หลังมีผู้ใช้งานโพสต์กระทู้บนโลกออนไลน์ว่า ไอโฟนของตนทำงานช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด “แอปเปิล”ออกมายอมรับเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทางบริษัทจงใจทำให้โทรศัพท์มือถือ “ไอโฟน” รุ่นเก่า ๆ ทำงานช้าลง ผ่านการอัพเดตระบบปฏิบัติการ iOS 11.2.0 ซึ่งจะลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องรุ่นเก่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เครื่องดับโดยไม่ทันตั้งตัว และช่วยรักษาอะไหล่ภายในเครื่องไปในตัว
แอปเปิลระบุว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวจะทำงานกับเฉพาะ iPhone 6, iPhone 6s, iPhone SE ซึ่งเริ่มมีการปรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้ได้ขยายมายัง iPhone 7 ทั้งยังมีแผนขยายฟีเจอร์ดังกล่าวไปยังรุ่นอื่น ๆ ในอนาคต
แม้แอปเปิลจะอ้างเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่ทำงานหนัก ป้องกันไม่ให้เครื่องดับแบบกะทันหัน แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภคหลายคน และทำลายความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ “แอปเปิล” เพราะมองว่านี่คือการเอาเปรียบของแอปเปิล เพื่อบีบให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อรุ่นใหม่ที่ทันสมัยขึ้น ทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคในรัฐอิลลินอยส์ และแคลิฟอร์เนีย ฟ้องบริษัทแอปเปิล โดยระบุว่าการกระทำของแอปเปิลไม่ได้รับการยินยอมจากผู้บริโภค ถือเป็นการบังคับทางอ้อมให้ต้องซื้อรุ่นใหม่ที่พัฒนาออกมาทุกปี
อาจเรียกว่าเป็นหนึ่งปัจจัยลบที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ “แอปเปิล” เพราะแม้ว่าจะเป็นความตั้งใจดีของแอปเปิล แต่ด้วยความที่ไม่สื่อสารกับลูกค้าจนกลายเป็นเรื่องของความโปร่งใส และทำให้เกิดคำถามขึ้นได้ว่า ก่อนหน้านี้แอปเปิลอาจจะเคยทำอะไรที่เป็นการเอาเปรียบลูกค้ามากกว่านี้หรือไม่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ถึง 2 เดือน หลังจากแอปเปิลเปิดตัว “iPhone X” หรือไอโฟนเท็น มือถือเรือธงฉลองครบรอบ 10 ปี ที่หน้าจอปราศจากปุ่มกดใด ๆ และสามารถสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกตัวเครื่องได้ และหลาย ๆ คนคาดว่า นี่คือการกลับมาเปลี่ยนโฉมโลกเทคโนโลยีอีกครั้งของแอปเปิล เหมือนกับที่เคยทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เพราะหลังจาก iPhone 6s เป็นต้นมา ยอดขายไอโฟนก็ไม่ค่อยโดดเด่นเหมือนอดีต เพราะแอปเปิลรุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมาไม่มีอะไรแตกต่างจากเครื่องรุ่นเดิมมากนัก แต่สำหรับ iPhone X เรียกได้ว่าเป็นเครื่องที่สเป็กจัดเต็ม มีลูกเล่นใหม่ ๆ และมีพัฒนาการของเทคโนโลยีอย่างโดดเด่น
แม้ช่วงแรกจะมีรายงานว่ายอดจองถล่มทลาย แต่ดูท่าผลงานของ iPhone X ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเท่าไหร่ ล่าสุด “ดิจิไทม์ส” สำนักข่าวด้านไอทีจากไต้หวัน รายงานอ้างแหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ว่า แอปเปิลได้ปรับลดคาดการณ์ยอดจัดส่ง iPhone X จาก 50 ล้านเครื่อง เป็น 30 ล้านเครื่อง สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดขาย ขณะที่ยอดพรีออร์เดอร์ iPhone X ในไต้หวัน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ไม่มากเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ แม้ว่าบางตลาด เช่น ญี่ปุ่น จะยังมียอดจองจำนวนมากก็ตาม นอกจากนี้ แหล่งข่าวนิรนามยังให้ความเห็นว่า ยอดขาย iPhone X ในไตรมาสแรกของปี 2018 อาจจะชะลอตัวลงไปอีก
