Posted: 17 Feb 2018 09:56 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาองค์กรแล้ว 25 ราย วงเงินกว่า 18 ล้านบาท

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปล่อยเงินกู้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งฝึกอบรมให้กับพนักงาน ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทักษะฝีมือ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในปี 61 (ตค.2560 -มค.2561) คณะกรรมการส่งเสริมฯ อนุมัติให้สถานประกอบกิจการกู้แล้ว 18,340,050 บาท จำนวน 25 แห่ง นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการที่มีการฝึกอบรมให้กับพนักงาน ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ทุกสถานประกอบกิจการมีการกู้เงินเพื่อการลงทุน แต่สิ่งสำคัญในการกู้เงิน จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาองค์กรและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สำหรับผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 หลังจากนี้ไปจะปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 3

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/2/2561

ธุรกิจโรงแรม “หาดใหญ่” ผวา…ท่องเที่ยวทรุด จ่อเออร์ลี่พนักงาน

นายกมล สุทธิวรรณโนภาส กรรมการผู้จัดการ โรงแรมไชน่าการ์เด้น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมาชิกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลายังประสบกับภาวะซบเซาต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาปกติ แต่ทุเลาลงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

โดยแนวโน้มในปี 2561 น่าจะส่งผลกระทบกว่าปี 2560 ซึ่งมีผลจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บางประเด็น เช่น พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ห้ามรถที่จดทะเบียนในมาเลเซียวิ่งออกนอกเขต 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีการจับรถบริการผู้โดยสารประเภทนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ตลอดจนถึง พ.ร.บ.ประกันภัยนักท่องเที่ยว จนส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดภาวะซบเซา ตอนนี้โรงแรมจำนวนมากที่มีทุนระยะสั้น ต่างมีนโยบายเออร์ลี่พนักงานโรงแรมออกเป็นระลอก ส่วนโรงแรมของตนได้เออร์ลี่ไปก่อนแล้ว เมื่อปี 2560 ตอนนี้เหลือพนักงานประมาณ 10 คน

นายวิทยา แซ่ลิ่ม อดีตผู้ก่อตั้งสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา และมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีที่ผ่าน ๆ มา พื้นที่จังหวัดสงขลาจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาพักโรงแรมทั้งชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกเป็นจำนวนมาก มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อเทศกาล แต่เทศกาลตรุษจีนปีนี้ยังประเมินไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขการสั่งจองและยกเลิกห้องพักยังไม่นิ่ง โดยสภาพทางเศรษฐกิจขณะนี้น่าวิตก หากผลประกอบการช่วงกลางปี 2561 ผู้ประกอบการขาดทุน นักลงทุนอาจเทขายหุ้นกันขนานใหญ่

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลานั้น ขณะนี้มีการร่างแนวทางร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ แล้วนำเสนอต่อจังหวัดสงขลา และทางกองทัพภาคที่ 4 โดยจะดำเนินการภายหลังจากการเลือกตั้งนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ปัจจุบันสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลายังไม่มีการเลือกตั้งนายกสมาคม และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งมานาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทำหนังสือถึงสมาชิกเพื่อหารือดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการท่องเที่ยวทางภาคใต้ตอนบน และฝั่งอันดามันยังมีทิศทางที่ดี เช่น จังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเช่นเดียวกับจังหวัดตรัง บริเวณรอยต่อจังหวัดพัทลุง ยังไม่มีผลกระทบ

ด้านนางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวทางภาคใต้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึงร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายเมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับเที่ยวบินตรงจากจีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซียก็ขยายตัวดีด้วยเช่นกัน แต่นักท่องเที่ยวมาเลเซียกลับหดตัวลง เป็นผลจากค่าเงินริงกิตอ่อนตัว โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/2/2561

รองนายกฯแจงเหตุไม่เลือกตั้งบอร์ด สปส. อ้างติดคำสั่ง คสช.


เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 ก.พ. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมกับตัวแทนกระทรวงแรงงานเพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมเห็นว่าจะให้บอร์ดประกันสังคมชุดปัจจุบัน ยังทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมและคำสั่งมาตรา 44 จะกำหนดให้ต้องเลือกบอร์ดประกันสังคมภายใน 2 ปี โดยกรรมการทั้ง 14 คนจะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด โดยกระทรวงแรงงานไม่เคยเลือกบอร์ดประกันสังคม จึงนึกไม่ออกว่าจะเลือกอย่างไร และเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะต้องมีการหาเสียงประกาศตัวผู้สมัครให้คนรู้จัก และจะเกิดปัญหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงเห็นว่าควรจะใช้คำสั่ง ม.44 ให้บอร์ดชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปสักระยะหนึ่ง เพื่อรอ พ.ร.บงประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขมาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง

"เขาบอกว่าถ้าเลือกไปเลยจะเสียเวลา เกิดความล่าช้า และใช้งบประมาณมากอาจจะสูงถึง 2 พันลานบาท แต่ผมบอกว่าเว่อร์ไปเพราะจะคิดเหมือนกับการเลือกผู้แทนราษฎรไม่ได้ เพราะ 2 พันล้านบาท คือเลือก ส.ส.ตั้ง 500 คน แต่บอร์ดประกันสังคมมีเพียง 14 คน ดังนั้น 100 ล้านบาทผมก็ไม่ให้ ด้วยเหตุนี้กระทรวงแรงงานจึงคิดไม่ออกว่าจะเลือกอย่างไรคนถึงจะยอมรับและมีปัญหาในเรื่องของการหาเสียง ดังนั้นจึงให้บอร์ดเดิมทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะตัดสินใจแน่ชัดแล้วว่าจะใช้วิธีการใด และในคำสั่ง คสช.ยังกำหนดให้สามารถเปลี่ยนบอร์ดได้ด้วย" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า การให้บอร์ดประกันสังคมชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ที่ผ่านมานายจ้าง ลูกจ้าง เห็นว่าเมื่อไม่ได้เลือกตั้งบอร์ดเข้ามาใหม่ก็ไม่ได้มีการสะท้อนถึงปัญหาของตัวเอง แต่การเลือกตั้งก็ไม่เหมาะสมในเวลานี้ โดย พ.ร.บ.ประสังคมฉบับใหม่จะเลือกบอร์ดโดยวิธีสรรหา แบ่งคนออกเป็นกลุ่ม โดยตนได้ให้แนวทางไปศึกษาการสรรหา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการไม่ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เป็นพราะรัฐบาลหมกเม็ดใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีอะไรเลย เราให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเท่าที่จำเป็นตามภารกิจโดยไม่มีระยะเวลา และไม่ใช่จะมาประชุมเล่นเพื่อเอาเบี้ยประชุมเพราะมีเรื่องต้องพิจารณาเพื่อประโยชน์ทั้งของนายจ้างและลูกจ้างอีกมาก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/2/2561

สั่งดำเนินคดีโรงงานประมาท ปล่อยลูกจ้างทำงานจนแขนขาด


เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2561 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีลูกจ้างโรงงานแห่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ร้องขอความช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุถูกเครื่องจักรตัดแขนขณะทำงานแต่ไม่ได้รับการเยียวยานั้น ว่า หลังทราบเรื่องได้ให้เจ้าหน้าที่ลงไปติดตามตรวจสอบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เบื้องต้น กสร.สมุทรปราการ แจ้งความดำเนินคดีนายจ้าง ฐานฝ่าฝืนไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากไม่มีการแนะนำข้อกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัยให้ลูกจ้างได้ศึกษา

ทั้งนี้ เบื้องต้นสถานประกอบการให้ลูกจ้างคนดังกล่าวพักงาน แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด และยังให้รับเงินเดือนตามปกติ แต่หากอนาคตบริษัทเลิกจ้างแรงงานคนดังกล่าว ก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการเยี่ยวช่วยเหลือของของกระทรวงแรงงาน ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินจากกองทุนทดแทนการขาดราย ตลอดช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ลูกจ้างคนดังกล่าวไม่ได้ทำงานเป็นเงิน 4,836 บาท ส่วนกรณีสูญเสียอวัยวะลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือ 114 เดือน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 551,304 บาท และถ้าอนาคตลูกจ้างคนดังกล่าวออกจากก็งานสามาถติดต่อกระทรวงฯ ขออบรมฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางร่างกายจิตใจ และให้ช่วยหาอาชีพใหม่ให้ได้

