Posted: 20 Feb 2018 09:17 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

น่าจะมีคนมากมายสงสัยว่าเหตุใดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงคงทนอยู่ในเก้าอี้ของผู้บริหารประเทศแม้จะได้รับการโจมตีจากสังคมหลายฝ่ายต่อการครอบครองนาฬิการาคาแพงจำนวนมากว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายและขาดความถูกต้องชอบธรรม จนถึงขั้นมีการลงชื่อหลายหมื่นคนในหลายเว็บไซต์เพื่อให้เขาลงจากตำแหน่งไป ผู้เขียนคิดว่ามีอยู่หลายสาเหตุซึ่งสามารถแบ่งเป็นปัจจัยภายในคือตัวของพลเอกประวิตรเองและภายนอกคือปัจจัยทางการเมืองและสังคม ทั้งหมดสามารถนำเสนอเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้           


1.Obsessed with power  (คำคุณศัพท์)  - ฝักใฝ่อำนาจ

สาเหตุที่คนอายุมากๆ ฝักใฝ่ในอำนาจก็เพราะตระหนักดีถึงวันตายหรือวาระสุดท้ายของตนซึ่งอยู่ไม่ไกล พวกเขาจึงพยายามมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน โดยการมีอำนาจอันช่วยให้พวกเขาได้รับการสรรเสริญ ยกย่องจากมวลชน และที่สำคัญสามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังพระเจ้า ด้วยพระเจ้านั้นเป็นอมตะ พวกเขาจึงสามารถหลงคิดไปได้ว่าตัวเองไม่มีวันตาย การยอมลาออกของพลเอกประวิตรก็หมายถึงการการสูญสิ้นอำนาจ ไปสู่ความว่างเปล่า และการหมกมุ่นอยู่กับความตายที่อยู่ตรงหน้าท่ามกลางสังขารอันร่วงโรย อันเป็นสิ่งที่พลเอกประวิตรไม่น่าจะยอมเป็นอันขาด จึงทนอยู่ในเก้าอี้ต่อไปโดยการคาดหวังว่าเวลาจะทำให้สื่อมวลชนเงียบเสียงและคนไทยก็หลงลืมกันไป


2.Narcissistic (คำคุณศัพท์) -  หลงตัวเอง  

คนเช่นนี้มักคิดว่าตัวเองดีเลิศ ประเสริฐศรี มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนคนอื่น แม้ว่าจะมีผู้โจมตีและวิจารณ์พลเอกประวิตรเกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรูเป็นจำนวนมาก  แต่ความหลงตัวเองของเขาจะกลายเป็นตัวช่วยตีความให้เป็นไปตามที่ตัวเองปรารถนา เช่นเมื่อตัวเองทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ไม่เหมือนใคร (แม้จะไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่ก็อย่างว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่ตัวเองและเพื่อนพ้องสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่แล้ว)  ส่วนคำด่าสามารถถูกตีความไปว่าเป็นพฤติกรรมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองหรือต้องการบ่อนทำลายคสช.  แน่นอนว่าลูกน้องซึ่งหวังความโปรดปรานจากเจ้านายย่อมมีบทบาทอย่างสูงในการกลั่นกรองและนำเสนอข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอินเทอร์เน็ตซึ่งสอดคล้องกับความหลงตัวเองเช่นนี้ พลเอกประวิตรจึงมีกำลังใจอยู่ในตำแหน่งต่อไป


3.  Military Cronyism (คำนาม) - การเล่นพรรคเล่นพวกของกองทัพ

การเมืองไทยไม่สามารถเปรียบได้กับการเมืองอังกฤษซึ่งรัฐมนตรีขอลาออกเพียงแค่ไปทำงานสาย เพราะไทยเป็นประเทศโลกที่ 3  ที่ขาดภาวะนิติรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การที่พลเอกประวิตรขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้ก็ผ่านความสัมพันธ์ทางอำนาจในกองทัพที่ก่อรัฐประหารหรืออีกคำหนึ่งคือการเล่นพรรคเล่นพวกของกองทัพ  เขาจึงไม่มีทางลงจากอำนาจอย่างง่ายดายผ่านกระบวนการที่อิงอยู่บนคุณค่าแบบประชาธิปไตยดังประเทศโลกที่ 1 ซึ่งคสช.ไม่เคยมีความจริงใจในการสนับสนุน นอกจากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง  ดังจะเห็นได้ว่าพลเอกประวิตรได้รับการสนับสนุนโดยนายกรัฐมนตรีที่ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการช่วยเหลือจากองค์กรอิสระอย่างปปช.ที่พร้อมจะฟอกขาวให้กับพลเอกประวิตรเพราะความสัมพันธ์กับคสช.   


