Posted: 18 Oct 2018 09:45 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-18 23:45
คนการเมืองจากพรรคอนาคตใหม่ สามัญชน ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย สะท้อนความกังวลกับร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ เห็นพ้องให้อำนาจกับรัฐจัดการเรื่องความมั่นคงที่ในนิยามก็ยังกำกวม หวั่นเป็นเครื่องมือรัฐบาลจัดการคนเห็นต่าง เสนอปรับแก้ให้ตอบโจทย์ป้องกันภัยไซเบอร์ที่แท้จริง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ ถ่วงดุล ควรให้มีสภาจากการเลือกตั้งแล้วจึงพิจารณาร่างฯ
แม้การรับฟังความเห็นของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทางเว็บไซต์ได้สิ้นสุดไปเมื่อ 12 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพลเมืองเน็ตรอบทิศทางกลับเป็นกระแสมากถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาสั่งให้มีการทบทวนกฎหมายอีกรอบจากปัญหาเรื่องความกำกวมของนิยามศัพท์ อำนาจของหน่วยงานคณะกรรมการและสำนักงานเพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) และเกณฑ์ของการกำหนดโทษ
ประชาไทสอบถามไปทางสมาชิกพรรคและคนที่ทำงานการเมืองสี่พรรค ได้แก่พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยถึงความเห็น ความกังวลและข้อเสนอแนะต่อร่างฯ ดังกล่าวที่เป็นที่โจษจัน
ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คณะทำงานด้านต่างประเทศพรรคเพื่อไทย
ที่มาภาพ เพจ Sand Wongnapachant
ชยิกา วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นการเขียนกฎหมายโดย สนช. ภายใต้การนำของรัฐบาล คสช. ซึ่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชน รวมทั้ง พ.ร.บ.นี้ยังมีการจำกัดความนิยามที่ไม่ชัดเจนในเรื่องของภัยความมั่นคงไซเบอร์ว่าหมายถึงอะไร ตีความทางกฎหมายกว้างมากมีความคลุมเครือที่จะนำไปปฏิบัติ และยังมองว่าตัวกฎหมายนี้เป็นการนำเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ไม่ได้นำเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหลักตามชื่อ หากดูในรายละเอียดนอกจากในส่วนของคำจำกัดความนิยามที่มันไม่ชัดเจนแล้ว ยังมีส่วนของคณะกรรมการที่ไม่ได้มาจากประชาชนและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจตัดสินชีวิตประจำวันของประชาชน มันทำให้เอื้อต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ชัดเจน อีกทางประชาชนเองก็ไม่สามารถตรวจสอบคณะกรรมการนี้ด้วย ทั้งที่กระบวนการสอบสวนนี้น่าจะเป็นกระบวนการที่อัยการเป็นผู้สั่งฟ้องและผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ควรมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาดู
กฎหมายชุดนี้ไม่ได้มีเพียง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางการเงิน และอีกหลายฉบับที่มันควรจะถูกเขียนให้มันล้อไปกับวัตถุประสงค์ใหญ่ในการที่จะพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ แต่ว่าทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาไปสู่เวทีสากล มันเห็นได้ว่ากฎหมายตรงนี้มันไม่มีหลักนิติธรรม หากไม่มีหลักนิติธรรมให้กับคนในประเทศแล้ว คนต่างประเทศจะเชื่อใจมาลงทุนกับเราได้อย่างไร
"เรื่องของไซเบอร์มันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของคน ตื่นเช้ามาอย่างแรกที่คุณทำในยุคสมัยนี้มันก็จับมือถือ ชีวิตประจำวันคุณใช้มือถือใช้ข้อมูลทางไซเบอร์ตลอดเวลา ในเมื่อ สนช. คุณไม่ได้มาจากประชาชน แม้วันนี้นายกฯ จะบอกว่าจะนำข้อคิดเห็นและข้อกังวลจากประชาชนกลับมารับฟัง แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขก็ตาม จริงๆ แล้ว ดิฉันก็อยากเสนอเนื่องจากมันเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อชีวิตคนเยอะๆ อยากจะให้รัฐบาลรับฟังปัญหาจากประชาชนให้มาก แล้วถ้าเป็นไปได้ใช้วิธีว่าให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนค่อยเป็นคนผ่านร่างกฎหมายนี้" ชยิกา กล่าว
