ที่มาภาพ: www.dailynews.co.th/regional/66955

Posted: 05 Oct 2018 07:05 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-05 21:05


สุรพศ ทวีศักดิ์

ข่าวเรื่องผู้พักอาศัยในคอนโดร้องเรียนวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กรณีตีระฆังช่วงเวลาตี 3 ครึ่งถึงตี 4 รบกวนการนอน ที่กำลังดราม่ากันในโลกโซเชียล มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

หนึ่ง การเสนอข่าวของสื่อมวลชนและความเห็นในโลกโซเชียลแสดงให้เห็นถึงความพยายามตามหา “ตัวตน” ของผู้ออกมาร้องเรียน ทั้งโดยสอบถามจากทางวัดและการนำเสนอความเห็นที่โพสต์ทางเฟซบุ๊คที่ให้ข้อมูลชี้ไปในทางเดียวว่า ผู้ออกมาร้องเรียนเดือดร้อนอยู่คนเดียว ชาวคอนโดและคนในชุมชนรอบๆ วัดไม่มีใครเดือดร้อน บ้างก็อ้างระยะห่างระหว่างวัดกับคอนโด ระดับเสียงของระฆัง และอื่นๆ เพื่อยืนยันว่าไม่น่าจะทำให้คนที่ออกมาร้องเรียนเดือดร้อนจริง กระทั่งกล่าวหาว่าผู้ร้องเรียนน่าจะเป็นโรคจิตหรือเปล่า เป็นต้น

กลายเป็นว่า ผู้ออกมาร้องเรียนกำลังถูกตรวจสอบว่าเดือดร้อนจริงไหม กระทั่งเป็นคนปกติหรือไม่

สอง มีการใช้ข้ออ้างแปลกๆ โต้แย้งผู้ร้องเรียน เช่นว่าวัดอยู่ตรงนั้นมานาน 300 ปีแล้ว ประเพณีตีระฆังตอนดึกก็มีมานานแล้ว คอนโดเพิ่งสร้าง คนที่เดือดร้อนเพิ่งเข้ามาอยู่ รู้อยู่แล้วว่าใกล้วัด และวัดก็ต้องมีกิจกรรมตามประเพณีของวัด ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ควรมาซื้อคอนโดตรงนั้นตั้งแต่แรก เมื่อเลือกมาอยู่ตรงนี้แล้วก็แปลว่าเลือกจะมาเป็นอาคันตุกะของวัดและชุมชนแห่งนี้ ก็ต้องถือหลัก “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” จะมาโวยวายทีหลังไม่ได้

บ้างก็ดราม่าถึงขนาดว่า ถ้าเป็นเสียงสวดจากมัสยิดจะกล้าออกมาร้องเรียนไหม คนร้องเรียนมีอคติอะไรกับศาสนาพุทธหรือเปล่า ฯลฯ

ประเด็นคือ ทั้งหนึ่งและสองต่างให้น้ำหนักแก่ “เสียงประเพณี” ซึ่งเป็นเสียงที่มีอำนาจเหนือ “เสียงปัจเจกบุคคล” อยู่แล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า แทนที่จะตั้งคำถาม ตรวจสอบอำนาจที่เหนือกว่า กลับตั้งคำถาม ตรวจสอบปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า

หากมองจากกรอบคิด “เสรีภาพ” (freedom) เสียงประเพณีก็คือเสียงของสังคม เช่นเสียงของความเชื่อทางศาสนา จารีต วัฒนธรรมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆ ยึดถือ แต่ตามกรอบคิดหรือจิตสำนึกเสรีภาพย่อมจะให้น้ำหนักกับการปกป้องเสรีภาพของ “เสียงปัจเจกบุคคล” จากการครอบงำ กดขี่ กีดกัน หรือละเมิดโดยอำนาจทางสังคมที่อ้างความเชื่อ ศาสนา ประเพณีที่คนส่วนใหญ่ยึดถือ

