Posted: 07 Oct 2018 05:23 AM PDT (อ้าาอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-07 19:23



"เปลี่ยนโลกในโลกเปลี่ยน: ข่าวเชิงลึกในโลกพลิกผัน" สำนักข่าวประชาไทสนทนากับปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง คนไทยผู้ร่วมทีมสหพันธ์นักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) รายงานข่าวเอกสารบันลือโลกปานามาเปเปอร์ส และปราบ เลาหโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Rethink Thailand ผู้ผนวกวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลเข้ากับกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย ทำให้องค์ความรู้เป็นเรื่องเข้าถึงและเข้าใจง่าย




คลิปจากวงเสวนา "เปลี่ยนโลกในโลกเปลี่ยน: ข่าวเชิงลึกในโลกพลิกผัน"

ในวงเสวนา “เปลี่ยนโลกในโลกเปลี่ยน: ข่าวเชิงลึกในโลกพลิกผัน” จัดโดยสำนักข่าวประชาไทร่วมกับโครงการ CFLI สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา วิทยากรประกอบด้วย ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง สื่อมวลชนและนักวิจัยอิสระ ผู้ที่ทำงานกับสหพันธ์นักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่เอกสาร Panama Papersและปราบ เลาหโรจนพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอิสระ ผู้สังเกตการณ์ด้านสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ก่อตั้ง Rethink Thailand
หัวใจของข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน


ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง เริ่มต้นนำเสนอว่า โลกของการทำข่าวมีอยู่หลายแบบ ตั้งแต่การรายงานข่าวพื้นฐานว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ หรือ 5W1H แต่เมื่อลงสนามไป หรือแม้แต่ในเวลาดำเนินชีวิตประจำวันก็จะพบว่ามีเรื่องต่างๆ ซับซ้อนกว่าหลักการรายงานดังกล่าว ก็จะมีคำถามว่า “ทำไม” ต่อยอดเข้ามาซึ่งคนทำข่าวต้องเอาตัวไปปะทะกับมัน

ข่าวอีกชนิดก็คือข่าวเชิงลึกซึ่งมีปัจจัยอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่ง การอธิบายบริบทที่รายล้อมข้อเท็จจริงของข่าว ความเป็นมาของข่าว สอง ต้องมีการวิเคราะห์ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องตามแต่กรณี เมื่อเห็นประเด็นแล้วถึงจะรู้ว่าจะวิเคราะห์ไปทางไหน แต่ที่สำคัญคือต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความคิดเห็นกับข้อเท็จจริง ต้องเคารพข้อเท็จจริง ให้บริบท และวิเคราะห์ เพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน ไม่ใช่ความมันส์ของผู้ทำ

ข่าวอีกประเภทคืองานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ฟังคำดังกล่าวแล้วดูยิ่งใหญ่มาก อย่างคดีวอเตอร์เกต

แต่เดวิด แคปรอน หัวหน้าองค์กรเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวน ให้ความหมายข่าวเชิงสืบสวนจากทีฟังจากนักข่าวสืบสวนสอบทั่วโลกมาว่า หนึ่ง ข่าวสืบสวนสอบสวนจะต้องมีการสืบค้นอย่างเป็นระบบ มีแง่มุมในเชิงลึก และมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือ Originality คือไม่ได้ไปเอาข่าวที่คนอื่นเขียนมายำ การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนักข่าวต้องไม่มโนเอาเอง ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนที่ทำต้องอ้างได้ สมมติว่าต้องขึ้นศาลก็ต้องบอกที่มาที่ไปของมันได้ว่าเรื่องที่เขียนมีจริง พิสูจน์ได้ด้วยเอกสารหรือคำสัมภาษณ์ ไม่ใช่มาจากการบังเอิญไปได้ยินใครคุยกัน

สอง ต้องมี nose for news คือความสามารถในการมองหาประเด็นทำข่าว ทั้งนี้ นักข่าวต้องยกข้อเท็จจริงเหนือทฤษฎี การทำข่าวต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริง และพิสูจน์ทราบว่าสมมติฐานที่นักข่าวตั้งไว้นั้นจริงหรือไม่ เรื่องปวดใจที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ นักข่าวทำงานแทบตายแต่ข้อเท็จจริงที่ออกมาปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งสามารถมองได้สองทางคือ คือ ข้อเท็จจริงอาจนำไปสู่เรื่องอื่นที่ดีกว่า หรืออาจไม่นำไปสู่อะไรเลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นนักข่าวก็ต้องทิ้งมัน นักข่าวต้องยกข้อเท็จจริงเหนือทฤษฎี เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนั้นเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางวันนี้เทียบกับ 20 ปีที่แล้วก็คนละอย่าง ทฤษฎีที่มีหรือสมมติฐานในใจ เวลาลงสนามไปเจอก็มีหลายครั้งที่ตัวเองเซอร์ไพรซ์ว่าสมมติฐานเราใช้ไม่ได้ การที่จะทำข่าวที่ตอบสนองและเป็นประโยชน์สังคมคือการปรับตัวกับข้อเท็จจริงในสนาม ทฤษฎีก็จะเปลี่ยนตามความเป็นจริง

