ซ้ายไปขวา: อัครพงษ์ ค่ำคูณ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ประวิตร โรจนพฤก

Posted: 27 Dec 2018 05:17 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-27 20:17



ชวนสื่อถกเถียงเส้นจริยธรรม สาธารณะไม่ได้อะไรจากการเผยภาพ-คลิป เนื้อหาเพศสัมพันธ์ สื่อร่วมในกลไกสร้างความหวาดกลัว สังคมเห็นอกเห็นใจสะท้อนการเรียนรู้ คนข่าวต้องตั้งหลักเรื่องหน้าที่ ในวันที่บทบาทโซเชียลมีเดียแย่งชิงพื้นที่

27 ธ.ค. 2561 มีเดีย อินไซด์ เอาท์ จัดวงเสวนาหัวข้อ “สื่อกระพือเรื่องฉาว: ความล้าหลังทางการเมือง” สืบเนื่องจากกรณีที่มีการปล่อยคลิปของนักการเมืองและนักกิจกรรมออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการ (บ.ก.) หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิชเป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินการเสวนาโดยอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

ชวนสื่อถกเถียงเส้นจริยธรรม สังคมไม่ได้อะไรจากการเผยภาพ-คลิป เนื้อหาเพศสัมพันธ์

สุภลักษณ์ตอบคำถามทางจริยธรรมว่าควรเผยแพร่ข่าวการร่วมเพศหรือไม่ว่า สำหรับเขาแล้วคนมีเพศสัมพันธ์กันนั้นไม่เป็นข่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ถ้ามีข้อโต้แย้งว่า แล้วถ้าเป็นเซ็กซ์ของบุคคลสาธารณะ สังคมควรรู้ ก็จะตอบว่าแล้วการมีเซ็กซ์เช่นนั้นมีผลต่อประโยชน์สาธารณะเสมอไปหรือไม่ ถ้าเซ็กซ์นั้นไม่มีผลประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับสาธารณะ หรือตั้งข้อสังเกตไม่ได้ ยืนยันไม่ได้ในบัดดลก็จะเกิดความคลุมเครือขึ้น เช่นนักการเมืองมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นซึ่งเราทึกทักว่าอาจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น การจารกรรม เซ็กซ์เช่นนั้นมีนัยกับสาธารณะ แต่ถ้าเอาเรื่องนี้เป็นข้อพิจารณาก็ยังต้องคิดว่า เพศสัมพันธ์ควรเป็นกิจกรรมที่ถูกเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ควรมีภาพการร่วมเพศกันออกมาในที่สาธารณะ ไม่ว่าในกรณีใด เพราะจะกลายเป็นการทำให้เสพภาพเพื่อความบันเทิง ลืมข้อความทางการเมือง ไม่ได้พิสูจน์อะไรมากไปกว่าคนสองคนกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน

เซ็กซ์ที่พึงจะเป็นข่าวก็คือกรณีการละเมิดทางเพศ หรือการข่มขืนก็เป็นเรื่องหลักที่ควรรายงานให้โลกรู้ สื่อควรทำอย่างไม่ลังเล ตนได้มีการถกเถียงกับนักข่าวว่า ต่อให้ทั้งสองเป็นนักการเมืองและนักกิจกรรม แต่ก็ยังไม่มีความคุ้มค่าพอจะพิสูจน์ว่าเซ็กซ์นั้นมีผลประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร

ที่ถกเถียงกันก็คือเรื่องผลประโยชน์สาธารณะอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องเพศสัมพันธ์ ที่นึกออกก็คือเพศสัมพันธ์ที่ผิดบาป (sinful sex) อย่างเช่นเสพเมถุน ตรงนั้นอาจเอาหลักศาสนา จารีต ประเพณีมาจับว่านั่นเป็นการเล่นชู้ เป็นการล่วงประเวณีที่ผิดศีลธรรม อันนั้นสื่ออาจจะรายงานการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่แม้กระนั้น จุดยืนของเขาก็คิดว่าพึงละเลยการบรรยายเนื้อหา หรือเผยแพร่ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวออกไปในพื้นที่สาธารณะ เพราะเราทึกทักได้ว่าเขาจะทำอะไรกัน นักข่าวมักเถียงว่าถ้าไม่มีหลักฐานแล้วคนอ่านจะเชื่อไหม ก็ต้องเล่นภาพด้วย คำถามคือภาพนั้นถูกนำมาใช้เพื่อพิสูจน์เรื่องหรือเพื่อขายภาพกันแน่ ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน เช่น กรณีนักบวชเสพเมถุนก็ควรมีภาพเพื่อพิสูจน์ว่าถูกจับได้คาหนังคาเขา แต่ถ้าเคร่งครัดกับหลักปฏิบัติก็ไม่ควรทำซ้ำเนื้อหานั้น อาจจะพยายามอธิบายด้วยการเบลอภาพ หรือไม่จำเป็นต้องมีภาพด้วยซ้ำ