อย่างไรก็ตามวานนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ถาวร บุญมานัน ได้โพสต์ขอความช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุถูกเครื่องจักรตัดแขนขณะทำงาน แต่เรื่องดังกล่าวผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 15/2/2561

ผู้ประกันตนกว่า 9 แสนคน เฮ! สนช.ผ่านร่าง กม.คืนสิทธิ ม.39


นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. … ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบจนสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนสามารถกลับคืนสู่ระบบประกันสังคม ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกันตนที่ขาดส่งเงินสมทบจนสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะสามารถเข้ามาเป็นผู้ประกันตนได้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีคนที่พ้นสภาพอยู่ประมาณ 9 แสนกว่าคน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า หลังจากนี้ คนที่ต้องการกลับเข้ามาในระบบประกันสังคมสามารถยื่นเรื่องได้นับตั้งแต่วันที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จนถึงระยะเวลา 1 ปี หลังลงประกาศแล้ว โดยสามารถนำเอาบัตรประจำตัวประชนเพียงใบเดียวไปยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านได้

“ในการพิจารณาใช้เวลาไม่นาน หากคนที่เพิ่งพ้นสภาพไปไม่นานการตรวจสอบและอนุมัติทำได้เร็วภายใน 1 วัน แต่คนที่ขาดไปนาน และมีข้อสงสัยอาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบสักระยะหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ ยืนยันว่าขณะนี้ระบบประกันสังคมพร้อมแล้ว” นพ.สุรเดช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องจ่ายเงินสมทบที่ค้างอยู่ก่อนนี้หรือไม่จึงจะได้รับสิทธิกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นพ.สุรเดช กล่าวว่า การกลับเข้าระบบประกันสังคม ไม่มีการเรียกเงินย้อนหลัง ผู้ที่มีความประสงค์จะกลับเข้าประกันสังคมให้เริ่มต้นส่งใหม่ได้ทันที เงินที่สะสมอยู่ก็สะสมต่อไป เช่น ถ้าอายุยังไม่ถึง 55 ปี ก็ยังไม่ได้รับเงินนั้น แต่ใครที่รับไปแล้ว ก็จะเริ่มต้นนับการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ใหม่ ส่วนคนที่ขาดส่งไปในช่วงที่อายุยังไม่เกิน 60 ปี แต่ขณะนี้เกินแล้วอยากกลับเข้ามาก็กลับได้

“อันนี้ยังเป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 เริ่มทำเรื่องขอกลับเข้ามาอยู่ในระบบได้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึง 1 ปี แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่พ้นสภาพไปแล้ว สามารถกลับเข้ามาได้ตลอด” เลขาธิการ สปส.กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/2/2561

บีโอไอออกมาตรการลดผลกระทบด้านแรงงาน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บอกว่า ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น โดยให้ปรับปรุงเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้

โดยกิจการจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน 50% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อความสามารถในการแข่งขันโดยการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ชั้นสูง (Big Data Analysis, Internet of Things) เป็นต้น โดยจะให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องจูงใจผู้ประกอบการร่วมมือท้องถิ่น เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้ท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรอย่างครบวงจร และช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้สูงขึ้น

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บอกด้วยว่า ว่าบอร์ด บีโอไอ ได้อนุมัติให้กำหนดกลุ่มประเภทกิจการเป้าหมาย เพื่อรองรับการประกาศ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ของคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ซึ่งจะทำให้ประเภทกิจการเป้าหมายสำหรับแต่ละเขตมีผลใช้บังคับทันทีที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีออกประกาศกำหนด “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วยอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ(s-Surve) และกิจการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเอทานอล 99.5% ของบริษัท อิมเพรส เอทานอล จำกัด เงินลงทุน 2,970 ล้านบาท เพื่อผลิตเอทานอลปีละประมาณ 109,500,000 ลิตร ซึ่งจะใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปีละ 700,000 ตัน