สาม ต้องมีการตามรอยเอกสาร การเดินทางของเอกสาร สี่ ต้องมี originality เป็นการค้นพบความจริง ความลับที่แล้วดึงออกมารายงาน โลกนี้มีความจริง มีความลับที่ผลกับชีวิตมนุษย์อยู่เยอะ เพียงแต่จะหยิบมาทำหรือเปล่า ข่าวสืบสวนสอบสวนที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะ ในไทยหรือต่างประเทศ ต่างเป็นการตีแผ่สิ่งที่ถูกปิดเอาไว้ทั้งสิ้น สร้างผลกระทบมากน้อยต่างกัน แต่นักข่าวก็ทำต่อไป และการรายงานข่าวที่มีผลกระทบกับชีวิตของคนในระดับสาธารณะ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่นักข่าวมีกับข่าวสืบสวนสอบสวน

ห้า นักข่าวต้องพึงระวังการมองข้ามข้อเท็จจริงจากความรู้สึกของตัวเองที่ต้องการทำข่าวเพื่อขับเคลื่อนประเด็นบางอย่าง สมัยก่อนมีคำพูดว่า "crusading journalism" เหมือนนักข่าวที่ไปออกรบด้วยความรู้สึกว่าต้องปกป้องความยุติธรรม มีนักข่าวจำนวนมากที่แม้ได้เงินเดือนน้อยและมีความเสี่ยงถึงชีวิต แต่ก็โหมทำงาน ด้วยพวกเขาเหล่านี้มีแรงบันดาลใจว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง เอาจริงๆ การทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนไม่ว่าจะทำที่ไหนก็ไม่คุ้มเงินเดือน แต่เป็นการทำบนความรู้สึกที่จะทำให้ดีที่สุด ข่าวที่เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่ๆ ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความรู้สึกเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่บางครั้งเรื่องนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะการเอาหลักการบางอย่างเป็นตัวตั้งทำให้เราลืมหรือมองข้ามข้อเท็จจริงไป ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ


ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

ปรางค์ทิพย์พูดถึงเรื่องการทำงานของนักข่าวว่าต้องจัดการกับข้อมูลสาธารณะซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลเยอะมาก หากลองไปเปิดดูเว็บไซต์ตลาดหุ้นจะหาเรื่องเขียนได้เยอะ การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะมีหลายวิธีมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้หน่วยงานรัฐมีเอกสารออกมาให้ค้นหาต่อได้ นอกจากนั้นยังมี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารไว้ให้นักข่าวใช้ขอข้อมูลจากภาครัฐ เมื่อ 30 ปีที่แล้วทำข่าวที่ทำเนียบ ทางเดียวที่จะทราบวาระของคณะรัฐมนตรีคือการตีซี้กับแหล่งข่าว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนักข่าวก็ต้องขยัน บางครั้งก็ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนเพื่อดูตัวเลข

นักข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อดังกล่าวต่อไปว่า จริยธรรมหนึ่งที่นักข่าวยึดถือคือความยุติธรรมและโปร่งใสในการทำงาน และอย่าใช้อำนาจของสื่อในทางที่ผิด อย่าลืมว่าสื่อมีอำนาจในการนำข้อมูลออกไปนำเสนอแม้ว่าจะตัวเล็กแค่ไหน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องซ่อนกล้อง การปกปิดบทบาทไปทำข่าวส่วนตัวคิดว่าผิด แต่ก็มีกรณีที่ทำได้ เช่น กรณีที่เสี่ยงต่อชีวิต มีกรณีนักข่าวรอยเตอร์ที่เป็นนักข่าวพม่าตัวเล็กๆ ทำข่าวเรื่องการใช้แรงงานเด็กในบริษัทประมงไทย มีถึงจุดที่เขาไปแอบในตู้คอนเทนเนอร์แล้วนับเรือว่ามีกี่ลำ แต่ก็เป็นผลให้ยุโรปแบนอาหารประมงไทย

