Posted: 31 Aug 2017 03:34 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เปิดเส้นทางตามหา ‘เด่น คำแหล้ - บิลลี่’ กับอุปสรรคกระบวนการยุติธรรม รัฐเตะถ่วง ก.ม. แก้อุ้มหายสารพัดเพราะมีเอี่ยว แนะควรมีมาตรการแก้ไข คุ้มครองเฉพาะหน้าก่อน ‘พรทิพย์’ เผยราชการมีปัญหาทัศนคติ ขาดคุณภาพ ปมศพนิรนามถูกเก็บงำทั้งที่มีเยอะ


ซ้ายไปขวา: อรนุช ผลภิญโญ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ คิงส์ลีย์ แอ๊บบอต ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

เมื่อ 30 ส.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล จัดงาน “วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป” เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กทม.

ในงานมีเวทีเสวนาสองเวที ได้แก่ “ปัญหาและความท้าทายในการสืบสวนสอบสวน: คนหายหรือบังคับสูญหาย” มีอรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คิงส์ลีย แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคณะกรรมการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร และณัฐาศิริ เบิร์กแมน เป็นผู้ดำเนินรายการ

อีกเวทีหนึ่งมีชื่อว่า “คนหายมีทุกที่ กับข้อจำกัดของการฟ้องคดีโดยไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน” ร่วมเสวนาโดยอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. และตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นรีลักษ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิณนภา พฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย ดำเนินรายการโดยณัฐาศิริ เบิร์กแมน
เปิดเส้นทางตามหา ‘เด่น คำแหล้ - บิลลี่’ กับอุปสรรคกระบวนการยุติธรรม

อรนุช กล่าวว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานทำงานร่วมกับพี่น้องที่ถูกละเมิดสิทธิที่ดินโดยรัฐ มีกรณีปัญหาที่เกิดกับสมาชิกเครือข่าย คือเด่น คำแหล้ เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่า สวนป่าของกรมป่าไม้ที่ชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ และเป็นแกนนำในการต่อสู้ เจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่่ป่าไม้ จนวันที่ 16 เม.ย. 2559 เด่นก็หายไป การต่อสู้ของชุมชนโคกยาวก็ยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความหวาดกลัว ณ วันนี้ที่พ่อเด่นหายไปก็ยังไม่สามารถติดตามว่าใครฆ่าเด่น ใครทำให้เด่นหายไป แต่บทเรียนที่ได้คือกระบวนการติดตามของรัฐ เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เขาไม่รับแจ้งความ ต้องครบ 24 ชั่วโมงถึงจะแจ้งความได้ พอครบเงื่อนไขก็ไปแจ้งความ แต่การติดตามนั้น ครอบครัวและเครือข่ายของเด่นต้องเป็นคนตามหาเอง จนสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไว้ทำไม เราเห็นในหนังว่าพอมีคนสูญหายแล้วไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ก็ไปค้นหาจนกระทั่งพบเจอ แต่อันนี้มันไม่ใช่ เป็นคนละรูปแบบ นอกจากไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชนแล้ว บางหน่วยงานก็ปิดกั้นอีก



บรรยากาศงานรำลึก 1 ปีการหายตัวไปของเด่น คำแหล้

เมื่อเดือน มี.ค. 60 ชาวบ้านก็พบวัตถุพยาน แต่ก็ยังมีข้อสังเกตในการค้นพบวัตถุพยานว่ามีการสร้างวัตถุพยานขึ้นมาหรือไม่ พบอุปกรณ์หาของป่าของเด่น รองเท้าที่มีลักษณะวางไว้คนละที่ กางเกงก็พาดไว้ที่กอไผ่ รวมทั้งชิ้นส่วนหัวกะโหลกห่างจากจุดพบวัตถุพยานประมาณ 25 ม. แต่ก็มีข้อสังเกตว่าวัตถุพยานที่พบที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วก็ยังไม่ชี้ชัดเสียทีเดียวว่าเป็นของเด่น แต่รองเท้าก็พบหยดเลือด แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของใคร

