Posted: 27 Dec 2018 06:44 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-27 21:44


พสิษฐ์ วงษ์งามดี

ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาล คสช. เริ่มนโยบายแจกของขวัญวันปีใหม่ให้แก่คนไทย โดยการอุดหนุนเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำคนละ 500 บาท (ไทยรัฐ 2561) ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า คสช. เดินหมากเกมส์นี้เพื่อหวังชิงคะแนนเสียงจากชาวบ้านที่ยากจน ในขณะเดียวกันบางคนกลับกล้าพูดกว่านั้นและเปรียบเปรยว่าการแจกเงินครั้งนี้ของ คสช. ก็ไม่ต่างอะไรกับการซื้อเสียงจากชาวบ้าน

อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ได้มีฝั่ง คสช. ฝั่งเดียวเท่านั้นที่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ผมสังเกตว่าชาวบ้านที่เป็นผู้รับเงินเองก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน สำนักข่าวบางสำนักลงข่าวที่มีเนื้อหาทำนองว่า “ชาวบ้านพร้อมหนุนบิ๊กตู่กลับมาเป็นนายก” อาทิเช่น “500 บาท ต่อลมหายใจ!! ชาวราชบุรี ลั่น! จะขอมีนายกฯ ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์’” (ข่าวสด 2561ก) หรือ “แห่กดเงิน 500 บาท ที่รัฐบาลมอบให้ ชาวบ้านขอบคุณ “บิ๊กตู่” ที่ไม่ลืมคนจน” (ข่าวสด 2561ข) รวมถึงเพจและความเห็นต่างๆบน facebook ที่กล่าวถึงกรณีนี้อย่างกว้างขวาง



ถ้าถอดบทสนทนาบนโลก social media ออกมาเป็นคำพูดให้เข้าใจง่ายๆน่าจะได้ประมาณว่า "คนจนสุดท้ายแล้วพอได้เงินจาก คสช. ก็พร้อมจะเลือก คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลโดยไม่สนใจอะไร" ความเห็นเหล่านี้นอกจากจะวิจารณ์ว่า คสช. ซื้อเสียงแบบเนียนๆแล้ว ในขณะเดียวกัน (จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่) ก็ดูถูกคนจนกลายๆว่า “คนจนกำลังถูก คสช. หลอก”

หรือพูดอีกอย่างก็คือการแจกเงิน 500 บาทครั้งนี้ ทำให้วาทกรรมความ “โง่ จน เจ็บ” ของคนจนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งใน social media


วาทกรรมความ “โง่ จน เจ็บ” ของคนจนคืออะไร?

วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” คือชุดคำอธิบายว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยของไทยถึงไม่ก้าวหน้าเสียที โดยตัวร้ายของเรื่องก็คือคนยากจนในชนบท ชุดคำอธิบายนี้กล่าวว่าที่ประชาธิปไตยไทยไม่พัฒนาเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นคน “จน” ซึ่งขาดการศึกษา ทำให้พวกเขา “โง่” เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้จะถูกนักการเมืองขี้โกงหลอกให้ขายเสียงเพื่อแลกกับเศษเงินไม่กี่บาท สุดท้ายเมื่อนักการเมืองเหล่านั้นได้เข้าไปในสภาฯ ก็จะฉวยโอกาศนั้นโกงเงินและถอนทุนคืนจากชาวบ้าน จนสุดท้ายชาวบ้านก็ “เจ็บ” และต้องจมอยู่กับความ “จน” ต่อไป และพอถึงการเลือกตั้งสมัยหน้าวัฏจักรแห่งความ “โง่ จน เจ็บ” นี้ก็จะกลับมาอีก วนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายคนไทยทั้งหมด (รวมถึงคนที่ถือตัวเองว่า “ไม่จน” และ “ไม่โง่” ด้วย) ก็ต้องติดอยู่กับนักการเมืองขี้โกงตลอดไป (ประจักษ์ ก้องกีรติ 2555)

การแจกเงินของ คสช. ครั้งนี้ทำให้วาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” กลับมาหลอกหลอนผู้คนบนโลกอินเตอร์เน็ตอีกครั้ง บางคนเริ่มเห็นเค้าลางของความ “โง่ จน เจ็บ” โดยเริ่มจากการที่คนจนขาดการศึกษา เลยโดน คสช. ซื้อเสียงผ่านเงิน 500 บาท หลังจากนั้นคนจนที่เป็นคนส่วนมากของประเทศก็อาจจะไปเทคะแนนเสียงให้กับ คสช. จนสุดท้าย คสช. ได้กลับมาบริหารประเทศ และในอนาคตเมื่อการเลือกตั้งสมัยถัดไปมาถึง คสช. ก็อาจจะหันมาใช้กลยุทธ์แจกเงินเช่นนี้อีกครั้ง และชาวบ้านก็อาจจะกลับไปเลือก คสช. จนสุดท้ายเราอาจจะต้องอยู่กับ คสช. แบบนี้ไปอีกนาน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้วาทกรรมโง่จนเจ็บแพร่หลายมากในกลุ่มผู้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่คราวนี้วาทกรรมโง่จนเจ็บกลับถูกพูดถึงในฝ่ายที่ต่อต้าน คสช. แทน

