Posted: 17 Feb 2018 12:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ผมไม่ได้ไปโรงพยาบาลรัฐบ่อยนัก ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีสองสามครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา และพบกับประสบการณ์ที่เชื่อว่าใครที่เคยเป็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยย่อมเคยได้รับประสบการณ์เช่นนี้ คือ พื้นที่แน่นขนัด, การรอคอยแพทย์ที่ยาวนานไร้ที่สิ้นสุด, กระบวนการจ่ายยาและจ่ายเงินที่ชักช้า, ราคาและต้นทุนการรักษาพยาบาลที่ไม่ชัดเจนและควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคนไข้รู้สึกไม่สามารถควบคุม/เข้าใจถึงสถานภาพตนเองได้
แต่การแพทย์และระบบรักษาพยาบาลไทยไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้สายไร้พรมแดนกับพลังแห่งปัญญาประดิษฐ์สามารถปฏิวัติวงการแพทย์ได้
ปัจจุบันนาฬิกาเพื่อสุขภาพสามารถเก็บข้อมูลสุขภาพต่างๆ (เช่น การเต้นของหัวใจ, ชีพจร, จำนวนก้าวเท้า และอัตราการหายใจขณะนอน เป็นต้น) ของผู้สวมใส่ได้ อุปกรณ์จำพวกนี้ในอนาคตจะมีราคาถูกลง, มีการใช้แพร่หลายมากขึ้น และมีอรรถประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กสมัยใหม่ในอนาคตอาจตรวจองค์ประกอบของเหงื่อหรือปัสวะ ส่งข้อมูลองค์ประกอบเหล่านั้นเข้าประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับข้อมูลสุขภาพส่วนตัวที่เกิดมาก่อนหน้า ตรวจสอบความเหมือนกันของอาการกับฐานข้อมูลของคนทั่วโลก และส่งคำแนะนำการรักษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด/เหมาะสมที่สุดรายบุคคลให้กับเจ้าตัวได้
หรืออุปกรณ์เหล่านี้อาจทำให้คนไข้สามารถตรวจจับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตัวเอง (ลองดู app ชื่อ bluestar ที่ตรวจจับเบาหวานและแนะนำทางแก้ให้กับผู้เป็นเบาหวาน) และบันทึกการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยที่แพทย์เจ้าของไข้สามารถตรวจสอบออนไลน์ได้ทุกเวลา อุปกรณ์เหล่านี้อาจสามารถ แนะนำ/ตรวจจับ/ติดตาม/รายงานความก้าวหน้าของการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล
โทรศัพท์มือถืออาจทำให้การจองคิวนัดพบแพทย์หรือจองคิวเครื่องแสกน MRI ง่ายเหมือนกับการจองโรงแรมผ่าน booking.com หรือเรียกรถจาก Uber แพทย์อาจสามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ผ่านข้อมูลที่ถูกเก็บโดยอุปกรณ์ต่างๆ ล่วงหน้าก่อนเวลานัดหมาย ลดเวลาการตรวจหน้างานและทำให้การรักษาแม่นยำขึ้น
ข้อมูลสุขภาพจำนวนมหาศาลจะถูกประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถให้คำแนะนำสุขภาพเบื้องต้นได้โดยไม่ผ่านระบบโรงพยาบาลอย่างที่เป็นอยู่ ในกรณีการเจ็บป่วยไม่รุนแรงและซับซ้อน อาจสั่งจ่ายยาได้เลย ในกรณีที่รุนแรงหรือซับซ้อน บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ลึกกว่าปัจจุบัน และสามารถร่วมกันวินิจฉัยทางออนไลน์ได้
ตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จใน Medtech เช่น แอพพลิเคชั่น Pivot ช่วยแนะนำและติดตามผลให้คนเลิกบุหรี่ ผู้ใช้โปรแกรมสามารถซื้อเซ็นเซอร์ตรวจจับนิโคตินในลมหายใจติดตั้งกับโทรศัพท์ และถ่ายข้อมูลลมหายใจสู่โทรศัพท์ด้วย bluetooth โปรแกรมนี้ใช้อย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับ Fintech, Medtech ไม่ได้ต้องการทำลายความรู้ที่มีอยู่ แต่ต้องการทำลายองค์กร/สถาบัน/ขั้นตอน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ, ซับซ้อนและยุ่งเหยิง ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ไขได้
ในกรณีของ Fintech การบริการให้คำแนะนำการลงทุนซึ่งแต่เดิมเป็นบริการสำหรับคนรวยจากบุคลากรของธนาคารชั้นนำ ปัจจุบันการบริการให้คำแนะนำการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆสามารถทำได้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ โดยมีผู้เชียวชาญกำกับดูแลห่างๆ ต้นทุนของการให้บริการจึงต่ำลงและทำให้คนทุกคนเข้าถึงบริการให้คำแนะนำการออมและการลงทุนได้ ทุกคนสามารถเป็นผู้ลงทุน, นักวิเคราะห์, นักจัดสัดส่วนการลงทุน และทำการซื้อขายด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านระบบธนาคารดั้งเดิม
