Posted: 13 Oct 2018 06:16 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-13 20:16


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ผมค่อนข้างแน่ใจว่า พอเอ่ยคำว่า จิตสำนึก (conscious mind) แทบทุกคนพอเข้าใจได้ว่า มันหมายถึงอะไร อย่างน้อยในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 ของไทย ก็อธิบายไว้ว่า “ภาวะที่จิตตื่นและรู้ตัว สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้า จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือรูป เสียง กลิ่น รสและสิ่งที่สัมผัสด้วยกาย”

ถ้ามีใครถามคุณว่า คุณเป็นคนมีจิตสำนึกหรือเปล่า คุณก็น่าจะตอบว่า คุณเป็นคนหนึ่งล่ะที่เป็นคนมีจิตสำนึก เพราะคุณเจอสิ่งเร้าแล้วคุณมีอาการ ซึ่งอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั่น อาจแปลอีกแบบก็ได้ว่า “ความสนใจหรือความใส่ใจต่อสิ่งเร้า” ของคนๆ นั้นนั่นเอง

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ สิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นความสนใจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น นาย ก.อาจเกิดอารมณ์ตอบสนองมากเป็นพิเศษ ทั้งด้านลบด้านบวกเมื่อได้ฟังข่าวการเมืองบางข่าว ขณะที่นาย ข. กลับไม่เกิดอารมณ์ตอบสนองใดๆ เลย เมื่อฟังข่าว (การเมือง) เดียวกัน แสดงให้เห็นว่า จิตสำนึกของนาย ก.และนาย ข.ไม่เหมือนกันซะแล้ว

รวมแล้ว จิตสำนึกของมนุษย์น่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แล้วแต่ใครมากใครน้อย ปัญหาคือ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าเชิงสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ คนๆ นั้นจะตอบสนองอย่างไร จนเกิดเป็นคุณเป็นโทษกับเขาและสังคมอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกันแม้จิตสำนึกเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ก็จริง แต่ก็มีคำถามต่อมาว่ามนุษย์มองว่าควรปล่อยให้จิตสำนึกเป็นเรื่องธรรมชาติคือสนองตอบต่อสิ่งเร้าแล้วจบกันไปแค่นั้นหรือ? หรือควรสร้างหรือปลุกจิตสำนึกให้มีในตัวมนุษย์ด้วย เพื่อจะเอาจิตสำนึกนี้ ไปช่วยในการพัฒนาหรือต่อยอดอารยธรรมของมนุษย์นั่นเองเพื่อให้อารยธรรมของมนุษย์เกิดการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เราอาจเรียกมันว่า เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ก็ได้

เมื่อมนุษย์ทุกคนมีจิตสำนึกจากฐานของความเป็นมนุษย์แล้วจิตสำนึกก็ย่อมสัมพันธ์กับหน้าที่ที่มนุษย์(คน) ต้องรับผิดชอบ ในระดับปัจเจกนั้น ถือกันว่า คนธรรมดา(มนุษย์) คนหนึ่งย่อมมีจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำได้ เช่น จิตสำนึกในเรื่องการไม่เบียดเบียนคนอื่น (ถ้าตามหลักการของพุทธศาสนา ย่อมจะได้แก่ การปฏิบัติตามหลักศีล 5 เป็นต้น) ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่อการงานหน้าที่ เช่น ข้าราชการก็ต้องมีจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่ดี ครูที่ดีก็ต้องมาจากการจิตสำนึกของความเป็นครูทำนองจรรยาบรรณ ซึ่งก็ย่อมต้องมีกันทุกอาชีพ

จะเห็นได้ประการหนึ่งด้วยว่า ในเรื่องของจิตสำนึกนี้ ต้องมาจากน้ำใสใจจริง ไม่ได้มาจากการบังคับให้ต้องทำหรือต้องเกิดขึ้น จิตสำนึกเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือกระตุ้นของบุคคลคนนั้น โดยเฉพาะจิตสำนึกต่อหน้าที่รับผิดชอบที่ย่อมมองเห็นได้ชัดเจนว่า เขา/เธอผู้นั้นมีจิตสำนึกต่อสิ่งที่รับผิดชอบมากน้อยขนาดไหน

เพิ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมถามเพื่อนชาวภาคใต้ผู้หนึ่ง (ในยามเศรษฐกิจทั้งภาควิกฤตช่วงนี้) ว่า คนภาคใต้ด้วยกัน ที่มีอำนาจวาสนาอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ลงมาช่วยเหลืออะไรคนใต้บ้างในยามที่พี่น้องชาวใต้ลำบากทุกข์ทนยามนี้เพราะยางพารา 4 กิโล 100 เขาตอบผมว่า “ท่านเป็นใหญ่มีอำนาจวาสนาบารมี ไม่มีเวลามาช่วยพวกเราหรอก” เขายังบอกตบท้ายด้วยว่า “ก็ไม่มีใครทำหนังสือไปขอความช่วยเหลือจากท่าน (รัฐมนตรี) นี่” (หมายถึงคนใต้ที่อยู่ในคณะรัฐบาลชุดนี้)

