Posted: 22 Jan 2018 09:41 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพย้ำจุดยืนค้านนโยบายลงทะเบียนคนจน ชี้เหมือนใช้เงินซื้อใจคนจนไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม ย้ำเรื่องที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา สุขภาพ และผู้สูงอายุ ควรปรับใหม่เป็นแบบหลักประกันถ้วนหน้าในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการโดยไม่ตกหล่น

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

23 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ความเห็นต่อนโยบายลงทะเบียนคนจนว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเครื่องมือที่ใช้วัดความยากจนที่รัฐบาลใช้นั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นคนจนจริงๆ ขณะเดียวกัน บางส่วนของนโยบายนี้ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐดำเนินการอยู่แล้ว และในบางประเด็นควรปรับปรุงนโยบายให้เป็นระบบหลักประกันที่ให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนมากกว่าจะให้เฉพาะคนจนที่มาลงทะเบียนซึ่งมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์

สุรีรัตน์ กล่าวว่า การใช้เกณฑ์รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 แสนบาทและไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นคนจนหรือไม่จน ที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาตั้งแต่การลงทะเบียนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ว่าคนที่ได้ลงทะเบียนอาจจะไม่ใช่คนจนจริงและคนที่จนจริงก็อาจไม่ได้ลงทะเบียน เช่น บางคนไม่มีรายได้ แต่ยังมีที่ดินบ้าง มีเงินในบัญชีบ้าง หรือถูกให้ออกจากงานได้เงินจากประกันสังคมมา 2-3 แสนบาทก็ไม่เข้าข่ายลงทะเบียนแล้วทั้งๆที่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่คนร่ำรวยและยังต้องทำงานต่อไป

สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่าโครงการนี้ยังใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกับสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ เช่น การเปิดให้คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมาลงทะเบียนได้ ซึ่งคนอายุ 18 ปีส่วนใหญ่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป ซึ่งคนในช่วงอายุนี้รัฐบาลก็มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทุกคนได้เบี้ยยังชีพ แต่คนอายุมากกว่า 60 ปีที่มาลงทะเบียนคนจนมี 3.8 ล้านคน รัฐก็ได้เพิ่มบางส่วนให้อีก

“ไม่ใช่ไม่ดีนะแต่จะชี้ให้เห็นว่ามันซ้อนกันอยู่ จำนวนเงินไม่ได้มากแต่ก็ใช้ซ้ำซ้อน” สุรีรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน บางเรื่องก็ไม่เหมาะที่จะใช้นโยบายแบบแยกออกมาเป็นกลุ่มคนจน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคือเรื่องสุขภาพ การศึกษา และชราภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบลงทะเบียนคนจน แต่ควรจัดสวัสดิการถ้วนหน้าในด้านนั้นๆ เพื่อให้เกิดหลักประกันในลักษณะเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สุรีรัตน์ ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา แม้ทุกวันนี้จะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ก็ยังถือว่าไม่ถ้วนหน้าเพราะเด็กหลายคนที่อยากได้ทุนแต่ก็ยังเข้าไม่ถึง ถ้าหากรัฐทบทวนนโยบายนี้ให้ดีๆ ดูเรื่องการใช้เงินในแต่ละปี สกรีนลูกข้าราชการออกไปเพราะสามารถเบิกค่าเรียนได้อยู่แล้ว ที่เหลือให้ทุกคนที่อยากเรียนหนังสือมาใช้กองทุนนี้ได้อย่างเต็มที่ก็น่าจะทำให้เด็กคนจนหลายคนที่หลุดจากระบบ ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้