ศุกลักษณ์กล่าวต่อไปว่าไม่เห็นประเด็นทางการเมืองในเพศสัมพันธ์ครั้งนั้นอย่างตรงไปตรงมา นอกจากว่ารัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองกำลังใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ว่า ถ้าคนทำเป็นรัฐก็ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวมาก เซ็กซ์เป็นเรื่องรื่นรมย์ก็จริงอยู่ แต่การถูกเปิดเผยแบบนั้นเป็นการทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์เสื่อมเสียลงไป สังเกตจากหัวข่าวได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่เสียหายที่ควรตรวจสอบและประณามในฐานะเป็นเรื่องที่ต่ำทราม

รัฐโดยเฉพาะรัฐเผด็จการนั้นสอดส่องพฤติกรรมประชาชนตลอดเวลา แต่เรื่องการสอดส่องความเป็นส่วนตัวในปัจจุบันก็มีความคลุมเครือมาก คนจำนวนมากยินยอมเปิดความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย เช่น เลี้ยงแมวสีอะไร กินอะไรก็เอามาโพสท์ อยู่กับใครก็โพสท์ นักข่าวกระแสหลักก็อาจจะเอามาเล่นกัน เช่น เอาภาพ เอาโพสท์มารายงาน ถ้าบอกว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวแล้วคุณโพสท์ทำไม นั่นก็ถือว่าละทิ้งความเป็นส่วนตัว สถานการณ์แบบนี้ก็เอื้อกับสื่อ แต่รัฐก็ใช้ด้วย ความเป็นส่วนตัวมันมีเส้นแบ่งไม่มาก สิ่งหนึ่งคือเรื่องความยินยอมที่จะให้คนอื่นล่วงเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยมาก คนที่มีพฤติกรรมแบบเรียกร้องความสนใจ (exhibitionist) จะถูกสื่อใช้ประโยชน์มาก แต่การอ้างเอาสิทธิส่วนบุคคลมาปิดเรื่องอื้อฉาวนั้นไม่ได้ บ.ก. จากเดอะ เนชั่นยกตัวอย่างกรณี #Metoo ที่ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศออกมาเปิดโปงการถูกล่วงละเมิดในทั่วโลก ในกรณีเช่นนี้จะเอาเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมาปกป้องพฤติกรรมฉาวไม่ได้ เช่น ข้าราชการลวนลามทางเพศแล้วจะมาอ้างเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ สื่อจะกระโจนเข้าไปเล่นในฐานะเหยื่ออันโอชะ

สุภลักษณ์เสนอแนะต่อการรายงานข่าวว่า ในกรณีที่เป็นกิจการส่วนตัว สำนักงานสื่อแต่ละที่ควรอภิปายอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาว่าเรื่องราวนั้นมีคุณค่าใดๆ ต่อสาธารณชนหรือไม่ ไม่ว่าจะด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ศีลธรรมหรือกฎหมาย หากสังคมไม่ได้อะไรจากเพศสัมพันธ์นั้นก็ไม่ควรถูกเปิดเผย

ต่อคำถามที่ว่า การสมสู่ของบุคคลสาธารณะมีนัยทางการเมืองหรือไม่ สุภลักษณ์คิดว่า ตัวกิจกรรมนั้นอาจจะไม่บอกอะไรมาก แต่ความสัมพันธ์แบบนั้นอาจนำมาซึ่งอะไรทางการเมือง ในประวัติศาสตร์ก็มีกรณีที่คนรัก ชอบพอกันอาจมีมุมมองทางการเมืองต่างกันได้ คนใช้เรื่องทางเพศเพื่อหวังผลทางการเมืองก็เป็นไปได้ แต่ว่าต้องการการพิสูจน์อย่างยิ่ง และพิสูจน์ยากว่าการมีเพศสัมพันธ์เพียงหนึ่งครั้งจะเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมือง มีอามิสสินจ้างทางการเมืองหรือสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงจนต้องรายงานข่าวกิจกรรมบนเตียงหรือไม่ คนรายงานเรื่องนี้มีภาระที่ต้องพิสูจน์อย่างยิ่ง
สื่อร่วมในกลไกสร้างความหวาดกลัว สังคมเห็นอกเห็นใจสะท้อนการเรียนรู้