นี่เอง ทำผมนึกถึง จิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อหน้าที่ขึ้นมาตะหงิดๆ ครับ ทำไมต้องถึงขนาดทำหนังสือถึงเบื้องบน (ขณะที่รัฐบาลบอกว่า ใช้ระบบ 4.0 หมดแล้ว) ทำไมไม่ช่วยชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนโดยตรง ทำไมไม่กำหนดมาตรการเชิงนโยบายเสนอแนวทางช่วยเหลือ ตามหน้าที่ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี (คนสำคัญ)

นี่ตะหากเล่าที่หมายถึงจิตสำนึกต่อการงานหน้าที่ เพาะมีสิ่งเร้าคือความทุกข์ ความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่กลับไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลผู้เป็นใหญ่เป็นโตในคณะรัฐบาลชุดนี้ เป็นบุคคลปราศจากจิตสำนึกของความเป็นรัฐมนตรี

เพราะในเรื่องของจิตสำนึกนั้น คงไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน ส่งหนังสือถึง ร้องทุกข์ หรือมากระตุ้นเตือนด้วยวิธีการใดๆ หากแต่จิตสำนึกย่อมต้องมีอยู่ในการทำหน้าที่ทุกการงานอาชีพ ยิ่งคนที่เป็นรัฐมนตรี ย่อมต้องมีจิตสำนึกสาธารณะเป็นพิเศษ นั่นคือ จิตที่มุ่งกระทำกิจการใดๆ เพื่อสังคมหรือส่วนรวมเป็นปกติวิสัยอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนใดๆ จากคนข้างเคียงหรือคนที่กำลังทุกข์เข็ญแต่อย่างใดเลย

แต่ก็อย่างว่าครับ ในรัฐบาลอภิชน ย่อมไม่ง่ายที่บุคคลในคณะรัฐบาลจะเกิดจิตสำนึกสาธารณะ เนื่องเพราะที่มาของรัฐบาลเองก็มิใช่มาแบบทางผ่านหรือประตูสาธารณะเสียแล้ว การหวังถึงการเป็นบุคคลผู้มีจิตสาธารณะ จึงมีความยากพิศดาร เหนือกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยโดยทั่วไปด้วยประการทั้งปวง แต่ก็น่าแปลกที่ประชาชนผู้เดือดร้อนจากพิษภัยวิบัติเศรษฐกิจต่างพากันกัดฟันกลืนเลือดทนนิ่งดูดายอยู่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น สังคมอำนาจนิยมทำให้ชาวบ้านก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมโดยไม่(กล้า) แม้ตั้งคำถามใดๆ ต่อผู้มีอำนาจ แม้แต่กระทั่งผู้มีอำนาจมีมาจากคนในท้องถิ่นเดียวกัน ในนาม “ท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม ยอมจมกอง อุจาระ (ขี้)” ดีกว่า แล้วเราก็ได้เห็นยางพารา 4 โล 100 บาท ปาล์มโล 2 บาทกว่า เสมือนมันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับการนั่งรอความตาย

ขณะที่ไม่ปรากฏว่า รัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนเชื้อสายคนท้องถิ่นคนนั้น แสดงให้เห็นว่า เขาเองมีคุณูปการใดๆ ต่อท้องถิ่นที่เคยเป็นสภานที่ให้กำเนิดของตัวเขาเองเลย

พร้อมกับที่ประดาคนผู้ฝักใฝ่ต่ออำนาจหรืออำนาจนิยมเอง ไม่กล้าตรวจสอบ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ แถมพูดด้วยเหตุผลเรื่องจิตสำนึกที่ฟังยังไมไงก็ไม่ขึ้นว่า “ท่านคงไม่มีเวลา” ด้วยแล้ว ตรรกะนี้ก็วิบัติอยู่เห็นๆ

ก็ในเมื่อท่านไม่มีเวลา ทั้งมิใช่เวลาไปเปิดงาน เวลาอ่านสาส์นท่านผู้นำ ดังนี้ด้วยซ้ำ หากท่านถึงขนาดไม่มีเวลาคิด เวลากำหนด เวลาวางนโยบายเพื่อแก้ทุกข์ซึ่งเป็นของชาวบ้านที่เป็นเสมือนญาติพี่น้องของท่านเอาเลยเชียวด้วยหรือ?

คำถามคือ แล้วงานของท่านคืออะไร?

แล้วท่านจะมานั่งอยู่ในครม. ทำไมกัน?

หน้าที่รับผิดชอบเป็นเรื่องของจิตสำนึก หาใช่การนั่งรอการร้องทุกข์จากผู้คนเบื้องล่าง ซึ่งก็คือราษฎรตาดำๆ คนภาคเดียวกันกับท่านนั่นเอง แต่อย่างใดไม่

บทความ
การเมือง
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.