ปรางค์ทิพย์์เล่าถึงกรณีข่าวเรื่องปานามาเปเปอร์สว่า แต่เดิมสิ่งที่เรียกว่าปานามาเปเปอร์ส คือเอกสารจำนวน 11.5 ล้านชิ้นที่หลุดจากมอสแซค ฟอนเซก้า ที่รับจ้างจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตทั่วโลก ซึ่งบางที่มีกฎหมายพิเศษอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนบริษัทสามารถปกปิดรายละเอียดการทำธุรกรรม เป็นช่องให้อาชญากรหรือผู้คนหลากหลายบทบาทมาฟอกเงิน แต่ตัวเอกสารที่หลุดนั้น โดยตัวมันเองไม่ใช่งานข่าวสืบสวนสอบสวน เราต้องสืบค้น พิสูจน์ข้อมูลในเอกสารว่าจริงหรือไม่จริง เอกสารที่หลุดมาเป็น invoice เป็นตาราง เอกสารสำเนาหนังสือเดินทาง อักษรย่อเยอะแยะ นักข่าวต้องเอามาเรียงกัน พิสูจน์ว่าเป็นของใคร

เอกสารดังกล่าวหลุดออกมาจากคนที่ใช้ชื่อว่าจอน โด ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าเป็นใคร เขาติดต่อไปยังสำนักข่าวเยอรมันที่มีนักข่าวเป็นสมาชิก ICIJ จากนั้นข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์งานข่าวก็ตกไปอยู่กับ ICIJ ซึ่งมีสมาชิกนักข่าวทั่วโลก มีการติดต่อกันว่าสนใจว่าทำเรื่องนี้ไหมซึ่งตนก็รับ ข้อมูลถึงนักข่าวและมีการจัดการข้อมูลผ่านสองแพลตฟอร์ม หนึ่ง กลุ่มปิดในเฟซบุ๊คเพื่อให้นักข่าวคุยกัน สอง ระบบของกูเกิ้ลที่จัดข้อมูลไว้เพื่อให้นักข่าวค้นหา นักข่าวที่ได้รับเงินจากต้นสังกัดอยู่แล้วก็ต้องการทำข่าวเช่นนี้เพราะถือเป็นเครดิตต่อต้นสังกัด ทาง ICIJ ก็ถือเป็นก้าวกระโดดในการทำข่าวแบบ Big Data และการทำข่าวร่วมกันข้ามพรมแดน คนที่เกี่ยวข้องต้องปิดข่าวเป็นความลับหนึ่งปี บอกใครไม่ได้ มีการนัดวันเปิดข่าวพร้อมกัน

นอกจากนั้น การทำข่าวแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมการเมืองไม่เหมือนกัน ความน่าเชื่อถือต่อสื่อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้การทำข่าวเกี่ยวกับทุนข้ามชาติต้องประสานงานกับนักข่าวหลายประเทศ ใช้คำถามเดียวกันที่บางครั้งถามที่เมืองไทยแล้วไม่ได้รับคำตอบแต่กลับได้รับคำตอบเมื่อถามคำถามเดียวกันที่ประเทศอื่น รายงานข่าวเรื่องปานามาเปเปอร์สมีผลให้นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม เจ้าสัวหลายคนได้รับผลกระทบ มีผลให้บางประเทศผลักดันกฎหมายด้านภาษีใหม่ แต่บางประเทศอย่างไทยก็ดังพักหนึ่ง ดังถึงรากหญ้า แต่ระดับนโยบายกลับไม่ขยับ คำถามคือ สื่อจะทำอย่างไรให้คนฟัง และจะทำอย่างไรให้บทบาทสื่อมีอิทธิพลขึ้น ไม่เป็นที่เพิกเฉย

ส่วนความเห็นของปรางค์ทิพย์กับงานข่าวสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยคือ การทำข่าวสืบสวนสอบสวนของไทยนั้นยังตามความซับซ้อนของทุนไม่ได้ ติดกรอบการจ่อไมค์กับนักการเมืองทั้งๆ ที่ยุคนี้การตรวจสอบนายทุนมีความน่าสนใจกว่า