อุบลรัตน์กล่าวว่า ข่าวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเพราะว่าเป็นการเมืองที่ล้าหลัง เป็นการเมืองเรื่องอื้อฉาวที่สื่อมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบต่อวัฒนธรรมการเมืองและสิทธิสตรี ในปีที่มีการทบทวนสิทธิสตรีหลายด้าน และสื่อยังตีประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองที่ทั้งคู่ยืนอยู่ในสปอตไลท์ของสังคมอยู่เสมอๆ

เรื่องอื้อฉาวในทางการเมืองที่เห็นเป็นธรรมดาในอุตสาหกรรมสื่อก็จะเป็นเรื่องคอร์รัปชัน การกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ ซึ่งถ้าหากลองยกตัวอย่างที่ผ่านมา การซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือที่แพงเกินจริง ใช้งานไม่ได้ เรือเหาะที่เหาะไม่ค่อยจะได้ การตัดสินของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ที่ไม่ตรงไปตรงมา แต่กรณีที่คุยวันนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ที่เธอเห็นว่าเป็นเรื่องเกินเลยและไม่เข้าข่ายเรื่องอื้อฉาวปกติ และผู้ถูกล่วงละเมิดออกมาระบุว่า เรื่องเกิดขึ้นมาพักใหญ่ แต่ทำไมเรื่องมาเปิดเผยตอนนี้ เหมือนพยายามกลบเกลื่อนอะไรบางอย่าง

นักกิจกรรมผู้ถูกล่วงละเมิดก็เป็นคนที่กล้าหาญ ทำให้ใครก็ตามที่มองเธออยู่รุ้สึกกริ่งเกรง ลักษณะแบบนี้ ผู้หญิงที่ไม่กลัวใครแบบนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่เคยเจอ ในขณะที่เรามองเห็นความล้าหลังจากผู้อาวุโสทางการเมืองไทยที่ขาดไร้ซึ่งมารยาทและวัฒนธรรมสากล ขนาดไทยไปลงนามใน ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ที่ให้มีสิทธิความเป็นส่วนตัวแต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ตอนแรกคิดถึงเรื่องปาปารัซซี่ แต่ว่านั่นมีต้นกำเนิดจากข่าวบันเทิงที่ไปตามถ่ายภาพดาราเพื่อไปนำเสนอ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเกินเลย ข้อมูลที่ออกมาน่าจะมาจากการซ่อนกล้องไว้ในห้องพักและการบันทึกภาพหน้าที่พัก เธอนึกถึงหนังสือเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลที่เขียนว่า “พี่ใหญ่จับจ้องคุณอยู่” ไม่มีมุมไหนที่จะพ้นจากการจับจ้องสายตา ไม่คิดว่าจะเกิดมาในสังคมแบบนั้น พอมาเจอกรณีนี้ก็ร้องอ๋อว่า พี่ใหญ่กำลังกระทำการแบบนี้อย่างน่าสยดสยอง แล้วยังเอาไปเผยแพร่ให้คนอื่นในสังคมหวาดกลัว เลิกท้าทาย และสื่อมวลชนได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่เราคาดหวังว่าจะเสรีและยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ติดลบตั้งแต่เริ่มแล้ว

อดีตอาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวอีกว่าภาพของการมีเซ็กซ์ไม่ใช่ข่าว ไม่ใช่ประเด็น แต่จะมีประเด็นอื่นๆ ที่ควบคู่กันมา ที่หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นข่าว อย่างประโยชน์ของการปล่อยคลิปนี้คืออะไรกันแน่ แล้วทำไมต้องเป็นบางแบรนด์ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง สนุกสนาน โซเชียลมีเดียมีส่วนในการเผยแพร่ข่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การถกเถียงในเรื่องนี้ก็สะท้อนว่ากระแสข่าวนั้นไม่อื้อฉาวนัก ความสนุกสนานเบื้องแรกไม่กี่วันกำลังจะแป้ก เพราะเสียงที่ไม่เฮฮาด้วยนั้นเยอะขึ้น เจ้าทุกข์เองก็จะไปแจ้งความเพราะว่าเสียหาย มีผู้คนแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ สะท้อนว่าสังคมไทยก็เรียนรู้อะไรมาเยอะ การชกใต้เข็มขัดแบบนี้ทำให้ตั้งคำถามว่าจะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองจมหายไปหรือไม่