หลังจากตรวจสอบพยานต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็รอสถาบันนิติวิทยาศาสตร์รายงานผลเท่านั้น แต่จะตรวจสอบต่อถึงวิธีการเสียชีวิตก็ไม่มีกระบวนการตรงนั้น วันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แค่รู้ว่าชิ้นส่วนนั้นเหมือนจะมีดีเอ็นเอของเด่น ย้อนกลับมาที่กระบวนการยุติธรรม เด่นและสุภาพก็โดนคดี ศาลไม่สามารถชีิชัดว่าเด่นเสียชีวิต จึงมีสถานะโดนหมายจับและเป็นผู้หลบหนีคดี ส่วนสุภาพถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำภูเขียว ข้อสงสัยคือ กระบวนการสืบค้นการหายไปและสถานะการหายไปก็ยังไม่ชี้ชัด จึงเป็นคำถามให้กับรัฐบาลว่าประเด็นการสูญหายเช่นนี้ ควรจะมีแนวทางใดบ้าง

พิณนภา (มึนอ) กล่าวว่า พอละจี (บิลลี่) เป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นสมาชิก อบต. ตำบลห้วยแม่เพียร เป็นคนช่วยเหลือส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งหายตัวไป หลังจากบิลลี่หายไปก็ต้องเป็นตนที่ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์คนที่ถูกลิดรอนสิทธิ ในช่วงแรกที่บิลลี่หายตัวไป พี่ชายบิลลี่ก็โทรมาถามไถ่ไปร้องไห้ไป ตน ก็ปลอบใจว่าจะต้องมีทางแก้ไข แต่มามองย้อนกลับไปจากวันนี้แล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล มีทั้งคนบอกว่าถ้ามีคนพูดว่ารู้เห็น คนๆ นั้นก็จะต้องตายตามบิลลี่ไปด้วย


ภาพโดย kim chaisukprasert

ภรรยาของบิลลี่เล่าถึงเส้นทางการตามหาตัวและความยุติธรรมให้กับสามีว่า ได้ติดตามความคืบหน้าของการหายตัวไปก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ผู้เสียหายต้องไปหาข้อมูลมาให้ก่อน แล้วจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการสืบพยาน พอไปคุยกับเขา เขาก็ให้เข้าไปในห้องสอบสวนก็มีเจ้าหน้าที่สอบสวนมาถามรายละเอียด ถามว่าอยู่กับบิลลี่วันสุดท้ายเมื่อไหร่ พอเล่าให้เขาฟังแล้วก็ถามรายละเอียดว่าบิลลี่เดินทางอย่างไร นำอะไรไปบ้าง รู้ได้อย่างไรว่าหายตัวไป

ต่อมาวันที่ 22-23 เม.ย. ก็มาศาลากลาง จ.เพชรบุรีเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกนอกพื้นที่เพื่อความโปร่งใสในการหาตัวบิลลี่ แต่ว่าผู้ว่าฯ ไม่อนุมัติด้วยเหตุว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็เลยไปที่ศาลชั้นต้น จ.เพชรบุรี เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนตามมาตรา 90 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าน้ำหนักไม่เพียงพอ จึงยื่นเรื่องต่อที่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้องด้วยเหตุผลเดียวกัน พอไปยื่นศาลฎีกา ศาลฎีกาก็บอกว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ตัดสินเหมือนกับศาลชั้นต้น พอไปยื่นเรื่องที่ดีเอสไอ ดีเอสไอก็ไม่รับเรื่อง ด้วยเหตุผลว่าตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ เป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องกตามกฎหมาย ต่อไปนี้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเรียกร้องสิทธิ์ให้กับบิลลี่ ปัจจุบันคดีบิลลี่อยู่ที่สำนักงาน อปท. เจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย อยากให้เจ้าหน้าที่ติดตามเบาะแส ให้พบข้อเท็จจริงเร็วๆ ถ้าพบกระดูกบิลลี่ก็จะได้ไปรับมาทำบุญ จะไม่เคียดแค้นกับคนที่ทำกับบิลลี่เลย
รัฐเตะถ่วง ก.ม. แก้อุ้มหายสารพัดเพราะมีเอี่ยว แนะควรมีมาตรการแก้ไข คุ้มครองเฉพาะหน้าก่อน

