Posted: 05 Jan 2018 03:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชมรม ผอ.รพ.สต. ค้าน ประกาศ สธ. ห้ามชาร์จมือถือในสถานที่ราชการ เหตุขัดแย้งยุค 4.0 สื่อสารทำงานผ่านมือถือ ทั้งติดต่อราชการ ส่งต่อผู้ป่วย เยี่ยมบ้าน ซ้ำ สธ.สร้างกลุ่มสั่งงานผ่าน line พร้อมไม่เห็นด้วยข้อห้ามนำรถยนต์จอดค้าง/ล้างในสถานที่ราชการ เหตุ “หมออนามัย” ส่วนใหญ่อาศัยบ้านพัก รพ.สต. ไม่สอดคล้องสถานการณ์จริง กระทบขวัญกำลังใจ จนท. แถมสวนกระแส สธ.มอบของขวัญปีใหม่บุคลากรในสังกัด

ที่มาภาพประกอบ: maxpixel.freegreatpicture.com (CC0)

5 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ Hfocus.org รายงานว่านายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประเทศไทย (ผอ.รพ.สต.) กล่าวว่า ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบของขวัญปีใหม่เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของราชการก่อนขึ้นปีใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้มีออกประกาศเรื่อง “มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ลงนามโดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยประกาศฉบับนี้ได้มีการพูดคุยในกลุ่ม line ของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.อย่างมาก เนื่องจากมีการออกข้อห้ามปฏิบัติที่ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ทั้งยังบั่นทอนกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

โดยข้อห้ามที่ชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย ไม่เห็นด้วย คือ ข้อ 2.ที่ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์จไฟในสถานที่ราชการ เพราะโดยข้อเท็จจริงในยุค 4.0 การสื่อสารต่างๆ ล้วนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร และส่วนใหญ่ก็ใช้โทรศัพท์ส่วนตัว ทั้งติดต่อราชการ การส่งต่อผู้ป่วย การติดต่อเยี่ยมบ้าน และการติดตามผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขเองได้มีการสร้างกลุ่ม line เพื่อใช้ในการติดต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการสั่งงานต่างๆ ตลอดจนการส่งหนังสือด่วน ซึ่งการใช้โทรศัพท์เพื่อดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้แบตโทรศัพท์หมดได้ จำเป็นต้องชาร์จแบตเพื่อทำงานต่อ

ดังนั้นจึงมองว่าเป็นข้อห้ามที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันในกรณีที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการ รพ.สต. หากแบตโทรศัพท์หมดและขอชาร์จแบตเพื่อติดต่อญาติจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าส่วนราชการไหน แม้แต่สนามบินก็พยายามอำนาจความสะดวกให้ แต่ สธ.กลับมีข้อห้ามนี้ออกมา

ส่วนที่ชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย ไม่เห็นด้วยอีก คือ ข้อ 5 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ส่วนตัวและครอบครัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ เนื่องจากในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะอาศัยอยู่บ้านพักใน รพ.สต. แม้ไม่ได้อยู่เวร หรือทำโอทีก็ต้องนำรถจอดในบริเวณพื้นที่ รพ.สต. ดังนั้นการห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดจึงไม่น่าจะเป็นข้อห้ามที่เป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

เช่นเดียวกับข้อ 6 ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาล้างในสถานที่ราชการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่อาศัยในบ้านพัก รพ.สต. เมื่อรถสกปรกก็ต้องล้าง ซึ่งรถที่ใช้แม้ว่าจะเป็นรถส่วนตัว แต่ก็ถูกนำมาใช้ทำงาน ทั้งติดต่อราชการ การติดต่อ สสอ. สสจ. หรือแม้แต่การเยี่ยมบ้านเชิงรุก

“เข้าใจว่ามาตรการต่างๆ ของ สธ.ที่ออกมานี้ เป็นกลไกกำกับตามมาตรการป้องกันกรณีใช้ทรัพยสินของทางราชการ แต่ทั้งนี้ควรมองตามข้อเท็จจริงปัจจุบัน ซึ่งข้อห้ามอื่นๆ อย่างการนำวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานไปใช้ส่วนตัว การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของทางราชการไปใช้ส่วนตัว เหล่านั้นก็เห็นด้วย แต่ในข้อ 2 ข้อ 5 และ ข้อ 6 คงไม่ใช่ มองว่า สธ.ทำในเรื่องหยุมหยิม คิดเล็กคิดน้อย ทั้งยังมีการระบุโทษความผิดทางวินัยหากไม่ปฎิบัติตาม ทั้งที่ควรสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานมากกว่า ซึ่งการชาร์จแบตโทรศัพท์ก็เพื่อปฏิบัติงาน ไม่ได้เปิดบริการชาร์จไฟเพื่อเก็บเงิน หรือการล้างรถยนต์ก็เป็นรถส่วนตัวที่มีการนำไปใช้ปฏิบัติงานด้วย ไม่ได้เปิดเป็นบริการคาร์แคร์” ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย กล่าว



[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.