ทำความเข้าใจที่มายุทธศาสตร์ชาติ พร้อมมองไทม์ไลน์การเดินทางที่กินระยะเวลาเกือบ 1 ปี พบมีการร่างยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ประชาชนยังไม่เห็นฉบับเต็ม เผยกลไกการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. เตรียมตัวโดนฟัน
ได้เห็นหน้าค่าตากันเกือบครบทั้งหมดแล้วสำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขาดก็เพียงแต่รายชื่อเดียวที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นจะเป็นใครสำหรับกรรมการโดยตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งสุดท้ายจะมีการคัดสรรกันขึ้นมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นจุดพลิกผันประการใด เพราะเมื่อดูจากรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานี้ แม้แต่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รายชื่อต่างๆ ของซุปเปอร์บอร์ดชาติในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการตัดสินใจคัดเลือกโดยความนิยม ความชื่นชอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ
โดยวิษณุ เครืองาม ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ถึงเรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไว้ตอนหนึ่งว่า 3 – 4 วัน ที่ผ่านมามีการส่งรายชื่อในส่วนของภาคประชาชนมาหลายสิบคน โดยจะรวบรวมและเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่า “เคยทำอะไร มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างไรที่โดนใจนายกฯ”
สุดท้ายรายชื่อที่ออกมาทั้งหมดได้ผ่านการลงมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ซึ่งจะสังเกตได้ว่า จำนวนรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งในส่วนของกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี รวมทั้งหมด 28 รายชื่อนั้น ไม่มีรายชื่อใดที่ไม่เคยร่วมงานหรือเป็นคณะกรรมการใดๆ หรือเคยรับตำแหน่งใดๆ ที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหาร หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาก่อน สำหรับจำนวนทหารตำรวจที่อยู่ในรายชื่อมีทั้ง 11 คน รายชื่อที่เป็นคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันทั้งหมด 5 คน นอกจากนี้แต่บางรายชื่อยังมีเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกลุ่มทุนใหญ่ ของประเทศ อาทิ SCG , AIS , ธนาคารกสิกร , ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น (อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง: เปิด 28 รายชื่อ “ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ” นายทุน, ขุนนาง, ขุนศึก และหนึ่ง NGO)
ยุทธศาสตร์ชาติมาจากไหน ใครกำหนด
สิ่งที่กำลังถูกพูดถึง และเรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” .ในเวลานี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยจะมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นการแนวทางในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมฉบับละ 4 ปี อาจจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกันกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีการวางโครงสร้างการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ ไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่สุดถึง 20 ปี แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ “สภาพบังคับ” และมีขอบเขตภารกิจหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามกว้างขวางขึ้น
แนวคิดว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้เพิ่งปรากฎ หรือเร่งทำภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ หรือภายหลังจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ หากแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการนี้มาตั้งแต่ปี 2558
โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้เสนอ โดยมีมติให้ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และมอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
และสิ่งที่ได้ออกมาจากการกระบวนการดังกล่าวคือ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 (สามารถอ่านฉบับย่อได้ที่นี่) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับจริง) ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 แม้ในกฎหมายจะระบุการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ทว่าตัวร่างตั้งต้นนั้นได้เริ่มต้นจัดขึ้นมาแล้ว และมีการอ้างว่าได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในกฎหมายได้ระบุว่า กระบวนการรับฟังที่ผ่านมานั้น ไม่ถือว่าเป็นการตัดการรับฟังความคิดเห็น
ขณะที่โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ยื่นหนังสือเพื่อ ‘ขอดู’ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ฉบับเต็ม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ให้ดูไม่ได้" เนื่องจากยังเป็นเพียงร่างอยู่ และยังอาจต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีก (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: iLaw ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แอบเขียนไว้ก่อนแล้ว ประชาชนขอดูหน่อย)
รายชื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2558 (เดิม)
1. พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่ง
2. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง
3. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง
4. รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
5. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
6. อนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
7. ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
8. พลเอก ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ เป็นกรรมการ
9. พันเอก ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ เป็นกรรมการ
10. พันเอก นิมิตต์ สุวรรณรัฐ เป็นกรรมการ
11. สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
12. อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
13. บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
14. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นกรรมการ
15. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นกรรมการ
16. ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นกรรมการ
17. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นกรรมการ
18. ธีระพงศ์ วงศ์ศิวะวิลาส รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเลขานุการร่วม
19. รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม
20. พลเอก สกล ชื่นตระกูล เป็นที่ปรึกษา
21. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นที่ปรึกษา
22. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นที่ปรึกษา
หมายเหตุ: มีเพียง ‘ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์’ คนเดียวที่ได้รับตำแหน่งต่อในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ต่อในฐานะกรรมการโดยตำแหน่ง ในตำแหน่ง ‘ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ’
ขั้นตอนสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต่อจากนี้เป็นอย่างไร
สำหรับขั้นตอนกระบวนการต่อไปสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ก่อนเข้าเป็นประธานในที่ประชุมประธานคณะกรรมการปฎิรูป 13 ด้านว่า คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ปฎิรูปเพื่อเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้น และสามารถเสนอได้ในวันที่ 13 กันยายน นี้ และคาดว่าแผนการปฏิรูปทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งแผนดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะมีการดำเนินการ เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปนำไปปฎิบัติ
จากนี้ไปขั้นต่อไปที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ บทเฉพาะกาล มาตรา 28 (อ่าน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่นี่) ระบุว่า หลังจากที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นมาแล้วให้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ภายใน 30 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน โดยใช้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เป็นหลักในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จแล้วให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สอดคล้องกับที่ได้รับฟังความคิดเห็นมาภายใน 45 วัน
เมื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จตามกำหนดให้ยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ภายในระยะเวลา 30 วัน
หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลกล่าวฯ ภาย 10 วัน
ทั้งนี้เพื่อประกาศใช้เป็น ‘พระบรมราชโองการ’ ซึ่งเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้บังคับใช้ได้ และหน่วยงานของรัฐ ‘ทุกหน่วยงาน’ มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 5 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ)
หากนับจากกระบวนการที่เดินไปนี้จะพบว่า จะมีเวลาต่อจากนี้ (29 ส.ค. 2560 วันแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) อีก 325 วันสำหรับการเดินไปสู่ขั้นต่อสุดท้ายคือการนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลเกล้าฯ และนับต่อไปจากนั้นอีกไม่เกิน 90 วันสำหรับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามกระบวนการต่างๆ สามารถที่จะย่นย่อระยะเวลาลดได้หากมีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่ากรอบระยะเวลาที่วางไว้
เมื่อยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ แล้วหน่วยงานรัฐฯ หรือรัฐบาลหน้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น
อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า แม้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะมีคล้ายคลึงกัน ต่างกันก็เพียงความกว้าง และความครอบคลุมของเนื้อหาในด้านต่างๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญคือ ‘สภาพบังคับ’
ในหมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักการตรวจสอบ ไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีการติดตามการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามข้อเสนอของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และเพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินงานให้หน่วยงานรัฐรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ มาตรา 22) ภายในระยะเวลาที่กำหนด
โดยหลังจากที่ได้รับรายงานการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติจากหน่วยงานของรัฐ สำนักงานฯ จะสรุปผลการดำเนินการประจำปีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรตุลาการ รวมทั้งรัฐสภารับทราบภายใน 90 วัน
ส.ส. - ส.ว. ยื่นเรื่อง ป.ป.ช. ลงมติหามูลความผิด สั่งเด้งผู้ไม่ปฎิบัติยุทธศาสตร์ชาติได้
สำหรับกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน พิจจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือกระทำการใดโดยไม่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์โดยไม่มีเหตุสมควร มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐนั้น และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติข้อกล่าวหามีมูลให้ผู่้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นตำแหน่ง (มาตรา 25 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560)
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ สามารถสะกิดเตือนหน่วยงานรัฐ หากไม่แก้ไข ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ฟัน
หรือในกรณีที่ ความปรากฎต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า การดำเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบ และให้หน่วยงานรัฐนั้นแก้ไขปรับปรุงและแจ้งให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง
กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการปรับปรุงหรือไม่แจ้งดำเนินการให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบและสั่งการ ในกรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 25 มาบังคับใช้โดยอนุโลม (มาตรา 26 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560)
ส.ว. 250 ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาล รธน. ตีความ หากเห็นว่า ครม./รัฐบาล ดำเนินการไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ
มาตรา 29 พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่ากรณีมีการดำเนินการของหน่วยงานรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรณีวุฒิสภาเห็นว่าการดำเนินการของ ครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือการดำเนินการของครม.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามทั้งจาก พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กลับไม่มีมาตราใดระบุถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น หรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ว่าจะดำเนินการอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
แสดงความคิดเห็น