Posted: 26 Sep 2018 09:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-09-26 23:00
นิธิ เอียวศรีวงศ์
การสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 1 กำลังเป็นข่าว ปรากฏการณ์อันน่าสมเพช (ในหลายด้าน ทั้งตัวเด็ก, ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียนดัง) นี้ปรากฏเป็นข่าวมาหลายปีแล้ว แต่ที่เป็นข่าวครั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจกำลังจะขจัดปรากฏการณ์อันน่าสมเพชนี้ด้วยการออกกฎหมายห้าม ตรงไปตรงมาเลย
ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ฝีมือบริหารของเผด็จการทหารมีอยู่เพียงเท่านี้ คือออกคำสั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่ตนเห็นว่าผิด โดยไม่สนใจจะมองลึกลงไปถึงเงื่อนไขเบื้องหลังที่ทำให้เกิดการกระทำที่ผิด จะต้องปรับเปลี่ยนอะไร ด้วยวิธีไหน จึงจะทำให้ทัศนคติผิดๆ ที่ก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดเปลี่ยนไป มันทำผิดก็ห้ามทำ จบ ทัศนคติที่ผิดๆ นั้นก็ยังอยู่ และคงผลักดันให้เกิดการกระทำแบบอื่นที่น่าสมเพชพอๆ กันหรือยิ่งกว่า
ที่จริงจะโทษแต่เผด็จการทหารก็ไม่ยุติธรรมนัก เพราะในคณะผู้ถืออำนาจร่วมกับเผด็จการทหารนั้น มี “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ร่วมอยู่ด้วยอีกมาก รวมทั้งอดีตอธิการบดีซึ่งเมื่อสมัยที่ตัวเองดำรงตำแหน่งผู้บริหาร โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยนั้น ก็จัดสอบแข่งขันเข้าเรียน ป.1 อยู่แล้ว การที่ตนต้องปล่อยให้ดำเนินต่อไป ก็คงเพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าคำสั่งห้ามอย่างเดียวไม่แก้ปัญหา แต่บัดนี้โดยอาศัยอำนาจที่เหนือการต่อรองใดๆ ของเผด็จการ กลับเห็นว่าชี้นิ้วสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดเสีย ก็แก้ปัญหาได้แล้ว
แปลว่าลึกๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็เชื่อในอำนาจที่ปราศจากการต่อรองมาแต่ต้นแล้ว เพียงแต่ตัวไม่มี เลยไม่กล้าแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร ไม่อย่างนั้นจะเข้ามาสนับสนุนการรัฐประหารและร่วมงานกับเผด็จการทหารได้อย่างไร
ทีวีแห่งหนึ่งรายงานข่าวว่า จากการสำรวจความเห็น มีผู้ปกครองเด็กอนุบาลเห็นด้วยกับการสอบแข่งขัน พอๆ กับผู้ปกครองที่เห็นด้วยว่าควรยกเลิกการสอบแข่งขันเสียที ยิ่งกว่านี้เมื่อไปสำรวจความเห็นของสมาชิก สนช.ซึ่งเผด็จการทหารตั้งขึ้น ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าควรรักษาการสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลเอาไว้ บางคนเห็นว่ามีประโยชน์แก่เด็ก ป.1 ที่จะเข้าเรียนใน “การศึกษาพิเศษ” ซึ่งเขาหมายถึงการเรียนในโรงเรียนพิเศษ เช่นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เขาจึงเห็นว่าการห้ามสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลจะตัดโอกาสของเด็กเก่งๆ ข่าวลือว่าแม้แต่ใน ครม.ก็มีผู้คิดเห็นทำนองเดียวกัน
บังเอิญทีวีแห่งนั้น นำข้อสอบเข้า ป.1 ของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งมาแสดงให้ดู คำถามให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องมาหนึ่งคำตอบ ผมอ่านตัวเลือกแล้วเห็นว่าตอบข้อไหนก็ได้ทั้งนั้น จะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับเหตุผลต่างหากว่าทำไมจึงเห็นว่าข้อนั้นข้อนี้ถูกกว่าข้ออื่น แต่ข้อสอบไม่ได้บอกให้ผู้สอบระบุเหตุผล (ก็เด็กเพิ่งเรียนจบอนุบาล – ซึ่งก็มีเหตุผลของตนเองแน่ แต่จะให้เขียนอธิบายเหตุผลนั้นออกเป็นตัวหนังสือก็คงจะยากเกินไป) ดังนั้นข้อที่ถือว่า “ถูก” คือข้อที่ผู้ออกข้อสอบมีความเห็นว่าถูกด้วยเหตุผลเฉพาะของตนเองเท่านั้น เด็กตอบได้ “ถูก” ในข้อสอบแบบนี้ จะแสดงว่าเก่งกว่าคนที่ตอบ “ผิด” ได้อย่างไร
แต่คิดอีกที นี่อาจเป็นวิธีคัดเลือกเด็กที่ตรงกับการศึกษาไทยอยู่แล้วก็ได้ เพราะหัวใจของการศึกษาไทยคือการเก็งใจครู
ในบรรดาโรงเรียนที่ถือว่า “ดัง” นั้น ส่วนใหญ่คือโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ และความ “ดัง” ของโรงเรียนเหล่านี้มีอยู่อย่างเดียว กล่าวคือสถิตินักเรียนที่สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จมีสูง แต่ก็ดังที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยเสมอมาว่า ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นวัดอะไรกันแน่ ดูเหมือนหลายสิบปีมาแล้ว เคยมีงานวิจัยที่แสดงความไม่มีสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบเข้ากับผลการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความเก่งและความสำเร็จในชีวิตว่ามีสหสัมพันธ์กับผลการสอบแข่งขันเข้าเรียนโน่นเรียนนี่หรือไม่
สมาชิก สนช.ที่แสดงความวิตกว่าหากเลิกการสอบแข่งขันเข้าเรียน ป.1 เสียแล้ว จะตัดโอกาสเด็กเก่ง น่าจะแสดงให้ผู้อื่นรู้ด้วยว่า ตนเข้าใจความ “เก่ง” ว่าอะไร และมีวิธี “วัด” กันอย่างไร ไม่ว่าในเด็กอายุ 5 หรือ 18 ปี
โรงเรียนสาธิตคือโรงเรียนอะไร?
