เลขาฯ สนง.ศาลยุติธรรมแถลงผลงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศและ สนง.ศาลยุติธรรม เผยปี 60 พิจารณาแล้วเสร็จกว่า 1.5 ล้านคดี ปี 61 มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ชี้คดี 'ทนายอานนท์' ดูหมิ่นศาล หน่วยความมั่นคงมีอำนาจกล่าวโทษ หากเป็นอาญาเเผ่นดิน
สำหรับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 พบว่า มีคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จำนวน 817,467 คดี เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย 296,405 คดี คิดเป็นร้อยละ 36.26 ของจำนวนคดีแพ่งที่เข้าสู่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล คิดเป็นทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 479,142,349,822.76 บาท มีคดีอาญา เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยจำนวน 9,929 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,018 คดี คิดเป็นร้อยละ 60.61 ส่วนการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม2560 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 148 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 54,149,615,216.72 บาท
นอกจากนี้ แถลงผลการดำเนินงานยังระบุด้วยว่า เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ศาลยุติธรรมได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี อาทิ
- บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งระหว่างศาล เพื่อให้คู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในคดีความ สามารถยื่นคำขอคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งของศาลหนึ่งศาลใดได้ที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีสถิติการใช้งานระบบ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 จนถึงเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวน การบันทึกคำพิพากษาเข้าสู่ระบบ จำนวน 1,107,749 เรื่อง และมีจำนวนการให้บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษา จำนวน 2,308 ครั้ง
- โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลคดีกลางศาลยุติธรรมในการรวบรวมข้อมูลและเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลคดีระหว่างศาลยุติธรรม ทั่วประเทศ และสามารถบริการข้อมูลให้แก่หน่วยงานภายใต้กระบวนการยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
- โครงการพัฒนาระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อให้คู่ความสามารถยื่นและส่งคาคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล เป็นการเพิ่มช่องทางในการให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งมีการทดลองใช้ใน 12 ศาล และพบว่า สถิติการใช้งานระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 - 29 พฤศจิกายน 2560 มีทนายลงทะเบียน Online จำนวน 686 คน ยื่นฟ้องผ่านระบบ จำนวน 257 คดี (ศาลแพ่งมีการยื่นฟ้องมากที่สุด 140 คดี) และมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment เป็นยอดเงินรวม 3,043,988.71 บาท
ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพผู้เสียหาย คู่ความ และประชาชน แถลงผลการดำเนินงานยังระบุว่า ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในความรับผิดชอบของศาลยุติธรรมมีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น การออกหมายจับ หมายค้น การปล่อยชั่วคราว การแต่งตั้งทนายความและที่ปรึกษาให้แก่จำเลยในคดีอาญา เป็นต้น โดยมีสถิติการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา ระหว่างเดือนมกราคม –พฤศจิกายน 2560 มีคำร้องทั้งสิ้น 208,272 เรื่อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 195,326 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.73 การนำโครงการประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวมาใช้ และการจัดตั้งศาลเพื่อให้คู่ความ ประชาชน และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าถึงการให้บริการทางการศาลด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ได้แก่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 – ภาค 9 ศาลจังหวัดเชียงคำ ศาลจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย ศาลจังหวัดเชียงราย สาขาเวียงป่าเป้า ศาลจังหวัดพิษณุโลก สาขานครไทย รวมถึงส่วน/กลุ่มงานคดีนักท่องเที่ยวในสำนักงานประจำศาลจังหวัดสุโขทัยด้วย
นอกจากนี้ ในปี 2561 สำนักงานศาลยุติธรรมยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ด้วยการจัดอบรมในหัวข้อและหลักสูตรที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศอย่างเข้มข้น เพื่อให้การแปลและบังคับใช้กฎหมาย สอดคล้องต่อบริบทของสังคมไทยและหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของสากล ตามนโยบายของ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา
ชี้คดี 'ทนายอานนท์' ดูหมิ่นศาล หน่วยความมั่นคงมีอำนาจกล่าวโทษ หากเป็นอาญาเเผ่นดิน
มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม กรณี อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน โดนตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)แจ้งข้อหาดูหมิ่นศาลและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นั้น โดย เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ตอบข้อซักถามกรณีใครเป็นผู้เสียหาย และหน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจแจ้งความหรือไม่ ว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ศาลจะต้องเป็นผู้เสียหาย แต่ในความผิดอาญาแผ่นดินจะมีได้ 2 กรณี คือการร้องทุกข์คือผู้เสียหายและการกล่าวโทษ โดยการกล่าวโทษอาจเป็นผู้ประสบเหตุ แม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายแต่ก็สามารถกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้ ฉะนั้นในระบบคดีอาญา การกล่าวโทษกับการร้องทุกข์จะเป็นลักษณะนี้
10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”
'อานนท์ นำภา' รับทราบข้อหาหมิ่นศาล ปมโพสต์วิจารณ์ศาล เพื่อนทนายหลายสิบร่วมให้กำลังใจ
สราวุธ กล่าวต่อว่า ในระบบศาลนั้น ศาลย่อมไม่ต้องการเข้ามาเป็นคู่ความในคดี จะเห็นได้ว่าศาลมีความอดทนอดกลั้น บางเรื่องการดำเนินการเรื่องการดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นผู้พิพากษามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดี เพราะหากคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้กระทำการอยู่เรื่อยๆ จะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ถ้าหากไม่ดำเนินการใดๆเลย คนจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง เช่น การเอาเรื่องไม่จริงไปกล่าวหาผู้พิพากษารับสินบน อย่าว่าแต่ผู้พิพากษาเลย ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็รู้สึกได้รับความเสียหาย เหมือนนักข่าวที่เวลาเขียนข่าวก็โดนกล่าวหาว่าเขียนข่าวเชียร์รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ความยุติธรรม สถาบันศาลเป็นสถาบันของประชาชน แนวทางการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นคดีละเมิดอำนาจศาลหรือคดีหมิ่นศาล ศาลพยายามระมัดระวังมากที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบ และไม่ลงไปเป็นคู่ความในคดี ให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเราไม่มีนโยบายใดๆทั้งสิ้นที่จะไปมีปัญหากับประชาชน
เมื่อถามย้ำว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สามารถกล่าวโทษได้ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
แสดงความคิดเห็น