Posted: 24 Sep 2017 09:13 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้วหรือยัง? ตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาชี้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่...ทำไมเราจึงไม่รู้สึกถึงการฟื้นตัว พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย อธิบายภาวะ 'แข็งไม่จริง' ของเศรษฐกิจไทย ความเหลื่อมล้ำ และนโยบายและการกำกับดูแลที่ยังตามไม่ทันเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น


เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจริงหรือไม่?

เหมือนเป็นประโยคคำถาม แต่ไม่ใช่ มันเป็นความไม่แน่ใจเสียมากกว่า ขณะที่ตัวเลขต่างๆ ของสารพัดหน่วยงานชี้ไปทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ความรู้สึกของประชาชนตาดำๆ หาค่ำกินเช้ากลับไม่รู้สึกรู้สาว่าจะกินดีอยู่ดีขึ้น

แกะตัวเลขออกมาดูจะกระจ่างว่า ทำไมคนฐานล่างจึงไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวลานี้ ทำไมพวกเขาไม่ได้รับอานิสงส์ สิ่งนี้สะท้อนความไม่สมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หรือจะเรียกว่าความเหลื่อมล้ำก็น่าจะพอใช้แทนกันได้ในบางมิติ

พินิจเศรษฐกิจไทยเวลานี้ผ่านมุมมอง พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะแข็ง แต่ไม่แข็งอย่างที่คิด มันเป็นความแข็งที่ซุกซ่อนความอ่อนแอไว้ในโครงสร้างเศรษฐกิจ บวกกับการปรับตัวของเครื่องมือทางนโยบายที่ไม่เร็วพอรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นทุกวี่วัน

เงินในกระเป๋ายังไม่เพิ่ม


พิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่คนถามคำถามนี้มาก เพราะตัวเลขดูเหมือนว่าเศรษฐกิจควรจะดีกว่านี้ และแม้ว่าตัวเลขมีการปรับตัวขึ้น แต่ตัวเลขที่เห็นอยู่เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไทยเคยโตร้อยละ 7-8 หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ยังโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 3.7 ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องถือว่ามีสัญญาที่ดีและฟื้นแล้วในแง่ตัวเลข

“แต่มีสิ่งที่ไม่เชื่อมโยงกันหรือแตกต่างกันอยู่ระหว่างสิ่งที่ตัวเลขบอกเรากับความรู้สึก ทำไมความรู้สึกคนไม่ได้ดีตามไปด้วย ประเด็นแรกมาจากเรื่องคำนิยาม ตัวเลข 3.7 เปอร์เซ็นต์ที่ไตรมาส 2 บอกว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบหลายไตรมาส มันแปลว่าอะไร ตอบกลับไปที่แนวคิดก่อนว่า จีดีพีคืออะไร จีดีพีมี 3 ด้าน ความหมายของมันคือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ หนึ่งคือด้านการผลิต ด้านที่ 2 ถ้าผลิตออกมาก็ต้องมีคนซื้อ นี่คือด้านดีมานด์ว่าใครเป็นคนซื้อ ด้านที่ 3 ถ้ามีคนซื้อ มีคนขาย ก็ต้องมีรายได้เกิดขึ้น มันจึงมี 3 เรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่

“ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาคือเรื่องของการผลิตตัวเดียว ตัวเลขการผลิตไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจริง 3.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไปไล่ดูว่าตัวเลขนี้มาจากไหน พบว่า มาจากภาคเกษตรเสียส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นปริศนาที่น่าสนใจ ภาคเกษตรไตรมาส 2 โต 15.7 เปอร์เซ็นต์ นอกภาคเกษตรโต 2 เปอร์เซ็นต์กว่า แปลว่าภาคเกษตรต้องดี มันดีในแง่แนวคิดคือมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วฝนแล้ง มันจึงมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ภาคการเกษตรโตได้ถึง 15.7 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ารายได้ภาคเกษตรต้องเพิ่มสูงขึ้น? เริ่มไม่แน่แล้ว เพราะปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจริง แต่ราคามันลดลง รายได้ภาคเกษตรจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่เราเห็นจากปริมาณ

“ประเด็นที่ 2 ถ้าเราดูด้านดีมานด์ ผลิตแล้วมีคนซื้อจริงหรือเปล่า เราเอาตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือรายได้เท่ากับการบริโภค บวกการลงทุน บวกการใช้จ่ายภาครัฐ บวกส่งออกลบด้วยนำเข้า ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ จะพบว่าไม่มีองค์ประกอบไหนโตเร็วกว่า 3.7 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นไปได้ยังไง ถ้าเราคิดเฉพาะฝั่งดีมานด์ มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆ โตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอย่างนี้มา 3 ไตรมาสแล้ว แปลว่าผลิตเยอะ โตเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ฝั่งการซื้อจริง คนจับจ่ายใช้สอย การลงทุนเพิ่ม รัฐบาลใช้จ่าย หรือการส่งออก มันโตช้ากว่าฝั่งผลิต จึงเป็นสาเหตุว่าคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย”

