Posted: 24 Dec 2018 07:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-24 22:33
มาเลเซียเตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกโทษประหารในปีหน้า รมต. ต่างประเทศชี้ ต้องผลักดันเต็มที่ ไม่ครึ่งๆ กลางๆ กลุ่มกฎหมายในซาบาห์ระบุ การประหารไม่ได้ลดปัญหาการกระทำผิดลงแต่อย่างใด ทั้งยังขัดต่อสิทธิที่จะมีชีวิตในรัฐธรรมนูญ
24 ธ.ค. 2561 สำนักข่าวมาเลย์เมล์รายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกโทษประหาร จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปในช่วงประมาณวันที่ 11 มี.ค. - 11 เม.ย. 2562
เมื่อ 20 ธ.ค. 2561 มาเลย์เมล์รายงานคำพูดของดาโต๊ะ เลี่ยวหวิวเคี้ยง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ข้อมูลว่าการเตรียมร่างกฎหมายนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงรายละเอียดอีกเล็กน้อยที่ต้องตรวจทานซึ่งใช้เวลาไม่มาก มีบางประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยซึ่งก็ต้องพิจารณากันไป
ข้อมูลจากเดอะสตาร์ออนไลน์รายงานว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา การผลักดันกฎหมายนี้ทำโดยรัฐบาลท่ามกลางเสียงต่อต้านจากครอบครัวเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งในขณะนั้นเลี่ยวหวิวเคี้ยงได้กล่าวว่า “ผมเข้าใจความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อ แต่นี่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะล้างโทษประหารทั้งหมด” เขายังได้กล่าวที่รัฐสภาว่า การผลักดันนี้จะครึ่งๆ กลางๆ แบบยกเลิกโทษประหารในโทษอย่างหนึ่งแต่ยังคงโทษประหารไว้ในอีกกรณีหนึ่งไม่ได้ และสังคมควรเข้าใจว่าการยกเลิกโทษประหารไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการลงโทษใดๆ เลย เพราะยังมีโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับลงโทษผู้กระทำผิด
มาเลย์จ่อเลิกโทษประหาร ‘แอมเนสตี้ฯ’ ขยายปมสภาพรอความตายก็ทารุณพอกัน
ส่วนเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ฟรีมาเลเซียทูเดย์ รายงานว่า กลุ่มซาบาห์ลอว์โซไซตี้ (SLS) ได้ออกมาสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารเช่นกัน เบรนดอน โซะ ประธานกลุ่ม SLS กล่าวว่าสิทธิของการมีชีวิตนั้นมีอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งการพรากชีวิตโดยตั้งใจถือเป็นการละเมิดสิทธิข้อนี้ “โทษประหารนั้นขัดแย้งกับความหมายของมนุษยธรรม, เมตตา และความสูงส่งของชีวิต”
โซะยกคำกล่าวของเอียนจิน อดีตผู้พิพากษาศาลสูงซึ่งสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารที่กล่าวว่า ไม่มีระบบตุลาการใดในโลกนี้ที่จะรับรองว่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกพรากไป ซึ่งกรณีตัวอย่างในอเมริกา มีการตัดสินโทษประหารผิดพลาดต่อผู้บริสุทธิ์ถึง 83 กรณีในช่วงปี 2550-2560
ในกรณีของมาเลเซีย โซะกล่าวว่าการใช้โทษประหารในบางกรณีไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ในช่วงไม่ถึงสามสัปดาห์ ตัวเลขนักโทษเพิ่มขึ้น 5,225 ราย มีนักโทษประหารสองราย และเมื่อดูจากตัวเลขนักโทษทั้งหมด ร้อยละ 55 เป็นนักโทษจากคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด “ส่วนใหญ่พวกเขาต้องคดียาเสพติด ซึ่งต้องการการบำบัดมากกว่าการคุมขัง”
“แม้จะมีการใช้โทษประหาร อาชญากรรมและการขนส่งยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลงไป ที่จริงแล้ว การกระทำความผิดในคดีที่ยังมีการระบุโทษประหารก็ไม่ได้ลดลงเสียด้วยซ้ำ” โซะกล่าว
ในแง่ของการยกเลิกโทษประหาร เลี่ยวหวิวเคี้ยงกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจยกเลิกโทษประหาร 36 คดีในแปดกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมมาตรา 302 ในประมวลฎหมายอาญา กฎหมายปืนปี 2503 กฎหมายลักพาตัวปี 2504 กฎหมายกองกำลังติดอาวุธปี 2515 กฎหมายอุตสาหกรรมน้ำดื่มน้ำใช้ปี 2549 กฎหมายยุทธศาสตร์การค้าปี 2553 และกฎหมายยาอันตรายปี 2495
แปลและเรียบเรียงจาก
Minister: Bill to abolish death penalty to be tabled at next Dewan Rakyat sitting,Malay Mail, Dec. 20, 2018
Death penalty will be abolished, The Star Online, Oct. 1, 2018
Sabah lawyers support move to abolish death penalty, Free Malaysia Today, Dec. 19, 2018
แสดงความคิดเห็น