สมชายกล่าวว่าการจะให้รัฐมีมาตรการแก้ปัญหาการทรมานและบังคับสูญหายก็ดูจะไม่มีความคืบหน้า มีปัญหาที่เกี่ยวพันหลายเรื่อง อาชญากรรมนี้เป็นการก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐและการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ดำเนินคดีก็มีลักษณะที่ไม่เต็มใจจะทำงาน มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมหลายกรณีเช่น เจ้าพนักงานให้ญาติไปหาหลักฐานมาทั้งๆ ที่เจ้าตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ในกรณีบิลลี่ได้ร้องกับ ดีเอสไออยู่หลายเดือนก็ไม่รับเป็นคดีพิเศษ แล้วมาทราบเหตุผลในภายหลังว่าเป็นเพราะผู้ฟ้องก็คือพิณนภาซึ่งเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่เต็มใจ ถ้าเต็มใจก็ต้องบอกตั้งแต่แรกที่มึนอไปฟ้องแล้ว

สมชายมองว่าต้องมีการปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องการทรมานหรือคนหายเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การแจ้งข้อหาผู้กระทำความผิดในกรณีสมชาย นีละไพจิตรแจ้งข้อหาโดยพนักงานสอบสวนทั้งที่หลักฐานอาจจะไม่เพียงพอ หลายคดีมีความประสงค์ที่จะฟอกความผิดให้กับผู้กระทำความผิด ดังนั้นเมื่อศาลยกฟ้องกรณีสมชายเพราะพยานหลักฐานไม่พอ แสดงว่าถ้าคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ก็แปลว่าต้องเป็นคนอื่นที่กระทำความผิด ต้องดำเนินการหาตัวคนทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้ คดีที่ศาลยกฟ้อง กล่าวได้ว่าร้อยทั้งร้อยไม่มีการสืบสวนสอบสวนต่อ หรือในคดีที่ไม่ปรากฎตัวผู้กระทำความผิดก็ปิดสำนวน ไม่มีการสืบสวนสอบสวนต่อ

นอกจากนั้นการกระทำความผิดในข้อหาทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจและทักษะที่ชำนาญในการก่ออาชญากรรม จึงต้องมีกฎหมายและวิธีการเฉพาะที่เพิ่มเติมจากการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีอาญาปรกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหาย รัฐบาลไทยก็ต้องมีกฎหมายที่ออกมารองรับ ตนเคยฟังเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศหลายคนก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ไทยพูดง่าย รับปากง่าย แต่ไม่ทำ เราไปเซ็นอนุสัญญา ให้สัตยาบันเอาไว้เราก็ไม่ทำ ก่อนที่จะมีการประชุมรายงานกฎหมายระหว่างประเทศเช่น ICCPR ก็มีการแก้ผ้าเอาหน้ารอดด้วยการผ่านมติให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เพื่อลดความกดดันจากนานาประเทศ และส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการต่อต้าน ป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานกลับไปที่กระทรวงยุติธรรม ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งมาตรการป้องกัน ตรวจสอบ สอบสวน ดำเนินการโดยอิสระ การเยียวยาผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ หรือมีมาตรการบางอย่างที่ฝ่ายบริหารสามารถทำได้แม้ไม่มีกฎหมายนี้ ก็จะแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง ในคดีบิลลี่ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งเอาไว้ แล้วก็อ้างลอยๆ ว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว ควรมีมาตรการดำเนินคดี พิจารณา ชั่งพยานหลักฐาน เช่น การที่บอกว่าปล่อยตัวไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องพิสูจน์ว่าปล่อยตัวไปแล้วจริง หรือการเอาบุคคลไปควบคุมตัวในที่ๆ ติดต่อไม่ได้ เยี่ยมไม่ได้ ติดต่อทนายไม่ได้ แล้วถ้ามีกรณีของการซ้อมทรมาน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทรมาน ไม่ใช่ให้คนเหล่านี้หรือญาติพี่น้องมาพิสูจน์ว่าเป็นผู้ทรมาน
‘พรทิพย์’ เผยราชการมีปัญหาทัศนคติ ขาดคุณภาพ ปมศพนิรนามถูกเก็บงำทั้งที่มีเยอะ