พูดให้ชัดคือ เสียงปัจเจกบุคคล แม้จะเป็นเสียงเดียวที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับความคิดเห็น ความเชื่อของคนทั้งหมดในสังคม ก็ต้องเป็นเสียงที่มีเสรีภาพที่จะพูดออกมา ไม่ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าเสียงนั้นจะจริงหรือเท็จ ผิดหรือถูกก็ตาม ตราบที่การแสดงความเห็นหรือการใช้เสรีภาพในทางใดๆ ของปัจเจกบุคคลไม่เป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น เขาย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงออก

ทำไมเราควรให้น้ำหนักกับการปกป้องเสียงปัจเจกบุคคลมากกว่าเสียงประเพณี เหตุผลตรงไปตรงมาคือ เสียงประเพณีย่อมมีอำนาจครอบงำมากบ้างน้อยบ้างอยู่แล้ว โดยปกติปัจเจกบุคคลในสังคมใดๆ ก็มักจะถูกปลูกฝังให้คล้อยตามความเชื่อทางศาสนา ประเพณีของคนส่วนใหญ่ ใครคิดต่างจากความเชื่อคนส่วนใหญ่ก็มักจะถูกมองว่าเป็น “แกะดำ” ความเป็นจริงเช่นนี้เป็นมายาวนานหลายพันปี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสียงประเพณีที่คนส่วนใหญ่เชื่อตามๆ กันมานั้นเป็นความจริงหรือถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าหากไม่มีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามหรือเสนอความจริงด้านตรงข้ามมาปะทะโต้แย้ง

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ของโลกก็มักเกิดจากปัจเจกบุคคลกล้าใช้เสรีภาพตั้งคำถามและเสนอความคิดเห็น ความรู้ ความจริงที่ตรงข้ามกับความเชื่อตามๆ กันมาอย่างยาวนานของคนส่วนใหญ่ เช่นคนส่วนใหญ่เชื่อตามการรับรองของศาสนจักรคริสต์มาเป็นพันๆ ปี ว่าโลกอยู่นิ่งและเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ จนกว่ามีปัจเจกบุคคลอย่างโคเปอร์นิคัสและกาลิเลโอกล้าใช้เสรีภาพลุกขึ้นมาบอกความจริงที่ต่างออกไป ทันศนะต่อระบบสุริยะจึงเปลี่ยนไป

จะเห็นว่าความคิดต่างจากความเชื่อของคนส่วนใหญ่ แม้กระทั่งเป็นความคิดต้องห้ามในสังคมยุคนั้นๆ (เช่นความคิดของโคเปอร์นิคัส กาลิเลโอ และคนอื่นๆ) มันมีความเป็นไปได้เสมอที่จะเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ (ที่แม้จะไม่ชอบความคิดนั้น) หรือแก่มนุษยชาติ ถ้าไม่ให้ความคิดต่างจากคนส่วนใหญ่มีเสรีภาพแสดงออก สังคมมนุษย์ย่อมเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความคิดต่างที่จริงหรือถูกต้องมากกว่า

แต่ถึงแม้ความคิดต่างบางเรื่องจากเสียงปัจเจกบุคคลจะไม่เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ และต่อให้ความคิดต่างนั้นเป็นเท็จ มันก็ไม่มีพลังอำนาจพอจะทำลายล้างความเชื่อของคนส่วนใหญ่ได้เลย หากความเชื่อของคนส่วนใหญ่จริงหรือถูกต้องอยู่แล้ว (เช่นเสียงเดียวที่ร้องทุกข์เรื่องพระตีระฆังเสียงดังรบกวนการนอนหากเป็นเท็จ มันก็ทำความเสียหายต่อประเพณีตีระฆังตอนดึกไม่ได้ ถ้าประเพณีนี้มันดีหรือถูกต้องอยู่แล้ว) หรือถ้าความเชื่อของคนส่วนใหญ่เป็นจริงหรือถูกอยู่แล้ว การมีเสียงปัจเจกบุคคลมาท้าทายก็ยิ่งเป็นโอกาสให้ความเชื่อที่ถูกอยู่แล้วนั้นได้แสดงให้เห็นว่ามัน “ทนต่อการพิสูจน์” ด้วยเนื้อหาสาระในตัวของมันเองอย่างแท้จริง