อุบลรัตน์ยังกล่าวว่า การเปิดเผยภาพความสัมพันธ์ของคู่กรณีต่อสาธารณะว่า มีมารยาทของนักข่าวเมื่ออยากจะเปิดเผยเรื่องหนึ่งๆ อยู่ แต่คำถามก็คือว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน อย่างกรณีอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (ที่มีกรณีอื้อฉาวทางเพศกับโมนิกา ลูวินสกี ผู้ฝึกงานในทำเนียบขาว) ก็มีแค่ภาพงานอำลาการฝึกงานทีทำเนียบขาว ที่ถ่ายให้เห็นใกล้ๆ ให้เห็นสายตาของเขา มันมีมารยาทของนักข่าวที่อยากเปิดเผยเรื่องหนึ่ง แต่เส้นอยู่ตรงไหน ภาพที่ควรถูกเปิดเผยมีแค่ไหน ประโยชน์สาธารณะมีหรือไม่
คนข่าวต้องตั้งหลักเรื่องหน้าที่ ในวันที่บทบาทโซเชียลมีเดียแย่งชิงพื้นที่

นิธินันท์คิดว่าสื่อไม่ได้มีหน้าที่ประจานมนุษย์ งานสื่อคือหน้าที่นำความจริงที่เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามให้เป็นที่ปรากฏ ไม่ใช่นึกสนุกหรือมุ่งประจานศัตรู ไม่เห็นด้วยที่จะเอาเรื่องทางเพศหรือเรื่องส่วนตัวมาเผยแพร่ แต่ถ้าทำในแง่กรณีที่หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) เขียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชามีการพูดคุย เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มธุรกิจก็ถือว่าทำได้และต้องทำ แต่ถ้านักการเมือง ก นอนกับนักการเมือง ข แล้วยังไม่พิสูจน์ว่ากิจกรรมที่ทั้งสองมีร่วมกันมีผลเสียอย่างไรต่อประเทศ มนุษย์ สังคมหรือโลก ก็ไม่เหมาะสมที่จะรายงาน ในส่วนข่าวนั้นคิดว่าเสนอได้ แต่ไม่ควรนำเสนอภาพของการร่วมเพศ ต่อให้คนนั้นเป็นศัตรูของประชาชนอย่างร้ายกาจก็ไม่ควร ถ้าเป็นสื่อสาธารณะก็มีหน้าที่มากไปกว่าการกระชากหน้ากากในลักษณะนั้นถ้าหากไม่มีคุณค่าใดกับประชาชนนอกเหนือจากความบันเทิง สื่อต้องตั้งหลักใหม่ว่าจะทำงานแบบไหน อย่างไร

ประวิตรกล่าวว่า แม้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นคนปล่อย ใครเป็นคนถ่ายคลิปดังกล่าว แต่ก็ตั้งสมมติฐานอย่างที่โพสท์เฟซบุ๊คไว้หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวของนักรณรงค์หญิงคนนั้นที่มีต่อพรรคเพื่อไทยถูกตั้งคำถามได้ วันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่าเมื่อนักกิจกรรมคนนั้นมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกี่ยวข้องพรรคเพื่อไทย โดยสำนักข่าวแนวหน้าได้รายงานในข่าวออนไลน์ว่า นักกิจกรรมหญิงท่านนี้ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การปลดป้ายหาเสียงว่า 'โบว์'ข้องใจ! ป้ายหาเสียง'เพื่อไทย'ถูกปลด สะท้อนต้องการ'ล้าหลัง-ล้มเหลว-ถดถอย-สิ้นหวัง'อยู่หรือไม่? ซึ่งก็เกิดคำถามในคอมเมนท์ในลักษณะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์นักกิจกรรมเช่นกัน

นักข่าวอาวุโสข่าวสดอิงลิชกล่าวว่า ปัจจุบันอำนาจสื่อกระแสหลักที่ตัดสินว่าอะไรจะเป็นข่าวไม่เป็นข่าว (Gatekeeper) ก็ลดลงไปมหาศาล จากการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย แต่ก็มองว่าประชาชนและคนใช้โซเชียลก็มีสิทธิกำหนดเรื่องที่สนใจ ที่เป็นห่วงคือบรรยากาศของสื่อและสังคมไทยที่มองว่าใครก็ตามที่ตั้งคำถาม อย่างที่เขาเคยถามพรรคอนาคตใหม่เรื่องจุดยืนต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการตั้งใวางยา แต่คิดว่าหน้าที่สื่อไม่ใช่การทำการประชาสัมพันธ์ ถ้ามีคำถามที่พึงตั้งเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ควรถาม เพราะปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ก็เคยทำงานในประเด็นมาตรา 112 มาก่อน

ประวิตรเห็นว่าเรื่องที่สังคมไทยที่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ยังไปไม่ไกลคือการเหยียดในประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ และท่าทีพึงพอใจเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวของอีกฝั่งออกมา เป็นเรื่องที่ต้องมีการคุยและถกเถียงกันเพื่อหาบรรทัดฐานกันอีกมาก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.