ที่มา: moneychannel.co.th, 14/2/2561

แรงงานพม่า 300 คน ชุมนุมเรียกร้องไม่พอใจค่าแรง ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก


วันที่ 14 ก.พ. 2561 แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ส่วนมากจะเป็นแรงงานหญิง ประมาณ 300 คน ของโรงงานโกลเด้น ผลิตอัญมณี ได้ชุมนุมประท้วงปิดถนนบริเวณหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นถนนเชื่อมระหว่างบ้านท่าหาดกับบ้านวังตะเคียน หมู่ 2 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัด ตาก ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากไม่พอใจนายจ้าง ที่ไม่จ่ายค่าแรงงานตามกฎหมายไทย หรือค่าแรงขั้นต่ำวันละ 310 บาท ในระหว่างการชุมนุมหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อำเภอแม่สอด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สวัสดิการแรงงาน จ.ตาก กับเจ้าหน้าที่จัดหางาน เดินทางไปที่เกิดเหตุ เพื่อเจรจากับแรงงานพม่าที่ชุมนุมปิดถนน ซึ่งทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเฉพาะรถขนส่งสินค้า และชาวบ้าน 2 หมู่บ้านไม่สามารถใช้ยานพาหนะไปมาได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้พยายามเจรจากับแกนนำแรงงานหญิงชาวพม่า เพื่อขอให้เปิดถนนตามปกติ เพราะทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน และผิดกฎหมายประเทศไทย โดยขอให้ไปชุมนุมภายในโรงงาน และเจรจากัน แต่แรงงานพม่าไม่ยอม เจ้าหน้าที่จึงติดต่อแกนนำที่แรงงานให้ความเชื่อถือไปเจรจาเป็นภาษาพม่าผ่านเครื่องขยายเสียง ทำให้แรงงานพม่าทั้งหมดยอมสลายตัวจากถนนย้ายไปชุมนุมภายในโรงงาน และมีการส่งตัวแทนเจรจากัน โดยมีฝ่ายนายจ้าง จัดหางาน สวัสดิการแรงงาน ฝ่ายทหาร และตำรวจ ร่วมด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 14/2/2561

ไฟเขียว! ครม.เห็นชอบ ปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานฝีมือ 16 สาขา อัตรา 340-600 บาท


พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 7) ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง องค์กรไตรภาคี เรื่องการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 4 กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม รวม 16 สาชาอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในที่ผ่านมา มีผลตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอัตราค่าแรงในระดับแรงงานฝีมือหากใครต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้น ต้องพัฒนาฝีมือของตัวเอง แล้วไปทดสอบกับกระทรวงแรงงานเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงในระดับแรงงานฝีมือตามที่กำหนดไว้

สำหรับการปรับเพิ่มค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ มีดังนี้ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก แบ่งเป็นพนักงานหลอมเหล็กเตาอาร์กไฟฟ้า ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 480 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 580 บาท พนักงานปรุงแต่งน้ำเหล็กในเตาฯ ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 500 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 600 บาท/วัน, พนักงานหล่อเหล็ก ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 460 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 560 บาท/วัน และ พนักงานควบคุมอบเหล็ก ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 540 บาท/วัน

2.กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก แบ่งเป็น ช่างเทคนิคเครื่องฉีดพลาสติก ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน, ช่างเทคนิคเครื่องเป่าถุงพลาสติก ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน, ช่างเทคนิคเครื่องเป่าภาชนะ ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน และ ช่างเทคนิคซ่อมเครื่องเป่า ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 410 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 480 บาท/วัน

3.กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แบ่งเป็น พนักงานเตรียมวัตถุดิบ ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 340 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 370 บาท/วัน, พนักงานผลิตชิ้นส่วน ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 450 บาท/วัน, พนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 350 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 400 บาท/วัน และ ช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 360 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 400 บาท/วัน