4.Mass mobilization (คำนาม) -การระดมมวลชน

การโจมตีพลเอกประวิตรมีได้ในโลกโซเชียลมีเดียเพียงประการเดียว เพราะกองทัพของไทยสามารถสะกัดการระดมมวลชนซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเสื้อแดงถูกถอนรากถอนโคน ส่วนพวกคนดีเป่านกหวีดก็เสียงแตกกันและปราศจากผู้นำที่มีบารมี จึงไม่สามารถมีการระดมมวลชนอย่างทรงพลังขึ้นมากดดันให้รัฐบาลปลดพลเอกประวิตรได้ เพียงแค่การจัดประท้วงเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง แกนนำก็โดนคสช.เล่นงานทางกฎหมายหลายกระทง ในทางกลับกัน หากกองทัพไม่ขึ้นตรงอยู่กับรัฐบาลแล้วและพลเอกประวิตรเป็นรัฐมนตรีสังกัดรัฐบาลของพรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณ การระดมมวลชนเพื่อกดดันรัฐบาลย่อมประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว


5. fan club (คำนาม) -กลุ่มผู้สนับสนุน

แม้ข้ออ้างของพลเอกประวิตรอย่างเช่นการยืมนาฬิกาของเพื่อนที่ตายไปแล้วจะดูไร้สาระสิ้นดี แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสนับสนุนพลเอกประวิตรในโลกโซเชียลมีเดียโดยอิงอยู่บนหลักของเหตุและผลอีกชุดหนึ่งซึ่งปราศจากข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเช่น “เพียงแค่ลุงป้อมมีนาฬิกาหรูก็ไม่ใช่การกระทำความผิดอะไร” (แต่ลืมไปว่าลุงไม่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน)  หรือบางคนก็อ้างว่าไม่ควรใช้กฎหมู่กับพลเอกประวิตรแต่ควรอิงอยู่กับกฎหมายเช่นรอการตรวจสอบของปปช.เสียก่อน (โดยไม่สนใจว่าปปช.นั้นขาดความโปร่งใสและถูกควบคุมโดยคสช.) หรือ การมีนาฬิกาหรูนั้นยังเลวร้ายน้อยกว่าจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ไปหลายแสนล้านบาท  (ดังข้ออ้างของรศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัยซึ่งเพิกเฉยความจริงที่ว่าคสช.นั้นควรโปร่งใสที่สุดเพราะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด)  หรือสื่อบางฉบับอย่างเช่นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ใช้การวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองหน้า 3 ในการสนับสนุนคสช.  การสนับสนุนดังกล่าวย่อมช่วยให้ฉันทานุมัติในการโจมตีพลเอกประวิตรด้อยพลังลงไป


6. Militarism / Royalist Nationalism (คำนาม) -กองทัพนิยม/ลัทธิราชาชาตินิยม

แม้ว่าจะมีคนโจมตีทหารและกองทัพมากมายผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย แต่ผู้เขียนยังคิดว่าลัทธิดังกล่าวซึ่งมักเคียงคู่ไปกับลัทธิราชาชาตินิยมยังคงทรงอิทธิพลอยู่ไม่น้อยดังเช่นคำพูดที่ว่า “ ทหารอย่างพลเอกประวิตรก็ยังดีกว่าพวกนักการเมืองชั่วๆ เสียอีก” หรือ การที่รัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุน (อย่างน้อยก็หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) สามารถแก้ต่างว่าการโจมตีพลเอกประวิตรเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลโดยบุคคลที่อยู่ตรงกันข้ามกับกองทัพซึ่งปรารถนาดีต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์ อย่างเช่น        กลุ่มเสื้อแดงและเครือข่ายของทักษิณก็ย่อมทำให้พลังในการโจมตีพลเอกประวิตรแผ่วเบาลงไปมาก


7.Nostalgia (คำนาม) -การฝักใฝ่ถึงอดีต

ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนได้จากการจัดงานย้อนยุคที่ผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งกายในชุดโบราณอันสะท้อนถึงความฝักใฝ่ของรัฐถึงอดีตที่คนไม่เท่ากัน โดยครม.ได้แปลงโฉมให้กลายเป็นขุนนางที่ทรงอิทธิพลและเป็นอภิสิทธิชนในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามันสามารถสะท้อนถึงสำนึกของพลเอกประวิตร (ซึ่งออกงานแต่งชุดสีเขียว มีใบหน้าชื่นมื่น) คนรอบข้างหรือผู้สนับสนุนได้อย่างดีว่าการมีนาฬิกาหรูไม่ใช่เป็นเรื่องผิดร้ายแรงแต่ประการใด หากเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงอำนาจในอดีตที่สามารถกอบโกยเอาทรัพยากรส่วนกลางมาเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจคุณค่าของประชาธิปไตย ปรากฎการณ์เช่นนี้ล้วนถูกผลิตซ้ำโดยสื่อมวลชนไทยผ่านภาพยนตร์และละครมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คดีของพลเอกประวิตรอาจสูญหายไปกับห้วงมหาสมุทรแห่งกาลเวลา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.