จุดเริ่มต้นของการเติบโตภาคบังคับ

Posted: 13 Oct 2018 06:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-13 20:02


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

4 ปี 3 เดือน คือเวลาที่หายไปของครอบครัวสิรภพ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเขียนกลอนเผยแพร่ในบล็อกส่วนตัว หาก 4 ปี คือเวลาของลูก ๆ ในครอบครัวทั่วไป มันก็คงเปรียบได้กับเวลาที่เด็กจะต้องเปลี่ยนช่วงชั้นการเรียนจากการเรียนม.ปลาย เข้ามหาวิทยาลัยและจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่วันทำงานแล้ว แต่สำหรับครอบครัวสิรภพนอกจากเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว 4 ปีที่ผ่านมา พวกเขายังต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงและเติบโตในแบบอื่นด้วย ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวจากบทสนทนากับ “พลอย” ในฐานะลูกสาวคนกลางที่คอยดูแลจัดการเรื่องของพ่อตลอดสี่ปีที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สิรภพมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง โดยคุมไซต์งานก่อสร้างอยู่ที่ต่างจังหวัด เนื่องจากลูก ๆ ปิดเทอมในช่วงเวลานั้นพอดี พี่สาวอายุ 23 ปี ตัวเธอซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี และน้องชายอายุ 17 ปี จึงได้มาอยู่พร้อมหน้ากับพ่อ นอกจากมีลูก ๆ สามคนแล้ว สิรภพในตอนนั้นยังมีลูกน้องราว 20 ชีวิตที่ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ชื่อของสิรภพ ที่ปรากฎบนจอทีวีในกลางดึกคืนหนึ่ง ให้ไปรายงานตัวกับ คสช. ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทางโดยปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ทิ้งคนเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง เกือบ 1 เดือน หลังจากนั้นเขาก็ถูกจับ ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ก่อนได้รับการประกันตัวจากศาลทหารกรุงเทพ แต่แล้วเขากลับถูกอายัดตัวฝากขังต่อในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในทันที และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาจนถึงปัจจุบัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลรอบตัวสิรภพ คือการสูญเสียรายได้ครึ่งหนึ่งของครอบครัวในขณะที่ลูกสองในสามคนกำลังอยู่ในวัยเรียน จากเดิมที่มีพ่อและแม่เป็นผู้ช่วยกันส่งเสียเลี้ยงดูลูกทั้งสาม ก็เหลือแม่เพียงผู้เดียวที่ต้องรับหน้าที่ดูแลครอบครัวเต็มตัว

“แม่แยกทางกับพ่อมาเป็นสิบปีแล้ว แม่ย้ายไปใช้ชีวิตและทำงานที่ต่างประเทศ ช่วงนั้นแม่ก็หนักมาก ๆ เพราะต้องทำงานส่งเงินเลี้ยงดูแลทุกคน ไม่ใช่แค่ลูก ๆ แต่ยังมีครอบครัวของเขา คือตากับยายที่แก่แล้ว และสุขภาพไม่ดีด้วย” พลอยเริ่มเล่าด้วยการพูดถึงแม่

รายได้ที่ได้รับจากการระดมทุนและความช่วยเหลือจากทนายความนั้น ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นของทั้งครอบครัว ลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียนและไม่เคยกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาหรือทำงานพิเศษก็ต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะทำสิ่งเหล่านั้น

“ตอนนั้นหนูเรียน ม.เอกชน เราไม่เคยต้องขอทุนเรียนเลย ไม่เคยต้องทำงานระหว่างเรียน แต่พอพ่อไม่อยู่ก็ต้องทำ”

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบอีกด้านที่สร้างบาดแผลร้าวลึกให้แก่ครอบครัวคือ การถูกหมางเมินจากญาติพี่น้อง ด้วยข้อกล่าวหาของพ่อที่ดูรุนแรง ทำให้ไม่มีใครอยากยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อน

“ครอบครัวฝั่งพ่อทำงานเป็นข้าราชการกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเข้ามายุ่งเรื่องนี้ จะว่าพ่อโดนตัดขาดก็ได้และช่วงแรก ๆ เราก็รู้สึกโดนตัดขาดไปด้วย ”