แข็งนอก อ่อนใน

ก่อนนี้คือคำอธิบายในฟากของการผลิต ขยายความเพิ่มเติมในฟากดีมานด์ที่แบ่งเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยว พิพัฒน์มีคำอธิบายต่อเศรษฐกิจไทย 3 ประการ

ประการแรก พิพัฒน์ใช้คำว่า แข็งนอก อ่อนใน หมายความว่าการที่เศรษฐกิจไทยดูเหมือนมีกิจกรรมที่ดีขึ้น ก็เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกพร้อมๆ กันในหลายภูมิภาคค่อนข้างมาก ซึ่งไม่เห็นมาหลายปีแล้ว นี่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การค้าขายทำได้เร็วขึ้น พอดีมานด์เริ่มกลับมา ความต้องการใช้สินค้าก็กลับมา การค้าโลกที่ติดลบมาหลายปีเพิ่งกลับมาเป็นบวก การส่งออกของไทยที่ติดลบมา 3 ปีกลับมาบวก

“การท่องเที่ยวเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาก การท่องเที่ยวไทยสมัยก่อนฐานค่อนข้างต่ำ แม้จะเป็นเซ็กเตอร์ที่สำคัญ แต่ในช่วงประมาณสี่ห้าปีที่ผ่านมา มันโตเร็วขึ้นมหาศาล ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวจีน วันนี้การใช้จ่ายของคนต่างประเทศในไทยเป็นส่วนสำคัญของการบริโภคในประเทศ ซึ่งถูกนับเป็นการส่งออกบริการ

“ในวันนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย ใหญ่มากและโตแบบเลขสองหลักติดกันมาสี่ห้าปี เวลาเราพูดว่าจีดีพีโต 3 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 จาก 3 เปอร์เซ็นต์มาจากการท่องเที่ยว อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์ค่อนข้างดี และเป็นตัวนำของตัวเลขที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือการท่องเที่ยวค่อนข้างกระจุกตัว อาจมีแค่ 10 จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรง

“การส่งออกก็เหมือนกัน ดีขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้คนงานดีขึ้น แต่ทำไมคนงานไม่ได้โอที ค่าแรงไม่เพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกเพิ่งกลับมาดีหลังจากแย่มาหลายปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอาของเดิมที่ผลิตแล้วไปขาย สต็อกลดลง เจ้าของดีขึ้น แต่เรายังไม่เห็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ยอดขายเริ่มดีขึ้นจริง แต่ปริมาณการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น มีสัญญาณเป็นบางเซ็กเตอร์เท่านั้น ดังนั้น ถ้าการผลิตยังไม่เพิ่ม กำลังการผลิตที่ใช้ก็ยังไม่ได้เพิ่ม โอทีก็ยังไม่ให้พนักงาน ค่าจ้างแรงงานก็ยังไม่เพิ่ม กลายเป็นว่าส่งออกดีขึ้น อาจเรียกคนงานบางส่วนมาทำงาน แต่เงินในกระเป๋าคนงานยังไม่ได้เพิ่ม

“วันนี้มี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า มีสัญญาณว่าเริ่มดีขึ้นและในที่สุดจะไหลรินจากภาคการส่งออกทำให้แรงงานได้เงินเพิ่ม คนขายลูกชิ้นหน้าโรงงานก็ดีขึ้น มันก็น่าจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าอาจจะมีส่วน วันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นแล้ว แต่การกระจุกตัวของการฟื้นมันมีประเด็น ถามว่าโรงงานไหนทำการผลิตเพื่อการส่งออก ผมก็บอกว่าแถวนิคมอุตสาหกรรมไม่กี่ที่ อาจจะมีซัพพลายเชนที่ซัพพลายให้คนกลุ่มนี้ แต่มันก็ยังมีการกระจุกตัว คนภาคอื่นๆ ยังไม่รู้สึกว่ามันดี นี่คือแข็งนอก

“อ่อนในเพราะรายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไทยยังเกี่ยวพันกับราคาสินค้าเกษตร ปีไหนภาคเกษตรดี มอเตอร์ไซค์ขายได้ รถปิกอัพขายดี มันก็หมุนกันเต็มที่ แต่วันนี้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เงินในกระเป๋าไม่มี การบริโภคจึงยังโตไม่ชัด

“อ่อนในอีกข้อหนึ่งคือการลงทุน ตัวที่หายไปจากเมืองไทยเลยคือการลงทุนภาคเอกชน หลายคนบอกว่าเขาอาจจะไม่มั่นใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แล้วจะลงทุนทำไม การใช้กำลังการผลิตยังค้างเติ่งอยู่ ถ้าเราดูดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม ปริมาณที่เราผลิตวันนี้น้อยกว่าปริมาณผลิตในปี 2554 ช่วงหลังน้ำท่วม วันนี้เรายังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มเลย การลงทุนเพิ่มจึงยังไม่มี บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะเสถียรภาพทางการเมืองก็อาจจะมีประเด็น เรื่องที่ว่าวันนี้เราไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของต่างประเทศแล้ว เรามีคู่แข่งเต็มไปหมดเลย การบริโภค การลงทุนจึงฟื้นตัวค่อนข้างจำกัด

