังเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครั
เทพชัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติยืนยันไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายให้อำนาจองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาลงโทษสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรือโทษทางปกครอง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน พร้อมทั้งยืนยันหลักการการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน โดยในปัจจุบันได้มีปรับปรุงกลไกการควบคุมกันเองให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลาอยู่แล้ว และได้มีกระบวนการในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนผ่านองค์กรวิชาชีพมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำกับควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อยกว่า 30 ฉบับ
“ความพยายามในการออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนภายใต้บรรยากาศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมไม่สามารถนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน” เทพชัยกล่าว
เทพชัย กล่าวด้วยว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีมติร่วมกันให้มีการจัดการประชุมสมัชชาสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อกำหนดท่าทีของผู้ประวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศในเรื่องการปฏิรูปสื่อและยืนยันหลักการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.