กล่าวคือ ก่อนหน้านี้วาทกรรมโง่จนเจ็บโดนใช้เพื่อทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยว่าไม่เหมาะกับประเทศไทยเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยโง่ การเลือกตั้งจึงไม่มีคุณภาพ และเราจึงมีนักการเมืองขี้โกงอยู่เต็มสภา เพราะฉะนั้นการกลับไปเป็นระบบเผด็จการโดย “คนดี” จึงน่าจะเหมาะกับประเทศไทยมากกว่า

แต่ ณ ปัจจุบันฝ่ายที่ไม่เอา คสช. บางคนเริ่มแสดงความกังวลว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังจนและคงจะโดน คสช. หลอกต่อไป หรืออาจจะกังวลไปถึงขั้นว่าประชาธิปไตยไทยคงจะมาถึงจุดจบเสียแล้ว เพราะตัวร้ายที่ชื่อคนจน แต่ก่อน “โง่ จน เจ็บ” มาอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคง “โง่ จน เจ็บ” อยู่อย่างนั้น แตกต่างกันก็แค่เมื่อก่อนคนจนขายเสียงให้นักการเมือง แต่ปัจจุบันหันกลับมาขายเสียงให้ คสช. แทน

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อโต้แย้งว่า จริงๆแล้วผมไม่คิดว่าวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” จะยังใช้ได้อยู่กับคนจนในชนบทของไทย และการที่เราเห็นชาวบ้านบางคนออกมาบอกว่าพร้อมหนุน คสช. ให้กลับมาเป็นรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความโง่จนเจ็บของชาวบ้าน แต่อยู่ที่กติกาการแข่งขันทางการเมืองของ คสช. ในปัจจุบันที่ไม่เป็นธรรมต่างหาก


ชาวบ้านยัง “โง่ จน เจ็บ” อยู่จริงหรือ?


ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่าการที่ชาวบ้านออกมาสนับสนุน คสช. หลังจากได้รับเงิน 500 บาท คือหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนจนยังคงโง่จนเจ็บอยู่

แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่ “ไม่ฉลาดในทางการเมือง” เสมอไป โดยทั่วไปเรามักจะเชื่อกันว่าคนที่มีการศึกษาสูงจะเห็นความสำคัญของการเมือง และมีแรงจูงใจในการติดตามการเมืองมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บ่อยครั้งเราจะพบว่าคนจนมีแนวโน้มจะสนใจการเมืองมากกว่าคนชนชั้นอื่นเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากวิถีชีวิตของเขาได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐมากกว่า คนจนจำนวนมากลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้เพราะนโยบายรัฐ พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพานโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และในขณะเดียวกันพวกเขาก็สามารถสิ้นเนื้อประดาตัวได้จากนโยบายรัฐ เช่น การสร้างเขื่อนหรือสร้างโรงไฟฟ้าเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนจนจำนวนมากจึงมีความกระตือรือร้นทางการเมืองมากกว่าที่หลายๆคนเข้าใจ

ความรู้ทางการเมืองไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากห้องเรียน[1]เสมอไป หลายๆครั้งมันกลับมาจากการซุบซิบนินทากันในชุมชน หรือการคุยกันแบบสภากาแฟ

อันที่จริงแล้วมีงานวิจัยทางสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นว่าคนจนในชนบทไทยไม่ได้โง่จนเจ็บอีกต่อไปแล้ว โดยมีคำอธิบายมากมายหลายชุดถูกเสนอขึ้นมา ผมขอยกตัวอย่างดังนี้

คำอธิบายแรกกล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำให้คนจนจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาและเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆได้ พูดง่ายๆคือพวกเขาไม่ใช่คนจนแบบที่เรามักจะเห็นในละครไทยที่ปลูกข้าว เลี้ยงควาย กินอยู่อย่างพอเพียงอีกต่อไป แต่พวกเขากลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างที่มีความปราถนา (aspiration) อยากจะลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่สุขสบายมากขึ้น ประกอบกับการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น และต่างออกนโยบายมาแข่งขันกันเพื่อเอาใจประชาชน จึงทำให้กลุ่มคนที่เราเรียกเขาว่า “คนจน” เรียนรู้ว่า “การเมืองกินได้” และมีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูงขึ้นอย่างมาก (อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, และ นิติ ภวัครพันธุ์ 2556)

