ดาตุ๊ก เลี่ยวหวิวเคี้ยง (ที่มา: Youtube/beritanasionalrtm rasmi)

Posted: 11 Oct 2018 03:36 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-11 17:3



รมว.สำนักนายกฯ มาเลเซียเผย 15 ต.ค. นี้ สภาจะถกกันเรื่องยกเลิกโทษประหาร รัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องเปลี่ยนโทษของเหล่าผู้ต้องโทษตาย แอมเนสตี้เผย ประหารไม่จบที่ตาย ต้องหยุดทั้งการฆ่า-ความทารุณเมื่อขังรอคิวขึ้นแท่น ย้อนดูไทยกับความพยายามเลิกประหารก่อนกลับมานับหนึ่งใหม่

11 ต.ค. 2561 สำนักข่าวเดอะสตาร์ออนไลน์ของมาเลเซีย รายงานว่า ดาตุ๊ก เลี่ยวหวิวเคี้ยง รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น รมว.กระทรวงยุติธรรมในทางปฏิบัติ ได้กล่าวในวันพุธที่ผ่านมา (10 ต.ค. 61) ว่าโทษประหารชีวิตในมาเลเซียจะถูกยกเลิก

เลี่ยวหวิวเคี้ยงพูดกับผู้สื่อข่าวหลังจากเป็นประธานในงานเสวนาเรื่องการปฏิรูปกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายาว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือจะทำอย่างไรกับนักโทษประหารที่ยังมีอยู่ ทั้งนี้ เมื่อโทษประหารจะถูกยกเลิกแล้ว การประหารก็ไม่ควรมีขึ้นอีกต่อไป

“โทษประหารทั้งหมดจะถูกยกเลิก จบประโยค” เลี่ยวกล่าว

“เนื่องจากเราจะยกเลิกโทษ (ประหาร) การประหารชีวิตทั้งหมดไม่ควรจะมีขึ้น”

“เราจะแจ้งไปยังคณะกรรมการการอภัยโทษเพื่อหาวิธีให้นักโทษที่อยู่ในบัญชี (โทษประหาร) เพื่อหาทางให้มีการลดโทษหรือไม่ก็ได้รับการปล่อยตัว”

รมว.สำนักนายกฯ ยังกล่าวว่า รัฐบาลกำลังศึกษาคดีต่างๆ และในการทบทวนเรื่องอัตราโทษนั้นจะต้องพิจารณาในหลายแง่มุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการกำหนดโทษที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด

“คดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั้นจะต่างออกไป และจะต้องมีการพิจารณานักโทษ อย่างเช่นพวกลับลอบขนยาเสพติดแบบซุกซ่อนไว้ในร่างกาย (จะต้องได้รับการพิจารณา) เปรียบเทียบกับผู้กระทำผิดในความผิดร้ายแรง” เลี่ยวกล่าว

“เรายังจำเป็นต้องพิจารณาทุกๆ กรณีอย่างละเอียด โดยเฉพาะกรณีที่สร้างความกังวลแก่คอรบครัวของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม”

เลี่ยวยังกล่าวว่ากฎหมายยกเลิกโทษประหารจะถูกยกมาพูดถึงในที่ประชุมสภาในวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนี้
แอมเนสตี้เผย ประหารไม่จบที่ตาย ต้องหยุดทั้งการฆ่า-ความทารุณเมื่อขังรอคิวขึ้นแท่น


ธงชาติมาเลเซีย (ที่มา:bergerpaints.com)

ความเป็นไปของมาเลเซียในเรื่องโทษประหารเดินไปในทิศทางเดียวกันกับแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีขึ้นในวันเดียวกันซึ่งเป็นวันต่อต้านโทษประหารชีวิตโลกพอดี แถลงการณ์มีใจความว่า ทางแอมเนสตี้ฯ กำลังรณรงค์กดดันประเทศเบลารุส กาน่า อิหร่าน ญี่ปุ่นและมาเลเซียให้สิ้นสุดการกักขังนักโทษประหารในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และเดินหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารเต็มตัว

“ไม่ว่าพวกเขาจะกระทำอาชญากรรมใดๆ มา ก็ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้ต้องตรากตรำสภาพการถูกกักขังอย่างไร้มนุษยธรรม แต่ก็ยังมีหลายกรณีที่นักโทษประหารถูกขังเดี่ยวอย่างเข้มงวด ไม่สามารถเ้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นและต้องมีชีวิตอยู่กับความกังวลจากคำตัดสินประหารชีวิต” สตีเฟน ค็อกเบิร์น รักษาการผู้อำนวยการโปรแกรมประเด็นระดับโลกของแอมเนสตี้ฯ กล่าว

“ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลบางประเทศแจ้งนักโทษหรือญาติพวกเขาล่วงหน้าไม่กี่วัน หรือแม้แต่ไม่กี่อึดใจก่อนการประหารเป็นเรื่องที่โหดร้าย”