ครอบครัวที่เคยเป็นครอบครัวใหญ่ สำหรับพลอยและอีกสองพี่น้องในเวลานั้น เหลือเพียงแค่แม่และพ่อที่ถูกคุมขังอยู่เท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้กระทบกระเทือนความรู้สึกและสร้างความลำบากให้กับทุกคนในครอบครัว ทำให้เธอมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบและจัดการเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถไปเรียนได้

พลอยเลือกพักการเรียนไว้ชั่วคราวและกลายเป็นคนที่ไปเรือนจำเพื่อเยี่ยมสิรภพบ่อยที่สุดในช่วงแรก รวมถึงเป็นคนที่ช่วยดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีความและคอยไปศาลทหารในแต่ละนัด

“เหมือนจะโตแต่ก็ไม่โต แค่ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ…ถึงแม้จะรู้สึกว่าตัวเองยังแยกแยะอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็ต้องรับหน้าที่ดูแลพ่อไปโดยปริยาย” พลอยย้อนความจำในวันที่ไม่ได้ตั้งตัว

พลอยมักเป็นผู้ที่คอยสื่อสารเรื่องของพ่อให้คนในบ้าน รวมถึงแม่ที่อยู่ต่างประเทศได้ทราบ และเป็นผู้ที่คอยรับสายตาและคำถามจากสาธารณะเมื่อเธอปรากฏตัวที่ศาลทหารในคดีของพ่อ ในตอนแรกเธอรู้สึกแย่กับสิ่งที่ต้องเจอ แต่ตอนนี้เธอบอกว่าเธอผ่านมันไปได้แล้ว

สี่ปีผ่านไปพลอยยังคงเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ในวันนี้ใกล้จบการศึกษาแล้ว ขณะที่พ่อยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อและครอบครัวทำให้เธอต้องเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
บทสนทนาที่ถูกเก็บงำ

พลอยตั้งข้อสังเกตว่า เธอเปลี่ยนจากคนร่าเริงและชอบเข้าสังคม กลายเป็นคนเงียบและเก็บตัว สิ่งนี้มีที่มา

“เคยเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังเกี่ยวกับเรื่องของพ่อ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนเข้าใจและรับได้ ถึงเราจะเข้าใจเรื่องนั้น แต่ก็เสียใจที่ต้องสูญเสียเพื่อนและคนใกล้ตัวไป สุดท้ายเลยไม่พูดเรื่องนี้กับใครเลย”

แม้ไม่ได้ติดอยู่ข้างในกรงขังอย่างพ่อ แต่ชีวิตวัยรุ่นของเธอไม่ได้สวยงามอีกต่อไปแล้ว โลกของเธอแคบลงมาก คนที่จะปรับทุกข์กันได้มีเพียงพี่น้องและแม่ ไม่เพียงแต่พลอย น้องชายของเธอก็เป็นอีกคนที่เผชิญกับปัญหา เธอบอกว่าน้องชายค่อนข้างจะสนิทกับพ่อและเป็นคนเดียวที่พอจะรู้ว่าพ่อมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น เมื่อพ่อถูกจับ น้องก็เคว้งคว้างและไม่มีใครที่จะสามารถพูดคุยกับน้องได้อีก

ถึงจะมีเพียงคนในครอบครัวที่สามารถพูดคุยปรับทุกข์กันได้ แต่ตลอดหลายปีมานี้ พี่น้องก็เลือกที่จะไม่คุยกันมากนักเรื่องพ่อถ้าหากไม่จำเป็น เพราะไม่อยากเพิ่มความทุกข์ให้กันและกัน

“เมื่อพูดแล้วเพิ่มบรรยากาศแห่งความเศร้าก็เลยเลือกไม่พูดเรื่องพ่อกันระหว่างพี่น้องเลยดีกว่า” พ่อจึงเหมือนจะอยู่ในใจอันหนักอึ้งของพวกเขาตลอดเวลา แต่ไม่มีใครอยากเอ่ยถึงพ่อ และถึงแม้คนอื่นอาจมองว่าพวกเขาปกติดี ดูไม่มีความทุกข์อะไร แต่จริง ๆ แล้ว