ข้อท้าทายสำหรับสื่อออนไลน์ในไทยต่อมานั้น ปรางค์ทิพย์ยังยกตัวอย่างกรณีมาเลเซียกินี (Malaysiakini) ในมาเลเซีย ที่เริ่มจากนักข่าวสองคน ทำข่าวให้คนเข้าถึงฟรี นำเสนอข่าวการเมืองในสภาพการเมืองที่กดขี่ ซึ่งคนอ่านเยอะ แต่อยู่ไปแล้วเห็นว่าต้องเก็บเงิน ท้ายที่สุดวันนี้มาเลเซียกินีจะครบรอบ 20 ปีแล้วก็กลายเป็นสื่อที่ได้กำไร มาเลเซียกินีอยู่ได้เพราะว่าเป็นสำนักข่าวที่ทำข่าวคุณภาพและไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง สรุปได้ว่า ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน เนื้อหาที่มีคุณภาพนั้นขายได้ และยิ่งคนมีคุณภาพสูงขึ้น ก็ยิ่งต้องการอาหารทางปัญญามากขึ้น
Rethink Thailand ผนวกวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลและกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย


ปราบ เลาหโรจนพันธ์

ขณะที่ ปราบ เลาหโรจนพันธ์ เริ่มต้นนำเสนอว่า ในสมัยที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เคยทำกิจกรรมช่วงปี 2553 และในแวดวงเป็นคนเดียวที่มาจากคณะบริหารธุรกิจ จากการทำกิจกรรมพบว่า ระหว่างทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อันหนึ่งก็ 50 สตางค์ แต่ถ้าซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ค 10 สตางค์ก็ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการง่ายกว่า จึงเริ่มสนใจเรื่องสื่อ ต่อมาทำสื่อสารการเมืองหลายโครงการ พยายามเล่างานวิชาการให้คนอ่าน คนแชร์ เล่นกับความรู้สึกว่าสิ่งที่กระทบจิตใจ

ปัจจุบันการทำเนื้อหาในโซเชียลมีเดียไทยมีเยอะ คนแข่งกันทำเยอะแยะไปหมด เลยหาโจทย์ใหม่ และพบว่าเนื้อหาที่ให้ความรู้ที่จะตอบโจทย์การสืบค้นในไทยยังน้อย เลยทำโครงการ Rethink Thailand เป็นเวทีที่รวมคนสามกลุ่มได้แก่คนที่มีเนื้อหาอยากเผยแพร่ คนที่มีทุนที่อยากให้เนื้อหาต่างๆ เผยแพร่ และคนที่เอาเนื้อหาไปทำอินโฟกราฟิกแอนิเมชั่นไว้ด้วยกัน ส่วนตัวคิดว่างานที่ทำมีความคล้ายกับงานสืบสวนสอบสวนในแง่การทำให้เนื้อหาที่คนไม่สนใจกลายเป็นที่สนใจ ข้อท้าทายของ Rethink Thailand คือการผลักประเด็นหนึ่งๆ ให้เป็นที่รับรู้ข้ามผ่านวังวนของคนที่สนใจเรื่องนั้นอยู่แล้ว
Rethink Thailand เผยแพร่งานผ่านยูทูปเป็นหลัก เพราะเฟซบุ๊คนั้นมาแล้วไป เวลาค้นหาข้อมูลบนกูเกิ้ล เนื้อหาในยูทูปก็จะปรากฏขึ้นมา การทำให้ข้อมูลเข้าถึงคนค้นหานั้น ต้องประเมินพฤติกรรมคนว่าจะทำอย่างไรให้เขาเจอเราตลอดเวลาเมื่อจะค้นหาเรื่องหนึ่งๆ มีการตั้งกลุ่มเป้าหมายของเนื้อหา เช่น เนื้อหาเรื่องไทยคอนเซนต์ ก็ได้ประเมินว่ากลุ่มเป้าหมายต้องเป็นผู้หญิงที่มีครอบครัวและอยากค้นหาเรื่องครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว นอกจากนั้นยังนำเนื้อหาดังกล่าวไปผูกกับคำค้นหาว่า เมีย 2018 ละครดังในช่วงที่ผ่านมาซึ่งก็อาจได้กลุ่มเป้าหมายคนที่ค้นหาเรื่องเมีย 2018

Rethink Thailand ได้ซื้อโฆษณาของกูเกิ้ลแล้วเอาเนื้อหาไปผูกกับคำค้นตามธีมเนื้อหาต่างๆ ปัจจุบันเสิร์ชเอนจิ้นสามารถวิเคราะห์แนวโน้มกลุ่มเป้าหมายผ่านพฤติกรรมการเข้าชมเนื้อหา คำค้นหาที่พาผู้ชมเข้าถึงเนื้อหาที่มี และเวลาที่ใช้ในการดูเนื้อหาหนึ่งชิ้น เป็นเครื่องมือที่เอาไว้ชี้วัดได้หลายอย่าง

