Posted: 18 Dec 2018 09:48 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-19 00:48
หนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” เป็นหนังสือการเมืองไทยเล่มคลาสสิค ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2526 วันนี้สำนักพิมพ์โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นำมาพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 5 ในปี 2561
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ ที่เคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หลายปีก่อนย้ายไปสอนยังมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา งานชิ้นนี้พัฒนามาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของทักษ์ที่คอร์เนลล์ งานนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก่อนในปี 2522 แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ยังได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย
ในวาระ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้เชิญผู้เขียนและนักวิชาการคนอื่นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง ด้วยการตีความใหม่ ด้วยการมองทาบกับบริบทใหม่ในปัจจุบัน ภายใต้ชื่องานเสวนา “พ่อขุนอุปภัมก์แบบเผด็จการ: จากอดีตถึงปัจจุบัน”
ฌาปนกิจการแทรกแซงการเมืองของทหารด้วยความรู้
งานนี้ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้เขียนได้ปรากฏตัวและร่วมกล่าวปิดงานด้วย โดยตอนหนึ่งทักษ์กล่าวว่า หากสังเกตรูปหน้าปกของหนังสือเล่มนี้จะเห็นว่าใช้รูปขาวดำ รูปนี้เอามาจากหนังสืองานศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งหากให้อธิบายความหมายที่แฝงไว้ก็คือ ถึงเวลาที่แล้วที่เราควรจะฌาปนกิจการแทรกแซงของทหารในการเมืองไทย โดยหวังกระทำผ่านการศึกษาการเมืองของสฤษดิ์ ซึ่งปรากฏว่าพิมพ์มากี่ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ หวังว่าครั้งนี้จะเป็นการพิมพ์ครั้งสุดท้าย
ส่วนความสงสัยว่าทำไมจึงเขียนหนังสือนี้เป็นภาษาอังกฤษก่อน คำตอบก็คือ เป็นความตั้งใจตั้งแต่เป็นอาจารย์ใหม่ๆ ว่าจะทำงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อทำให้ประเด็นวิชาการไทยเป็นที่ยอมรับของสากล อยากฝากว่างานวิชาการไทยดีๆ นั้นมีเยอะและเราควรแปลให้คนข้างนอกได้อ่านด้วย
ต่อคำถามของผู้ฟังที่ถามว่า มีการเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ‘สฤษดิ์น้อย’ นั้นเห็นอย่างไร ทักษ์ตอบว่า “คำถามที่ถามว่าเปรียบเทียบสองคนได้หรือเปล่า ผมอยากถามกลับว่า อีกสิบปีข้างหน้าจะมีใครพูดถึงพลเอกประยุทธ์หรือเปล่า แต่อีกสิบปีข้างหน้าน่าจะยังมีคนพูดถึงทักษิณ ผมพูดถึงความคิดกว้างๆ ของคน ทำไมคนยังพูดถึง แม้ว่าพูดแล้วกลัวอย่างมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ พูดถึงแล้วคนกลัว จอมพลสฤษดิ์ไม่พูดมาก นานๆ พูดทีแต่คนฟัง คงเทียบกับการพูดทุกวันศุกร์ไม่ได้”
เม้าทักษ์วัยหนุ่ม-บทสัมภาษณ์ท้ายเล่ม ทักษิณเป็นสฤษดิ์น้อยหรือไม่
ย้อนไปตอนเริ่มต้นงาน วีระ ธีรภัทรนันท์ นักจัดรายการชื่อดังได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถา เขาเป็นนักเรียนของอาจารย์ทักษ์ในวัยหนุ่มและเล่าถึงทักษ์ในสายตาของเขาซึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อคาวบอย กางเกงยีนส์ ใส่รองเท้าบูธ ระหว่างพูดคุยกันในห้องพักอาจารย์ ทักษ์วางเท้าบนโต๊ะนั่งแบบสบาย วีระจำไม่ได้ว่าคุยอะไรกันบ้าง จำได้เพียงว่าอาจารย์หนุ่มยืนยันว่า เขาเป็น “ผู้ให้บริการทางวิชาการ” ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง
วีระระบุว่า ทักษ์เกิดในครอบครัวนักการทูต นับเป็นกลุ่มคนในส่วนยอดพีระมิดของสังคม เป็นอนุรักษ์นิยมโดยธรรมชาติ แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นอนุรักษ์นิยมปีกซ้ายหรืออนุรักษ์นิยมก้าวหน้า และด้วยมีโอกาสเรียนหนังสือในต่างประเทศมาโดยตลอดตั้งแต่ยังเล็กทำให้เป็นปลาสองน้ำ ผสมเข้ากับโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็สนใจทำวิจัยเรื่องเผด็จการ
วีระกล่าวด้วยว่า ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กำลังได้รับความนิยมสูงนั้น มีคนเรียกทักษิณว่า ‘สฤษดิ์น้อย’ จึงได้มีผู้ถามทักษ์ซึ่งศึกษาสฤษดิ์ว่า “ใช่หรือไม่” ทักษ์ได้ตอบเรื่องนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์ขนาดยาวซึ่งอยู่ในภาคผนวกของหนังสือที่พิมพ์ครั้งที่ 5 นี้ด้วย
การฟื้นบทบาทสถาบัน-ถอดแท็กติกสร้างสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตและเป็นบรรณาธิการในการพิมพ์ครั้งที่ห้า กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้บรรจุเรื่องราวการเมืองไทยอย่างน้อยๆ 16 ปี เนื้อหาเกือบครึ่งหนึ่งคือการพูดถึงทศวรรษการเมืองไทยปี 2490 เป็นต้นมาซึ่งมีจำนวนมากถึง 160 หน้า ที่เหลือ 240 หน้าเป็นพาร์ทของบทวิเคราะห์ว่าจะมองสฤษดิ์ได้อย่างไรบ้าง
ปัญหาใหญ่ของนักศึกษารัฐศาสตร์ คือ อาจารย์สั่งให้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่มีใครคุยให้ฟังว่ามันสำคัญอย่างไร ตนเองก็เพิ่งเข้าใจตอนเรียนจบแล้วว่า จอมพลสฤษดิ์คือผู้ฟื้นสถานะเดิมของสถาบันเดิม ฟื้นพระราชนิยม ฟื้นพระราชประเพณี ซึ่งมีความหมายสำคัญมาก จุดนี้ทำให้ย้อนกลับไปที่การปฏิวัติ 2475 ที่เป็นการยุติชั่วขณะของบทบาทกษัตริย์ในฐานะสถาบันการเมืองแบบเดิม แต่สฤษดิ์ฉุกกระชากให้ฟื้นคืนมา หนังสือเล่มนี้อธิบายมันในส่วนที่สองจำนวน 240 หน้า มีหลายเรื่องมาก เช่น การแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองของสฤษดิ์
“นี่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เอ๊ย จอมพลสฤดิ์ แสวงหาความชอบธรรมอย่างไร อย่างแรกต้องทำลายความชอบธรรมของก๊กที่อยู่มาก่อนให้ได้ ตอนนั้นมีเรื่องการเลือกตั้งสกปรกปี 2500 ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปมีคำถามว่าตอนนั้นมันเพิ่งประกาศผลในกทม.ปริมณฑลเท่านั้น ทั่วประเทศยังไม่ได้ประกาศเลย แล้วนักศึกษาจุฬาฯ ก็ออกมาประท้วง นักศึกษาธรรมศาสตร์เห็นจุฬาฯ ออกก็ต้องออกมาบ้าง”
“หัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้การเลือกตั้งสกปรกหรือโมฆะให้ได้ เราเริ่มเห็นพล็อตที่อาจไม่ใช่ความจริง คุ้นๆ ไหม กระบวนการชัตดาวน์ประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ 2 มหาลัยหลักเสมอมา เพื่อนำไปสู่การ Coup d'état ให้ได้ การโพนทะนาว่าเลือกตั้งสกปรกเกิดขึ้นจากหนังสือพิมพ์ของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์มีหนังสือพิมพ์ของตัวเองชื่อ สารเสรี”
อีกประเด็นที่ อ.ทักษ์ชวนคิดคือ คนมักเข้าใจผิดว่าจอมพลสฤษดิ์มีแนวคิดพัฒนาประเทศ แต่จริงๆ แล้วแนวคิดเขาคือ ถนนสะอาด คลองสะอาด แต่เราไปตีความเรื่องการสร้างเศรษฐกิจ สร้างการค้าอะไรใหญ่โต เรียกว่าให้เครดิตกับจอมพลสฤษดิ์มากเกินไป