พรทิพย์ กล่าวถึงปัญหาการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานและค้นหาข้อเท็จจริงในไทยหลายประการ โดยระบุว่าปัญหาภาพใหญ่คือเจ้าหน้าที่รัฐนิยมใช้วิธีรวบรวมข้อมูลมากกว่าการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ กรณี เด่น คำแหล้ ไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด ต้องตรวจ วาย โครโมโซม เจ้าของกระดูกมีไมโธคอนเดรียล ดีเอ็นเอเหมือนแม่ แต่มี วาย โครโมโซมซึ่งแปลว่าเป็นผู้ชาย จำเป็นต้องขยายผลไปถึงญาติฝั่งนี้ แต่พนักงานสอบสวนไม่เข้าใจเรื่องนี้

เรื่องที่สองเป็นเรื่องการขาดระบบคุณภาพ ผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ตอนนี้ระบบพิสูจน์ขาดความเป็นกลางเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำ เพราะการบังคับสูญหายเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับเป็นคนทำสำนวน รวบรวมพยานหลักฐานก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้

เราผลักดันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนามอย่างเป็นระบบ รัฐบาลพลเรือนไม่ผ่านสักรัฐบาลเดียว ผ่านในปี 2558 แต่ก็ยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ ในกรณีสมชาย นีละไพจิตรมีการพูดถึงกันมากมาย แต่ประเด็นคือการตามหานั้นพบกระดูกมนุษย์ที่บ่อขยะ เป็นกระดูกชิ้นเดียวที่เจอที่แม่น้ำแม่กลองใน 3 เดือนต่อมา แต่ รมว. กระทรวงยุติธรรมกลับบอกว่า หน้าที่ของคุณหมอคือคดีสมชายเท่านั้น เมื่อกระดูกไม่ใช่สมชายก็ไม่ใช่หน้าที่ นอกจากนั้น ตอนตามหาสมชายที่แม่สอดก็เจอทุ่งสังหาร เจอศพเผานั่งยางเต็มไปหมด โครงกระดูกมีสภาพถูกมัดอย่างชัดเจน ศพนิรนามจึงเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมซุกไว้ใต้พรม

พรทิพย์ยังกล่าวถึงปัญหาของข้าราชการไทยที่มีทัศนคติไม่เปลี่ยนแปลงหากไม่ถูกบังคับ แต่จะแก้ไขด้วยการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบอะไรก็ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องกำหนดคือเจ้าภาพในการตามตัวคนหายและศพนิรนาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงาน ทุกวันนี้ถ้าต้องการส่งลายนิ้วมือของศพนิรนามเข้าไปก็ไปติดคอขวดที่กระทรวงมหาดไทย หรือเมื่ออยากได้ชิ้นเนื้อมาตรวจก็ขอไปทางตำรวจก็ขอยาก ทั้งเรื่องฐานข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องทำ Big Data แต่ทุกคนอยากทำฐานข้อมูลเป็นของตัวเอง ทำให้สุดท้ายก็ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูล

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.