ส่วนคำถามเรื่อง engagement หรือการมีส่วนร่วมของผู้ชมนั้น ทาง Rethink Thailand สนใจการส่งเนื้อหาให้ออกไปนอก Echo Chamber หรือกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันมากกว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เยอะนั้นต้องดูว่าเป็นการทำให้เสียงสะท้อนดังกล่าวแน่นขึ้นหรือไม่

การทำเนื้อหาในวันที่ประเด็นทางสังคมเปลี่ยนเร็วจำเป็นต้องมีพลังในการทำให้ประเด็นเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ส่วนตัวยังสนใจกับการทำ archive คือทำเนื้อหาแล้วเก็บไว้ อย่างโครงการบันทึกหกตุลา ที่เก็บข้อมูล หาวิธีการเล่าใหม่ หาข้อมูลใหม่เก็บเอาไว้ เป็นความท้าทายที่นักเคลื่อนไหว หรือคนทำงานด้านนี้ต้องทำให้ประเด็นเป็นที่พูดถึง ไม่ให้ตกหายไป

วงกลมทองคำ เป็นกรอบคิดของนักการตลาดที่ชื่อไซมอน ซิเนค ที่ระบุว่าการจะขายของประกอบด้วย what, quality(how), why คือระดับจิตวิญญาณที่จะตอบว่า ทำไมถึงทำสินค้านี้ บริษัทใหญ่ๆ ตอนนี้ก็พยายามขาย why กรณีไนกี้ที่เอานิค เคเปอร์นิค ที่มีประวัติการเลือกข้างทางการเมืองมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อสะท้อนว่าไนกี้มีอุดมการณ์บางอย่าง แม้มีกระแสต้านจนมีคนแห่เอารองเท้าไนกี้มาเผาทิ้ง แต่ยอดขายก็เพิ่มขึ้น

กรณีของอุตสาหกรรมสื่อ การขาย why ก็เป็นเรื่องที่เอามาขายให้ผู้ชมได้ บางเจ้าแม้เนื้อหาจะไม่ดีเท่าที่อื่นแต่คนก็ดูในสิ่งที่ตนเองสนใจ ฐานแฟนคลับของคนที่เชื่อเหมือนกับสิ่งที่เราทำนั้น ถ้าทำให้ใหญ่พอก็จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ คำถามก็คือสื่อจะทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่ยั่งยืนแบบนั้นได้หรือไม่ ก็มีตัวอย่างวอชิงตันโพสท์หรือนิวยอร์กไทม์ ที่เป็นสื่อที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ ที่เก็บเงินกับผู้อ่านเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหา ปรากฎว่าสองปีที่ผ่านมามียอดคนอายุ 18-34 ปี ยอมจ่ายเงินเพื่ออ่านข่าวเพิ่ม วอชิงตันโพสท์เป็นสื่อที่ได้กำไร ในวันที่อุดมการณ์ฝ่ายขวารุนแรงขึ้น แนวคิดฝ่ายซ้ายเป็นฝ่ายที่จ่ายเงินให้สื่อต่างๆ สูงสุด ที่สหรัฐฯ มีคนยอมจ่ายเพื่อเข้าถึงสื่อออนไลน์ถึงร้อยละ 13 มีจำนวนมากพอที่ทำให้สื่อที่ไม่ตามกระแส ทำข่าวเชิงลึกเริ่มกลับมาอยู่ได้อีกครั้ง

โดยในสหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยในการจ่ายเงินเพื่อติดตามข่าวอยู่ที่สัปดาห์ละ 3 ดอลลาร์ หรือราวๆ 100 บาท ถ้าบ้านเราจะทำให้คนอ่าน 200 คนที่ยอมจ่ายเงินเดือนละ 300 บาทเพื่ออ่านข่าวสืบสวนสอบสวน ถ้าทำได้ก็ได้รายได้ปีละ 7.2 แสนบาท คำถามคือจะทำได้หรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรให้คนในโซเชียลมีเดียเห็นรายงานสืบสวนสอบสวนเยอะขึ้น การอยู่รอดในอนาคตนั้น องค์กรสื่ออาจจะต้องมีคุณค่าแกนกลางที่ชัดเจน แล้วขายคุณค่าดังกล่าวผ่านการผูกเนื้อหาเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้คน และถ้าเป็นไปได้เนื้อหาที่ผลิตนั้น สื่อน่าจะให้ความสนใจกับวิดีโอ โดยที่ผ่านมาสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ทำการสำรวจออกมาพบว่าคนเอเชียเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นวิดีโอมากที่สุด

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.