Posted: 19 Dec 2018 09:10 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-20 00:10


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเห็นด้วยกับนักวิชาการรัฐศาสตร์บางท่าน ซึ่งคาดการณ์ไว้นานแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกันเชิงอุดมการณ์

ฟังดูเหมือนจะหาเสียงกันด้วยความคิดนามธรรมอันสูงส่ง จนจะหาประชาชนฟังปราศรัยไม่ได้ แต่ความหมายที่แท้จริงก็มีเพียงว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช.เท่านั้น ไม่ใช่การปะทะกันด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเผด็จการโดยตรง


คงไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนในโลกกระมัง ที่เอาอุดมการณ์ออกมาต่อสู้กันเพื่อเรียกหาคะแนนเสียงโดยตรง แต่มักย่อยเอาอุดมการณ์ไปสู่การปฏิบัติเชิงรูปธรรมในลักษณะ “นโยบาย” นักเสรีนิยมใหม่คงเสนอให้นำเอารัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้าตลาดหลักทรัพย์ มากกว่าอธิบายว่า การที่รัฐเข้ามายุ่มย่ามในทางเศรษฐกิจคือ “ถนนไปสู่ความยากจน” ในทางตรงกันข้าม นักสังคมนิยมคงเสนอนโยบายปรับโครงสร้างภาษี เพื่อนำเงินมาส่งผ่านถึงคนส่วนใหญ่ในรูปต่างๆ ไม่มีพรรคสังคมนิยมใดอธิบายว่าเหตุใดสังคมจึงควรได้รับการพิทักษ์ปกป้องจากรัฐยิ่งกว่าสถาบันหรือองค์กรอะไรอื่นทั้งสิ้น

ครับ มันยังเหลืออะไรเบลอๆ อยู่ในการแข่งขันเชิงอุดมการณ์แบบซ่อนรูปเช่นนี้อยู่มาก จนกระทั่งทำให้พรรคกรรมกรของอังกฤษในบางสมัยไม่ได้ต่างอะไรจากพรรคอนุรักษนิยมเลย คนไม่เอา คสช. แต่ยังอยากเปลี่ยนหน้าเผด็จการทหารจากหน้าเดิมเป็นหน้าใหม่ ก็อาจเลือกพรรคฝ่ายที่ถูกจัดว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ก็ได้

นักการเมืองบางคนจึงบอกว่า หาเสียงต้องเบลอๆ เข้าไว้ อย่าให้ชัดนัก เพราะจะทำให้เหลือกลุ่มสนับสนุนแคบลง

แต่ผมอยากคุยเรื่องอุดมการณ์จริงๆ ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังแฝงอยู่ในการแสวงหาความนิยมของพรรคการเมืองไทยและคณะทหารที่เฝ้ายึดอำนาจอยู่เสมอมา และผมคิดว่ามีอุดมการณ์อยู่สามอย่างที่มีความสำคัญในการเมืองไทย นับตั้งแต่ 2475 มาถึงปัจจุบัน นั่นคือชาตินิยม, ประชาธิปไตยเสรีนิยม และพัฒนานิยม

บางคนอาจบอกว่ายังมีสังคมนิยมและกษัตริย์นิยมอยู่ด้วย ซึ่งผมก็เห็นว่ามีจริง แต่ทั้งสอง “นิยม” นั้น ต่างเสนอตัวแฝงอยู่ใน “นิยม” อื่นในสามอย่างข้างตน เช่น สังคมนิยมไทยแฝงอยู่อย่างแนบแน่นกับประชาธิปไตยเสรีนิยม แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระยะแรกก็พยายามใช้พื้นที่ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเปิดไว้ให้ในการเผยแพร่อุดมการณ์ของตน

ส่วนกษัตริย์นิยมนั้นแฝงอยู่ในพัฒนานิยมและชาตินิยมอย่างชัดเจน
ชาตินิยม


อุดมการณ์ชาตินิยมไม่ใช่อุดมการณ์หลักทางการเมืองหลัง 2475 แต่อุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” หรือจะพูดให้ชัดกว่านั้นคืออุดมการณ์ต่อต้าน “ระบอบเก่า” ดูจะเป็นอุดมการณ์หลักมากกว่า ขอให้สังเกตชื่อกลุ่มการเมือง (หรือพรรคการเมือง) ในสมัยนั้น ล้วนอิงอยู่กับอุดมการณ์อื่นที่ไม่ใช่ชาตินิยมทั้งนั้น กลุ่มการเมืองที่มีบทบาทสูงสุดเรียกตัวเองว่าคณะ “ราษฎร”, เมื่อการเมืองแบบใหม่ขยายออกไป เกิดพรรคการเมืองซึ่งมีชื่อ เช่น “แนวร่วมรัฐธรรมนูญ”, “สหชีพ” (Unionism?), “ประชาธิปัตย์” ฯลฯ พรรคการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อนจะสิ้นอำนาจชื่อ “เสรีมนังคศิลา”