โดยสรุปโมเดลของการเป็นพ่อขุนตามที่ปรากฏในหนังสือนี้คือ 1.ช่วยลูกๆ 2.รักษาความเรียบร้อยในครอบครัว 3.ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม 4.ออกคำสั่ง แต่สฤษดิ์ใช้มาตรา 17 ไม่กี่ครั้งเท่านั้นเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู ซึ่งเทียบกับม.44 ของคสช. ไม่ได้
ตอบคำถามทำไมสถาบันการเมืองไทยไม่เข้มแข็ง
เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มุ่งที่ elite politics หรือการเมืองของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ อย่างมาก อย่างไรก็ตามมันก็มีความสำคัญลำดับต้นในแวดวงรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าได้ชี้ให้เห็นพัฒนาการที่ลงรายละเอียเชิงลึกมากๆ ของภาพการเมืองไทยหลัง 2475 โดยเฉพาะ 2490-2500 ซึ่งเกิดจากผู้เขียนเป็น ‘โอตาคุทางการเมือง’ รู้ตัวละคร รู้อารมณ์ของตัวละครด้วย
การเมืองแบบชนชั้นนำมีปฏิบัติการอย่างไรเราไม่เห็น แต่คำบรรยายในหนังสือเล่มนี้ชวนให้คิดว่ามีปฏิบัติการอย่างไรที่ต่อเชื่อมกับมวลชน ไม่ให้คนในชนบทพัฒนาเป็นมวลชนที่จะมาต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐได้และอดทนต่อการถูกกดขี่ แม้พวกเขาจำนวนมากยังคงจดจำอดีตได้ เช่น 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกลอบสังหาร และจอมพลสฤษดิ์สามารถจะจัดการการเมืองของชนชั้นนำได้อย่างไรในขณะที่ประนีประนอมกับคนชนบทได้ ผลประโยชน์เชื่อมโยงกันอย่างไรในหมู่คนชั้นนำและพวกคหบดีท้องถิ่นเพื่อจะคงอำนาจไว้ ถ้ามีการศึกษาขยายผลต่อโดยเอางานของทักษ์เป็นฐาน เราจะได้เห็นภาพการเมืองไทยเพื่ออภิปรายต่อเนื่องว่าเกิดอะไรขึ้นในชนบทในช่วงทักษิณและหลังทักษิณได้
ในแง่การเมืองเปรียบเทียบ มันมีความพยายามจะทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐที่มีการสถาปนารัฐธรรมนูญ สร้างพรรคการเมือง สู้กันโดยใช้พรรคการเมือง แต่ทำไมถึงสามารถทำให้สถาบันเหล่านี้อ่อนแอได้อย่างต่อเนื่อง ความเป็นสถาบันทางการเมืองไม่สามารถสร้างได้ในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ความเป็นสมัยใหม่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 มันมีผลประโยชน์หลายกลุ่มมากพอที่จะต้องแสวงหาสถาบันทางการเมืองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่ากัน ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ก็ต้องสร้างพรรคการเมืองมาจัดการผลประโยชน์ แต่การเมืองไทยกลับใช้การหักหลัง ใช้เส้นสายส่วนตัว แต่ไม่สามารถสถาปถาสถาบันทางการเมืองได้ สมมติสองข้อคือ สังคมการเมืองไทยเป็นรัฐเล็กจ้อยในช่วงสงครามเย็น และเพียงเชื่อว่ามหาอำนาจจะใช้กำลังได้ก็สามารถสยบยอมได้แล้ว หรือไม่ก็เชื่อว่าสถาบันทางการเมืองที่เป็นกลไกในการปลดล็อคความขัดแย้งคือ กองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ สฤษดิ์ก็พัฒนาเฉพาะสองสถาบันนี้เพื่อการจัดการความขัดแย้งและการตกลงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จนพัฒนามาเป็นคำว่า Network Monarchy