สำหรับกระบวนการรวบรวมความเห็นของประชาชนต่อกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนมากนั้น ชยิกา กล่าวว่า ควรเป็นการให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างแพร่หลาย มีการถกแถลงกันของพรรคการเมืองต่างๆ และประชาชนชอบหรือเลือกแบบไหน ก็ให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นผู้ผ่านร่างกฏกหมายนี้ เมื่อเราวางกฎหมายมันต้องร่างกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เขียนมาเป็นกรอบให้เราติดอยู่กับกรอบนี้ จนไม่สามารถขยับไปไหนได้ โดยเอาโจทย์ตั้งว่าประเทศเราวันนี้กำลังพัฒนาหรืออยากพัฒนาไปในทางไหน แล้วร่างกฎหมายให้มันสอดรับกัน เพื่อให้เราสามารถไปแข่งขันกับคนอื่นๆ ในโลกได้
ชยิกา ยังมองว่า แรกเริ่มแรงจูงใจของคนร่างตัว พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้นมีเจตนาที่ดี เพียงแต่รายละเอียดที่ความคลุมเครือไม่ชัดเจน มันควรให้น้ำหนักเรื่องของการพัฒนาประเทศมากกว่าความมั่นคงอย่างเดียว โดยไม่ได้มองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะถูกละเมิดหรือไม่ แล้วมันจะเอื้อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ไหม และเอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก
หากถึงที่สุดแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน สนช. ออกเป็นกฎหมายทั้งที่ยังมีความคลุมเครือในนิยามความมั่นคงไซเบอร์อยู่นั้น ชยิกา ยืนยันว่า ก็คงต้องแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และให้อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน เอื้อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้แข่งขันกับคนอื่นได้
โดยสรุป ชยิกา มีข้อเสนอ 4 ข้อคือ 1. แก้ไขนิยามให้ชัด 2. การสั่งฟ้องควรจะผ่านกระบวนการยุติธรรม เป็นอัยการสั่งฟ้อง มีหลักฐาน ประชาชนสามารถอุทธรณ์ได้ มีระบบให้ประชาชนได้สู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่มาสร้างคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา 3. ประชาชนสามารถตรวจสอบคณะกรรมการได้ และ 4. ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ากฎหมายนี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากและเป็นเรื่องใหญ่ของคน ดังนั้นมันควรจะได้รับการถกแถลงและพูดคุยอย่างกว้างขวางว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่แค่รับฟังช่วงหนึ่งแล้วมันจะรอบแล้ว มันควรจะฟังมากๆ และหลากหลายมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และควรให้พรรคการเมืองเป็นคนเสนอทางเลือกต่างๆ ในเรื่องของ พ.ร.บ.นี้ให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเลือก และ ร่าง พ.ร.บ. ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนดังนั้นผ่านกระบวนการดังกล่าวได้
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์
ที่มาภาพ เพจ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี - ปชป
อรรถวิชช์ระบุว่า มีการคุยกันแบบไม่เป็นทางการกับสมาชิกพรรคไม่กี่คน แต่ก็สะท้อนกันว่ากฎหมายดังกล่าวแรงเกินไป ซึ่งถ้าตนได้เป็นคนพิจารณาร่างฯ นี้ก็จะไม่ให้ผ่าน เพราะกลัวว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต และคิดว่าอาจให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหน้าที่แทน กปช. ดีกว่า เพราะมีความเป็นอิสระมากกว่า และไม่ยึดโยงกับรัฐบาลกลางมากเท่า กปช.
