Posted: 03 Jan 2018 03:01 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงโยกย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติ

คณะตัวแทนสหรัฐประจำสหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์ว่าได้แจ้งต่อเลขาธิการ UN แล้วว่าสหรัฐอเมริกาขอยุติการเข้าร่วมในข้อตกลงข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากปฏิญญานิวยอร์กสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีมาตรามากมายที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ

ที่มา: cnn.com (3/12/2017)

สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอในกัมพูชาวอนต่างชาติ หวั่นถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป

สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอในกัมพูชา (GMAC) ออกแถลงการณ์ร้องขอผู้ซื้อต่างชาติไม่ให้หันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่น โดยให้สนับสนุนกัมพูชาและโรงงานต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในการทำให้ชาวกัมพูชามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะธุรกิจสิ่งทอช่วยให้ชาวกัมพูชาหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากความกังวล หลังสหรัฐยุติการสนับสนุนการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. 2018 ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ขู่จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อตอบโต้ที่ศาลฎีกากัมพูชาสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านตามที่รัฐบาลยื่นคำร้อง

อนึ่งการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้านำรายได้เข้ากัมพูชาปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ โดย GMAC เป็นตัวแทนโรงงาน 600 แห่งและมีชาวกัมพูชาได้รับการจ้างงานถึง 700,000 คน

ที่มา: phnompenhpost.com (4/12/2017)

รายงานระบุคนงานโรงงานน้ำมันปาล์มหลายแห่งในอินโดนีเซียถูกกดขี่ด้านแรงงาน

รายงานของเครือข่าย Rainforest Action Network (RAN) ระบุว่า คนงานจำนวนมากที่โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายแห่งในอินโดนีเซีย ถูกละเมิดด้านแรงงานหลายอย่าง รวมทั้ง ค่าแรงที่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ การใช้แรงงานเด็ก และการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารเคมีอันตราย

รายงานชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์คนงานที่โรงงานของบริษัทอาหารรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย Indofood และเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับบริษัทอาหารระดับโลกหลายบริษัท รวมทั้งบริษัท Pepsi และ Nestle โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนเกาะกาลิมันตัน และเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตน้ำมันปาล์มสำคัญของโลก

ขณะนี้ Indofood ยังคงได้รับการรับรองจากองค์กรดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) แม้จะมีคำร้องเรียนเรื่องการกดขี่แรงงานมาแล้วหลายครั้งก็ตามที่ผ่านมา มีรายงานละเมิดด้านแรงงานเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ โรงงานทอผ้า เหมืองแร่ และคนทำงานภายในบ้าน แต่เวลานี้โรงงานน้ำมันปาล์มคือแหล่งที่มีรายงานการกดขี่คนงานมากที่สุด

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถือเป็นแหล่งรายได้หลักของอินโดนีเซีย โดยคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่าราว 93,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2021

ที่มา: voathai.com (5/12/2017)

บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมปลดพนักงาน 5,000-10,000 คน

Teva Pharmaceutical บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในโลกของอิสราเอล กำลังเตรียมปลดพนักงาน 5,000-10,000 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย 1.5-2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั่วโลกจำนวน 57,000 คน

ที่มา: jpost.com (8/12/2017)

ญี่ปุ่นเตรียมใช้โดรนไล่พนักงานจ้องทำโอทีกลับบ้าน

บริษัทไทเซ (Taisei) ซึ่งเป็นบริษัทรับทำความสะอาดและดูแลความปลอดภัยตามสำนักงานต่าง ๆ เตรียมจะนำโดรนที่พัฒนาร่วมกับบริษัทบลูอินโนเวชันและบริษัทสื่อสารเอ็นทีทีอีสต์ มาทดลองใช้ในสำนักงานของตนในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะนำโดรนนี้ออกวางตลาดจำหน่ายให้บริษัทอื่น ๆ ต่อไป