ประเด็นสุดท้าย ระดับรัฐ (state) ซึ่งหมายถึงกองทัพ สถาบันหลักๆ ศาล ทหาร ตำรวจ ระบบราชการ ในสมัยสฤษดิ์ได้สร้างรัฐแบบไหน การอาศัยความเป็นพ่อขุนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจารย์ทักษ์เขียนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจอมพลป. กับราชการ จอมพลสฤษดิ์ กับราชการ จอมพลถนอม กับราชการ ดังนั้นชัดเจนว่าระบบราชการเข้มแข็งมากในการบริหารอำนาจรวมศูนย์แบบพ่อขุนได้
“คุณลักษณะรัฐแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ที่ไหนในโลกก็จะมีอายุของมัน มันเกิดขึ้นเพื่อนำพาให้สังคมเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ ถามว่าในสังคมไทยมันยืดอายุไปได้เรื่อยๆ ได้ยังไง ในขณะที่มีความกดดันรอบด้านจากผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไม่เฉพาะชนชั้นนำ มีปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐยังคงประสิทธิภาพสูงในกลไกสั่งการและการรวมศูนย์อำนาจ และความชอบธรรในการใช้บุคลิกลักษณะส่วนตัวได้แบบนี้”
ระบอบสฤษดิ์ในคลื่นประชาธิปไตยโลก
ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า งานศึกษาของนักรัฐศาสตร์รุ่นหลังๆ มีเฟรมเวิร์คที่เมื่อเอาการเมืองแบบสฤษดิ์ไปวางอาจทำให้เห็นบางอย่าง นอกจากนี้นำเสนอเทคนิควิเคราะห์แบบ “ร่วมเวลา ข้ามพื้นที่” แบบเบ็น แอนเดอร์สันด้วยเพื่อเปรียบเทียบกับเผด็จการในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อดูความเหมือนความต่างและจุดเด่นของระบอบสฤษดิ์ เปรียบเทียบกับเนวิน (พม่า) ซูกาโน (อินโดนีเซีย) ภูมี หน่อสวรรค์ (ลาว) โงดิ่ญเสี่ยม (เวียดนามใต้)
โลกการเมืองเปรียบเทียบ คำอธิบายของนักรัฐศาสตร์รุ่นเก๋าอย่าง แซมมวล ฮันติงตันซึ่งมีงานโด่งดังเรื่องคลื่นลูกที่สามของประชาธิปไตย หากจะดูให้สัมพันธ์กับระบบสฤษดิ์ก็คือคลื่นลูกที่สอง ปี 1943-1962 เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่คลื่นประชาธิปไตยย่อมมีการโต้กลับของคลื่นเผด็จการเพื่อแสดงการแข็งขืน ช่วงสำคัญคือปี 1958-1975 คำถามสำคัญคือระบอบสฤษดิ์วางอยู่ตรงช่วงเวลาไหนของคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สอง จะเห็นว่า ค.ศ. 1958 ตรงกับ พ.ศ. 2501 (ปีที่สฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจ) สะท้อนพลังโต้กลับของเผด็จการในระดับโลก ขณะเดียวกันเวลาใกล้เคียงกันจะเห็นการครองอำนาจของเนวิน ซูการ์โน ซูฮาร์โต มาร์กอส คลื่นลูกที่สามจุดนั้นมีตั้งต้นที่ 1974 ปีที่ทหารโปรตุเกสตัดสินใจตบเท้ากลับเข้ากรมกองเกิดกระบวนการประชาธิปไตยที่นี่และขยายไปยังที่อื่นๆ จุดที่น่าสนใจ ก่อนทหารโปรตุเกสจะถอนตัวกลับเข้ากรมกองนั้น ปี 1973 ก็คือ พ.ศ.2516 ประเทศไทยก็มีเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นจุดเริ่มต้นของ democratization เหมือนกัน จนมาถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การสิ้นสุดสงครามเย็นปี 1991 ก่อนหน้านั้นระบอบเผด็จการในประเทศต่างๆ ถูกล้ม ทยอยสูญสลายไป ประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ล้มรัฐบาลสุจินดา คราประยูร
นอกจากนี้ดุลยภาคยังนำระบอบสฤษดิ์ไปจัดวางในกรอบทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์อื่นๆ อีกหลายคนเพื่อให้เห็นความเหมือนและต่างของเผด็จการในไทยกับในบริบทโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงรู้หรือไม่ว่า (โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์)
1.สฤษดิ์เป็นคนมุกดาหาร ทำไมอนุสาวรีย์อยู่ขอนแก่น ?