“หลักการของการกฎหมายต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะคือการไปยึดคอมพิวเตอร์ ยึดมือถือโดยไม่มีหมายค้นด้วยคำสั่งของทางสำนักงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคดีที่หนักกว่านี้ในการมุ่งต่อชีวิต มุ่งประทุษร้ายต่อชีวิตคนอื่นเวลาจะค้นยังต้องขอหมายค้นจากศาลเลย ถือเป็นเรื่องที่หนักที่ขอให้ทบทวน” อรรถวิชช์กล่าว
“ผมดูเรื่ององค์กร (กปช.) ก็ค่อนข้างจะแปลก เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ รายได้ไม่ต้องส่งเข้าคลัง ในขณะที่ไปร่วมทุนกับเอกชนได้ ทำให้องค์กรนี้มีความคล่องตัวสูง และใช้คำว่าสูงเกินไป เพราะติดหนวด ติดดาบด้วย ยิ่งไปร่วมทุนกับเอกชนได้ยิ่งจะทำให้องค์กรนี้มีทั้งเงิน มีทั้งอำนาจ เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับรัฐบาลกลาง”
“จริงๆ แล้วอยากให้ไปพิจารณาโครงสร้าง กสทช. ว่าในรูปแบบกฎหมาย กสทช. ติดขัดอะไรไหมกับการดูแลเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ ถ้าไปใช้ กสทช. การคัดสรรบอร์ดอย่างน้อยก็ผ่านหลายด่าน มาจากสาขาอาชีพที่หลากหลาย บางทีก็มาจากสื่อมวลชนด้วยซ้ำไปซึ่งเขาก็รู้ดีว่าต้องระวังเรื่องสิทธิของคนอื่นมากแค่ไหน แต่การใช้กลไกนี้ไปขึ้นตรงกับนายกฯ เป็นการใช้ข้าราชการ พอถึงเวลาเขาก็ต้องย้ายข้าราชการจากกระทรวงยุติธรรมข้ามมา”
“ที่บอกว่าที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงไซเบอร์มันคือความมั่นคงของอะไร เป็นของชาติหรือรัฐบาล ถ้าสมมติในอนาคตมาจากการเลือกตั้งแล้วมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วมีการสั่งไปอายัดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานใดสำนักงานหนึ่งที่ใช้ในการตรวจสอบรัฐบาลอยู่ผมก็ว่าน่ากลัวนะ ต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็นความมั่นคงของชาติ อันไหนเป็นความมั่นคงของรัฐบาล มันคนละเรื่องกัน”
“การที่หน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับนายกฯ แล้วก็รายได้ไม่ต้องส่งเข้าคลัง แถมร่วมทุนกับเอกชนได้จะทำให้องค์กรถูกใช้ไว้ล่าเมืองขึ้น สมมติว่า อีกหน่อยใครมาเป็นคณะกรรมการ เป็นบอร์ดหรือเลขาธิการที่นี่ เวลาจะไปขอสปอนเซอร์จากสื่อยักษ์ใหญ่ เช่น ตีกอล์ฟ เรียน วปอ. วปท. อยากจะขอบริจาคแข่งขันกอล์ฟการกุศล มันจะเป็นแบบนั้น เป็นองค์กรที่ เอาไว้ใช้เวลาใครมานั่งเป็นบอร์ดแล้วขอสปอนเซอร์ก็ต้องให้ ถ้าไม่ให้ก็จะรู้สึกกลัว”
อรรถวิชช์ ยังกล่าวว่า อยากให้กฎหมายนี้เป็นการป้องกันการโดนแฮ็กข้อมูล ที่สิงคโปร์ที่มีกฎหมายแรงก็โฟกัสที่ประเด็นนี้ ไม่ใช่การปกป้องสถานะของรัฐบาล
ปกรณ์ อารีกุล ว่าที่โฆษกพรรคสามัญชน
“ความจริงไม่ใช่แค่ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงไซเบอร์แต่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลทั้งหมดที่มีปัญหา ถ้าหากไปดูจริงๆ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็มีปัญหา ปัญหาสำคัญคือ การนิยามของคำบางคำที่ไม่มีความชัดเจน เปิดโอกาสให้ตีความได้โดยกว้าง อำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลยังมีช่องโหว่ อำนาจไปอยู่ในฝ่ายความมั่นคง และไม่ได้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากพอในคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้น การกำหนดโทษที่รุนแรง และอาจส่งผลให้เกิดการควบคุม สอดส่องเกินความจำเป็นนำไปสู่การละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน
ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลที่ออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลที่มีประวัติในการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างกว้างขวาง”
