Posted: 18 Feb 2018 03:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
อภิปรายภาพรวม "ศาลและรัฐประหาร" โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล เริ่มตั้งแต่การใช้อำนาจของ คสช. กลไกการทำงาน ผลกระทบ และชวนมองยาวๆ ถึงการเผชิญหน้ากับเศษซากของรัฐประหารในอนาคตข้างหน้า
คลิปการอภิปราย "ภาพรวมศาลและรัฐประหาร (Court and Coup)" โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ในการเสวนาวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร" จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในช่วงสุดท้ายสมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายหัวข้อ ภาพรวมศาลและรัฐประหาร (Court and Coup)
โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 4 เรื่องใหญ่ 1. การใช้อำนาจ คสช. ใครคือกลุ่มเป้าหมาย 2. การใช้อำนาจของ คสช.ทำงานอย่างไร 3. ผลกระทบการใช้อำนาจของ คสช. 4. การเผชิญหน้ากับเศษซากของรัฐประหารในอนาคตข้างหน้า
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
1.ใครคือกลุ่มเป้าหมาย
สมชายเริ่มอภิปรายว่า ถ้าเราดูประเด็นการใช้อำนาจของ คสช. เวลาพูดถึงเรื่องนี้มันจะปนๆ กันอยู่หลายเรื่อง อย่างน้อยมีมาตรา 44 ที่ตกค้างมาจากเดิม มีคำสั่ง คสช. และมี พ.ร.บ.ของรัฐสภาเผด็จการ เราจะเห็นสามอันนี้เวลาใช้อำนาจ พุ่งเป้าหลายเรื่อง สิทธิเสรีภาพประชาชน ป่าไม้ที่ดิน สิ่งแวดล้อม การแต่งตั้งโยกย้ายระงับลงโทษ ฯลฯ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ
1.1 การเมืองท้องถิ่น บนสมมติฐานความเชื่อว่า ทีแรก คสช.เข้ามาคิดว่าต้องจัดการการเมืองท้องถิ่นเพราะเป็นฐานของนักการเมืองระดับชาติ แต่เมื่อผ่านไปสักพักงานอจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ ทำให้เห็นว่า คสช.เริ่มเห็นว่าการแตะเรื่องท้องถิ่นเป็นเรื่องยาก ต้องสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการจำนวนมาก ในแง่นี้จนถึงปัจจุบันการใช้อำนาจที่กระทบกับนักการเมืองท้องถิ่นในช่วงหลังจึงเบาบางลงมาก ตอนแรกที่จะควบรวม อบต.กับเทศบาล น่าจะไม่เกิด ฯลฯ ในแง่หนึ่งจะเห็นว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมันปักหลักพอสมควรนับตั้งแต่ 2540 แต่ไม่ใช่ไม่กระทบเลยเพราะคสช.กำลังจะเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการแบบเดิมผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย
1.2 นโยบายป่าไม้ที่ดิน กลุ่มชุมชนชาวบ้านที่โดน เรื่องน่าสนใจคือ รัฐประหารเมื่อไรนโยบายป่าไม้ที่ดินจะมาทันที ยุคสุจินดา คราประยูร ก็มี น่าจะเป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ แต่เวลาทวงมักจะเจอตายายเก็บเห็ด เจอแต่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ไม่เจอ นโยบายนี้ถ้าพูดให้เว่อร์สักหน่อย มันคือการหาเสียงกับคนเมือง ฉะนั้น มันจึงไม่ได้สำคัญว่าทวงคืนผืนป่าจริงหรือไม่
1.3 ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งเราเห็นชัดเจนอยู่แล้ว
นี่เป็นงานสามกลุ่มหลักที่ทำงานในวันนี้ทำการศึกษาและนำเสนอ แต่ยังมีส่วนอื่นที่น่าศึกต่อไปหากแต่เราไม่มีกำลังพอ นั่นคือ การศึกษาให้เห็นการใช้อำนาจของ คสช.ในภาคธุรกิจเอกชน ไม่ว่านโยบายประชารัฐ เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการศึกษาว่า คสช.ทำอย่างไรกับกลไกรัฐ เช่น การขึ้นเงินเดือนกับหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนการรัฐประหาร ถ้าเราทำส่วนนี้ด้วยจะเห็นภาพชัดเจนมาก เพราะมันเป็นช่วงที่ “เอกชนผงาด ข้าราชการผยอง”