“ขณะที่ภาครัฐที่เคยเป็นพระเอกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะเป็นการทะลวงท่อที่ตันในช่วงก่อนการรัฐประหาร พอเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงมีฐานค่อนข้างต่ำและโตได้ค่อนข้างเร็ว วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่าการลงทุนภาครัฐเริ่มติดลบเพราะใช้มาเร็วมาก จนไม่สามารถโตได้เร็วกว่านี้ สุดท้ายงบของรัฐบาลก็ถูกจำกัดด้วยงบใหญ่ งบลงทุนก็ถูกจำกัดด้วยงบโดยรวม สุดท้ายมันไม่สามารถโตได้เร็วกว่างบโดยรวมมากนัก”

แข็งบน อ่อนล่าง

ประการต่อมา พิพัฒน์เรียกว่า แข็งบน อ่อนล่าง หรือความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่เศรษฐกิจโตเร็ว แม้ว่าเค้กของเราจะโตช้าและเล็กกว่าคนอื่น ผู้คนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะอย่างน้อยเค้กในมือก็ยังโตขึ้น ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่ประเด็นในวันที่เศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 5-7 ต่อปี

“แต่พอเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเค้กเริ่มไม่โต แล้วคนอื่นยังมาแย่งของผมอีก ผมเริ่มรู้สึกแล้ว วันนี้หลายสิ่งเราเริ่มเห็นแบบนั้น สินค้าเกษตรเป็นประเด็นสำคัญ พอมันกระทบ คนส่วนใหญ่รู้สึก แล้วคนฐานข้างล่างเป็นคนที่พึ่งพารายได้ ขณะที่คนข้างบนพึ่งพาความมั่งคั่ง รายได้ของเขาอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความมั่งคั่งของเขา ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นก็ขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้น ร้านอาหารขายไม่ค่อยได้ แต่ร้านราคาแพงจองกันเต็มเลย ยอดขายบ้านจะเห็นได้ชัด ราคาต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้าน ขายลำบาก กู้แบงค์ไม่ค่อยปล่อย แต่ยอดเกิน 10 ล้านยังขายได้ดีอยู่ บริษัทใหญ่เข้าคิวขอกู้ บริษัทเล็กๆ แบงค์ไม่ให้กู้

“มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า”

เคยแข็งกว่านี้


“ประเด็นที่ 3 เศรษฐกิจไทย มันเคยแข็งกว่านี้ ถ้าเราเทียบปีต่อปีเหมือนจะดีขึ้น แต่เราเคยดีกว่านี้ นี่อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเขาเคยรู้สึกว่าดีกว่านี้ คนจึงรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่อยากใช้เงิน โดยเฉพาะถ้าเราไปดูราคาสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวและยางพารา และเรื่องว่าขายได้แล้วมีกำไรหรือเปล่า นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่ง”

เงินเฟ้อต่ำ

เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนสิงหาคม 2560 ที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปีอยู่ที่ร้อยละ 0.46 เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังถูกจับจ้อง แล้วเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำสุดในรอบหลายปีมันสะท้อนอะไร? คำอธิบายของพิพัฒน์เกี่ยวโยงกับคำอธิบายก่อนหน้า

“โดยทั่วไปเงินเฟ้อมาจาก 2 ปัจจัย คือปัจจัยที่ถูกผลักโดยดีมานด์กับถูกผลักโดยซัพพลาย ถ้าช่วงไหนดีมานด์โตเร็วกว่าซัพพลาย ช่วงนั้นก็อาจเห็นเงินเฟ้อโตค่อนข้างเร็ว คนก็จะห่วงว่าเงินเฟ้อสูงไปหรือเปล่า วันนี้เรากำลังเจอด้านที่กลับกัน คือเงินเฟ้อต่ำไปหรือเปล่า เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันว่าสรุปแล้วมันเกิดจากดีมานด์ในประเทศหรือเป็นประเด็นซัพพลาย

“ผมคิดว่าคนจะมองว่าถ้าเงินเฟ้อพื้นฐานไหลลง มาจากความต้องการที่น้อย จึงต้องการการกระตุ้น เพราะเป็นสัญญาณว่าความต้องการมีไม่พอที่จะไปไล่ซัพพลาย แต่อีกฝั่งหนึ่ง โดยเฉพาะแบงค์ชาติบอกว่าเงินเฟ้อมาจากประเด็นซัพพลาย ประเด็นที่อาจต้องวิเคราะห์กันหนักๆ เลยคือนี่เป็นสัญญาณอะไรหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เลยคือมันกำลังบอกว่าดีมานด์โตไม่ทันซัพพลาย ทำให้ราคามันต่ำลงมาเรื่อยๆ


“มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า”