“แบบนี้ก็จะทำให้คนยกระดับตัวเองให้ได้เรียน เพราะกองทุนนี้ใช้เป็นค่ากินค่าอยู่ได้ด้วย เด็กหลายคนที่หลุดไปจากระบบไม่ใช่เพราะค่าเทอม แต่เพราะพ่อแม่ไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้มากพอ ถ้ารัฐทบทวนระบบนี้ให้เต็มที่ เติมเงินลงไปให้ทุกคนเข้าถึง คิดให้เป็นระบบหลักประกันทางการศึกษาเหมือนที่คิดแบบระบบหลักประกันสุขภาพ คือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ก็จะมีเงินกองทุนเข้ามาดูแล รวมทั้งไปทบทวนการใช้เงินคืนให้ดีว่าถ้าทำงานแล้วเงินเดือนยังไม่สูงพอก็ต้องชะลอออกไปก่อน แบบนี้มันก็จะดีขึ้น คนก็จะเข้าถึงการศึกษามากขึ้น” สุรีรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของเรื่องผู้สูงอายุ รัฐบาลจะเอาเงินสรรพาสามิตปีละ 4,000 ล้าน มาเติมให้ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนคนจน ดังนั้นคนจนคนอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็รู้สึกไม่สบายใจว่าตัวเองไม่มีสิทธิได้และอาจเกิดความแตกแยกในอนาคต ดังนั้นควรต้องจัดแบบถ้วนหน้าเพราะข้อมูลยืนยันอยู่แล้วว่าถ้าให้เงินถ้วนหน้ากับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีน้อยคนมากที่จะไม่มารับเงิน

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันรัฐกำลังลงทุนเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ปรากฏว่ากระแสเงียบไปมาก คนไม่ค่อยมาออมเพราะไม่มีแรงจูงใจพอที่จะออม รัฐควรต้องทบทวนดูว่าตัวเองทำนโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จทุ่มเงินน้อยไปหรือไม่ ตั้งใจใช้เงินปีละไม่กี่พันล้านบาทให้คนมาร่วมออม สะท้อนว่ารัฐทำอะไรกับคนจนจะลงทุนน้อยไป ขณะเดียวกันก็จะพูดอยู่ตลอดเงินไม่พอ

“ทีนี้ถ้าลงทะเบียนคนจนไปแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะใช้ตัวเลขนี้เป็นหลักในการคำนวณงบประมาณหรือไม่เพราะมันง่ายดี จัดสรรงบประมาณปีละ 3-4 หมื่นล้านก็พอแล้วในการซื้อใจคนจน มันก็เหมือนการใช้เศษเงินซื้อใจคนจนซึ่งไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ มันฉาบฉวย ไม่ใช่นโยบายที่เป็นหลักการ เป็นประชานิยมตัวจริงเสียงจริง มาว่านักการเมืองตอนหาเสียงแล้วล็อคว่าไม่ให้หาเสียงแบบนี้ แต่ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างกัน แล้วมันแก้ปัญหาความยากจนอย่างไร เพราะฉะนั้นจัดระบบให้เขาได้เรียนอย่างเต็มที่ ให้กองทุนดูแลค่ากินอยู่ไปด้วยจะดีกว่าไหม” สุรีรัตน์ กล่าว

สุรีรัตน์ กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า การลงทะเบียนคนจนก็เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่านโยบายการจัดสวัสดิการหลักๆไม่ควรจัดเฉพาะคนจนแต่ควรปรับมาเป็นระบบหลักประกันแบบถ้วนหน้าในเรื่องนั้นๆไป เพื่อแก้ปัญหาว่าคนที่ยากลำบากที่สุดจนที่สุดก็สามารถเข้าถึงโดยไม่ต้องมานั่งคัดเลือกหรือลงทะเบียนเป็นครั้งๆไป และการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้แน่นอน

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเป็นหนึ่งในเครือข่ายประชาชนในนาม People Go Network Forum พร้อมด้วย เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายทรัพยากร สิทธิชุมชน เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ ที่จัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพจากกรุงเทพฯไปขอนแก่นเพื่อสื่อสาร 4 ประเด็นหลักคือ 1.เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ 2.เพื่อนโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ของเราเอง 3.เพื่อกฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ดูแลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อนโยบายที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมของเรา และ 4.เพื่อรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดที่กำหนดชีวิตเราในฐานะพลเมือง ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้านจริงๆ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.