ตามหลักการแล้ว โรงเรียนสาธิตคือโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนอย่างที่นักการศึกษาเชื่อว่า น่าจะบรรลุสัมฤทธิผลทางการศึกษาได้ดี อันเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้ทำทั่วไปในประเทศไทย คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงตั้งโรงเรียนของตนขึ้น เพื่อจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีดังกล่าวให้เห็นเป็นตัวอย่าง (ถึงได้ชื่อว่า “สาธิต” คือแสดงให้ดู) ด้วยเหตุดังนั้น โรงเรียนสาธิตจะบรรลุเป้าประสงค์ที่แท้จริงของตนได้จึงต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสามสี่อย่างคือ 1.ควรมีสภาพใกล้เคียงกับความเป็นจริงของโรงเรียนไทยอื่นๆ เช่น นักเรียนก็คละกันทางปูมหลังครอบครัว, ความถนัด, และความเก่งในการเรียนรู้ 2.การมีครูชั้นดี หากจำเป็นก็ต้องถือว่าชั่วคราวในระยะเริ่มต้น ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญในการสอนแบบใหม่เท่านั้น ในระยะยาวแล้ว ต้องพัฒนาการบริหารที่ทำให้ครูทั่วไปสามารถเปลี่ยนตนเองมาเป็นครูชั้นดีได้ 3.ต้องพยายามดำเนินงานด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมากกว่าโรงเรียนทั่วไปในเมืองไทยมากนัก 4.หาหนทางที่จะทำให้การ “แสดงให้ดู” นั้นได้ผลจริง ซึ่งคงไม่ใช่การแจกหนังสือหรือจัดสัมมนาเพียงอย่างเดียว
นั่นคือเหตุผลที่โรงเรียนสาธิตบางแห่ง เมื่อเริ่มดำเนินกิจการ ไม่มีการสอบแข่งขันใดๆ นอกจากสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อเลือกเอาเด็กที่มาจากปูมหลังครอบครัวที่ต่างกัน จนเขาลือกันว่า หากพ่อแม่มีอาชีพที่ไม่ค่อยได้พบเห็น เช่น พ่อเป็นคนฉายหนังเร่ ลูกก็มีโอกาสสูงมากในการได้เข้าเรียน สาธิตอีกแห่งหนึ่งใช้วิธีจับสลาก เพราะโชคชะตาเป็นตัวกระจายโอกาสได้ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง เพราะมันไม่เข้าใครออกใคร จึงทำให้องค์ประกอบของชั้นเรียนใกล้เคียงกับโรงเรียนจริงในเมืองไทย<
การอยู่ร่วมกับคนที่มีปูมหลังครอบครัวอันหลากหลายนั่นแหละคือการศึกษาที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง หากโรงเรียนรู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลายเช่นนี้
แต่แล้วโรงเรียนสาธิตก็กลายเป็นโรงเรียนเด่นดัง เพราะเป้าประสงค์เดิมถูกลืมเลือนไปหมดแล้ว ที่ยังมีอยู่ในเวลานี้คือเป็นสวัสดิการสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย และด้วยเหตุดังนั้น จึงเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวของคนในชนชั้นเดียวกัน และไม่เหลือวิธีอื่นในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน นอกจากการสอบแข่งขัน ซึ่งเป็นวิธีที่คนชั้นกลางระดับบนของไทยรู้สึกปลอดภัยจากการถูกเบียดขับด้วยเส้นสาย แต่ตราบเท่าที่โรงเรียนสาธิตยังเป็นสวัสดิการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ปฏิเสธเส้นสายไม่ได้ ดังนั้น การสอบแข่งขันจึงเป็นความชอบธรรมให้แก่ระบบเส้นสายไปพร้อมกัน
การทรมานเด็ก ทรมานผู้ปกครอง จึงใช้เป็นเหตุผลให้ยกเลิกการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้ เพราะการสอบแข่งขันมันแฝงอยู่ในระบบอภิสิทธิ์ของสังคมไทย ไม่เกี่ยวอะไรกับการเรียนรู้หรือการศึกษาของเด็กไทยแต่อย่างไร แล้วจะมีคนไทยระดับบนๆ สักกี่คน ที่เห็นว่าควรยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ในสังคมไทยเสียทีล่ะครับ