อีกชุดคำอธิบายหนึ่งกล่าวว่า การเลือกตั้งหลังปี 2540 เป็นต้นมามีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น มีการจัดคูหาในที่ปิดลับเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกมองเห็นว่าคนที่ไปใช้สิทธิกาบัตรเบอร์อะไร ความเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญมากเพราะมันเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรับเงินจากผู้สมัครมาแต่ไม่จำเป็นต้องเลือกผู้สมัครที่ให้เงินพวกเขา เช่น พรรค ก. เสนอเงินซื้อเสียงชาวบ้าน และชาวบ้านรับเงินพรรค ก. มา แต่พอเข้าคูหาไปแล้วชาวบ้านกลับเลือกพรรค ข. ซึ่งเป็นพรรคที่เขาชอบจริงๆ ต่อให้พรรค ก. ส่งคนไปดูก็จับไม่ได้อยู่ดีว่าชาวบ้านไม่ได้เลือกตนเอง นั่นทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้เป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้งอีกต่อไป เพราะพรรคที่ใช้เงินซื้อเสียงมาก ก็ไม่สามารถวางใจได้ว่าชาวบ้านจะเข้าคูหาไปกาพรรคของตน นั่นหมายความว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ใช่พรรคที่ให้เงินเยอะ แต่ต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายหรือเป็นผู้นำที่ถูกใจชาวบ้านนั่นเอง

นอกจากนี้ การเลือกตั้งที่โปร่งใสขึ้นยังทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ชาวบ้านจะรับผลประโยชน์ทั้ง 2 ทาง กล่าวคือ รับเงินจากพรรคการเมืองมาด้วยแต่พอเข้าคูหาแล้วกลับไปเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อตนมากกว่า เช่น ชาวบ้านเป็นชาวประมง แต่รับเงินมาจากพรรค ก. ที่ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการประมงเลย แต่พอเข้าคูหากลับไปเลือกพรรค ข. ที่มีนโยบายส่งเสริมการประมง สุดท้ายชาวบ้านจึงได้รับทั้งเงินและได้ทั้งนโยบายที่ชอบ

คำอธิบายเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้ “โง่ จน เจ็บ” อีกต่อไปแล้ว พวกเขามีแรงจูงใจที่จะติดตามข่าวการเมืองและอาจจะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าชนชั้นอื่นๆเสียด้วยซ้ำ แถมบางครั้งเป็นชาวบ้านเองต่างหากที่ช่วงใช้พรรคการเมืองเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตนเอง

เพราะฉะนั้นผมถึงไม่คิดว่าชาวบ้านจะถูก คสช. หลอกได้ง่ายๆตามที่หลายคนกังวลกัน การรับเงิน 500 บาทของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถึงการเลือกตั้งจริงๆชาวบ้านจะแห่กันไปเลือก คสช. เสมอไป

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า แต่จากเนื้อหาข่าวมีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุน คสช. หลังจากรับเงิน 500 บาทไป เราจะอธิบายเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร?

ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทางหลักๆ ทางแรกคือชาวบ้านเพียงแต่ตอบว่าจะสนับสนุน คสช. ไปตามมารยาทหรือแค่เพื่อเอาใจผู้ให้เงินเท่านั้น เมื่อถึงเวลาจริงาวบ้านอาจจะไปเลือกผู้สมัครรายอื่นก็ได้[2]

ความเป็นไปได้ที่สอง คือ ชาวบ้านตอบแบบนั้นเพราะจะออกไปเลือก คสช. จริงๆ!!!

อย่างไรก็ดีการที่ชาวบ้านจะไปเลือก คสช. นั้น ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขา “โง่ จน เจ็บ” เลยโดน คสช. หลอก แต่เป็นเพราะว่าชาวบ้านจำเป็นต้องออกไปเลือก คสช. เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว! หากท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆตัวในขณะนี้ มีพรรคการเมืองไหนบ้างที่มีนโยบายที่ชัดเจนพอให้ชาวบ้านได้รับไปพิจารณา? คำตอบคือไม่มีเลย!!! มีเพียง คสช. เท่านั้นที่อย่างน้อยก็มีมาตรการยิบย่อยออกมาให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านบ้าง

แต่สภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ คสช. เป็น “คนดี” เลยตั้งใจทำงานอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นเป็น “คนชั่ว” เลยไม่คิดจะช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้ามสภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะกติกาทางการเมืองอันไม่เป็นธรรมที่ คสช. สร้างขึ้นมาเองต่างหาก

กล่าวคือก่อนจะปลดล็อคทางการเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น บรรยากาศทางการเมืองและคำสั่งต่างๆของ คสช. ล้วนไม่เอื้อต่อพรรคการเมืองอื่นๆ (โดยเฉพาะพรรคที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับ คสช.) มีการสั่งห้ามมิให้พรรคการเมืองประชุมพรรค ไม่ให้หาเสียง และหากจะดำเนินการอะไรบางอย่างก็ต้องขออนุญาติ กกต. และ คสช. เสียก่อน