โดรนที่ว่านี้จะติดกล้องขนาดเล็กและบินไปทั่วสำนักงาน โดยจะบรรเลงเพลง "โอลด์ แลง ไซน์" (Auld Lang Syne) ซึ่งเป็นเพลงใช้บอกเวลาเลิกงานหรือปิดทำการห้างร้านที่รู้จักกันดีทั่วโลก "เสียงเพลงและเสียงของเครื่องยนต์โดรนจะทำให้ทนทำงานไม่ได้ พนักงานจะตระหนักในที่สุดว่าเวลาได้ล่วงเลยมามากและต้องเลิกงานแล้ว" นายโนริฮิโระ คาโต้ ผู้อำนวยการของบริษัทไทเซกล่าว

ที่มา: bbc.com (9/12/2017)

แรงงานไต้หวันร่วม 3,000 คน ประท้วงร่างกฎหมายแก้ไขชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่น

กลุ่มสหภาพแรงงานร่วม 3,000 คน ในไต้หวันประท้วงเรียกร้องให้ ส.ส.ยกเลิกทบทวนร่างกฎหมาย ที่เปิดช่องให้นายจ้างสามารถบีบพนักงานให้ต้องทำงานถึง 12 วันติดต่อกัน

ที่มา: focustaiwan.tw (10/12/2017)

เศรษฐกิจสหรัฐฯ จ้างงานเพิ่ม แต่ยังเจอปัญหาขาดแรงงานมีทักษะฝีมือ

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำคือ 4.1% ส่งผลให้ดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคอเมริกันอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตามผลสำรวจ Talent Trends Report ของ Randstad sourceright ชี้ว่าลักษณะของตลาดงานในอเมริกานั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยีกำลังเป็นที่ขาดแคลนในตลาดแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาความต้องการแรงงานด้านนี้มีมากกว่าจำนวนแรงงานที่มีอยู่

รายงานสำรวจชี้ว่า นายจ้างราว 60% มีแผนจะแทนที่พนักงานประจำราว 1 ใน 3 ด้วยพนักงานชั่วคราว หรือ ฟรีแลนซ์ รายงานชิ้นนี้แนะนำว่าพนักงานทุกคนควรฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ดังกล่าว

ที่มา: voathai.com (11/12/2017)

นักบิน Ryanair นัดหยุดงานก่อนคริสต์มาส

นักบินและพนักงานบนของสายการบิน Ryanair ประกาศนัดหยุดงานในเดือน ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนและเพิ่มสวัสดิการให้เท่าเทียมกับบริษัทคู่แข่ง

ที่มา: theguardian.com (15/12/2017)

ศาล EU ชี้ Uber คือผู้ให้บริการแท็กซี่

ศาลยุติธรรม European Court of Justice (ECJ) ระบุว่าว่า Uber เป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการขนส่งแห่งชาติของยุโรป

ที่มา: theguardian.com (20/12/2017)

คาดญี่ปุ่นขาดแคลนนักบินปี 2030

ญี่ปุ่นกับกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลต่อหลายอาชีพ โดยเฉพาะนักบิน ปัจจุบันมีนักบินจำนวนมากกำลังเข้าสู่วัย 40 ตอนปลาย ซึ่งนักบินกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณในช่วงประมาณปี 2030 ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามหานักบินเพิ่มผ่านการเพิ่มโควต้าในการรับนักเรียนของบรรดาโรงเรียนฝึกสอนการบิน และจัดทำโครงการเงินกู้สำหรับนักเรียนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินในอนาคต

ที่มา: japantimes.co.jp (28/12/2017)

ไม่พบหลักฐานเกาหลีเหนือนำเงินเดือนคนงานนิคมอุตสาหกรรมแคซองไปใช้ดำเนินโครงการผลิตอาวุธ

คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงรวมชาติของเกาหลีแถลงว่าข้ออ้างที่ระบุว่าเกาหลีเหนือนำเงินเดือนคนงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง (Kaesong industrial park) ไปใช้ดำเนินโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธนั้นไม่เป็นความจริง

ที่มา: japantimes.co.jp (28/12/2017)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.