Bitcoin ปลดปล่อยการผูกขาดตัวกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรัฐชาติและธนาคารกลาง, ebanking ทำลายระบบหน้าร้านของธนาคาร ธุรกรรมสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปธนาคารอีกต่อไป, crowd funding อนุญาติให้ผู้ออมและผู้ต้องการเงินลงทุนพบและทำธุรกรรมกันได้โดยตรง เป็นต้น
แต่ทั้งหมดไม่ได้ทำลายความรู้พื้นฐานด้านการเงินเช่น การคำนวนมูลค่าปัจจุบัน discounted cashflow, ทฤษฎีการประเมินมูลค่า Black-Scholes model, หรือความเข้าใจและการประยุกต์ใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่างๆ
Medtech จะทำลายสถาบันเก่าในวงการแพทย์อย่างถึงรากถึงโคนเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนรับผู้ป่วย, การเก็บและใช้ข้อมูลสุขภาพ, กระบวนการวินิจฉัยและรักษา, กระบวนการติดตามผล, การจ่ายยา, การจ่ายเงิน, และการประเมินผลแพทย์
แม้ความรู้ทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก แต่กระบวนการรักษาและขั้นตอนปฏิบัติการของวงการแพทย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานาน วันที่กระบวนการที่เก่า, ช้า, เทอะทะและไม่มีประสิทธิภาพของวงการแพทย์จะถูกปฏิวัติอาจกำลังใกล้เข้ามา
ตัวอย่างหนึ่งของสัญญาณการเปลี่ยนแปลงคือการที่ Berkeshire Hathaway, JP Morgan Chase และ Amazon สามบริษัทชั้นนำของโลกตัดสินใจทำงานร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการให้บริการทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากการให้บริการในรูปแบบใหม่กับพนักงานของทั้งสามบริษัท ถึงตอนนี้รูปธรรมของโครงการยังไม่เปิดแผยต่อภายนอก แต่เราคาดเดาได้แน่นอนว่าอะไรที่สามบริษัททำแล้วประสบความสำเร็จกับพนักงานของตนเอง สิ่งนั้นจะถูกขยายผลออกมายังโลกภายนอก
สังคมไทยจะเริ่มใช้ Medtech ได้อย่างไร?
อนิจจาข้อมูลของผู้ป่วยปัจจุบันถูกเก็บในรูปแบบกระดาษซึ่งปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถอ่านได้ การเก็บข้อมูลในรูปแบบกระดาษทำให้การเชื่อมโยงและการเรียนรู้หารูปแบบการเกิดโรคหรือรูปแบบการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จเป็นไปไม่ได้
แน่นอนอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่และปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถแทนที่เครื่อง MRI ได้ แต่ก้าวแรกของการใช้ Medtech เกิดขึ้นได้จากการเริ่มเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเลคโทรนิค
ก้าวแรก รัฐไทยควรส่งเสริมให้เกิดการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนในรูปแบบอิเลคโทรนิคในโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ของรัฐทั้งหมด และให้เจ้าตัวสามารถดูและเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ตลอดเวลา เจ้าตัวจะเป็นเจ้าของสุขภาพของตนเองและมีอำนาจเหนือการเลือกการรักษา เจ้าตัวสามารถมีให้อำนาจคนที่ตนเองไว้ใจ เช่นแพทย์, ญาติสนิท หรือ app ต่างๆ เข้าดูข้อมูลดังกล่าวได้
ไกลกว่านั้น รัฐควรสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สามารถสร้าง software หรือ hardware เพื่อจัดการแยกแยะข้อมูลและใช้ความรู้การแพทย์บริหารข้อมูลดังกล่าว (ตามแต่ความสมัครใจของเจ้าของข้อมูล) ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาและประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้
กลไกการทำงานของวงการแพทย์เป็นอย่างที่เป็นอยู่มานาน ภาคการเงินและวงการสื่อสารมวลชนถูกเขย่าอย่างแรงจากการเข้ามาของ Fintech และ New Media อีกไม่นาน Medtech จะเขย่าวงการแพทย์อย่างแรงไม่แพ้กัน ตัวกลางที่เทอะทะไม่จำเป็นหรือหมดหน้าที่ในโลกใหม่จะล่มสลายพร้อมกับคนหรือสถาบันที่ไม่ยอมปรับตัว
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Thanathorn Juangroongruangkit
แสดงความคิดเห็น