Posted: 11 Oct 2018 09:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-11 23:00


อิทธิเดช พระเพ็ชร

พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หน้าแรก แสดงให้เห็น “ก่อนความเคลื่อนไหวจะปรากฏ”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ชาติไทยวันจันทร์ วันจันทร์ที่ 7 กรกฏาคม พ.ศ. 2501


สำหรับภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในความทรงจำทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดูเหมือนว่าหลายคนจะจดจำนายกรัฐมนตรีท่านนี้ในบทบาทของนายทหารจอมพลผู้เด็ดขาด ที่ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ จนราวกับว่าหากคิดถึงผู้นำทางการเมืองไทยที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ ชื่อของจอมพลสฤษดิ์คงน่าจะอยู่ในลำดับต้นๆ เป็นแน่

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่น่าสนใจว่า จอมพลสฤษดิ์เคยมีความพยายามจะเป็น “นักการเมือง” อยู่เหมือนกัน ทั้งยังได้จัดตั้งพรรคการเมือง และดำรงตำแหน่งเป็น “หัวหน้าพรรคการเมือง” ด้วยตนเองเสียด้วย

เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นปีถึงปลายปี พ.ศ. 2501 กล่าวคือ ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสำเร็จแล้ว ได้มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวชุดหนึ่งซึ่งมีนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างยุติธรรม เนื่องจากเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลก่อนหมดความชอบธรรมคือ มีการเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรม โดยในตอนนั้นเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การเลือกตั้งสกปรก” (ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอความร่วมมือว่าอย่าเรียกการเลือกตั้งสกปรก แต่ขอให้เรียกว่า “การเลือกตั้งที่ไม่สู้จะเรียบร้อย”) การเลือกตั้งครั้งใหม่มีขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 ผลปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มากที่สุดจากจำนวนทั้งหมด 160 ที่นั่ง คือพรรคสหภูมิ จำนวน 44 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 39 ที่นั่ง แต่ทว่าจำนวนผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคใดมีถึง 59 ที่นั่ง[1]

พรรคที่ได้อันดับ 1 อย่างพรรคสหภูมิ มีนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และนายสงวน จันทรสาขา เป็นเลขาธิการพรรค โดยพรรคสหภูมิมีท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์และนายสงวน จันทรสาขา ก็เป็นน้องต่างบิดาของจอมพลสฤษดิ์ อย่างไรก็ตาม แม้พรรคสหภูมิจะได้จำนวนที่นั่งผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็มิได้มีเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด (แม้ว่าจะไปรวมกับผู้แทนประเภทที่ 2 ซึ่งมาจากการ “แต่งตั้ง” อีก 122 คน) ดังนั้น บรรดาผู้นำคณะรัฐประหารฝ่ายทหารจึงจำต้องหาวิธีการควบคุมเสียงในรัฐสภาให้ได้ ซึ่งก็คือการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เพียงหกวันหลังการเลือกตั้งในชื่อ “พรรคชาติสังคม”

พรรคชาติสังคม (National Socialist) มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค พลโทถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) และนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และมีพลโทประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นเลขาธิการพรรค โดยเป็นพรรคที่รวบรวมสมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคสหภูมิ พรรคอื่นๆ และจากผู้แทนที่ไม่สังกัดพรรคใดเข้าไว้ด้วยกัน[2]

ภาพการ์ตูนในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แสดงให้เห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ในฐานะ
“หัวหน้าพรรคและนักการเมือง”จำต้องคอย “เป่าหู” เอาใจผู้แทนราษฎร (นักการเมือง)
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 31 (19 มกราคม พ.ศ. 2501)

การจัดตั้งพรรคการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาจทำให้เข้าใจได้ว่าคณะรัฐประหารพยายามจะควบคุมอำนาจทางการเมืองเอาไว้เสียเอง ด้วยเหตุนี้ หลังการรัฐประหารและจัดตั้งพรรครัฐบาลขึ้น จอมพลสฤษดิ์จึงปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวสุขภาพของจอมพลสฤษดิ์ก็มิได้ดีนัก โดยในตอนแรกผู้นำฝ่ายทหารต้องการให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ทว่านายพจน์ปฏิเสธ ท้ายที่สุด จอมพลสฤษดิ์ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บางแสน ได้ส่งเทปบันทึกเสียงไปให้ที่ประชุมพรรคชาติสังคมขอให้สมาชิกเลือกพลโทถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี[3]

"กำลังพูดจากที่นอน อยากจะแนะนำตัวบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามความเห็นจะให้คุณพจน์เป็น เพราะเคยแสดงความสามารถให้ปรากฏมาแล้ว แต่ถ้าคุณพจน์ไม่รับ เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็อยากจะเสนอให้พลโทถนอม เพราะเป็นผู้ที่เคยผ่านงานมามากและเป็นรองหัวหน้าพรรค ทั้งเคยร่วมงานกันมาเป็นสุภาพบุรุษที่น่านับถือ”4]