“เงินเฟ้อต่ำเป็นปัญหายังไง มันมีอยู่สองสามด้าน หนึ่ง-เวลาเงินเฟ้อต่ำหมายถึงบริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่มีช่วงราคาที่จะปรับขึ้นได้เร็ว สอง-ในเชิงจิตวิทยา ถ้าเราอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำๆ บางคนอาจกลัวไปว่าเป็นภาวะเงินฝืดหรือเปล่า ถ้าไปถึงภาวะนั้นคนจะรู้สึกไม่อยากใช้เงิน เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าราคาสินค้ากำลังลดลง คนก็จะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป ยิ่งไม่ซื้อ ราคายิ่งถูกลง เพราะไม่มีคนซื้อ ก็ทำให้การซื้อขายสินค้าซบเซา และเมื่อเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจจะสูงเกินไป ทำให้วันนี้ผมไม่อยากใช้เงิน พวกธุรกิจด้วย สมมติผมเป็นร้านขายของ ซื้อของมาสต็อกไว้ในร้าน ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมก็อยากซื้อของมาเก็บไว้ก่อน เพราะมูลค่าในสต็อกจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าราคาสินค้าไม่เพิ่มหรือลดลง ผมยิ่งสต็อกของ ผมก็ยิ่งขาดทุน ปฏิกิริยาคือภาคธุรกิจจะหยุดซื้อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ชะลอ นี่คือความเสี่ยง เป็นปัญหาอีกแบบที่เราไม่เคยเจอ ในอดีตเราจะชินกับเงินเฟ้อสูง มูลค่าเงินหาย แบงค์ชาติเลยต้องมาคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

“ประเด็นนี้มี 2 ทฤษฎี เวลารัฐบาลหรือแบงค์ชาติพูดก็จะบอกว่า เศรษฐกิจไทยต้องดีกว่านี้ แต่ถ้าเราฟังไอเอ็มเอฟเมื่อห้าหกเดือนที่แล้ว บอกว่าเมืองไทยมีความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ การเติบโตต่ำ แล้วที่มันดีขึ้นช่วงนี้ มันดีขึ้นแป๊บเดียว เดี๋ยวจะแย่ มันเหมือนกับว่าเมื่อก่อนเราแย่ วันนี้เริ่มดีขึ้น ตอนนี้มันอยู่จุดที่ต้องตัดสินใจว่าเราจะไปต่อหรือจะตกลง เป็นภาวะที่หลายคนตั้งคำถามว่า มันใช่เงินฝืดหรือเปล่า ส่วนใหญ่คนจะอธิบายว่าไม่ใช่ แต่เป็นภาวะเงินเฟ้อต่ำ แต่ก็มีคนเริ่มพูดแล้วว่า เรากำลังเจอสภาวะทางจิตวิทยาที่เหมือนกับเงินฝืดหรือไม่

“ตัวเลขสองสามตัวที่ผมดูอยู่ คือยอดขายร้านค้าปลีก มีหลายบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาส 2 เป็นไตรมาสแรกที่ผมเห็น สมมติเซเว่นฯ เราดูยอดขายรวมไม่ได้ เพราะเพิ่มจำนวนร้านตลอดเวลา จึงมีอีกตัวหนึ่งคือ Same Store Sale Growth สมมติเมื่อ 1 ปีที่แล้วมีร้านอยู่ 5,000 ร้าน ปีนี้มี 6,000 ร้าน แต่ไม่สนใจ เอาแค่ 5,000 ร้านที่มีอยู่เมื่อปีที่แล้วและเทียบยอดขายเฉพาะร้านเหล่านี้ เมื่อไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่ Same Store Sale Growth ของทุกร้านที่ตามอยู่ในตลาดติดลบพร้อมๆ กันหมดเลย เซเว่นฯ ยังติดลบ เมื่อยอดขายมาจากสองส่วนคือราคากับปริมาณ ถ้าราคาหรือเงินเฟ้อต่ำ ยอดขายก็ต้องเพิ่มจำนวนที่ขายให้ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงที่เงินเฟ้อสูง ของในร้านถูกปรับราคาตลอด ขายของเท่าเดิมยอดขายอาจจะเพิ่มก็ได้ แต่พอเงินเฟ้อต่ำ แล้วขายของไม่ค่อยออกอีก ยอดขายจึงร่วง

“วันนี้เราจึงได้ยินร้านอาหารต่างจังหวัด ร้านข้าวแกงบอกว่ายอดหายไปครึ่งหนึ่ง ผมว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ข่าวดีคือตอนนี้ยอดขายที่ติดลบในไตรมาส 2 เริ่มกลับมาติดลบน้อยลง นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดี เป็นสภาวะที่ไม่ชัดเจนขนาดจะบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ขณะเดียวกัน ตัวเลขที่เราเริ่มเห็นอาจดีขึ้นในอนาคตก็ได้ เพียงแต่เรายังเจอความเสี่ยงหลายๆ ด้านที่ดึงเอาไว้”

ลดดอกเบี้ย?