และ 4.กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า แบ่งเป็นพนักงานตัดวัดรองเท้า ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 370 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 405 บาท/วัน, พนักงานอัดพื้นรองเท้า ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 420 บาท/, ช่างเย็บรองเท้า ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 380 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 420 บาท/วันและพนักงานประกอบรองเท้า ค่าจ้างระดับที่ 1 ค่าจ้าง 36 บาท/วัน ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 390 บาท/วัน

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้มุ่งที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ แต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีการพัฒนาฝีมือแรงงานและมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/2/2561

ก.แรงงาน เตรียมออกกฎกระทรวงป้องกันลูกจ้างวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการดำเนินการของสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของลูกจ้างซึ่งเป็นวัยรุ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจาก มาตรา 4 และ มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ในการให้ความรู้แก่วัยรุ่นที่เข้าสู่การทำงานในสถานประกอบกิจการซึ่งมีอายุระหว่าง 15 - 20 ปี และให้กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ออกกฎกระทรวงเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น โดยการจัดทำคู่มือ บอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้แก่ลูกจ้างในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ การแท้ง ภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องจากการแท้ง และโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า กรณีสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 กำหนดให้ต้องจัดให้มีพยาบาลประจำในสถานประกอบกิจการ ดังนั้น นายจ้างจึงต้องมอบหมายให้พยาบาลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้างวัยรุ่นในสถานประกอบกิจการ นอกจากนี้ หากลูกจ้างต้องการขอคำปรึกษาหรือขอรับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ให้ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างต้องสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงบริการจากสถานพยาบาล รวมไปถึงมีระบบการส่งต่อโดยการประสานงานช่วยเหลือเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการจัดสวัสดิการสังคมด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะนำไปสู่การพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 14/2/2561

ส่งศพแรงงานผูกคอเสียชีวิตที่เกาหลีใต้ กลับไทย


13 ก.พ. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายวันสิน บุญกลาง และ น.ส.ออม วงศ์จันทร์ สองสามีภรรยา ชาว ต.ห้วยสำราญ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีโดยไม่ถูกต้อง เมื่อวัน 11 ธ.ค.2560 โดยวิธีทัวร์ท่องเที่ยวคนละ 20,000 บาท เมื่อไปถึงประเทศเกาหลีแล้วได้หนีทัวร์แอบไปทำงาน แต่กลับพบกับความยากลำบากทั้งถูกนายจ้างกดขี่ไม่จ่ายค่าแรงเพราะรู้ว่าเป็นแรงงานที่ลักลอบไปทำงานโดยผิดกฎหมายผ่านไป 1 สัปดาห์ นายวันสินเห็นใจภรรยาจึงตัดสินใจให้ซื้อตั๋วเดินทางให้ น.ส.ออม เดินทางกลับประเทศไทย ส่วนนายวันสินยังทำงานที่เกาหลีต่อ

กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา สถานทูตไทยในเกาหลีได้โทรศัพท์มาแจ้งภรรยา ว่านายวันสิน ได้ผูกคอเสียชีวิตที่ริมถนนที่ประเทศเกาหลีแล้ว สร้างความเสียใจให้กับคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก ทั้งไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายที่จะส่งศพสามีกลับมาบำเพ็ญกุศลที่เมืองไทยได้

ทั้งนี้ หญิงไทยที่มีสามีอยู่ประเทศเกาหลี ได้อาสาเป็นธุระในการเปิดรับบริจาคและติดต่อประสานงาน ในการจัดส่งศพกลับมาที่ประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งทราบว่าจะส่งศพมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลาประมาณ 02.00 น. วันพฤหัสบดีนี้ (15 ก.พ.) ซึ่งขณะนี้ น.ส.ออม ภรรยา ก็ได้เดินทางไปเฝ้ารอรับศพสามีที่กรุงเทพฯ แล้ว

ขณะที่นายประเทือง ปิยะรัมย์ นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเดินทางไปทำงานโดยผิดกฎหมาย ตามระเบียบหลักเกณฑ์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ แต่เบื้องต้นได้ประสานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพ ส่วนจัดหางานจะช่วยจัดหางานให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมย้ำเตือนให้ผู้ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ประสานผ่านกรมการจัดหางาน ป้องกันถูกหลอก

