Posted: 24 Sep 2017 11:43 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เปิดหลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตัวอย่างภาคปฏิบัติจากสหรัฐฯ เมื่อทุกคำสั่งของทหารไม่ได้ชอบด้วยกฎหมาย กลับมาดูไทย อุปสรรคระบบอุปถัมภ์ อาวุโสนิยม ตุลาการทำกฎหมายห้ามยึดอำนาจเป็นเสือกระดาษ พัฒนากองทัพด้วยการสร้างทหารที่คิดเป็น อุปสรรคจากโครงสร้างอุปถัมภ์ไม่เป็นทางการ


จ่า: กัมป์! หน้าที่เพียงหนึ่งเดียวในกองทัพคืออะไร
ฟอเรสท์ กัมป์: คือทำอะไรก็ตามที่จ่าสั่งครับผม!
จ่า: ให้ตายสิกัมป์ แกมันโคตรจะอัจฉริยะ! นี่เป็นคำตอบที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยได้ยิน ไอคิวแกมันต้องอยู่ที่ 160 แน่ๆ แกมันโคตรจะมีพรสวรรค์เลยว่ะ
(ที่มา: imdb.com)

หนึ่งในประโยคจากภาพยนตร์เรื่องฟอเรสท์ กัมป์ ในฉากที่กัมป์ (ทอม แฮงค์) เป็นทหารและได้ตอบคำถามได้โดนใจครูฝึกที่สุด เพราะหน้าที่ของทหารตามที่จ่าคิดคือการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ระเบียบวินัยและลำดับการบังคับบัญชาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสถาบันที่ปัจจุบันผูกขาดการใช้อาวุธอย่างถูกกฎหมายเอาไว้อย่างสถาบันทหาร หนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ คำสั่งที่สั่งและได้รับไปปฏิบัติหลายครั้งเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย แม้จะเป็นช่วงสงครามก็ตาม เช่น การสั่งให้ทหารสังหารพลเรือน ไปจนถึงการใช้กำลังทหารทำการสังหารหมู่ เช่นกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสังหารพลเรือนในกัมพูชาภายใต้รัฐบาลเขมรแดง

“ผมไม่เห็นว่าผมมีความผิด… ผมเพียงแค่โชคร้ายที่เข้ามามีเอี่ยวในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาของผม ผมไม่ได้เจตนาจะฆ่าคน.. ผมขอย้ำอีกครั้งว่าผมมีความผิดเพราะเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตามหน้าที่ในสงครามและตามคำสัตย์ต่อหน้าที่ เมื่อสงครามเกิดขึ้นนั้นก็มีการประกาศกฎอัยการศึก… ผมไม่ได้สังหารชาวยิวด้วยความกระหายและเจตนาของตัวเอง...ในขณะนั้นการเชื่อฟังคำสั่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ”

เป็นคำพูดของอดอล์ฟ ไอชมันน์ ในชั้นศาลที่ไต่สวนคดีของเขาทั้งสิ้น 15 คดี รวมถึงอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ไอช์มันน์เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทหารหน่วย SS ของนาซีเยอรมัน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือที่รู้จักกันในนามโฮโลคอสท์(ที่มา: remember.org)

เมื่อกลับมาดูในบริบทการเมืองไทยก็มีคำถามที่น่าคิดต่อว่า แล้วความพยายามยึดอำนาจโดยสถาบันทหารที่ตามกฎหมายก็ได้ระบุเอาไว้ว่าผิดกฎหมายและมีโทษถึงประหารชีวิตนั้น เมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจไปแล้วนั้นสามารถเอาผิดได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการให้ทหารออกจากค่าย รวมไปถึงทหารที่รับคำสั่งไปปฏิบัติตามสามารถเอาผิดได้หรือไม่

ประชาไทพาผู้อ่านทำความรู้จักหลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเวียดนามที่ทั้งผู้สั่งและผู้รับคำสั่งที่กระบวนการทางกฎหมายไม่ได้ปล่อยผ่านไปด้วยข้ออ้างเรื่องภาวะสงคราม และเงื่อนไขเชิงโครงสร้างสถาบันและกระบวนการยุติธรรมในไทยที่ไม่สามารถเอาเรื่องกับคำสั่งที่ผิดกฎหมายในกรณีการรัฐประหารได้

หลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคืออะไร ตัวอย่างภาคปฏิบัติจากสหรัฐฯ

มาตราที่ 28 และ 33 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ระบุถึงโทษของผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่ง และผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
มาตรา 28 ว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้บัญชาการ (Commanders) และผู้บังคับบัญชา (Superiors) คนอื่นๆ
เพิ่มเติมจากกรณีความรับผิดชอบทางอาญาของธรรมนูญอาญาภายใต้เขตอำนาจของศาล
  1. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลที่ทำหน้าที่เสมือนผู้บังคับบัญชาทหารจะต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ทำโดยกองกำลังภายใต้บังคับบัญชาหรือภายใต้การควบคุมของเขา ทั้งในกรณีที่เป็นไปตามการควบคุมและไม่เป็นไปตามการควบคุม ในกรณีที่
    1. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลนั้นทราบ หรือควรจะทราบว่ากองกำลังของของตนได้ทำ หรือมีแผนจะทำอาชญากรรมเช่นว่า
    2. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลนั้นไม่บังคับใช้มาตรการที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเพื่อระงับหรือป้องกันการก่ออาชญากรรม หรือไม่ส่งรายงานสถานการณ์ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดี
  2. กรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ได้กล่าวในย่อหน้าที่ 1 ผู้บังคับบัญชาจะมีความรับผิดชอบทางอาญาสำหรับอาชญากรรมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาล อันถูกกระทำโดยผู้ใต้บังคับบัญชาอันเป็นผลมาจากการไม่สามารถทำการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ในกรณีที่
    1. ผู้บังคับบัญชาทราบหรือเจตนาไม่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา
    2. การก่อการที่เป็นอาชญากรรมอยู่ในข่ายการควบคุมและการรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา
    3. ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลนั้นไม่บังคับใช้มาตรการที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเพื่อระงับหรือป้องกันการก่ออาชญากรรม หรือไม่ส่งรายงานสถานการณ์ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดี
มาตรา 33 ว่าด้วยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและอายุความของกฎหมาย
  1. บุคคลใดๆ ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชาอันเป็นอาชญากรรมภายใต้ขอบเขตการวินิจฉัยของศาลจะไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมดังกล่าว ยกเว้น
    1. บุคคลนั้นถูกข้อบังคับทางกฎหมายให้ต้องเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้ใต้บังคับบัญชา
    2. บุคคลดังกล่าวไม่ทราบว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
    3. คำสั่งนั้นไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
คำสั่งกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

(ที่มา: International Criminal Court)
หรือพูดง่ายๆ ก็คือผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการ หรือผู้บังคับบัญชารายอื่นๆ มีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งที่ทราบ หรือควรทราบ รวมถึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์และไม่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีได้ นอกจากนั้น ถ้าคำสั่งจากผู้บังคับบัญชานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติตามก็จะต้องรับผิดชอบกับความผิดทางอาญานั้นด้วย เว้นเสียแต่ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำด้วยข้อผูกมัดทางกฎหมาย ไม่ทราบว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและตัวคำสั่งไม่ชัดเจนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในหลายประเทศก็มีการไต่สวน และพิจารณาถึงการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายคล้ายคลึงกับที่ระบุเอาไว้ในธรรมนูญกรุงโรมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้ามาประจำในเวียดนามเพื่อรบกับฝ่ายเวียดนามเหนือหรือเวียดกง เมื่อปี 2512 ในคดีระหว่างสหรัฐฯ กับคีแนน ทหารที่ถูกกล่าวหาในคดีฆาตกรรมเนื่องจากรับคำสั่งจากสิบโทลุกซโก ให้ยิงสังหารคนชราชาวเวียดนามคนหนึ่ง โดยศาลทหารได้ตัดสินให้คีแนนมีความผิดด้วยข้อวินิจฉัยว่า “การกระทำตามคำสั่งนั้นจะไม่ถูกตัดสินให้ชอบด้วยเหตุผลถ้าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่โดยธรรมชาติแล้วคนที่มีสติสัมปชัญญะตามปรกติรู้อยู่แล้วว่าผิดกฎหมาย” อย่างไรก็ดี สิบโทลุคซโกถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าเป็นบุคคลวิกลจริต (insanity)


ภาพจำลองการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลาย (ที่มา: flickr/ Adam Jones)

อีกตัวอย่างหนึ่งจากสหรัฐฯ คือกรณีการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลาย (My Lai) ประเทศเวียดนามในช่วงสงครามเวียดนาม สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษรายงานว่า ทหารอเมริกันจากกองร้อยชาร์ลีใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงในการปฏิบัติการค้นหาและทำลายกองพันเวียดกงที่ 48 ปฏิบัติการดังกล่าวจบลงด้วยการสังหารชาวเวียดนาม 504 คน นอกจากนั้นทหารสหรัฐฯ ยังข่มขืนและทุบตีชาวบ้านไม่เลือกหน้า โดยไม่ค้นพบกองพันเวียดกงที่ 48 บีบีซียังรายงานว่า ไม่มีกระสุนยิงมาจากทางชาวเวียดนามเลยแม้แต่นัดเดียว กรณีนี้เป็นที่โจษขานและวิพากษ์วิจารณ์หนักในสหรัฐฯ และเป็นตราบาปของกองทัพสหรัฐฯ ศาลทหารได้ดำเนินคดีกับร้อยโทวิลเลียม แคลีย์ หนึ่งในผู้บังคับบัญชาในการสังหารหมู่ครั้งนี้ คนที่บีบีซีรายงานว่าเป็นหนึ่งในคนที่กราดยิงชาวเวียดนามที่พวกเขาควบคุมตัวเอาไว้จำนวน 60 คน ตอนแรกแคลีย์ได้สั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาสองคนยิงชาวเวียดนามเหล่านั้นเสีย แต่มีทหารนายหนึ่งปฏิเสธ แคลีย์จึงจัดการยิงแทน ข้ออ้างของแคลีย์ที่ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตนนั้นฟังไม่ขึ้น ศาลตัดสินให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่สุดท้ายประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันออกคำสั่งลดโทษให้เป็นการควบคุมตัวในบ้านที่ค่ายเบนนิง มลรัฐจอร์เจียเป็นเวลา 3 ปีครึ่งเท่านั้น โดยแคลีย์เป็นทหารนายเดียวเท่านั้นที่ถูกฟ้องและศาลพิจารณาว่ามีความผิดจริง

ความยากกับการเอาผิดรัฐประหาร เมื่อระบบอุปถัมภ์ อาวุโสนิยมในกองทัพมาก่อนกฎหมาย

ภาพตัวอย่างของการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายในทางอาญานั้นค่อนข้างมีความชัดเจนในกรณีที่เป็นคำสั่งให้สังหารคนดังตัวอย่างข้างต้น คำถามอีกคำถามคือ แล้วในกรณีของการกระทำการยึดอำนาจที่ตามกฎหมายก็มีความผิดอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร

โทษของความพยายามในการทำรัฐประหารได้ถูกระบุเอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ของไทย ใจความว่า

หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
แม้กฎหมายจะตราเอาไว้เช่นนี้ก็ตาม แต่ว่าความพยายามของสถาบันทหารในการยึดอำนาจในไทยก็มีมาเรื่อยๆ หากนับทั้งความพยายามยึดอำนาจทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ก็รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 25 ครั้งแล้ว โทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิตดูจะเป็นแค่เสือกระดาษ ข้อคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และมีความพยายามยึดอำนาจครั้งใดไหมที่ผู้ก่อการถูกจับกุมและไต่สวน