สถานการณ์เงินเฟ้อต่ำและค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นร้อยละ 7 นับจากต้นปี เสียงจากหลายภาคส่วนจึงส่งมาธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ย แต่พิพัฒน์ตั้งคำถามอีกมุมว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่เพียงพอหรือไม่ในวันที่เศรษฐกิจมีความสลับซับซ้อนขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจมากกว่าในอดีต

“เรื่องดอกเบี้ยเป็นภาพที่ซับซ้อนกว่าเศรษฐกิจ ต้องดูว่าแบงค์ชาติคิดยังไงในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย โดยปกติดอกเบี้ยนโยบายใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Marketing) ถ้าเงินเฟ้อต่ำ แบงค์ชาติจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้การคาดการณ์เงินเฟ้อและเงินเฟ้อกระเตื้องขึ้น แล้วเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น ถ้าเงินเฟ้อสูงเกินไปก็ขึ้นดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นหรือ Flexible Inflation Target คือไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้อหรือการเติบโต เรามีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย

“เพราะถ้าเราดูแค่เงินเฟ้อหรือการเติบโต เมื่อปีที่แล้วเงินเฟ้อติดลบ แบงค์ชาติควรลดดอกเบี้ยไปแล้ว แต่แบงค์ชาติบอกว่าอาจไม่จำเป็น เพราะมีการพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย ถ้าเราดูตัวเลขของ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) จะเห็นว่าพูดอยู่ 4 เรื่องคือ เงินเฟ้อ การเติบโต อัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือเสถียรภาพทางการเงิน ถ้าฟังที่ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติพูดในระยะหลังๆ จะเห็นว่าเน้นตัวนี้ค่อนข้างเยอะ

“ประเด็นที่สำคัญคือเรามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักตัวเดียว คือลดหรือขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรองรับ 4 เรื่องนี้ แล้วปัจจัย 4 เรื่องนี้บางครั้งไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ผลของการลดหรือขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลต่อ 4 เรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน เราเจอภาวะแบบนี้อยู่ ยกตัวอย่าง วันนี้เงินเฟ้อเราดีหรือยัง แบงค์ชาติบอกไม่ต้องห่วง เพราะวันนี้เป็นเรื่องของซัพพลาย เงินเฟ้อต่ำชั่วคราว แล้วจะค่อยๆ ปรับขึ้น แต่เราก็พูดอย่างนี้มา 2 ปีแล้วที่เงินเฟ้อหลุดจากเป้าหมายของแบงค์ชาติที่กำหนดเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ บวกลบ 1.5 ก็คือ 1-4 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเฟ้อไม่เคยโดน 1 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ปีครึ่งยกเว้นสองสามเดือนตอนต้นปี การเติบโตก็เป็นประเด็นเดียวกันเลย เราพอใจหรือยัง ถ้าบอกว่าพอใจแล้ว ก็ไม่ต้องลดดอกเบี้ย

“ต่อมา อัตราแลกเปลี่ยนที่วันนี้คนบ่นเยอะมาก กระทรวงการคลังก็บอกว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ย ถามว่าลดแล้วช่วยหรือไม่ ก็ต้องดีเบตกันอีก เงินเฟ้อ การเติบโต อัตราแลกเปลี่ยน 3 เรื่องนี้ดูเหมือนการลดดอกเบี้ยจะช่วยได้ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นปัญหา แต่วันนี้แบงค์ชาติมองว่าไม่ใช่ปัญหา

“สาเหตุสำคัญที่ท่านผู้ว่าฯ พูดบ่อยมากคือ วันนี้ ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วกลัวจะมีผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน พูดง่ายๆ ว่า วันนี้พอดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมีเงินเหลือก็เอาไปลงทุนในความเสี่ยงมากกว่าที่เขารู้ เช่นไปซื้อบีอีที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยธนาคาร แต่ความเสี่ยงมากกว่ามหาศาล เพื่อจะเอาครึ่งเปอร์เซ็นต์ โดยไม่รู้ว่าที่ได้มาคุ้มกับความเสี่ยงหรือเปล่า หรือวันนี้มีการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น แบงค์ชาติก็ตั้งคำถามว่าจะทำให้ความเสี่ยงมากขึ้นหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่แบงค์ชาติกังวล

“วันนี้การประเมินเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการเติบโต เราเห็นตรงกันหรือยัง มีความเสี่ยงที่เราต้องบริหารจัดการหรือไม่ ถ้าแบงค์ชาติบอกว่าไม่ใช่ปัญหา ถ้าอย่างนั้นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยก็จะไม่แข็งแรงมาก สิ่งที่เหลือเถียงกันหลักๆ คืออัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพทางการเงิน

“สุดท้ายมันกลับมาเรื่องที่ว่า ถ้าวัตถุประสงค์มี 4 เรื่องนี้ แต่เครื่องมือหลักมีดอกเบี้ยตัวเดียว คุณให้น้ำหนักกับวัตถุประสงค์ไหนมากที่สุด ซึ่งวันนี้แบงค์ชาติให้น้ำหนักกับเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างมาก ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ ถูกเพิกเฉยไปหมด แต่วันนี้บังเอิญที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ต้องมาเถียงกันว่ามันเกิดจากอะไร แล้วลดดอกเบี้ยช่วยได้หรือไม่