“อีกข้อที่สำคัญคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการคัดค้านจากภาคประชาชนหลายฝ่าย แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันที่จะออกมันออกมา ทำให้สรุปได้ว่าทั้งเนื้อหาของมันและกระบวนการจัดทำกฎหมายนี้ไม่มีความชอบธรรมและขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก”
“รัฐควรเข้ามามีบทบาทดูแล ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสมดุลกับการให้สิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนด้วย รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมของประชาชน และกำหนดให้ชัดเจนว่า “ความมั่นคง” ในความหมายที่เขียนมาหมายถึงอะไร ไม่ใช่การตีขลุมให้กว้างเข้าไว้เพื่อนำมาใช้กับอะไรก็ได้ หากจำเป็นจะต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลก็ต้องมีกระบวนการในระบบยุติธรรมที่ชัดเจน ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำได้ และไม่ใช่ให้อำนาจกับฝ่ายมั่นคงอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ จะต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ชัดเจน”
“อะไรที่รัฐบาลทำอยู่ตอนนี้ก็มีลักษณะว่าจะส่งผลกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง การเดินสายฝ่ายเดียวของรัฐบาล การที่มีคนในตำแหน่งในรัฐบาลมาร่วมจัดตั้งและร่วมพรรคการเมือง การที่พล.อ.ประยุทธ์เปิดโซเชียลมีเดีย การที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาปิดกั้นเรื่องต่างๆ ตอนนี้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนชุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ก็ชัดเจนว่าเพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง กฎหมายที่รุนแรงและไร้การตรวจสอบแบบนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองโดยอ้าง “ความมั่นคง” เหมือนที่เคยทำมา”
“ที่สำคัญเลยคือรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านไอทีมีเยอะแยะมาก ต้องรับฟังเสียงของพวกเขา และต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และรัฐบาลต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำประชาพิจารณ์หรือจัดรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่แค่เพื่อทำให้เสร็จๆตามกระบวนการไป แต่ต้องเอาข้อเสนอของภาคประชาชนมาปรับใช้ด้วย จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริง”
ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนจากพรรคอนาคตใหม่
ที่มา Klaikong Vaidhyakarn
“พ.ร.บ. นี้เป็น พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหาการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าค้นคอมพิวเตอร์ถ้าพบว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบ หรือว่าจะเป็นเรื่องการเข้าดูข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล คือจริงๆ แล้วเราก็มีบทเรียนจากการใช้อำนาจจาก พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ใช้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้”
“คือเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ตั้งใจจะทำเรื่องการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์จากภัยคุกคาม เช่น ภัยจากแฮกเกอร์ ภัยจากการแฮ็กข้อมูลหรือโจมตีระบบ (แต่) บทเรียนที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องความมั่นคงเสียมากกว่า อาจจะเป็นเรื่องของการตั้งใจที่จะดูว่า ถ้าอันนี้เป็นฝ่ายที่อาจจะอยู่ตรงข้ามรัฐบาล ก็อาจใช้ พ.ร.บ. นี้ขึ้นมาได้โดยไม่ตรงเจตนารมณ์ที่จะปกป้องระบบคอมพิวเตอร์”
“ผมคิดว่า พ.ร.บ. นี้สำคัญและกระทบประชาชนอย่างมาก ตอนนี้ไทยมีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 50 ล้านคน ดังนั้น พ.ร.บ. ที่มีผลกระทบกับเสรีภาพประชาชนขนาดนี้ก็ควรเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมาพิจารณา”
แสดงความคิดเห็น