บทบาทของจอมพลสฤษดิ์ในฐานะ “หัวหน้าพรรคการเมือง” นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจนัก โดยเฉพาะการต้องเผชิญกับ 2 เงื่อนไขสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขแรกก็คือ การจำต้องควบคุมเสียงสมาชิกในพรรคและในสภา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรงมาก่อน และเงื่อนไขที่สองคือ การถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพวกหนังสือพิมพ์

เพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลพลโทถนอมก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายทั้งภายในพรรคและในสภาผู้แทน เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ถึงแม้พลโทถนอมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่แท้จริงนั้นคือจอมพลสฤษดิ์ และท้ายที่สุดก็ต้องเป็นจอมพลสฤษดิ์ที่จำต้องแก้ไขปัญหาเสียเอง ตัวอย่างเหตุการณ์เช่น สมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคสหภูมิจำนวน 36 คน ที่เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ร่วมกันลงนามยื่นประท้วงต่อจอมพลสฤษดิ์ว่าสมาชิกพรรคสหภูมิรังเกียจที่ตนเคยเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา[5] จนทำให้อดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาบางคนคิดจะปลีกตัวออกจากจากพรรคชาติสังคม [6] ต่อมาก็ปรากฏข่าวว่า สมาชิกพรรคสหภูมิประมาณ 30 คน จะประกาศขอแยกตัวจากพรรคชาติสังคมไปปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ เพราะน้อยใจที่สมาชิกของตนที่ถูกเสนอชื่อเข้าแข่งขันรับเลือกเป็นรองประธานสภามาแต่ไม่ได้รับเลือก[7] โดยในที่สุดความวุ่นวายก็จบลง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ที่กำลังนอนป่วยอยู่ ต้องบันทึกเสียงลงในเทปมาเปิดในการประชุมพรรคในทำนองน้อยใจว่าแต่เดิมนั้นพรรคสหภูมิเคยอยู่ในโอวาทเชื่อถ้อยฟังคำสั่ง และได้ตัดพ้อว่า “ถ้าท่านทั้งปวงมิฟังคำเราแล้ว ต่อไปเบื้องหน้าก็อย่าได้มาให้เราพบปะอีกเลย”[8]


ภาพการ์ตูนล้อเลียนและโจมตีจอมพลสฤษดิ์ ว่ากำลัง “ฆ่าประชาธิปไตย”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชน ฉบับปฐมฤกษ์ กรกฏาคม พ.ศ. 2501

ในขณะที่ต่อมาดูเหมือนความนิยมพรรคชาติสังคมและความนิยมของรัฐบาลจะดิ่งลงเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 ใน 5 จังหวัด ผลการเลือกตั้งจากจำนวนทั้งหมด 26 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ไป 13 ที่นั่ง ขณะที่พรรคชาติสังคมได้ 9 ที่นั่ง โดยเฉพาะในพระนครและธนบุรี พรรคชาติสังคมพ่ายแพ้พรรคประชาธิปัตย์อย่างยับเยิน จนถึงขนาดทางพรรคชาติสังคมต้องส่งรายงานด่วนไปรายงานจอมพลสฤษดิ์ให้ทราบ ต่อมาในช่วงกลางปี ก็มีข่าวว่าฝ่ายค้านจะเปิดประชุมซักฟอกรัฐบาล แต่ทว่าเมื่อถึงเวลา สมาชิกผู้แทนจำนวน 13 คน ได้ขอถอนตัวจากการสนับสนุนอภิปราย โดยมีข่าวลือในหนังสือพิมพ์บอกใบ้เป็นทำนองว่าสมาชิกผู้แทนเหล่านี้ถูกจอมพลสฤษดิ์ติดสินบน[9]

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ต้องประสบพบเจอในฐานะ “นักการเมือง” และ “หัวหน้าพรรคการเมือง” ก็คือ การถูกวิพากษ์วิจารณ์จนไปถึงด่าทอจากพวกนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เคยถึงขนาดเดือดโมโหสั่งทุบแท่นพิมพ์มาแล้ว

การวิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่มีการตั้งพรรคชาติสังคม ดังที่ “ปลาทอง” คอลัมนิสต์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ได้ตั้งข้อสงสัยว่า “เหตุใดจอมพลสฤษดิ์จึงกระโดดมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจะต้องตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์” และเห็นว่า การที่ทหารเข้ามาเล่นการเมืองนั้นสามารถทำได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคณะทหารจะเล่นการเมืองแบบไหน เขาเสนอแนะว่า “ถ้าหากเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย ก็ควรออกมาเสียจากทหาร” โดยเฉพาะจอมพลสฤษดิ์ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ควบคุมทั้ง 3 กองทัพ และท้ายที่สุดเขาก็กล่าวเหมือนได้กลิ่นไอบางอย่างว่า “การปกครองที่ท่านจอมพลสฤษดิ์เรียกว่าประชาธิปไตย ก็กลายเป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองเพียงไม่กี่คน” และ “วิธีการตั้งพรรคแบบนี้เป็นวิธีเผด็จการโดยอาศัยพรรคการเมืองเท่านั้น”[10] ทั้งนี้ ในฉบับต่อมาเขาก็กล่าวอย่างสงสัยว่า “ ทำให้คนเป็นอันมากงุนงงไม่เข้าใจ ว่าจอมพลสฤษดิ์คิดรัฐประหารเพื่ออะไร เพราะดูการกระทำแล้วกระเดียดไปเข้าทำนองเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ”[11]

ทัศนะของปลาทอง ยังปรากฏในคอลัมน์ภายใต้ชื่อจริงของเขาคือ “ประจวบ” ที่เห็นว่า ปัญหาของรัฐบาลนั้นเกิดจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง เขาเห็นว่า “คงจะยังมีความยุ่งยากอื่นๆ เกิดขึ้นต่อไปอีกไม่สิ้นสุดในในวันข้างหน้า ตราบเท่าที่ฐานะของรัฐบาลยังคงอยู่ใต้การควบคุมของพรรคการเมืองที่ปราศจากอุดมคติหรือหลักการอันแน่นอน และภายใต้คำสั่งผู้บังคับบัญชาที่เข้าใจว่าตัวเองคือชาติไทย”[12]

อย่างไรก็ดี ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์นับว่า “เบา” อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์อย่าง “อิสระ” ที่ถือกำเนิดในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้บัญญัติคำเรียกจอมพลสฤษดิ์อย่างร้อนแรงดุเด็ดว่า “ไอ้ลิงม้ามแตก”, “ไอ้ลิงบ้ากาม” และ “ไอ้พวกชาติสังคัง” (จอมพลสฤษดิ์มีสัญลักษณ์ประจำตัวเป็นรูปหนุมานกลางหาวดาวกับเดือน เนื่องจากเกิดปีวอก) แม้หนังสือพิมพ์สารเสรี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภายใต้ทุนสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์จะเรียกหนังสือพิมพ์ประเภทนี้ว่า “สิ่งพิมพ์เลว” แต่ทว่าสิ่งพิมพ์เลวกลับเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีเป็นอย่างมาก[13]

ความขัดแย้งระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับหนังสือพิมพ์อิสระบานปลายยิ่งขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม เมื่อจอมพลสฤษดิ์แฉว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์อิสระ ส่งผลให้หนังสือพิมพ์อิสระถึงขนาดประกาศท้าทายจอมพลสฤษดิ์ บนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า

“ฟัง! สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะอั๊วกับลื้อก็เป็นคนไทยเหมือนกัน หลักฐานของลื้อแน่ไหม ถ้าแน่ขอให้แสดงหลักฐานโดยเปิดเผยภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากหนังสือนี้วางตลาดแล้ว มิฉะนั้นอั๊วจะประณามลื้อว่าเป็นอ้ายหมา 500 ชาติ เป็นอ้ายคนทรยศต่อชาติ ลื้อมันพูดซี้ซั้ว เหมือนไม่มีเลือดไทยติดสันดาน แสดงหลักฐานเร็วโว้ย” [14]

ไม่นานเกินรอ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ปรากฏตัวที่หน้าโรงพิมพ์ของหนังสือพิมพ์อิสระ โดยได้พบเจอกับผู้อำนายการคือนายประยูร ชื่นสวัสดิ์ มีการพูดคุยกันอยู่พักหนึ่งก่อนจอมพลสฤษดิ์จะขึ้นรถออกไป ทว่าหลังจากนั้นไม่นานได้ปรากฏว่ามีรถจิ๊ป 2 คัน พร้อมชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง บุกเข้าโรงพิมพ์แล้วใช้ค้อนทุบทุกอย่างในกองบรรณาธิการ รวมทั้งทุบแท่นพิมพ์ 9 แท่นพังยับ ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“ผมไปจริง ที่ไปก็เพราะอยากเจอคนจริง หนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นว่าเลวที่สุดฉบับนี้ ล้อมกรอบท้าทายว่าถ้าผมไม่ไปชี้แจงจะประณามว่าเป็นอ้ายหมาห้าร้อยชาติ แต่พอไปถามหาคนเขียน ก็มีคนอ้วนๆ ชื่อประยูรนั่นแหละลงมารับผม มากราบแทบเท้าขอโทษ อ้างว่าเป็นทหารกองหนุนปี 2487 ผมก็รู้ว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรที่ไปพบคนอย่างนี้ เหมือนเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ถ้อยคำที่มันด่ามันเลวเหลือเกิน นี่ผมก็บอกอธิบดีตำรวจเขาแล้วว่าผมจะฟ้อง...ถ้าผมทำก็แหลกกว่านี้ เผาโรงพิมพ์ทิ้งเท่านั้น คนมันเหลืออดก็ต้องทำ...ที่ว่าผมไปพังโรงพิมพ์เขา ผมจะไปได้อย่างไร เพราะใครๆ ก็รู้ว่าม้ามผมเหลืออยู่ข้างเดียวแล้ว..ด่ากันอย่างนี้ พบก็เตะปากกัน”[15]

อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือไปจากหนังสือพิมพ์ที่อยู่ภายใต้ทุนสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์แล้ว เกือบทุกฉบับล้วนแล้วแต่วิพากษ์วิจารณ์โจมตีจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้มีอำนาจทางการเมืองตัวจริง โดยเฉพาะการโจมตีว่า กำลังทำลายระบอบประชาธิปไตย ผ่านทั้งข้อเขียนและรูปการ์ตูน ประเด็นคือ ในสภาพบรรยากาศแบบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญเช่นนี้เป็นสิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ต้องประสบพบเจอในฐานะ “นักการเมือง” และ “หัวหน้าพรรคการเมือง” ผลก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์โจมตีดังกล่าวได้ทำให้ภาพลักษณ์ในการเป็น “ขวัญใจประชาชน” จากการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มลดถอยและเสื่อมคลายลงอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นตัวตลกที่ถูกนำเอามาล้อเลียนโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการยึดอำนาจอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 จะปรากฏว่ามีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเสียใหม่โดยไม่มีพรรคการเมืองและนักการเมืองอีกต่อไป ซึ่งก็หมายความรวมถึง เป็นการจบสิ้นบทบาทของจอมพลสฤษดิ์ในฐานะ “นักการเมือง” และ “หัวหน้าพรรคการเมือง” ลงไปด้วย

ทั้งนี้ มีบางแหล่งข้อมูลได้อ้างหลักฐานว่า ในช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนักการเมืองนั้น ขณะที่กำลังนอนพักรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ ได้เขียนจดหมายปราศรัยฉบับหนึ่งส่งตรงมาจากวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา บางเนื้อความของจดหมายเขียนว่า

“ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งการเมืองของรัฐ แต่เป็นตำแหน่งของหัวหน้าคณะพรรคการเมืองคณะหนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าใจเช่นนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ข้าพเจ้ามีเหตุผลอะไรเล่าที่ต้องไปพัวพันกับตำแหน่งนี้ ซึ่งอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ดังที่เป็นอยู่...ข้าพเจ้าทราบดีว่าการเล่นการเมืองต้องอดทน แต่การอดทนนั้นต้องมีขอบขีดและความเป็นจริง...แต่ข้าพเจ้าอดทนไม่ไหวจริงๆ...ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าจะเป็นนักการทหารที่ดี แต่ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าจะเป็นนักการเมืองที่เลว เพราะไม่สามารถจะอดทนในสิ่งเหล่านี้ได้”[16]






เชิงอรรถ


[1] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552), 172-173.


[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2501-2516). วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, 95-97.


[3] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 174-176.


[4] ปลาทอง (นามแฝง),”ผมมีรัฐบาลใหม่แล้ว”, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ปีที่ 4 ฉบับที่ 30 (12 มกราคม 2501), 40


[5] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 174


[6] ประจวบ, “ถ้าลองยุบสภากันดูบ้าง เหตุวุ่นวายต่างๆ อาจน้อยลง”, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 30 (12 มกราคม 2501), 5-6.


[7] ปลาทอง(นามแฝง), “ผมมีรัฐบาลใหม่แล้ว”, 15.


[8] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.


[9] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 176-177.


[10] ปลาทอง(นามแฝง), “ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีตอน 3”, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ปีที่ 4 ฉบับที่ 29 (5 มกราคม 2501), 32.


[11] ปลาทอง(นามแฝง), “ผมมีรัฐบาลใหม่แล้ว”, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 30 (12 มกราคม 2501), 34.


[12] ประจวบ ทองอุไร, “ยังพอมีทางแก้ได้”, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 (4 กุมภาพันธ์ 2501), 4.


[13] ดู โรม บุนนาค, “คนจริงชื่อ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุกถึงโรงพิมพ์ตามคำท้าของ“สิ่งพิมพ์เลว”! ทุบแท่นพังเรียบ!!", อ้างใน http://www.thaitribune.org/contents/detail/316?content_id=22208&rand=1473349281.


[14] เพิ่งอ้าง.


[15] เพิ่งอ้าง.
[16] สมบูรณ์ วรพงษ์, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, (พระนคร:เกษมสัมพันธ์การพิมพ์, 2507), 407-416.

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.