“ถ้าดูคำอธิบายของแบงค์ชาติที่บอกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเยอะ ส่วนสำคัญมาจากดอลล่าร์อ่อน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็มีประเด็น ถ้าเทียบอัตรา เราอาจจะแข็งที่สุดในภูมิภาค แต่ถ้าเทียบกับยูโร เขาแข็งกว่าเราอีก ถ้าเราดูค่าเงินเฉลี่ย ดอลล่าร์ต่อบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี เมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินที่เราเทรดด้วย เราแข็งขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แบงค์ชาติบอกว่าไม่น่าเป็นห่วงขนาดนั้นถ้าเทียบกับทุกสกุลเงิน

“ประเด็นที่ 2 นอกจากดอลล่าร์อ่อนแล้ว ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เทียบกับ 5 ปีที่แล้วสำคัญมากคือการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเยอะ จากดุลบริการที่เคยติดลบหรือปริ่มๆ นิดหน่อยกลายเป็นบวกมหาศาล ถ้าเรามองดูการไหลเข้าไหลออกของเงิน เราแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือดุลบัญชีเดินสะพัดคือการค้าขาย การส่งออก นำเข้าสินค้าและบริการ การส่งเงินกลับประเทศ กับอีกฝั่งหนึ่งเป็นการโฟลว์ทางการเงิน คือเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น เอฟดีไอ การกู้ระหว่างธนาคาร โฟลว์ฝั่งนี้ใหญ่มาก

“วันนี้ แบงค์ชาติก็จะบอกว่าดอกเบี้ยไม่ค่อยช่วยหรอก เรามาช่วยกันผลักให้เงินออกเถอะ ส่วนหนึ่งคือการไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้โฟลว์นี้เกิดการสมดุล เพราะโฟลว์ที่แท้จริงเข้าเยอะ แล้วโฟลว์ทางการเงินก็ยังเข้าอีก ซึ่งการที่ดอลล่าร์อ่อน มันผลักเงินเข้ามาในตลาดเกิดใหม่และเข้ามาในไทยด้วย ผลที่เกิดขึ้นค่าเงินก็แข็ง ถามว่าแล้วทำไมแบงค์ชาติไม่เข้าไปดูแลค่าเงิน ผมก็บอกว่ามันทำได้จำกัด เพราะนโยบายอัตราดอกเบี้ยและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคือนโยบายเดียวกัน ถ้าเราจะใช้นโยบายดอกเบี้ย เราไม่สามารถไปยุ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนได้เยอะขนาดนั้น แทรกแซงยังไงก็ไม่พอ อย่างเก่งแบงค์ชาติก็เข้าไปแตะๆ แต่ไม่พอ

“ใครบอกว่าแบงค์ชาติไม่ดูแลค่าเงิน มันดูแลไม่ได้ เพราะผลต่างอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญ โฟลว์ที่เข้ามาเอาผลต่างอัตราดอกเบี้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 1 บ้านเรา 1.5 แล้วยังมีสัญญาณว่า ค่าเงินบาทเป็นค่าเงินที่ปลอดภัย เกินดุลบัญชีสะพัดเยอะ ผมก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมก็มานั่งเก็บครึ่งเปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ แล้วยังได้จากค่าเงินแข็งอีก 7 เปอร์เซ็นต์ แทบจะเงินฟรี ถามว่าลดดอกเบี้ยช่วยหรือไม่ มันก็ช่วยได้นิดหน่อยในแง่แรงจูงใจ แต่ปัญหาสำคัญก็ยังเป็นโฟลว์ที่แท้จริง

“แล้วตอนนี้ก็มานั่งเถียงกันอีกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินเยอะๆ จะแก้ยังไง การท่องเที่ยวอธิบายได้ส่วนหนึ่ง ทำไมเราถึงเกินดุลการค้าอีกทั้งที่การส่งออกติดลบมา 3 ปีติด หนึ่งคือราคาน้ำมันลง สมัยก่อนเรานำเข้าน้ำมันเยอะมาก อยู่ดีๆ ราคาน้ำมันลดไปครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันลดลง อีกประเด็นคือเศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนที่เคยนำเข้าสินค้า เคยลงทุน หยุดลงทุน อยู่ดีๆ ส่วนเกินจากการค้าเพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากการส่งออก แต่มาจากการนำเข้าที่ลดลง มันก็เป็นประเด็นว่า จริงๆ แล้วเราควรกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศหรือเปล่า

“เครื่องมือนโยบายของรัฐบาลทำได้ 2 อย่างคือไม่การคลังก็การเงิน แล้วยังถูกตั้งคำถามอีกว่าอัตราดอกเบี้ย 1.5 เหมาะสมหรือไม่ วันนี้อัตราดอกเบี้ยนสหรัฐฯ อยู่ที่ 1-1.25 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าเรานิดหนึ่ง แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 1.7-1.8 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อสูงกว่าดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเราอยู่ 1.5 เงินเฟ้ออยู่ 0.4 แปลว่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของเราสูงกว่าเขาหรือเปล่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เงินไหลเข้าหรือเปล่า

