Posted: 26 Dec 2018 12:13 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 15:13


อัญมณี แก้วอะโข รายงาน

สิทธิมนุษยชน คือ สิ่งจำเป็น ที่ทุกคนต้องได้รับในฐานะความเป็นคน เพื่อให้มีชีวิตรอดและมีการพัฒนา

วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีนั้น เป็นอีกวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ นั่นก็คือ... วันสิทธิมนุษยชนสากล" นั่นเอง ความรุนแรงและการสูญเสียในอดีต ได้ก่อให้เกิดเป็นพลังครั้งใหญ่ ทำให้หลายประเทศได้ตระหนักและได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จึงนำไปสู่การจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการคุ้มครองดูแลมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้
แล้วปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนล่ะ? ใครหลายๆ คนอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ปฏิญญาสากลคืออะไร?


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) คือ เอกสารที่ทั่วโลกตกลงใช้ร่วมกัน มีทั้งหมด 30 ข้อ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นแนวทางไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมโดยการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนในทุกแห่งหน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นานาประเทศ เห็นพ้องกันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเสรี เท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี


ภาพจากเพจ Amnesty International Thailand

กิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

เมื่อปี พ.ศ.2491 ตัวแทนทางการไทยนั่งอยู่ในที่ประชุมของสหประชาชาติ และเป็นหนึ่งในสี่สิบแปดประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ปฏิญญาฉบับนี้นอกจากจะเป็นเอกสารที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทั่วโลกฉบับแรกแล้ว ยังถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญขององค์การสหประชาชาติในยุคเริ่มก่อตั้งด้วย และในวาระครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงได้เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปฏิญญาสากลฉบับนี้


ภาพจากเพจ Banmuang-บ้านเมือง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ ถนนเจริญนคร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร กสม.ไทย ในฐานะประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ติมอร์-เลสเต และไทย ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบ 70 ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


ภาพจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย AJAR (Asia Justice and Rights) ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒประสานมิตร ได้ร่วมกันจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 70 ปี UDHR ภายใต้หัวข้อ “สิทธิของเรา หน้าที่ของใคร” โดยภายในงาน มีนิทรรศการที่น่าสนใจ อีกทั้งเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนจากนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิภายใต้หัวข้อดังกล่าว ความเป็นธรรมในประเทศ สิทธิเด็ก สิทธิสตรี รวมไปถึงความหลากหลายทางเพศ งานวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ ความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และความร่วมมือและสนับสนุนระหว่างประเทศ ในการร่วมกันพัฒนาและนำสิทธิมนุษยชนสู่สังคม


ภาพจากเพจ Amnesty International Thailand

ขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นพร้อมกับแอมเนสตี้ทั่วโลกเนื่องในวันสำคัญดังกล่าว จัดขึ้นที่ สวนครูองุ่น ย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ มีกิจกรรมวาดภาพลายเส้นการ์ตูนจากอาสาสมัคร และเพนท์ผิวหนังแบบเฮนน่า กิจกรรมร่วมบริจาคเงิน 70 บาทตามจำนวนปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเงินบริจาคทั้งหมดจะนำไปจัดพิมพ์ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จำนวน 70,000 เล่ม เพื่อมอบให้กับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย และชุมชนทั่วประเทศ


ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม OHCHR เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ UNHCR จัดงานครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 1 ปี การประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการแบ่งปัน


ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ

และการร่วมสร้างผลงานศิลปะสตรีทอาร์ต โดยมีผู้เข้าร่วมให้ความสนใจอย่างมาก โดยผู้แทนระดับสูง ทั้งไทยและระดับ ออท. (สวิตฯ และ นธ.) ผู้เข้าร่วมและประชาชนที่สนใจ หลายร้อยคน ได้ร่วมพ่นสีอย่างคึกคักด้วย

ผ่านมา 70 ปีคนไทยรู้จักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกันแค่ไหน?

"มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าเป็นใคร อาศัยอยู่ที่ใด ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน"


แต่ผ่านมา 70 ปี ที่ประเทศไทยได้รับรองปกิญญาฉบับนี้ มาดูกันว่าคนไทยรู้จักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกันมากน้อยแค่ไหน และนี่คือผลสำรวจจากเพื่อนๆใน Facebook ถึงปฏิญญาสากล พบว่า 62 % ไม่รู้จักปฏิญญาสากลและไม่เคยได้ยินมาก่อน


เห็นแบบนี้แล้วควรทำอย่างไร? ควรเริ่มต้นและแก้ไขจากจุดไหน?



ภาพจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นักสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวว่า..คนทั่วไปน่าจะไม่รู้จักแม้กระทั่งความหมายของปฏิญญาคืออะไร รากฐานที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีที่สุดน่าจะเริ่มที่การศึกษาชั้นอนุบาล ประถมวัย ปฏิญญาจะไม่มีบทลงโทษไม่เหมือนกฎหมายในประเทศ เป็นแค่แนวทางแนวคิดที่คนที่ไปยึดถือยึดมั่น ถ้าเทียบกับศาสนาก็คงจะเป็นพระคัมภีร์ พอมันเป็นเรื่องต่างชาติกลับถูกมองว่ามันเป็นของต่างประเทศ ประเทศเรามีอธิปไตยของเรา ทำให้เลือกที่จะปฏิเสธบางประเด็น เธอได้บอกอีกว่า ตั้งแต่มีหลักปฏิญญาสากลเกิดขึ้น ถ้าเทียบกับอดีตก็ดีขึ้นเยอะ แต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางอีกในหลายพื้นที่

เธอได้เผยความคาดหวังต่อแนวทางคุ้มครองสิทธิ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ใช่ของต่างชาติถูกมองว่าเป็นการแทรกแซง แต่เป็นของนอกระดับสากลที่ต้องเลียนแบบ” ซึ่งเข้าใจได้ง่ายๆว่าสิทธิมนุษยชนเหล่านี้เป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งอย่างแน่นอน


สุธาทิพย์​ โมราลาย มาฟังด้านนักวิชาการกันบ้างดีกว่า ทั้งนี้เธอยังเป็นทั้งนักเขียนอิสระ เธอให้คำนิยามกับคำถาม..หลักปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนมีอำนาจในการคุ้มครองมนุษยชาติมากน้อยเพียงใด ? ไว้ว่า..มีความคุ้มครองอย่างทั่วถึงแน่นอนหากมี “ความรู้และความเข้าใจ” เพราะปัญหาสำคัญที่หลักสิทธิมนุษยชนมีอำนาจเข้าไม่ถึงมวลมนุษยชาติคือ 'ความไม่รู้' แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิทธิ์ของตัวเองแท้ๆ​ นอกจากนั้น 'ความไม่เข้าใจ' ก็เป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลให้หลักปฏิญญามีอำนาจเข้าไม่ถึง

แน่นอนว่า..เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนจึงยังจำเป็นต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ​ รวมถึงปลูกจิตสำนึกต่อไปอย่างจริงจัง​ เร่งด่วน​ ​ เพื่อสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของหลักปฏิญญาสากลครอบคลุมทุกประการอย่างแท้จริง


จิตราภรณ์​ วนัสพงศ์ นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก เธอกล่าวว่า..คนได้ยินคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เยอะมากขึ้น แต่อาจจะไม่เข้าใจตัวปฏิญญาสากลซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะอาจจะซับซ้อน ต้องเรียน ต้องเป็นผู้เชียวชาญ หรือผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงค่ะ ดังนั้น จึงจะเห็นว่า มีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสื่อทั่วไป แต่อาจจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เธอทำงานด้านสิทธิเด็ก ปฏิญญาสากลก็จะเชื่อมโยงกัน เพราะปฏิญญาสากลเหมือนกฎหมายต้นแบบที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองโลกทุกคน แนวคิดเรื่องปฏิญญาสากลนี้เป็นแนวคิดใหม่สำหรับโลก คือ หลักๆ เป็นการมองเห็นว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน โดยที่ผ่านมาสังคมหลายประเทศไม่คิดว่าคนเท่าเทียมกัน เช่น ย้อนไปหลายสิบปีก่อน คนก็มองว่าผู้หญิงต้องด้อยกว่าผู้ชายเป็นธรรมดา หรือแรงงานพม่า ลาว เขมร ไม่ควรได้รับสิทธิเท่าคนไทยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในปัจจุบัน กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามหลักการของปฏิญญานี้ เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมเหล่านั้น แต่เราก็ยังต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ


ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ

มาฟังเสียงสำคัญจาก เอกอัครราชทูฑ วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ที่พูดคุยภายในงานครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 1 ปี การประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเขาได้กล่าวถึงความสำคัญของงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสังคมที่ห่วงใยและแบ่งปัน

โดยเน้นว่า ไทยมีต้นทุนที่ดีในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผมอยากให้รับเอาจิตวิญญาณปฏิญญาสากลไปปฏิบัติและเผยแพร่จริงๆ นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แค่การกระทำเล็กน้อยในแต่ละวันก็มีความหมาย รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งวาระแห่งชาติ ดังนั้นเราทุกคนไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการหรือชุมชนต้องมาร่วมกันทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าต่อไป

สุดท้ายนี้ ทุกคนจะเห็นได้ว่า...ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง ที่โลกมีความก้าวหน้า อย่างน้อยในทางความคิดที่จะส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มถดถอยของเสรีภาพทั่วโลกยังมีเสมอ ใครหลายคนไม่รู้จักปฏิญญาสากลด้วยซ้ำไปว่าคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? สิทธิของเราไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากเราโดนละเมิดสิทธิเมื่อไหร่เราจะเข้าใจว่าเหตุใดปฏิญญาฉบับนี้จึงสำคัญ

ย้ำเตือนว่า ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ฝ่ายเสรีนิยมยังมีงานต้องทำอีกมากในการต่อกรกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพที่แท้จริง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.