ที่มา: ThaiPBS, 13/2/2561

“บอร์ดประกันสังคม” นัดถกไร้ประเด็นสรรหากรรมการชุดใหม่ นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะ “กาบัตรดิจิทัล”

ความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดใหม่ แทนชุดเก่าที่หมดวาระ เนื่องจากหากจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเสนอแนวทางที่หลากหลายกลับมาให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน บอร์ด สปส.ชุดรักษาการที่มี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะมีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ นั้น

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 9.00 น. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม ได้เรียกประชุมบอร์ดประกันสังคม แต่ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือแต่อย่างใด มีเพียงการรายงานผลการร้องเรียนของผู้ประกันตนต่อที่ประชุมเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ขณะที่ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส.ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ศึกษาแนวทางการสรรหาบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ก็ไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากอยู่ระหว่างลาพักผ่อนที่ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะนักวิชาการสนับสนุนให้ดำเนินการตามกฎหมาย คือ จัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้ผู้แทนของตนเองเข้าไปบริหารกองทุนประกันสังคมอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งนั้น หากยังใช้วิธีการหรือรูปแบบเดิมๆ ซึ่งประเมินว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือที่คณะกรรมการประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เสนอทางเลือกอื่นที่อาจใช้เงินเพียง 500 ล้านบาทนั้น ยังเห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าควรศึกษาแนวทางอื่นเพิ่มเติม เช่น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง

“เราอาจจะต้องศึกษาตัวอย่างการเลือกตั้งในต่างประเทศ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการจัดการเลือกตั้ง เราอาจไม่จำเป็นต้องไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย แต่อาจจะใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก และสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เข้าไปลงคะแนน ซึ่งหากนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เชื่้อว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก อาจจะใช้เงินจริงๆ ไม่ถึง 500 ล้านบาท ก็เป็นได้” น.ส.วรวรรณกล่าวและว่า ประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก หากจะใช้ช่วยคิดโปรแกรมที่ใช้ในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ไม่น่าจะเกินความสามารถแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่แนวทางนี้จะยิ่งทำให้การสรรหาบอร์ดประกันสังคมล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ เพราะต้องหาคนทำโปรแกรม น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า ในระหว่างนี้ก็ยังมีบอร์ด สปส.ชุดรักษาการปฎิบัติหน้าที่ และยังทำงานต่อไปได้ โดยไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่อย่างใด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/2/2561

อุทาหรณ์! แรงงานไทยไปเกาหลีไม่มีเงินกลับบ้านผูกคอตายข้างทาง

สองสามีภรรยาชาวบุรีรัมย์ กู้เงิน ธกส.ตีตั๋วเป็นนักท่องเที่ยว หนีทัวร์หวังขุดทองเกาหลี กลับตกอับทำงานไม่ได้เงิน ส่งเมียกลับก่อน สามีกะสู้แต่ยิ่งหนักไม่เงินซื้อตั๋วกลับ ไม่มีเงินกินข้าว ตัดสินใจผูกคอตายหนีปัญหา ฝากเตือนคนไทยอย่าคิดไม่ใช่เมืองในฝันแต่เหมือนนรก วอนช่วยเหลืออยากได้ศพกลับไทย แต่ไม่มีเงิน

12 ก.พ. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จากชาวบ้าน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ว่ากำลังได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงินเดินทางไปดูศพสามีที่ประเทศเกาหลี หลังได้รับแจ้งจากสถานทูตเกาหลีว่าสามีผูกคอตายอยู่ริมทาง เมื่อไปถึงบ้านเลขที่ 138 หมู่ 6 ต.ห้วยสำราญ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ พบชาวบ้านต่างมาให้กำลังใจ น.ส.ออม วงจันทร์ อายุ 40 ปี ที่สามีได้เสียชีวิตจากการผูกคอตายที่ประเทศเกาหลี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากการสอบถาม น.ส.ออม วงจันทร์ เล่าว่า อยู่กินกับสามีมีลูกด้วยกัน 3 คน อายุ 16,12 และอายุ 3 ปี เมื่อกลางปี 2560 ได้มีคนมาชวนไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ด้วยการหนีทัวร์ท่องเที่ยวแล้วไปหางานทำ