“ถ้าลดดอกเบี้ยนิดเดียว ไม่ช่วย เพราะไม่ได้เปลี่ยนโฟลว์ที่กำลังไหลเข้ามา คำถามคือเราต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มหรือเปล่า คือลดให้เยอะจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่านอกประเทศเยอะๆ แล้วคนมากู้เงินบาทไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อเอากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยข้างนอก แทนที่จะมาเอาจากเรา แต่จะทำอะไรต้องดูว่าต้นทุนกับผลประโยชน์ที่ได้เป็นอย่างไร แบงค์ชาติบอกว่าลดดอกเบี้ยเยอะๆ มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ผลประโยชน์ไม่ชัดเจน เพราะการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไม่เห็นชัด ภาคธนาคารอาจจะไม่ส่งต่อ หรือการเติบโตวันนี้ไม่ใช่เรื่องดีมานด์ แต่เป็นเรื่องซัพพลาย ดังนั้น ความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจจะมีมากกว่าผลประโยชน์ของการลดดอกเบี้ย”

เครื่องมือทางนโยบายตามไม่ทันความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ

“แล้วจะทำยังไง? แก่นของปัญหาคือเรามีเครื่องมือตัวเดียวแล้วไปคลุมหลายอย่างเกินไป ในอุดมคติ สถานการณ์อย่างนี้ เราควรมีเครื่องมือในการกำกับ เช่น ถ้าเราห่วงเสถียรภาพการเงิน ต้องถามก่อนว่าเสถียรภาพการเงินตัวไหนที่เราห่วง อย่างเช่นตอนแรกแบงค์ชาติกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่วันนี้กังวลน้อยลงแล้ว ถ้าใช่ปัญหา ก็หาเครื่องมืออื่นไปกำกับมัน แต่ผมจะบอกว่าในโลกของความเป็นจริงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพขนาดนั้น ยกตัวอย่างในฮ่องกง ประเทศที่โตแบบจีน แต่ใช้นโยบายการเงินแบบสหรัฐฯ วันนี้กู้เงินในฮ่องกงแทบจะได้ดอกเบี้ยตัวเดียวกับสหรัฐฯ วันที่สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ ดอกเบี้ยในฮ่องกงก็เกือบศูนย์ด้วย พอลดดอกเบี้ยสิ่งที่เกิดขึ้นคือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เขาก็บอกว่าถ้าใครจะซื้อบ้านต้องเพิ่มเงินดาวน์ เพื่อสกัดการเก็งกำไร ถ้าราคาบ้านพุ่งขึ้นเร็วเกินไปก็ไปหามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมาจัดการ

“ในบ้านเราอาจจะเป็นปัญหาว่า แบงค์ชาติไม่ได้คุมสถาบันการเงินทั้งหมด วันนี้สัดส่วนที่แบงค์ชาติคุมน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน แบงค์ชาติอาจจะคุมธนาคารพาณิชย์ครบทุกแห่ง ธนาคารพาณิชย์เป็นสัดส่วนที่สำคัญของภาคการเงินของประเทศ วันนี้ธนาคารพาณิชย์เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวของภาคการเงิน มีธนาคารของรัฐ สหกรณ์ และนอน-แบงค์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ แต่กฎระเบียบต่างๆ ที่แบงค์ชาติออกคุมได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นว่าถ้ามีมาตรการอะไรออกมา ก็คุมได้แค่ครึ่งเดียว ที่เหลืออาจจะหลุดหมด มันจึงอาจไม่ช่วย ไม่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ เราไม่มีเครื่องมือพอที่จะคุมเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร แต่เราผลักภาระไปให้อัตราดอกเบี้ยมากเกินไป กลายเป็นกรอบคิดที่วนไปวนมา ฝั่งกระทรวงการคลังมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ แบงค์ชาติต้องดูแล แบงค์ชาติก็บอกว่าเรามีกรอบคิดที่เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ เราจึงไม่ควรต้องเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยน คลังก็บอกว่าลดดอกเบี้ยสิ แล้วดูว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร มันก็จะเถียงกันไปมาแบบนี้ แต่สุดท้ายคือวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินคืออะไร แล้วเรามีเครื่องมือในการจัดการอย่างไร

“มันเป็นปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจที่เราไม่เคยเจอ ปัญหาที่ธนาคารส่วนใหญ่เจอคือเงินเฟ้อสูง คือเรามีกรอบแบบนี้และใช้จัดการเงินเฟ้อได้มีประสิทธิภาพมาก แต่พอเงินเฟ้อต่ำ เราไม่แน่ใจว่าจะจัดการดีหรือไม่ เพราะกลัวจะมีระเบิดลูกอื่นๆ โผล่ขึ้นมา ทีนี้ ถ้าไปดูที่อื่นที่เป็นต้นแบบของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างสวีเดน ประเทศแรกๆ ที่เอาเป้าหมายนี้มาใช้ เขาเจอปัญหาเดียวกับเราเลย เศรษฐกิจเขากับยุโรปใกล้ชิดกันมาก พอยุโรปทำคิวอี ลดดอกเบี้ยจนติดลบ เงินไหลเข้าสวีเดนเต็มไปหมด เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะค่าเงินมันแข็งตลอด ราคาสินค้าก็ถูก เขาตัดสินใจใช้ดอกเบี้ยติดลบตามเพื่อรักษาเงินเฟ้อไว้ ปัญหาที่เขาเจอคือเกิดฟองสบู่ในราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่เขายอม เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อไว้เป็นสำคัญก่อน