ประชาไทสัมภาษณ์แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือ ได้ความว่า ในทางปฏิบัติการปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะคำสั่งที่มีภารกิจมารองรับ ยกตัวอย่างเช่น งานข่าวกรองหรือลาดตระเวน แต่ถ้าเป็นคำสั่งโดยตัวบุคคล ไม่มีภารกิจรองรับก็มีปฏิเสธกันอยู่บ้าง   
ต่อประเด็นการขัดคำสั่งรัฐประหาร แหล่งข่าวระบุว่าการขัดคำสั่งให้ทำรัฐประหารด้วยเหตุผลทางกฎหมายยังไม่มีปรากฏ จะมีก็แต่การปฏิเสธไม่เข้าร่วมการรัฐประหารเพราะเหตุผลของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลายเป็นเรื่องของการเมืองและพรรคพวกซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังในระบบทหารไทยว่าด้วยระบบอาวุโส ลำดับบังคับบัญชาและการทำตามคำสั่ง ส่วนเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องรองลงมา เพราะว่าในจังหวะนั้นเป็นเรื่องก้ำกึ่งระหว่างความเป็นความตาย การได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

ต่อเรื่องเงื่อนไขการทำให้มีหลักการขัดคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวกับการยึดอำนาจในไทยนั้น แหล่งข่าวบอกว่าทำได้ยากมาก ปัจจุบันก็มีการปลูกฝังแต่ว่าน้อย ส่วนมากสิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องลำดับขั้นการบังคับบัญชาผ่านการสร้างความกลัว เน้นประสิทธิภาพในการสั่งการเป็นหลัก ทำให้ไม่มีการคานอำนาจจากทางผู้ใต้บังคับบัญชา แม้แต่ทหารยศพันตรี พันโท กองทัพยังไม่เปิดให้ร่วมวางแผน การคิดและการวางแผนเป็นหน้าที่ของหน่วยเหนือ ซึ่งต่างประเทศนั้นยกเลิกระบบนี้ไปแล้วในประเทศที่มีระบบนิติรัฐเข้มแข็ง อำนาจพลเรือนสามารถควบคุมกองทัพได้ แต่ในไทย กองทัพยังเป็นพื้นที่ของทหาร หน่วยงานภายนอกตรวจสอบไม่ได้

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ศึกษา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในกองทัพไทยว่า เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกาใต้ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีความพยายามออกกฎหมายที่ขีดเส้นแบ่งคำสั่งทางทหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังพลก็มีสิทธิ์ไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่ไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น และไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะไทยเคยแต่ใช้การนิรโทษกรรมเป็นทางออกให้กับทหารที่ร่วมทำรัฐประหาร ประเทศแถบลาตินอเมริกาที่เคยผ่านการรัฐประหารมาบ่อยครั้งในอดีตก็ออกเป็นกติการทางการเมืองว่าคำสั่งที่ไม่ชอบ เช่นสั่งให้ยึดอำนาจก็สามารถไม่ทำตามได้เพราะผิดกฎหมาย ทั้งยังยกตัวอย่างการไต่สวนอดีตรัฐบาลทหารในคดีรัฐประหาร การยึดอำนาจการปกครอง การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2539

เงื่อนไขตุลาการหลังรัฐประหาร ตัดสินตาม ก.ม. นิรโทษกรรมทำคณะยึดอำนาจชอบด้วยกฎหมาย (ที่เขียนเอง)