ที่จริงมีกลุ่มการเมืองที่ตั้งขึ้นด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมเหมือนกันคือ “คณะชาติ” ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งรวบรวมขุนนางและผู้สนับสนุนระบอบเก่ามาร่วม แต่หลังจากไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองแล้วก็หยุดความเคลื่อนไหวในนามของคณะชาติอีกเลย

ข้อนี้ไม่น่าประหลาดอะไร เมื่อเปรียบเทียบกับ “ชาติ” ที่ถูกใช้เป็นเครื่องปลุกเร้าประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะ “ชาติ” ของนักชาตินิยมในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น ต้องหมายถึงการขจัดความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ที่ชาวนาและกรรมกรได้รับอยู่จากระบอบเก่าด้วย หากชาติหมายถึงการผดุงระบอบเก่าให้ดำรงอยู่ต่อไป จะมีเสน่ห์แก่คนทั่วไปได้อย่างไร “คณะชาติ” จึงเหี่ยวหายไป ไม่แปรเปลี่ยนมาเป็นพรรคการเมืองในการเลือกตั้งอีก

อย่างไรก็ตาม สงครามเย็นทำให้ง่ายที่จะสมมุติให้มีศัตรูภายนอกขึ้น ชาตินิยมจึงเป็นความชอบธรรมทางการเมืองเพียงน้อยอย่างแก่กองทัพซึ่งยึดอำนาจมาตั้งแต่ 2490 สามารถใช้เพื่อปลุกเร้าการยอมรับอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะหลังการยึดอำนาจของทหารอีกกลุ่มหนึ่งใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

แต่ชาตินิยมแบบทหาร คือชาตินิยมที่นำมาโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรจากอุดมการณ์ซึ่งผู้นำในระบอบเก่าได้สถาปนาเอาไว้ ชาติจึงไม่นำมาซึ่งอำนาจให้แก่คนกลุ่มอื่นใด นอกจากการเฉลี่ยอำนาจในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง แทนที่ชาตินิยมจะเป็นความคิดก้าวหน้า กลับเป็นความคิดถอยหลัง เพราะชาติกลายเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยที่ถืออำนาจปกครองมาอย่างสืบเนื่อง

ชื่อพรรค “ชาติไทย” นั้นสะท้อนการต่อต้านความก้าวหน้าทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด พรรคถูกจัดตั้งขึ้นหลัง 14 ตุลา เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมกำลังขยายตัวในหมู่ประชาชนบางหมู่บางเหล่า กลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นและนักธุรกิจในระบบทุนขุนนางจึงรวมตัวกันเพื่อใช้พลังทางการเมืองในการขัดขวางการผลักดันปฏิรูปสังคม โดยอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมแบบล้าหลัง ดึงดูดความสนับสนุนจากระบบราชการ, กองทัพ และประชาชนทั่วไป

อันที่จริง ยังไม่เคยมีพรรคชาตินิยมจริงๆ ในการเมืองไทยเลย ผมหมายถึงพรรคที่เรียกร้องสนับสนุนให้ชาติเป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีนโยบายจะสร้าง “ชาติ” ในความหมายนี้ขึ้นให้ได้จริง หากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล

อุดมการณ์ชาตินิยมแบบล้าหลังนี่แหละที่เป็นเกราะกำบังให้แก่เผด็จการในรูปต่างๆ ใช้เป็นความชอบธรรมในการเผด็จอำนาจโดยตรงหรือโดยนัยยะเสมอมา

