แฟ้มภาพ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

Posted: 13 Dec 2018 08:06 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-13 23:06



สนช. มีมติเห็นชอบวาระ 3 แก้ กม.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มค่าชดเชย สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ 400 วัน พร้อมเพิ่มสิทธิวันลาคลอดเป็น 98 วัน

13 ธ.ค.2561 วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งสมาชิก สนช. ซักถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตามเนื้อหาของร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิลูกจ้างเพิ่มในการลาคลอดบุตรและลาตรวจครรภ์ไม่เกิน 98 วัน ที่นับรวมวันหยุดระหว่างวันลา ก่อนท้ายที่สุดที่ประชุม สนช. จะมีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั้งฉบับ เพื่อให้มีการประกาศใช้เป็นกฎมาย ด้วยเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งมีการเพิ่มบทบัญญัติหลายประการให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเอื้อต่อการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง อาทิ กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วัน กำหนดให้ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรจำนวน 98 วัน เพิ่มอัตราชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป การแจ้งให้ลูกจ้างทราบภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดและต้องมีความชัดเจนเมื่อจะย้ายสถานที่ประกอบการไปสถานที่ใหม่ และการแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงที่มีค่าเท่าเทียมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

สำหรับการปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยเลิกจ้างนั้น โพสต์ทูเดย์ รายงานรายละเอียดเพิมเติมว่า ให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี

ขณะที่อัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆยังคงเดิมดังนี้ 1.ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน 2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน 3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน 4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน 5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

ทั้งนี้ วันลาเพื่อคลอดดังกล่าว รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดด้วย ซึ่งปัญหาที่ผ่านพบว่าการ ลาเพื่อคลอดบุตร บางฝ่ายตีความว่า ต้องคลอดก่อนจึงจะมีสิทธิลา หรือ ตีความว่า ไม่รวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด จึงต้องเขียนให้ชัดเจน อีกทั้งหากวันลาคลอด 98 วัน ไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักร้อน หรือ พักผ่อนประจำปี ก็ให้นับรวมวันหยุดดังกล่าวในระหว่างลาคลอด ด้วย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.