“ไม่มีวันไหนเลยที่มีความสุขและไม่กล้าจะมีความสุข เพราะคนที่อยู่ในคุกก็คือพ่อ” เป็นคำอธิบายที่ผุดขึ้นมาระหว่างการพูดคุย

ญาติ ๆ เองก็เริ่มจะกลับมาพูดคุยกับลูก ๆ ของสิรภพอีกครั้งในช่วงหลัง แต่การพูดคุยก็ไม่มีเรื่องราวของสิรภพเช่นกัน โดยพลอยและพี่น้องเข้าใจดีว่า เป็นเพราะญาติไม่อยากยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้
เรียนรู้และเข้าใจตัวตนอีกด้านของพ่อ

เมื่อเราเปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปคุยถึงความสนใจทางการเมืองของสิรภพ พลอยเล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน อาจเพราะในช่วงที่พ่อเริ่มทำเว็บไซต์ในปี 2552 เธอยังเด็กเกินกว่าจะสนใจเรื่องการเมือง

“พ่อไม่เคยพูดเรื่องการเมืองกับลูก ๆ เลย แม้แต่นิดเดียวก็ไม่เคย ไม่เคยยุยงส่งเสริมใด ๆ”

แม้ทุก ๆ วัน เธอมักเห็นพ่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ และฟังเรื่องการเมืองในอินเตอร์เน็ต แต่ไม่คิดว่าจะมีอะไรรุนแรงจนกระทั่งมีชื่อ ‘สิรภพ’ ถูกเรียกรายงานตัวทางโทรทัศน์

“ในช่วงนั้นทางบ้านตกใจและทำอะไรไม่ถูก พลอยลองเข้าไปดูคอมพิวเตอร์ของพ่อและได้พบกับเรื่องราวมากมายในนั้น” เมื่อได้เห็นทั้งหมดที่เขาทำ สิ่งที่เธอทำคือการพยายามที่จะทำความเข้าใจพ่อ

“พ่อไม่ได้เป็นคนที่มีอำนาจ พ่อไม่ได้เป็นคนที่มีเครือข่ายอะไร เป็นพ่อเป็นแค่คนธรรมดาที่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่าง”

ตลอดสี่ปีที่พ่อถูกดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรง พลอยคิดทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง สิ่งเดียวที่เธอเห็นว่าเป็นความผิด คือพ่อทำผิด “กฎหมาย” ที่ถูกเขียนขึ้นเท่านั้น และไม่ว่าจะพยายามคิดทบทวนอีกกี่ครั้งก็ตามเธอ ก็ยังเห็นว่า “คนเราควรมีสิทธิที่จะนำเสนอความคิดที่แตกต่างได้

นอกจากนี้สำหรับตัวเธอซึ่งไม่รู้ และไม่ได้ติดตามเรื่องการเมืองแล้ว แม้ใช้เวลาอ่านบทกลอนที่พ่อเขียนถึงสามวัน ก็ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อเขียนหมายถึงอะไรบ้าง

พลอยย้อนนึกไปถึงตอนที่พวกเธอถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร หลังทหารตำรวจบุกเข้าค้นบ้านแต่ไม่พบพ่อ ที่ค่ายทหารเจ้าหน้าที่พยายามคาดคั้นเธอว่าข้อมูลต่าง ๆ นั้น สิรภพได้รับเงินจากใครให้มาทำ ถึงตอนนี้เธอพูดติดตลกว่า “ทำขนาดนี้ถ้ามีคนจ้าง คงรวยไปแล้วแน่ ๆ”
ชีวิตที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนไปกับอุดมการณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยน

ช่วงแรกที่สิรภพเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในฐานะลูกที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงาน พลอยเป็นคนที่ไปเยี่ยมพ่อบ่อยที่สุด คืออาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าหากไม่มีเวลา อย่างน้อยก็ต้องไปเดือนละครั้ง เธอเล่าว่า ช่วงนั้นพ่อดูแย่มาก จากคนอ้วนกลายเป็นซูบผอม เพราะนอกจากความเป็นอยู่จะไม่ดีแล้ว คนในเรือนจำก็มักสูบบุหรี่จัด ทำให้พ่อซึ่งไม่สูบบุหรี่ เป็นโรคภูมิแพ้

“ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมพ่อจะไออย่างหนักอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นวัณโรค ไอจนพูดแทบจะไม่ได้ พ่อเคยป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้น ต้องนอนอยู่ในห้องขังถึงสามวัน แต่ได้รับแค่ยาพาราเซตามอลเท่านั้น”

เขาดูไม่มีความสุขและเจ็บป่วยอยู่เสมอ เพิ่งมาเริ่มปรับตัว และยอมรับกับชีวิตในเรือนจำได้ในปีหลัง ๆ นี้เอง แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อยืนยันตลอดมาคือ ‘พ่อจะไม่ยอมรับสารภาพและไม่ยอมขออภัยโทษเพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด’ เธอบอกว่าที่บ้านคุยกันบ่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากให้สิรภพรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดลง

“ไม่ว่าจะทำจริงหรือไม่จริง อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราที่จะเปลี่ยน เราเป็นคนธรรมดามาก ๆ ไม่มีใครมาสนใจเราหรอก” แต่พลอยบอกว่าสิรภพเป็นคนที่มี ‘อุดมการณ์’ สูงมาก ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรเขาก็ยืนยันหนักแน่นเช่นเดิม จนทุกคนไม่พูดเรื่องนี้กันอีกแล้ว เพราะว่ายังไงก็คงไม่สามารถเปลี่ยนใจให้เขายอมรับสารภาพเพื่อให้มีคำพิพากษาในเร็ววันได้

“ครอบครัวก็คงต้องยอมรับในการตัดสินใจของพ่อ แม้ที่นั่นจะไม่ใช่ที่ที่เขาควรอยู่” สิ่งที่ครอบครัวยังหวังคือการได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเพียงอย่างเดียว

ปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือ จำเลยในคดี 112 ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกันตัว จำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะรับสารภาพและยอมรับคำพิพากษา ไม่ว่าการฟ้องคดีจะชอบธรรมหรือเขาได้กระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ เหตุผลก็คือเพื่อที่เขาจะได้มองเห็นอนาคตที่แน่ชัดว่าตนเองจะต้องอยู่ในเรือนจำนานแค่ไหน และมุ่งหวังไปถึงการประพฤติดีภายในเรือนจำเพื่อให้ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีหรือสูงกว่านั้น ซึ่งจะมีผลต่อการขอพักโทษและได้รับพระราชทานอภัยโทษอันหมายถึงการได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเร็วขึ้น

แต่สำหรับสิรภพซึ่งไม่ยอมรับสารภาพ คดีของเขายังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหาร โดยเพิ่งสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก จากทั้งหมด 13 ปาก ขณะที่เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำมาตลอด 4 ปี 3 เดือน แม้จะยื่นประกันตัวมาแล้ว 6 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต มีคนกล่าวว่าหากเขายอมรับสารภาพตั้งแต่แรก คดีอาจไม่ยืดเยื้อ ยาวนานมาจนถึงขนาดนี้ แต่เพื่อให้มีกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ สิรภพเลือกที่จะต่อสู้คดี ผลจากการต้องการพิสูจน์ความจริงมีราคาที่เขาและครอบครัวต้องจ่ายอย่างมหาศาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ตั้งหลักกันใหม่แม้การคุกคามที่ยังดำเนินต่อไป

4 ปี ในเรือนจำของสิรภพ เป็น 4 ปี ที่ครอบครัวอยู่กันมาแบบ “ทนกันมาเรื่อย ๆ จนผ่านมาได้ ค่อย ๆ ประคับประคองกันมา” เธอเล่าว่าตอนที่ไปเยี่ยมพ่อ ไม่เคยมีลูกคนไหนร้องไห้ แต่กลับมา ก็ไปร้องไห้กันเอง

ปัจจุบันทุกคนเริ่มกลับมาเป็น “คนปกติ” ออกก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ตั้งแต่พลอยที่ลงเรียนมหาวิทยาลัยต่อจนใกล้จบ และน้องชายที่สมัครเรียน กศน. เพื่อให้ได้วุฒิ ม.6 หลังจากเลือกที่จะออกเรียนกลางคันและไปทำงาน ในช่วงแรก ๆ ที่พ่อ ‘ไม่อยู่บ้าน’