ในโลกสมัยใหม่ซึ่งอภิสิทธิ์เป็นที่บาดหูบาดใจคน จำเป็นต้องหาความชอบธรรมมาเคลือบอภิสิทธิ์ให้หายคม และหนึ่งในความชอบธรรมซึ่งใช้เคลือบอภิสิทธิ์มานาน คือการศึกษาและความรู้ความสามารถซึ่งสมมติว่ามาพร้อมกับการศึกษา
จะเตรียมเด็กอนุบาลคนหนึ่งให้สอบเข้าสาธิตได้นั้น ต้องลงทุนลงแรงอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ปกครองที่ให้สัมภาษณ์ทางทีวี และที่ผมเคยพูดคุย ทำให้พอประมวลได้ว่า
เด็กต้องเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เขาเบื่อหรือขยาดกับการเรียน ไม่ใช่ส่งไปศูนย์เด็กเล็กประจำหมู่บ้าน และจะนอนใจว่าเขาจะสอบเข้าสาธิตได้โดยปาฏิหาริย์ นี่เป็นทุนก้อนแรกที่ต้องลง หากไม่นับค่าอาหารและเลี้ยงดูตั้งแต่คลอด ซึ่งก็ต้องใช้สิ่งที่มีคุณภาพเหมือนกัน เพื่อบำรุงสมอง
เด็กควรใช้วันเสาร์อาทิตย์ในการเรียนพิเศษวิชาที่ทำให้ดูมีรสนิยมสักหน่อย เช่น ดนตรีไทยหรือเทศ, ขับร้อง, ฟ้อนรำ, วาดรูป, สนทนาภาษาอังกฤษ, ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนในการสอบสัมภาษณ์ข้างหน้า
วิชาที่เรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่ จำเป็นที่เด็กควรได้เรียนจากเกม, หนังสือนิทาน, หรือการละเล่นอื่นๆ บางครอบครัวคุณแม่ต้องออกจากงานเพื่อมีเวลาสำหรับกำกับการเรียนรู้ของลูก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ้างครูพิเศษมาทำหน้าที่ตรงนี้ และต้องเลือกครูที่นำการเรียนรู้ของเด็กในวัยอนุบาลเช่นนั้นได้เป็นด้วย และจะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องเรียนที่บ้าน ไม่ใช่เรียนพิเศษที่โรงเรียนในตอนเย็น
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ขั้นพื้นฐานที่ต้องทำเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกหลานที่จะเข้าสอบแข่งขันนั้นเป็น “คุณหนู” ตัวจริงแน่แท้ และจะมีคนไทยที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนสักคนไหม ที่สามารถเลี้ยงลูกให้เป็น “คุณหนู” อย่างนี้ได้
โรงเรียนที่ต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้น ป.1 นั้น คือโรงเรียนของ “คุณหนู” แต่โรงเรียนประกาศตรงไปตรงมาอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันระคายเคืองแก่คนส่วนใหญ่ในสังคมเกินไป (ก็ใช้เงินของสังคมไปเปิดโรงเรียน) ฉะนั้นจึงต้องสอบแข่งขัน คัดเลือกเอาเด็กที่เป็น “คุณหนู” ด้วยกัน เป็นภาพที่สาธารณชนพอรับได้ เพราะดูเหมือน “ใครดี ใครได้” แต่ที่จริงที่ว่าใครดี ก็ต้องดีมาก่อน ไม่ใช่ดีในการสอบเท่านั้น
โดยอาศัย ป.1 ในโรงเรียนดังเหล่านี้ คุณหนูก็จะไต่เต้าไปสู่มหาวิทยาลัยดัง หรือสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ผ่านเส้นทางการสอบแข่งขันที่เหมือนเปิดโอกาสที่เท่าเทียมแก่ทุกคน แต่ที่จริงแล้วโอกาสเปิดให้แก่คนที่มีอภิสิทธิ์จะพร้อมกว่าเท่านั้น ในที่สุดก็ไต่เต้าในหน้าที่การงานจนกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มอภิสิทธิ์อย่างเต็มตัว
เข้าเรียน ป.1 จะต้องสอบแข่งขันหรือไม่ต้อง จึงไม่ได้อยู่ที่มีกฎหมายห้ามไว้หรือไม่ แต่อยู่ที่สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันของคนไทยต่างหาก ถึงห้ามสอบแข่งขัน ก็ต้องไปเปิดช่องอื่นให้แก่อภิสิทธิ์ชนจนได้
เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1132227
แสดงความคิดเห็น