“ถ้าเรามีหนึ่งเป้าหมาย หนึ่งเครื่องมือ มันไม่ซับซ้อน แต่พอเรามี 2 เป้าหมาย ตัวหนึ่งขึ้น ตัวหนึ่งลง แล้วเราจะยิงตัวไหน แล้วตอนนี้มี 4 เป้าหมาย แสดงว่าพัฒนาการด้านนโยบายมันยากขึ้นเรื่อยๆ

“ถามว่าทำไมแบงค์ชาติไม่ออกนโยบาย Macro-Prudential (การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพนโยบายการเงินและเสถียรภาพนโยบายสถาบันการเงิน จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/1027 ) เขาก็พยายามจะออก แต่เนื่องจากเราไม่ได้มีการศึกษา พัฒนานโยบายฝั่งนี้ เช่น ห้ามให้เครดิตเกินกี่เท่าของเงินเดือนเพื่อเบรกหนี้ครัวเรือน แต่ออกตอนที่หนี้ครัวเรือนปักหัวลงแล้ว นั่นแปลว่าเราออกช้าไปหน่อยและก็แค่แตะเบาๆ ไม่ได้ทำให้มีผลที่ชัดเจน ถ้าสังเกตช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า แบงค์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วอย่างนี้ส่งสัญญาณอะไร เพราะสุดท้ายแล้ว กรอบนโยบายการเงินแบบนี้มันยืดหยุ่นจริง แต่ต้องมีการสื่อสารจุดยืนนโยบายการเงินให้ชัดเจน”

ออกจากความไม่สมดุล

ถึงจุดนี้ เศรษฐกิจแบบแข็งนอก อ่อนใน แข็งบน อ่อนล่าง และไม่แข็งเท่าเมื่อก่อน มันทำให้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีความไม่สมดุลที่ฝังอยู่ในโครงสร้าง คำถามคือเราจะออกจากความไม่สมดุลนี้อย่างไร

“การพัฒนาเศรษฐกิจทุกที่เลย โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือเราจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างไร คำถามง่ายๆ ทำไมค่าจ้างของคนอเมริกันแพงกว่าเราหกเจ็ดเท่า ทำอย่างไรให้คนของเราสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คำตอบคือจะทำให้คนคนนั้นผลิตของและขายได้ต่อคนเท่ากับในเศรษฐกิจอเมริกา ทำยังไง สุดท้ายก็กลับมาเรื่องการศึกษา การลงทุน การใช้เทคโนโลยี การทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ย้อนกลับไปว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนมั่นใจที่จะลงทุน กลับมาประเด็นสถาบัน ทำอย่างไรเงินจะได้รับการคุ้มครอง ทำให้เขาอยากจะลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมืองจีน 20 ปีที่แล้วรายได้ต่อหัวต่ำกว่าคนไทย 3 เท่า ตอนนี้แซงคนไทย เทคโนโลยีในจีนวันนี้ล้ำกว่าอเมริกาแล้ว ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้มีการลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวนำ นี่เป็นโจทย์สำคัญ

“ความเหลื่อมล้ำก็ทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าเราพัฒนาโดยไม่ยกคนขึ้นไปทั้งก้อน มันก็จะถ่วงไปอย่างนี้ แต่การบริหารจัดการแรงงานก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเทศอื่นที่เจอปัญหาอย่างเรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เขาใช้วิธีลงทุนในเทคโนโลยี การศึกษา พัฒนาแรงงานให้มีผลิตภาพ เมืองไทยโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ เพราะเรามีแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่อยู่ข้างบนที่รอดไปแล้ว อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่แรงงานต่างประเทศเข้ามาทำไม่ได้ก็เอ็นจอยในระดับหนึ่ง ขณะที่คนที่อยู่ข้างล่าง ค่าแรงควรจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีแรงงานจากต่างประเทศมาดึงไม่ให้สูงขึ้น ปกติบริษัทจะต้องเพิ่มโมเดลในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ทำงานเท่าเดิม ใช้คนน้อยลง แต่พอเรามีแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ มันดึงไม่ให้ค่าจ้างขึ้นตาม ความจำเป็นในการอัพเกรดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพก็เกิดช้ากว่าที่ควรจะเป็น มันก็เป็นประเด็นที่พันกันไปหมด

“หลายคนบอกว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความยากจนคือการเพิ่มการเติบโต ทำยังไงให้เศรษฐกิจโต แล้วมันจะดึงคนข้างล่างไปด้วย แต่ขณะเดียวกัน เราทิ้งคนกลุ่มข้างล่างไม่ได้ ต้องมีการดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทำให้แน่ใจว่าเขาได้รับบริการจากรัฐในระดับที่เหมาะสม”

เมื่อเราถามย้ำว่า สรุปคือเศรษฐกิจไทยตอนนี้ดีขึ้นแล้วใช่หรือไม่?

“มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีความท้าทายและความเสี่ยงหลายเรื่อง” นี่คือคำตอบ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.