จึงเป็นเรื่องตลก หากคนส่วนใหญ่ยืนยันว่า ความเชื่อทางศาสนา ประเพณีของตนเองเป็นสิ่งถูกต้องดีงามอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธการพิสูจน์ตัวเองจากความเห็นต่างของปัจเจกบุคคลที่เสนอขึ้นมาท้าทาย หรือถ้าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าชนชั้นปกครองที่พวกตนจงรักภักดีเป็นผู้เปี่ยมล้มด้วยคุณธรรมและการเสียสละเพื่อประโยชน์ของประชาชนอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ ก็เท่ากับปฏิเสธการพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของพวกตนเป็นจริงหรือถูกต้อง

บางคนอาจคิดว่า ที่ผมเขียนมามันกว้างมาก ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับประเด็นผู้ร้องเรียนเสียงระฆังตามที่เป็นข่าวเลย ผมกำลังจะบอกว่า ผู้ร้องเรียนเป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่ลุกขึ้นมาใช้ “สิทธิ” ในการ้องเรียนเท่านั้น ต่อให้คนส่วนใหญ่(ตามที่กล่าวอ้างกัน) ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลย เขารู้สึกว่าเขาเดือดร้อนอยู่คนเดียวเขาก็ย่อมใช้สิทธิ์ร้องเรียนได้ หรือบอกความเดือดร้อนของตนเองออกมาได้ การกระทำของเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร คนส่วนใหญ่ก็มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย วิจารณ์กันได้ แต่มันควรที่จะเน้นการเสนอข่าวหรือกระทำด้วยประการใดๆ ในทางตรวจสอบ และสืบสาวหา “ตัวตน” ของปัจเจกบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิ์ร้องทุกข์หรือไม่ว่าเขาเป็นคนแบบไหน เป็นโรคจิตหรือไม่

อีกอย่างการออกมาร้องเรียนของเขา ก็ทำให้เราได้รู้ว่าท่าทีของพระสงฆ์ที่มีต่อ “ทุกข์” ของคนอื่นเป็นอย่างไร เพราะในเมื่อพระสงฆ์สอนเรื่อง “ทุกข์-ทางดับทุกข์-ปัญญาและกรุณา” แล้วพระสงฆ์ได้ใช้ปัญญาและกรุณาแก้ปัญหาอันเกิดจากการยึดประเพณีทางศาสนาที่อาจก่อทุกข์แก่คนอื่นอย่างไร

พูดในกรอบที่กว้างออกไป เสียงประเพณีมันสะท้อนอำนาจทางสังคมและอำนาจรัฐที่มีมิติครอบงำมากบ้างน้อยบ้างอยู่แล้ว หรือมันเป็นไปได้เสมอที่จะกลายเป็นเผด็จการกดขี่และปิดกั้นเสรีภาพ ขณะที่เสียงปัจเจกบุคคลที่ก็ย่อมถูกบ้างผิดบ้าง แต่มันไม่มีอำนาจเผด็จการที่จะครอบงำ กดขี่ หรือปิดกั้นเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ได้ ทว่าเป็นไปได้ที่เสียงปัจเจกบุคคลจะเกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ หรือเสนอทางเปลี่ยนแปลงให้สังคมมีเสรีภาพและเป็นธรรมมากขึ้น หรือปรับตัวในการอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น แล้วเราควรจะตั้งคำถาม ตรวจสอบเสียงที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือน้อยกว่า

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.