บรรยากาศทางการเมืองในลักษณะนี้ทำให้พรรคการเมืองต่างๆต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษเพราะกลัวว่า คสช. จะตีความว่าการกระทำของตนนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งของ คสช. และอาจจะโดนลงโทษเอาได้ จะแสดงความเห็นบนเฟสบุ๊ค ให้สัมภาษณ์ หรือเข้าร่วมงานสัมมนาบางอย่างก็ต้องพูดจาให้เป็นที่ถูกใจของ คสช. จะเสนอนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมก็ทำไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามการลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อชี้แจงนโยบาย และประชาสัมพันธ์ผลงานของ คสช. กลับไม่ถูกนับว่าเป็นการหาเสียงและสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

แม้ว่าในปัจจุบันมีการปลดล็อคพรรคการเมืองให้สามารถหาเสียงได้แล้ว แต่ระยะเวลาก่อนจะเลือกตั้งก็เหลืออีกไม่ถึง 2 เดือน แถมบรรยากาศทางการเมืองก็ยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควรจะเป็น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่แม้จะใกล้กำหนดวันเลือกตั้งแล้วแต่พรรคการเมืองอื่นๆก็ไม่สามารถออกนโยบายที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ทัน

ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้อำนาจแบบยิบย่อยของฝ่าย คสช. เพื่อให้ตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง เช่น การห้ามแจกปฏิทินที่มีรูปทักษิณและยิ่งลักษณ์ (ข่าวสด 2561ค) การไม่มีโลโก้พรรคบนบัตรเลือกตั้ง (ผู้จัดการ 2561ก) หรือการกำหนดให้พรรคการเมืองเดียวแต่มีหลายเบอร์ (ผู้จัดการ 2561ข) เป็นต้น

ภายใต้สภาวะเช่นนี้ตัวเลือกสุดท้ายของชาวบ้านก็คงเหลือเพียงแค่ คสช. เท่านั้น เพราะ คสช. เล่นใช้ทั้งมนต์ ทั้งคาถา ทั้งกลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้ตนได้เปรียบ แถมยังคอยขัดแข้งขัดขาพรรคอื่นๆไม่ให้สามารถวิ่งตามได้อีก

ถ้าหาก คสช. สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้จริง ผมก็คิดว่ามันไม่ใช่เพราะความ “โง่ จน เจ็บ” ของชาวบ้านแต่อย่างใด แต่เกิดจากกติกาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของ คสช. เองต่างหาก



เอกสารอ้างอิง

ข่าวสด (2561ก) 500 บาท ต่อลมหายใจ!! ชาวราชบุรี ลั่น! จะขอมีนายกฯ ชื่อ ‘พล.อ.ประยุทธ์’. ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1939100

ข่าวสด (2561ข) แห่กดเงิน 500 บาท ที่รัฐบาลมอบให้ ชาวบ้านขอบคุณ “บิ๊กตู่” ที่ไม่ลืมคนจน. ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1929654

ข่าวสด (2561ค) ด่วน! ‘ทหาร-ตร.’ ปฏิบัติการ บุกยึดปฏิทิน ‘แม้ว-ปู’ ลั่น รูปนักโทษหนีคดี ห้ามแจก!. ข่าวสดออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1787534

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ไทยรัฐ (2561) แจกเงิน 500 บาท คนจนเฮ ของขวัญปีใหม่. ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก: https://www.thairath.co.th/content/1425658

ประจักษ์ ก้องกีรติ (บรรณาธิการ) (2555) การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อํานาจ และพลวัตชนบทไทย. ฟ้าเดียวกัน.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2555) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง.

ผู้จัดการ (2561ก) กกต.เตรียมสรุปบัตรเลือกตั้ง หลังถูกถล่มไม่มีชื่อ-โลโก้พรรค. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก: https://mgronline.com/daily/detail/9610000122422

ผู้จัดการ (2561ข) “แยกเบอร์รายเขต” ไม่พรรคเดียวเบอร์เดียว “นักการเมือง” ดิ้นพล่าน งานนี้.... “ถูกลิขิต” มานะจ๊ะ. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก: https://mgronline.com/daily/detail/9600000081895

อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, และ นิติ ภวัครพันธุ์ (2556) ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.




[1] โดยเฉพาะในระบบการศึกษาของไทยที่ดูเหมือนจะสอนให้คนเพิกเฉยต่อการเมืองมากกว่าสนใจการเมือง


[2] ข้อคิดเห็นนี้ผู้เขียนได้มาจากการถกเถียงกับ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร จึงอยากขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.