ท่ามกลางความเป็นปกติ เจ้าหน้าที่ทหารยังคงทำตัว ‘ไม่ปกติ’ โดยเมื่อตอนปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา มีทหารไปปรากฏตัวที่บ้านของย่าซึ่งเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชนของสิรภพและลูก ๆ บ่อยครั้ง อ้างว่ามาตรวจเยี่ยม แม้ในความจริงมีเพียงแม่ของสิรภพซึ่งอายุมากแล้วอาศัยอยู่เพียงคนเดียว

นอกจากถูกติดตามไปยังที่อยู่ตามบัตรประชาชน ลูก ๆ ของสิรภพยังถูกติดตามทางออนไลน์ด้วย ลูกสาวของเขาเล่าว่า ในช่วงวันแรก ๆ เมื่อถูกปล่อยมาจากค่ายทหาร ถึงแม้เธอพยายามเปลี่ยนพาสเวิร์ดของอีเมลและเฟซบุ๊ก แต่บัญชีทั้งสองยังคงแจ้งเตือนว่ามีคนพยายามที่จะเข้าใช้งานเฟซบุ๊กของเธอตลอดเวลา จนในที่สุดเธอต้องเปลี่ยนอีเมล เปลี่ยนชื่อบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์

แต่เมื่อสองถึงสามเดือนก่อน ก็มีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้น คือมีเฟซบุ๊กปลอมที่ใช้ชื่อนามสกุลและรูปของพ่อเธอ มาไล่ตามเพิ่มทั้งสามพี่น้องเป็นเพื่อน ซึ่งอาจอนุมานได้ว่ามีคนรู้ว่าแอคเคาท์ใหม่ของทั้งสามคนชื่ออะไร แต่เธอไม่ได้รับเป็นเพื่อนและไม่เข้าใจว่าจะมีคนสร้างตัวตนปลอมของพ่อไปเพื่ออะไร

เมื่อถามว่าจนถึงตอนนี้ เธอจะสะดวกใจที่จะเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะมากแค่ไหนหรือมีความกังวลใจหรือไม่หากบทสนทนาระหว่างเราถูกเผยแพร่ออกไป

พลอยครุ่นคิดก่อนตอบ “ช่างมัน ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว อะไรที่ช่วยพ่อได้ก็จะทำ” พร้อมกับขยายว่า “คนที่รับไม่ได้กับเรื่องราวในชีวิตหนู ก็เดินจากไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้ไม่เหลือคนในชีวิตประเภทที่จะไม่เห็นด้วยกับเราอีกแล้ว”

เธอบอกว่าไม่เคยตัดสินใครหรือด่าว่าใครในเรื่องมุมมองหรือความคิดอ่าน แต่เธอรู้สึกว่าคนที่จะไม่ตัดสินอะไร ไม่อยู่ฝั่งใดนั้นจริงๆ แล้วแทบไม่มี แม้เสียใจที่แทบไม่มีใครเข้าใจเรื่องของพ่อและสิ่งที่ครอบครัวของเธอต้องเผชิญ แต่ลูกสาวของสิรภพก็ไม่คิดจะเรียกร้องให้ใครมาเข้าใจ เพราะตัวเธอเองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจเรื่องราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีประเภทนี้มาก่อน

ตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ที่นั่งสนทนากัน เราไม่ได้เห็นความเศร้าในแววตาของพลอย ไม่เห็นความโกรธแค้น แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเธอเฉยชากับเรื่องที่กำลังพูดอยู่ แน่นอนเธออาจจะเศร้าไม่น้อยที่ต้องพูดถึงเรื่องที่คนในครอบครัวก็แทบไม่พูดถึงกัน แต่แววตาของเธอมีความแข็งแกร่ง มั่นคงบางอย่างอยู่ เราไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร อาจเป็นแววตาที่สื่อถึงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของพ่อ ซึ่งอยู่เหนือคำกล่าวหาของกฎหมายและแววตามุ่งมั่นว่าจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยพ่อ รวมไปถึงแววตาที่ยังหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับพ่อให้ได้รับการอนุญาตประกันตัวก็เป็นได้





เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากบทความเดิมชื่อ การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.