นี่เป็นการบังคับใช้กฎหมายแบบมุ่งเป้า พูดภาษาง่ายๆ คือ ใช้แบบสองมาตรฐาน ใช้กฎหมายไม่เป็นกลาง เลือกข้างไม่เป็นธรรม กับเป้าหมายจะใช้กฎหมายแบบเข้มข้น คุณต้องผิดอะไรสักอย่างแหละ (ผู้ฟังหัวเราะ) อ้าปากหัวเราะนี่ก็อาจจะผิดแล้ว แต่ถ้าเป็นเครือข่ายจะใช้แบบอลุ่มอหล่วยเพื่อความเป็นธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวหาเรื่องนาฬิกาจะกล่าวหาได้อย่างไร ต้องรอการพิสูจน์ก่อน
ถ้าถามผม ข้อเสนอที่อ.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ พูดว่า “การเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ระบบกฎหมายขึ้นอยู่กับการเมือง” นี่คือหัวใจสำคัญ เราต้องตระหนักว่าช่วงเวลานี้ การถามหาระบบกฎหมายที่เป็นธรรมค่อนข้างจะยุ่งยาก หรืออาจจะไม่มีก็ได้
2.อำนาจ คสช.ทำงานอย่างไร
อำนาจ คสช.ทำงานได้อย่างสำคัญเพราะมีสถาบันตุลาการทำหน้าที่โอบอุ้มอยู่ การใช้อำนาจของ คสช.เป็นไปได้เพราะฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม งานที่ศึกษาครั้งนี้มีศาลทหาร ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง แต่ประเทศนี้มีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย เหตุที่ไม่ได้ศึกษาเพราะเอาเข้าจริงหลายปีที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ตัดสินคดีเลย มันน้อยมากจนเราประเมินอะไรไม่ได้
ในระยะแรกหลังการรัฐประหาร ศาลทหารเป็นเครื่องมือสำคัญ คำสั่ง คสช.กำหนดให้คดีจำนวนมากขึ้นศาลทหาร ระยะต่อมาด้วยแรงกดดันอะไรก็ตามคดีจำนวนมากกลับไปขึ้นศาลยุติธรรม อันนี้น่าสนใจ ในบางประเทศแพทเทิร์นจะคล้ายแบบนี้ คณะรัฐประหารไม่ได้ตั้งศาลพิเศษ เมื่อเล็งเห็นได้ชัดแล้วว่าแนวทางที่ศาลยุติธรรมดำเนินการไม่แตกต่างไปจากการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ
การศึกษาครั้งนี้เน้นไปที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง แต่ต้องย้ำว่าเป็นงานศึกษาที่ศึกษาก่อนช่วง คสช.ขาลง สิ่งที่เราเห็นคือ ศาลยังไม่ได้ปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหาร และยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง แต่พอขาลงก็เริ่มเห็นระยะห่างมากขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่โอบอุ้มการใช้อำนาจรัฐประหาร รองรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และสร้างมาตรฐานใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะผู้ปกครองชุดใหม่ อีกทั้งยังไม่เข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งต่างๆ ของผู้มีอำนาจด้วย
บทบาทของศาลยุติธรรมกับศาลปกครองในช่วงหลังๆ ดูเหมือนศาลปกครองมีบทบาทอยู่มากที่วินิจฉัยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เช่น การเดินไปขอนแก่น การชุมนุม แต่พึงตระหนักว่า เราไม่โต้แย้งคำสั่ง คสช. เราอ้างกฎหมายพ.ร.บ.ชุมนุม ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องคำสั่ง คสช.เรายังไม่เห็นว่าศาลใดๆ ได้เปลี่ยนทิศทาง
3. ผลกระทบของการใช้อำนาจ
การใช้อำนาจนั้นส่งผลกว้างขวางมาก ระบบกฎหมายตามสถานการณ์ปกติถูกทำลายแบบเละเทะ ก่อนหน้านี้ระบบกฎหมายไทยจำนวนมากอยู่ในวิสัยที่พอฝากความหวังได้ แต่การใช้อำนาจของคสช.มันปั่นป่วน เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไรจะถูกการใช้อำนาจแบบไม่มีกฎเกณฑ์ การใช้อำนาจคสช.ผ่าเข้ามาในระบบกฎหมายปกติ ถ้าพ้นจากนี้ไปจะเป็นช่วง “การปฏิสังขรณ์” ไม่ใช่ “การปฏิรูป” มันกำลังทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ในคำสั่งคสช.