“ทุกรัฐบาลที่ยังคงมีโทษประหารต้องยกเลิกมันทันที ทั้งยังต้องยุติสภาพการกักขังที่น่าตกใจที่นักโทษประหารจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องอดทนอยู่”

การรณรงค์เลือกห้าประเทศข้างต้นเป็นเป้าหมายเพราะว่าเป็นประเทศที่ความทารุณอันเกิดจากโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไป โดยในกานานั้น นักโทษประหารหลายคนกล่าวว่าพวกเขาเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล และมีปัญหาเรื่องสภาพชีวิตในระยะยาว

โมฮัมหมัด รีซา ฮัดดาดี จากอิหร่าน ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตตั้งแต่อายุ 15 ปี และถูกบังคับให้ตรากตรำอยู่กับการทรมานทางจิตใจ เพราะการประหารถูกกำหนดแล้วก็เลื่อน เป็นเช่นนี้อยู่หกครั้งเป็นเวลา 14 ปี

ในญี่ปุ่น มัตสึโมโต เคนจิ ถูกขังเดี่ยวระหว่างรอการประหารเป็นเวลานานจนเกิดอาการเห็นภาพหลอน ส่วนในมาเลเซียนั้น หูยิวหวา ได้ส่งคำร้องขอลดหย่อนโทษในปี 2557 แต่ยังไม่ได้รับข่าวคราวอะไร ในกรณีเบลารุสนั้น โทษประหารกระทำโดยลับ ไม่มีการบอกนักโทษ ตัวแทนในทางกฎหมายหรือแม้แต่ญาติล่วงหน้า

แอมเนสตี้ฯ คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกรูปแบบไม่ว่าจะด้วยสาเหตุหรือวิธีใดก็ตาม โทษประหารนั้นเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ที่ระบุไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล โทษประหารเป็นความทารุณอันสูงสุด เป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

สถิติจากแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าในปี 2560 มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นจำนวน 993 ครั้ง ซึ่งลดลงจากปี 2559 ร้อยละสี่ การประหารส่วนมากเกิดขึ้นที่อิหร่าน ซาอุดิอารเบีย อิรักและปากีสถาน ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตหลายพันครั้งในประเทศจีน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บเป็นชั้นความลับโดยรัฐ
ย้อนดูไทยกับความพยายามเลิกประหารก่อนกลับมานับหนึ่งใหม่

ส่วนไทยนั้นเพิ่งมีการกลับมาประหารชีวิตนักโทษอีกครั้งเมื่อ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยประหารชีวิต ธีรศักดิ์ “มิก” หลงจิ หลังไม่มีการประหารชีวิตมาแล้วเป็นเวลา 9 ปี ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิตเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งไทยจะถือเป็นประเทศที่มีโทษประหารบัญญัติเอาไว้ แต่ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ตามหลักการของสหประชาชาติ


‘โทษประหาร’ ของมันต้องมีหรือถึงเวลาต้องยกเลิก?

70 องค์กรสิทธิไทย-สากล ขอทางการไทย ทบทวนคดี 'มิก หลงจิ' ที่ถูกประหาร ว่าเกิดความผิดพลาดหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความพยายามในการยกเลิกโทษประหารอยู่ เรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์เรียบเรียงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุประเด็นเสนอเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สาม ปี 2557-2561 ศึกษาความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สอง จัดประชุมสำรวจ ระดมความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และผ่านสุ่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อมา ครม. รับทราบและเห็นชอบเมื่อ 26 ก.ค. 2559 และอยู่ระหว่างการนำกลับมาดำเนินการต่อของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

นอกจากนั้น ภายในปี 2561 รัฐบาลไทยยังมีเป้าหมายที่จะลงนามและให้สัตยาบันรับรอง "พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่องมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต" เมื่อเดือน ต.ค. 2560 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ตัวแทนจากแวดวงยุติธรรม ทหาร ตำรวจ นักวิชาการและภาคประชาชน โดยมีการถกเถียงระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้านโทษประหารอย่างหลากหลาย

ในอาเซียน ปัจจุบัน ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ประเทศบรูไน พม่า ลาว ยกเลิกในทางปฏิบัติ หมายความว่าไม่มีการประหารชีวิตมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทยยังคงโทษประหารชีวิตไว้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งล่าสุดเมื่อปี 2552 ถ้าอีก 1 ปีกว่านี้ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ก็จะครบ 10 ปี ซึ่งจะถือว่าไทยไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ

แปลและเรียบเรียงจาก

Law Minister: No more death penalty, death row inmates to get reprieve, The Star Online, Oct. 10, 2018

Governments must put an end to death penalty cruelty and take steps towards full abolition, Amnesty International, Oct. 10, 2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.