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ ดูเหมือนชาตินิยม ไม่ว่าจะในความหมายล้าหลังหรือก้าวหน้า ดูเหมือนไม่ค่อยมีบทบาทในการแข่งขันมากนัก พรรค “ไทยรักษาชาติ” เสนอตนเองเป็นฝ่ายไม่เอา คสช. และเรียกร้องประชาธิปไตย ฉะนั้น ไทยที่จะรักษาชาติก็น่าจะหมายถึงคนไทยมากกว่าชาติไทย เช่นเดียวกับเพื่อ “ไทย” คือ หมายถึงคนไทยไม่ใช่ชาติไทย แม้แต่พรรคที่สนับสนุนทหาร ก็ยังเรียกตนเองว่าพลัง “ประชารัฐ” คือ โน้มเอียงไปทางอุดมการณ์พัฒนานิยมมากกว่าชาตินิยม

เรื่องนี้ก็ไม่น่าประหลาดมากนัก เพราะในปัจจุบัน ไทยไม่มีศัตรูภายนอก ส่วนศัตรูภายในซึ่งต่างฝ่ายต่างปั้นให้แก่กันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำความพินาศอับจนแก่ทุกฝ่ายทั่วหน้า (ยกเว้นนายทุนกลุ่มเล็กๆ ที่เข้าไปกอบโกยกำไรมโหฬารภายใต้เผด็จการทหาร)

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสงสัยว่า ชาตินิยมแบบทำการเมืองให้ปรองดองกัน เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่น่าจะเป็น “จุดขาย” ทางการเมืองที่มีพลังนัก เพราะชาติที่แตกแยกกันด้วยความเห็นทางการเมืองนั้นยังเป็นเรื่องเล็ก ขึ้นชื่อว่าความเห็น ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ชาติที่แตกแยกกันด้วยทรัพย์, อำนาจ, โอกาส, เกียรติยศ, รายได้, อนาคตต่างหากซึ่งเป็นปัญหาที่คงทนถาวรมากกว่า แต่ดูเหมือนความแตกแยกในชาติประเด็นนี้ ไม่ค่อยมีพรรคใดหยิบขึ้นเป็นนโยบายหลัก (อย่างน้อยจนถึงนาทีที่เขียนนี้)

พัฒนานิยม

แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สงครามเย็นกำลังเขยิบไปสู่สภาวะตึงเครียดสูงสุด องค์กรโลกรับเอาไปเผยแพร่ในเวลาต่อมา และเข้าสู่เมืองไทยในช่วงเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาดที่เริ่มใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หลักการง่ายๆ ก็คือ รัฐต้องเข้าไปส่งเสริมการลงทุนของผู้มีทุนทั้งภายในและภายนอก ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน ไม่เฉพาะแต่ถนนหนทาง แต่รวมถึงส่วนที่จับต้องไม่ได้ด้วย เช่น ทักษะที่เหมาะสมของแรงงาน, บรรยากาศที่เป็นมิตร, การไหลของสินค้าและทุนอย่างสะดวก ฯลฯ

พัฒนานิยมคือการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของส่วนรวมไปในทางใด แก่ใคร และอย่างไร แต่พัฒนานิยมไม่สนใจว่าใครบ้างที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ จะเป็นคนส่วนใหญ่หรือเผด็จการเพียงกลุ่มเดียวก็ได้ผลเหมือนกัน หากตัดสินใจให้ถูกตามแนวของพัฒนานิยม ดังนั้น พัฒนานิยมจึงเป็นอุดมการณ์ที่อำนวยความชอบธรรมแก่เผด็จการในประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ พัฒนานิยมกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถาวรในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ต่างก็แสวงหาความนิยมจากคำสัญญาของพัฒนานิยมเหมือนกัน ที่น่าอัศจรรย์อยู่ตรงที่ว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้เสนอหนทางอื่นว่าจะใช้ทรัพยากรส่วนรวมอย่างไรจึงจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เช่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ต้องยอมเสียอะไรบ้าง และฝ่ายที่เสียประโยชน์จะได้รับอะไรทดแทนบ้าง กระบวนการต่อรองที่ทำให้ทุกฝ่ายมีอำนาจใกล้เคียงกันจะเกิดขึ้นในการตัดสินใจได้อย่างไร ฯลฯ กลไกการตัดสินใจใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมายาวนานอย่างไร นักการเมืองจากการเลือกตั้งก็ยังปล่อยให้กลไกนั้นทำงานต่อไปเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนให้ตนเองขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ซึ่งนายพลเคยนั่งอยู่ก่อนเท่านั้น

เพราะกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกทำให้พิกลพิการ ทำให้มองไม่เห็นว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีแนวคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์พัฒนานิยมอย่างไร (ถูกห้ามหาเสียง) แม้ว่าทุกพรรคต่างผูกพันตนเองกับอุดมการณ์นี้อย่างแนบแน่นเหมือนกัน ยกเว้นแต่พรรคที่ประกาศสนับสนุน คสช.ให้บริหารต่อไป เพราะก็คงรับแนวทางพัฒนานิยมของ คสช.ที่ดำเนินมากว่า 4 ปี ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ต่างจากพัฒนานิยมในยุคแรกๆ คือรัฐเป็นผู้อำนวยการเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการกำหนดการใช้ทรัพยากรเพื่ออะไร เพื่อใคร และอย่างไร

โดยไม่มีโครงการอะไรที่เกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ, หรือจะมีผลอย่างไรต่อคนชั้นกลางระดับกลางและระดับล่าง, ถึงสัญญาว่าจะปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปการบริหารการศึกษาเลย ฯลฯ เป็นต้น

ประชาธิปไตยเสรีนิยม

ตัวแนวคิดอาจไม่ชัดนักว่าเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่อย่างน้อยก็รับเอาขบวนการต่างๆ ของประชาธิปไตยเสรีนิยมมาใช้ เช่น การเลือกตั้ง, การจำกัดและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร, ตุลาการ และนิติบัญญัติ, การประกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อย่างน้อยในกฎหมาย ฯลฯ

น่าประหลาดอยู่เหมือนกันที่ในประเทศซึ่งทหารยึดอำนาจเป็นว่าเล่นนับสิบๆ ครั้งเช่นประเทศไทย ประชาธิปไตยเสรีนิยมกลับถูกถือว่าเป็นสภาวะ “ปรกติ” ชนชั้นนำและกองทัพอาจวินิจฉัยว่าควรยกเว้นด้วยการสถาปนาสภาวะ “อปรกติ” ขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่แม้กระนั้นก็ถือว่าสภาวะ “อปรกติ” เป็นสภาวะชั่วคราว วันหนึ่งข้างหน้าก็จะกลับคืนสู่สภาวะ “ปรกติ” ใหม่คือ รื้อฟื้นขบวนการทางการเมืองของประชาธิปไตยเสรีนิยมกลับคืนมา อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ หลายครั้งด้วยกันกองทัพจึงยึดอำนาจด้วยข้ออ้างว่าจะทำให้ประชาธิปไตยเสรีนิยมของไทยบรรลุจุดสมบูรณ์ (ที่น่าประหลาดคือมีคนฉลาดรอบรู้ในเมืองไทยไม่น้อยที่เชื่อ หรือแสดงว่าเชื่อโดยไม่ตะขิดตะขวงใดๆ เลย)

ประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ค่อนข้างเบลอๆ นี้แหละ ที่อาจกลายเป็นอุดมการณ์หลักทางการเมืองในการต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายครั้งด้วยกันประชาธิปไตยเสรีนิยมถูกบีบให้แคบลงเหลือเพียงไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งโดยตัวของมันเองก็มีความหมายคลุมเครือมาก (เช่น หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมีพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งร่วมรัฐบาลเพื่อช่วยคานอำนาจ ก็อาจถือว่าอำนาจไม่ได้ถูกสืบทอดอย่างไม่ถูกคะคานแล้ว)

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่มีอำนาจ คสช.ปรากฏให้เห็นในจอทีวี ก็มิได้หมายความว่าไทยได้บรรลุถึงระบอบที่พอจะถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมแล้วโดยอัตโนมัติ อุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยเสรีนิยมอีกนานัปการซึ่งแฝงอยู่ในแทบจะทุกส่วนของอำนาจรัฐก็ยังคงอยู่อย่างเดิม ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาธิปไตยนำมาซึ่งประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่ใช่กลับไปสู่การตีบตันเท่าเดิมจนกระทั่งชนชั้นนำอาศัยการตีบตันนั้นประกาศสภาวะ “อปรกติ” ขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้

แม้กระนั้น เพื่อหลุดออกจากอำนาจมืดของ คสช. ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่คงไม่ถามพรรคฝ่ายประชาธิปไตยลงลึกไปกว่า เอาหรือไม่เอา คสช. และทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมกลายเป็นตัวตัดสินที่สำคัญในการแข่งขันทางการเมืองครั้งนี้



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ธันวาคม 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.