Posted: 24 Jan 2018 11:08 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ใบตองแห้ง
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เชื่อว่าเลื่อนเลือกตั้งจะไม่กระทบความเชื่อมั่นภาคเอกชน เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนดีขึ้น ต่างชาติสนใจอีอีซีมากกว่า
แต่ขณะเดียวกัน กกร.ก็เรียกร้องให้ทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเห็นว่าปรับเกินอนุกรรมการจังหวัดเสนอ จะทำให้ภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs กระทบหนัก
อ้าว ก็ไหนเชียร์รัฐบาลแก้เศรษฐกิจฐานราก ทำให้คนไทยหายจน จะให้รัฐบาลแจกฝ่ายเดียวโดยไม่ปรับค่าจ้างหรือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าค่าจ้าง “ต่ำเตี้ยติดดิน” แล้วจะหายจนได้ไง รัฐบาลจะเอาคะแนนนิยมจากไหน
รักจะเชียร์ คสช. ภาคเอกชนก็ต้องลงทุนหน่อย นี่ถ้าเลื่อนเลือกตั้ง 3 เดือน ต้นปี 62 ก็ต้องขึ้นค่าแรงอีกครั้ง รับรองคะแนนล้นหลาม รัฐบาลฐานเสียงมั่นคง กกร.ก็จะได้เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พูดอย่างนี้ไม่ใช่อคติกับภาคเอกชน แค่ขำๆ พวกท่านพูด 2 เรื่องที่อ่อนไหวทางการเมือง หนึ่ง หนุนรัฐบาลทหาร สอง ปกป้องผลประโยชน์นายจ้าง รู้จักระวังบ้างนะ จากนี้ไปกระแสสังคมจะผันผวน กระแสตีกลับเมื่อไหร่ ปัญหาเหลื่อมล้ำ รวยจน จะหวนเข้าใส่ภาคธุรกิจที่เชียร์รัฐบาล คล้ายๆ ยุคทักษิณ “ทุนสามานย์”
เหล่ากองหนุนรัฐบาลพยายามตีปี๊บว่าเลื่อนเลือกตั้งแค่ 3 เดือนไม่มีใครเดือดร้อน นอกจากนักการเมือง มองเผินๆ ก็เหมือนใช่ อ้าว ถ้าเชื่อว่าประชาชนไม่อยากเลือกตั้ง ทำไมไม่เลื่อนสัก 6 เดือนหรือ 1-2 ปี เผื่อเศรษฐกิจจะยิ่งดี
ใครล่ะที่สัญญาแล้วสัญญาอีก ตั้งแต่ปี 57-58-59-60 ทำไมไม่บอกว่าอยู่ยาวไปเลย 12 ปี แบบรัฐบาลหอย ทำไมต้องเลื่อนเรื่อยๆ เหมือนหลอกประชาชน
จริงๆ ไม่ได้หลอกหรอก หาทางออกไม่ได้เสียมากกว่า
รัฐประหารทุกแห่งในโลกยุคใหม่ เมื่อยึดอำนาจได้ก็จะรีบร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศเลือกตั้ง โดยหัวหน้ารัฐประหารจะตั้งพรรคการเมืองหรือหาวิถีทางใดก็ตาม สืบทอดอำนาจให้ตัวเองอยู่ต่อหลังเลือกตั้ง เช่น รัฐประหารอียิปต์เมื่อปี 2013 จัดเลือกตั้ง 2014 หัวหน้ารัฐประหารเป็นประธานาธิบดีจนวันนี้
ไม่มีรัฐประหารชุดไหนอยู่นาน 4-5 ปีอย่าง คสช.ทั้งในโลกในไทย ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ถนอม คุณอาจพูดได้ว่าคนไทยเหนือชาติใดในโลก แต่มันก็สะท้อนความอับจนไม่เห็นหนทางออก ทั้ง คสช.และสังคมไทย
มีอย่างที่ไหน ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกไม่เอา ฉีกเองฉุกละหุก ฉบับหลังผ่านประชามติ แต่กว่าจะเลือกตั้งก็เกิน 2 ปี กรธ.ยกร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ผ่าน สนช.จนประกาศใช้ กลับไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง กลับใช้ ม.44 แก้ไข เซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค แล้ว สนช.ก็อ้างว่าพรรคการเมืองจะเตรียมตัวไม่ทัน ฉะนั้น ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งก็จะยืดเวลาบังคับใช้ไปอีก 90 วัน
ป่วยการพูดถึงตรรกะวิบัติ ข้ออ้างไม่มีใบสั่ง คำถามคือถ้าคิดอย่างนี้ทำไมไม่เขียนกฎหมายไว้ตั้งแต่แรก ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันสะท้อนว่า คสช.เพิ่งจะรู้ตัวว่าไม่พร้อมเข้าสู่เลือกตั้ง เลยต้องมาแก้มายื้อกันให้วุ่นวาย ทั้งที่ควรเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งแต่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะสืบทอดอำนาจอย่างไร จะตั้งพรรคการเมืองไหม ฯลฯ ได้เปรียบทุกอย่างโดยเงื่อนไขกลไก แต่นี่อะไร ผ่านไปตั้งปีกว่า ยังไม่พร้อมเลือกตั้งเลย ยังต้องยืดเวลาทั้งที่ให้สัญญาประชาคมแล้ว
ฉะนั้นเรื่องของความเชื่อมั่น จึงไม่ใช่แค่ 3 เดือนไม่เห็นเป็นไร แต่เป็นคำถามว่า คสช.เชื่อมั่นตัวเองไหม พร้อมไหม ที่จะเข้าสู่เลือกตั้ง หรือเป็นโรคเลื่อนเพราะไม่พร้อม ไม่เชื่อมั่น ยังหาทางออกไม่เจอ ยังไม่มั่นใจว่าหลังเลือกตั้งจะกุมอำนาจได้อย่างมั่นคง
ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น คอลัมน์ ทายท้าวิชามาร
แสดงความคิดเห็น