จึงมีความคิดอยากจะไปหางานได้เงินมาสร้างบ้าน ตัดสินใจไปกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)จำนวนเงิน 150,000 บาท จ่ายค่าแพคเกจท่องเที่ยว คนละ 20,000 บาทรวมจ่าย 40,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือเอาไปใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ ที่กู้มาวิ่งเต้นก่อนหน้านี้ โดยได้บินในนามนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2560 แล้วหนีทัวร์ตามที่นายหน้าแนะนำ โดยมีเงินติดตัวไป 40,000 บาทเพื่อเอาไปเป็นค่าใช้จ่าย

อยู่ได้ประมาณ 7 วัน ก็รู้ว่าไม่เหมือนที่ตนเคยฝันไว้ ไม่มีงานทำ ค่าครองชีพสูง ต้องพักโรงแรม รวมถึงอาหารการกินไม่เหมือนเมืองไทย สามีตนเองสงสารจึงให้เดินทางกลับไทย โดยแบ่งเงินให้สามีไว้ใช้ประมาณ 15,000 บาท

หลังจากกลับมาแล้วก็ได้โทรศัพท์ถามสามีทุกวันถึงชีวิตความเป็นอยู่ และได้รับคำตอบว่า ทำงานได้แต่ไม่ได้เงิน เพราะนายจ้างทราบว่าเราหนีเข้าเมือง ต้องอดมื้อกินมื้อ เงินที่ให้มาก็ร่อยหรอ และอยากกลับบ้านแล้ว และเมื่อวันที่ 8 ก.พ.61 ได้รับโทรศัพท์จากสถานทูต ว่าสามีได้ผูกคอเสียชีวิตริมทางที่ประเทศเกาหลี ตนและครอบครัวตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ได้ เพราะได้เตรียมจะกู้เงินส่งให้เป็นตั๋วเครื่องบินกลับไทยอยู่แล้ว

น.ส.ออม เล่าทั้งน้ำตาว่า ตอนนี้ครอบครัวหมดแล้วทุกสิ่ง ขาดหัวหน้าครอบครัว ทั้งมีหนี้สิน โดยเฉพาะตอนนี้อยากจะรีบเดินทางไปฌาปนกิจศพของสามี ที่ประเทศเกาหลี ถึงแม้มีความต้องการอยากจะเอาศพมาทำบุญที่เมืองไทย แต่คงหมดปัญญา เพราะไม่มีเงิน

จึงอยากจะฝากเตือนคนไทยที่คิดว่าจะไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีหนีทัวร์ ว่าฝันของท่านอาจจะไม่เป็นจริง จากที่คิดวาดฝันไว้สวยหรู สุดท้ายคือนรกดีๆ เพราะยังมีคนไทยในเกาหลีอีกเป็นจำนวนมาก ที่กำลังลำบากถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง ต้องอยู่เอาตัวรอดแม้คนไทยด้วยกันเองก็ยังไม่ไว้ใจแล้ว

ต้องการช่วยเหลือค่าเครื่องบิน โทร...093-0789190 หรือบริจาคเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 408-0-91367-8 น.ส.ออม วงจันทร์

ที่มา: บ้านเมือง, 12/2/2561

แจง “ค่าตอบแทนผู้รับงานไปทำที่บ้าน” ต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำระหว่าง 5 ถึง 22 บาทต่อวัน โดยทั่วประเทศมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 308 ถึง 330 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลต่อลูกจ้างทั้งระบบ รวมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย

ทั้งนี้ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน ได้กำหนดให้อัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ โดยคำนวณได้จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหารด้วยจำนวนชิ้นงานเฉลี่ยที่ลูกจ้างทำได้ภายใน 8 ชั่วโมงทำงาน

ดังนั้นเมื่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มีผลใช้บังคับ ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่น้อยกว่าอัตรากว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย หากผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ผู้ว่าจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 2707 หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/2/2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.