“Zhang Bin” นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ชิโนลิงค์ ของจีน คาดว่า ยอดจัดส่ง iPhone X ในไตรมาสแรกปี 2018 อาจลดลงเหลือเพียง 35 ล้านเครื่อง และอาจลดลงต่ำสุดแค่ 10 ล้านเครื่องเท่านั้น เนื่องจากราคาที่สูงมากของ iPhone X จึงทำให้ความต้องการลดลง
สอดคล้องกับนักวิเคราะห์จาก “JL Warren Capital” ประมาณการว่า ยอดขาย iPhone X ไตรมาสแรกปี 2018 อาจลดลงเหลือราว 25 ล้านเครื่องเท่านั้น ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าราคาสูง และไม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจนัก
อีกปัจจัยที่จะเข้ามากระทบการเติบโตของยอดขายไอโฟนเท็น ก็คือ การกลับมาของ “ซัมซุง” ด้วยการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่อย่าง “กาแล็กซี เอส 8” และ “กาแล็กซี โน้ต 8” ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ หลังจากก้าวผ่านวิกฤตปัญหาการระเบิดของ “ซัมซุง กาแล็กซี โน้ต 7”
นอกจากนี้ ด้วยบทบาทและความแรงของแบรนด์มือถือจีน ที่มุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์ให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับโลก และผงาดขึ้นมาชิงส่วนแบ่งตลาดของแอปเปิล ทั้ง “หัวเว่ย” “เสี่ยวมี่” รวมไปถึง “ออปโป้” ที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดบ้านเกิดอย่างจีน ซึ่งถือเป็นตลาดมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปัจจุบันหลาย ๆ ค่ายก็เปิดเกมรุกขยายตลาดออกนอกบ้านเกิด โดยเฉพาะการรุกตลาด “อินเดีย” ซึ่งถือว่าเป็นตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่อันดับสองของโลก
ขณะที่ผลสำรวจตลาดสมาร์ทโฟนโลกจากสำนักสถิติ “Statista” ระบุว่า ไตรมาส 3/2017 “ซัมซุง” ยังครองแชมป์ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 22.8% ตามมาด้วย แอปเปิล 12.5% หัวเว่ย 10.5% ออปโป้ 8.2% และเสี่ยวมี่ 7.4% จาก ณ สิ้นปี 2016 ซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 18.1% แอปเปิล 18.3% หัวเว่ย 10.6% ออปโป้ 7.3% และวีโว่ 5.8%
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนแบรนด์จีนได้ก้าวขึ้นมาติด TOP 5 ของตลาดสมาร์ทโฟนโลกถึง 3 แบรนด์ ด้วยเพราะกลยุทธ์ราคาไม่แพง พร้อมด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่น่าสนใจเสมอ โดยเฉพาะหัวเว่ย ที่เคยลั่นเอาไว้ว่า จะแซงหน้าขึ้นเป็นเจ้าตลาดอันดับ 2 แทนแอปเปิลให้ได้เร็ว ๆ นี้
ดังนั้น ปัจจุบันที่แข่งขันกันเต็มอัตราศึกด้วยเทคโนโลยี จึงอาจเป็นโจทย์สำคัญของ “ทิม คุก” ซีอีโอของแอปเปิล ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับอนาคตของแบรนด์ เพราะการขายสินค้าด้วยความเชื่อมั่นว่า ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ อาจจะไม่ใช่ไอเดียที่ดีอีกต่อไป เพราะมีคู่แข่งอีกมากมายที่พร้อมจะฟาดฟันด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา
source : Line
แสดงความคิดเห็น