เงื่อนไขด้านกระบวนการยุติธรรมก็เป็นปัญหาของไทยที่แก้ไม่ตก เพราะความพยายามยึดอำนาจที่สำเร็จนั้นแปรสภาพให้ผู้ก่อการ หรือกบฏกลายเป็นรัฐถาธิปัตย์ มีอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จและแก้ปัญหาสถานะการขึ้นมาอย่างผิดกฎหมายด้วยการออกฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ทำให้การยึดอำนาจไม่นำมาซึ่งโทษทางกฎหมาย ที่่ผ่านมาเมื่อเกิดการรัฐประหารก็มีประชาชนไปฟ้องศาลให้เอาผิดคณะรัฐประหาร ผลที่ได้คือศาลยกคำร้องและไม่สามารถนำคณะผู้ก่อการยึดอำนาจที่ทำได้สำเร็จเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ยกตัวอย่างกรณีหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ศาลอาญายกคำร้องของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตรที่ไปยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ คสช. รวม 7 คน ปลัดกระทรวง 20 คน และเจ้ากรมพระธรรมนูญ 1 คน รวม 28 คน ในฐานความผิดข้อหากบฏและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 113, 83, 86 ด้วยเหตุผลว่าความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) หรือกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวก 15 คน พร้อมด้วยอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะ คสช. รวม 5 คนในข้อหากบฏ สุดท้ายศาลก็ยกคำร้องอีกเพราะเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักกฎหมายมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่ว่คราว ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
มาตรา ๔๘ บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
(ที่มา: ประชาชาติ)
ย้อนไปไกลกว่านั้น หลังรัฐประหารปี 2549 ฉลาดก็เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐมนตรี  คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี  2550 รวมจำเลยทั้งหมด 308 คน ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดที่ร้ายแรงด้วยการทำรัฐประหาร หรือยึดอำนาจมาโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , 113 , 83 และ 86  โดยใช้เวลาไปกว่า 3 ปี และค่าใช้จ่ายกว่าสามแสนบาท อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลฎีกาให้ตัดสินตามศาลชั้นต้น ทำให้คดีนี้สิ้นสุด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ไปจนถึงกรณีที่บุญเกิด หิรัญคำ อุทัย พิมพ์ใจชน และอนันต์ ภักดิ์ประไพ ฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร และพวกในข้อหาเป็นกบฏจากการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ผลสุดท้ายโจทก์กลับถูกสั่งจำคุกเสียเอง

พัฒนากองทัพด้วยการสร้างทหารที่คิดเป็น อุปสรรคจากโครงสร้างอุปถัมภ์ไม่เป็นทางการ

เรื่องแนวทางการพัฒนาให้กองทัพไทยตระหนักถึงการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมาย แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามคนเดิมกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ ประเด็นอยู่ที่จะช้าหรือเร็ว  แต่ในกองทัพไทยนั้นมีท่าทีที่จะเริ่มได้ยาก เพราะโครงสร้างกองทัพและสถาบันที่ไม่เป็นทางการนั้นมีความเข้มแข็งเช่น สถาบันรุ่นของโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะคนในรุ่นต่างได้ประโยชน์จากการมีสถาบันดังกล่าวอยู่ การเปลี่ยนโครงสร้างจากด้านล่างสู่ด้านบนจึงเป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้ จึงต้องเป็นเรื่องที่มาจากข้างบนก็คือนโยบายรัฐ ซึ่งก็จะติดตรงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ที่กองทัพก็คงไม่ยอมให้มีนโยบายที่กดดันกองทัพมาก            
แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามได้ยกตัวอย่างของการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในกองทัพอิสราเอล โดยเล่าว่า การฝึกของกองทัพอิสราเอลจะไม่ฝึกให้ทหารทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่ให้คิดตามถึงข้อดีข้อเสียด้วย และเมื่อชี้แจงภารกิจจะเปิดโอกาสให้ทหารซักถาม ซึ่งสุดท้ายทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก็เข้าใจภารกิจมากขึ้นเพราะได้ฟังและวิเคราะห์คำสั่งร่วมกัน และการเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามกับคำสั่งจะไม่ทำให้กองทัพอ่อนแอลง แต่จะกลับทำให้เข็มแข็งขึ้นเสียด้วยซ้ำเพราะถ้ากำลังพลเข้าใจแล้วว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธ และการได้คิดตาม ได้ซักถามจึงทำให้มีความเข้าใจ นำไปสู่การทำภารกิจที่มีประสิทธิภาพ              
อ้างอิงและเรียบเรียงจาก
BBC, My Lai: the whitewash, March 13, 1998
Defense of Supereior Orders Before Military Commissions, http://scholarship.law.duke.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1151&context=djcil, p.407, retrieved on September 25, 2017
International Criminal Court, Rome Statute of the International Criminal Court, Retrieved on September 25, 2017
วิกิีพีเดีย, บุญเกิด หิรัญคำ, retrieved on September 25, 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.