โครงการสร้างอนุสาวรีย์สฤษดิ์ถูกผลักดันโดย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้เป็นผบ.ทบ.ในยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ อาทิตย์พยายามมองหาว่าใครคือโมเดลของกองทัพบก แล้วพบว่าเป็นจอมพลสฤษดิ์นี่เอง บ้านเกิดอยู่มุกดาหาร แม่เป็นลาว พ่อเป็นเขมร เหตุที่ไปสร้างที่ขอนแก่น เพราะขอนแก่นเห็นหนึ่งในโมเดลการสร้างเมืองใหญ่สามแห่งในยุคนั้น อีกสองแห่งคือ เชียงใหม่ กับ หาดใหญ่ ที่สำคัญพล.อ.อาทิตย์เป็นคนจังหวัดเลย อยู่ใกล้ขอนแก่น อนุสาวรีย์จึงไปอยู่ที่นั่น “คนขอนแก่นก็งงกับชีวิตพอสมควร จอมพลสฤษดิ์เลยต้องยืนโดดเดี่ยวอ้างว้างพอสมควร พวกข้าราชการที่ทำพิธีวางพวงมาลาให้อนุสาวรีย์ก็เพิ่งเริ่มในรอบสิบกว่าปีนี้เอง”
2.ทำไม 14 ปีมานี้ รัฐประหารไทยจึงใช้คำว่า “ปฏิรูป” แทน “ปฏิวัติ”
รัฐประหาร 6 ตุลา เป็นครั้งแรกที่คณะรัฐประหารใช้คำว่า “ปฏิรูป” แล้วจึงมีการใช้เรื่อยมา แนวความคิดสำคัญคือ คำว่า “ปฏิวัติ” ถูกทำให้เสื่อเสียในยุคนั้น ถ้าเป็นคนรุ่นตุลาจะรู้ว่าใครพูดคำนี้เป็นทรราชย์
3.ทำไมคณะทหารของไทยเวลายึดอำนาจจึงต้องกล่าวอ้างว่าจะสร้างประชาธิปไตยตลอด
เพราะการปฏิวัติ 2475 เป็นจุดเริ่มต้นที่เป้าหมายของมันคือ การสร้างประชาธิปไตย นี่กลายเป็นเหมือนเป็นอุดมการณ์ของรัฐที่ทุกคนยอมรับ “หลังจากนั้นมา ทหารก็อมคำว่า democracy ไว้แต่ตัวเองไม่ใช่เลย”
4.ใครริเริ่มสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
กระบวนการอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างเข้มข้นในรัฐของสฤษดิ์ คือ การทำให้ทหารกลายเป็นสถาบันชั้นนำของสังคมไทย ในยุคจอมพลป. ทหารเป็นชนชั้นนำเหมือนกันแต่เป็นในเชิงตัวบุคคลเป็นหลัก สฤษดิ์สร้างทหารเป็นชนชั้นนำทางอำนาจ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เปิดปี 2502 แล้วยังมีอายุถึงวันนี้ มีการแต่งตั้งนายทหารทุกระดับให้ไปนั่งใน สนช. เพราะนั่นคือเกียรติยศและเงินตอบแทน
5.คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ เกือบทั้งหมดเป็นของทหารเพราะใคร
สิ่งหนึ่งที่สฤษดิ์สร้างคือหน่วยงานสื่อสารของกองทัพ พัฒนามาเป็น ททบ.5 แม่ข่ายในการยึดอำนาจ อีกช่องคือ ช่อง 7 สี รายได้ของโทรทัศน์เหล่านี้ไม่ต้องส่งกระทรวงการคลัง
6.ใครทำให้โรงเรียนใช้วัฒนธรรมแบบทหาร
ในยุคสฤษดิ์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ทหารกลายเป็นชนชั้นนำทางวัฒนธรรม เด็กเอ๋ยเด็กดี.. โตขึ้นอยากเป็นอะไร หนึ่งในคำตอบแรกๆ จะต้องมี “ทหาร” วัฒนธรรมต่างๆ ที่คิดขึ้นยังดึงคนต่างจังหวัดให้มาร่วมกันเฉลิมฉลองเล่นละครร่วมกับทหาร ผู้ที่เก่งมากคือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งนั่งเป็นปลัดบัญชาการทำเนียบฯ ให้กับสฤษดิ์ เขาออกแบบโรงเรียนทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมแบบทหาร ตอนสฤษดิ์เป็นนายกฯ ส่งถนอม กิตติขจร ไปเป็นอธิการบดีของธรรมศาสตร์ สิ่งที่ถนอมภาคภูมิใจมากในการจัดการกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ 1.ทำให้มียูนิฟอร์ม เสื้อขาว กางเกงสแล็ค รองเท้าสีดำมัน 2.เดินตรวจห้องน้ำให้สะอาดทุกตึก
แสดงความคิดเห็น