Posted: 27 Sep 2018 08:15 AM PDT
Submitted on Thu, 2018-09-27 22:15

วิญญัติ ชาติมนตรี

ตามที่มีสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าว เมื่อวันที่ 25 ก.ย.61 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งบริหารสถานการณ์ขณะนั้นคือ ผอ.ศอฉ. เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553

ทั้งสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับพวกรวม 4 คน ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตาม ป.อ.มาตรา 157 สืบเนื่องจากนายธาริตกับพวก รวมทั้งคณะกรรมการ คณะทำงานร่วมสอบสวนพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องบุคคลทั้งสอง ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาย ตาม ป.อ.มาตรา 288,289 แล้วส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนของพนักงานสอบสวน สรุปคือ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่เห็นด้วยกับการสั่งฟ้องตนเองว่ากระทำความผิดจากการใช้อำนาจเมื่อปี 2553 มีการต่อสู้ในปัญหาข้อกฎหมายอยู่หลายปีผ่านองค์กรทางกระบวนการยุติธรรมมา มีความเห็นแตกต่างกันตามปกติวิสัยของนักกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปเห็นความตายและการบาดเจ็บ รวมถึงยุทธวิธีจัดการกับการชุมนุมน่าเชื่ออย่างมั่นคงว่า ไม่มีใครจะเห็นต่างกันมากนัก

กรณีฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบคดีนี้ ผลของคำพิพากษาที่ออกมาล่าสุด คือ ศาลอาญายกฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์กับพวก

นอกเหนือจากประเด็นที่ศาลวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะพนักงานสอบสวนไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ผมเชื่อว่ายังคงมีสาระสำคัญที่ต้องจับตา หากคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ถูกเผยแพร่ ในโอกาสที่ผมติดตามคดีนี้และมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายคดีที่เป็นเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ผมจะขอวิเคราะห์สิ่งที่จะเป็นประเด็นให้คิดต่อยอดตามวิสัยของนักกฎหมาย เมื่อพิจารณาตามหลักการสากลถึงเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 แล้วย่อมจะมองไปในทิศทางที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ทั้งนี้ หากในคำพิพากษาของศาลโดยเฉพาะส่วนที่เป็นคำวินิจฉัย อาจชี้ถึงการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ อันมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การที่ ผอ.ศอฉ.ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามร้ายแรงเข้าควบคุมผู้ชุมนุมเป็นการกระทำที่เกินเลยจากอำนาจตามกฏหมาย

(2) การใช้กำลังทหารและยุทธวิธีทางทหารคล้ายกับการทำสงครามนั้น เป็นผลโดยตรงให้เกิดการทำร้ายประชาชน และจนท.เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

(3) แม้ว่าบางเหตุการณ์ของการชุมนุมจะมีการกระทำของผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนอาจกระทำผิดใดๆก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่มีความชอบที่จะจัดการกับผู้ชุมนุมตามอำเภอใจและเกินเลยจากอำนาจตามกฏหมายได้

(4) เมื่อบุคคลทั้งสอง พึงคาดหมายได้ว่าความตายและการบาดเจ็บจะเกิดขึ้นได้ ถือว่ามิได้ป้องกันหรือมีมาตรการในการควบคุมหรือระมัดระวังตามสมควรมิให้เกิดการใช้อำนาจเกินเลยจากกฏหมาย ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามนัย ของ พรบ.ฉุกเฉินฯให้พ้นความรับผิดได้

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาของศาลอาญาอาจวินิจฉัยอีกว่า การใช้อำนาจของทั้งสองคนว่า ออกคำสั่งเกินเลยจากอำนาจตามกฏหมาย ผลคือ ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ข้อเท็จจริงนี้ผ่านการไต่สวนสาเหตุการตายของศาลหลายจุด ที่มีคำสั่งว่าเหตุการณ์ความตายเกิดจากทหาร ศอฉ.ใช้กระสุนปืนจริงยิงคนตายจริง ซึ่งล้วนมาจากการทำตามคำสั่ง ศอฉ. และสำนวนคดีการตายนี้เอง ที่อัยการสูงสุดได้เคยมีคำสั่งฟ้องทั้งสองคนฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลมาแล้ว

ดังนั้น เมื่อมองภาพรวมของแนวทางของศาลฎีกา,ป.ป.ช.,รวมถึงแนวคำวินิจฉัยของคดีนี้ จึงเป็นประเด็นใหม่ที่น่าจะยุติแล้วว่า นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายทหารที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำลัง สั่งการทั้งหลายย่อมต้องเกิดความรับผิดโดยกระบวนการยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ทุกฝ่ายในสังคมต้องตระหนักร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติของบุคคลเหล่านั้นอันเป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค กล่าวคือ ผู้ที่ใช้อำนาจสั่งการให้ใช้กำลังทหารและยุทโธปกรณ์ทางทหารซึ่งทำให้เกิดบาดเจ็บล้มตายของประชาชน บุคคลเหล่านั้นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยเร็ว มิใช่เรื่องจะเก็บไว้ใต้พรมวิเศษอีก อย่างที่ผ่านมา.



หมายเหตุ: เรื่องนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองและการยุติธรรมของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและติดตาม ข้อเขียนนี้จึงเป็นการตั้งประเด็นในทางวิชาการโดยวิเคราะห์จากข่าวที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นมุมมองความเห็นส่วนตัว มิได้มีเจตนาก้าวล่วงคำพิพากษาซึ่งได้อ่านไปแล้ว และไม่มีเจตนาให้ผู้ใดได้รับความเสียหายแต่อย่างใด.[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.