อีกอันคือ การฟื้นคืนชีพของระบบราชการ ขณะเดียวกันก็เป็นการถอยหลังของอำนาจท้องถิ่นหรือชุมชน, องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อกังขามากขึ้น , รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชื่อเล่นที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งให้คือ “ปราบโกง” แต่ตอนนี้ไม่พูดถึงแล้ว และโพลล์ต่างๆ ที่เคยสนับสนุนก็บอกว่าแย่แล้วในเรื่องนี้
อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ การสร้างมาตรฐานเสรีภาพที่ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ นี่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เราไม่เคยเจอ และเราไม่คิดว่าจะได้เจอด้วย เสรีภาพตกต่ำเป็นอย่างมากและน่าเป็นห่วง
ทั้งหมดนี้ต้องการการปฏิสังขรณ์ เราต้องสร้างสังคมขึ้นใหม่จากซากปรักหักพัง นี่คือเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อไปข้างหน้า
4. การเผชิญหน้ากับเศษซากคณะรัฐประหาร
เราอาจมองโลกในแง่ดีว่า คสช.ขาลง แม้คสช.จะจากไปแต่สังคมไทยจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไม่ได้ เราต้องอยู่กับมาตรา 44 อยู่กับ พ.ร.บ.ของรัฐสภาเผด็จการ นี่ไม่ใช่เผด็จการรัฐสภาแบบที่เราชอบด่านักการเมือง นี่คือ รัฐสภาเผด็จการ คุณเอาอำนาจความชอบธรรมแบบไหน
แล้วเราจะทำอย่างไร
ข้อเสนอเฉพาะหน้า การจับกุมผู้คนที่แสดงออก เวลาเขาบอกว่าที่ต้องจับเป็นไปตามกฎหมาย เราต้องโต้แย้ง ไม่ใช่ นั่นเป็นไปตามคำสั่งคณะรัฐประหาร ถ้าใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องบอกว่า ไม่ใช่ นั่นคือคำสั่งของเครือข่ายคณะรัฐประหาร ถ้าเมื่อไรพูดว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย ก็โยนอย่างของลื้อทิ้งสิ แล้วมาว่ากัน ก่อนหน้านี้การชุมนุมไม่ได้ผิดกฎหมาย
ข้อเสนอระยะยาว การต่อสู้กับอุดมการณ์ทางกฎหมายที่รับใช้ระบอบรัฐประหาร เราควรต้องโต้แย้ง สร้างอุดมการณ์ใหม่ที่สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย
ขอนำเสนอวิวาทะของปัญญาชนสองคน แม้ไม่ได้เถียงกันจริงๆ แต่แนวคิดของเขามีนัยสำคัญ คนหนึ่งคือ วิษณุ เครืองาม คนหนึ่งคือ เสน่ห์ จามริก
เวลาบอกว่าคำสั่งคณะรัฐประหารคือกฎหมาย ศาลตัดสินไปแต่ในแง่หนึ่งคนผลิตคำอธิบายนี้อย่างสำคัญคือ วิษณุ เมื่อคนถามว่าศักดิ์ทางกฎหมายของคำสั่งรัฐประหารเป็นอย่างไร เขาอธิบายสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าคำสั่งนั้นแก้รัฐธรรมนูญ มันก็มีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญ ถ้าแก้กฎหมายอาญาก็ถือว่าเป็นพระราชบัญญัติ ถ้ายึดตามนี้ คำสั่งประกาศทั้งหมด 500 ฉบับเราแก้กันอย่างไรหมด ยกตัวอย่าง คำสั่งคณะปฏิวัติ (ปว.)ในอดีตคือ ปว. 337 เรื่องสัญชาติออกเมื่อปี 2515 กว่าจะแก้ไขได้ก็ปี 2551 นี่แค่ฉบับเดียว
ถ้าถามเสน่ห์ จามริก เขาจะตอบยังไง เขาเคยเสนอในงานปี 2529 ว่า เราต้องแยกระหว่างศักดิ์ทางกฎหมายของกระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการในยามปกติ กับ ในสถานการณ์รัฐประหาร คำสั่งคณะรัฐประหารมีศักดิ์เป็นกฎหมายในช่วงรัฐประหาร แต่ต้องหมดสภาพความเป็นกฎหมายในทันทีเมื่อเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการแบบปกติ
สองคนนี้เสนอแตกต่างกัน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดถึงในอนาคตข้างหน้า ถ้ายังเดินตามทางที่เคยเป็นมาของระบบกฎหมายไทย อยากแก้กฎหมายฉบับไหนต้องไล่แก้ทีละฉบับ และพิจารณาจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญแล้วไม่เรื่องง่าย เราจะต้องอยู่กับเศษซากนี้ไปอีกยาวนาน
กฎหมายขึ้นอยู่กับระบอบการเมือง โลกตะวันตกพยายามทำให้การเมืองอยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย คำอธิบายของวิษณุยึดถือกันกว้างขวางแต่มันเป็นหลักกฎหมายที่เพิ่งสร้าง นานาประเทศเขาไม่ได้ยึดถือหลักการแบบนี้ หลักการนี้ยึดถือในประเทศที่มีการทำรัฐประหารบ่อย แต่การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางของเสน่ห์ต้องอาศัยแรงผลักดันอย่างสำคัญ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดนี้การมีสังคมประชาธิปไตยเพื่อให้เราผลักดันอุดมการณ์แบบนี้ให้เกิดขึ้นได้
ในช่วงตอบคำถาม สมชายนำเสนอเพิ่มเติมถึงสิ่งที่พอจะเรียนรู้จากปี 2535 ว่า สิ่งหนึ่งที่เราไมได้ทำเลยและไม่ได้ให้ความสำคัญเลย คือ การปฏิรูปสถาบันบทบาทที่มีความสำคัญกับการเมือง คนส่วนใหญ่เกลียดทหารเราก็พอใจแค่นั้น แต่เราไม่ได้แตะโครงสร้างทางอำนาจว่าทหารควรต้องปรับแก้อย่างไร องค์กรตุลาการตอนนั้นยังไม่ออกมาแสดงบทบาทเท่าไร ยกเว้นการยกฟ้องที่ญาติผู้เสียชีวิตฟ้อง “สุ เต้ ตุ๋ย” สุดท้ายเราปล่อยให้เรื่องพวกนี้ผ่านไป ถ้าสมมติว่าเราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ แล้วสู่ยุคที่มีบทสนทนาและนำเสนออะไรได้ เราต้องคิดถึงคณะรัฐประหารไม่เฉพาะส่วนหัวหรือส่วนนำ แต่ต้องคิดถึงสถาบันโครงสร้างต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้ระบอบแบบนี้มันดำรงอยู่ได้
ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวิชาการ “ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร” โดยเป็นส่วนหนึ่งในชุดการเสวนาวิชาการ “ประเทศไทยไม่ทำงาน” (Dysfunction Thailand) ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 สนับสนุนโดยสถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จากเยอรมนี
เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงความเป็นมาว่า "ศูนย์ทนายฯ นอกจากเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแล้วยังรวบรวมบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป การแก้ไข การเยียวยา"
"จากการทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เรามีข้อมูลอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่าครั้งนี้คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจทหารเพียงลำพัง แต่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กฎหมายปกติ กระบวนการยุติธรรม และอำนาจตุลาการที่เข้ามารับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารของคสช. ละเมิดและจำกัดสิทธิของประชาชน ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ทั้งประชาชนธรรมดา นักข่าว นักวิชาการ ทนาย ก็สามารถตกเป็นผู้ต้องหาได้โดยไม่รู้ตัว"
นอกจากนั้นหลังรัฐประหารยังมีประกาศใช้ศาลทหารกับพลเรือน แม้ภายหลังคสช.จะยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือนในวันที่ 12 กันยายน 2559 แต่ก็ยังมีคดีของประชาชนที่ยังดำเนินการที่ศาลทหารอยู่ เช่น คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดีประชามติ ในช่วงสิงหาคม 2559
"เราจึงเห็นว่าควรทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อเปิดมุมมองว่าเบื้องหลังข้อเท็จจริงและเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น โดยร่วมมือกับนักวิชาการสถาบันต่างๆ เป็นที่มาของการนำเสนอบทความ 5 บท และภาพรวมของรัฐประหาร และศาล"
แสดงความคิดเห็น