Posted: 26 Dec 2018 12:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 15:28

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ที่มาภาพ: North Las Vegas Airport celebrates 75th birthday with open house reviewjournal.com

ผมใช้สนามบิน จอห์น เวย์น (John Wayne airport) ออเร้นจ์ เค้าน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย อยู่บางครั้ง บินไปมาจากลาสเวกัสไปหาเพื่อนที่ เมือง Irvine ออเร้นจ์ เค้าน์ตี้ แม้ไม่บ่อย แต่ก็สร้างความสะดวกสบายมากพอสมควรให้กับผู้คนจากลาสเวกัส ที่จะเดินทางไปเมืองต่างๆ ในเขตออเร้นจ์เค้าน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย ระยะเวลาบินก็ประมาณชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเอง พอกับบินไป LAX หรือสนามบินลอสแองเจลิส ของลอสอิงเจลลิส เคาน์ตี้

อเมริกามีสนามบินขนาดเล็กอย่างจอห์น เวย์น จำนวนมากกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ รองรับเครื่องบินโดยสารธรรมดา และเครื่องบินเอกชนหรือ private jet รวมถึงเครื่องบินขนส่งสินค้า ที่ทำให้สินค้ากระจายออกไปยังผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

John Wayne Airport มีจุดหมายปลายทางบิน ได้แก่ เมือง Phoenix (อริโซน่า) เมือง Seattle (วอชิงตัน) เมือง Denver (โคโลราโด) เมือง San Francisco (แคลิฟอร์เนีย เมือง Dallas (เท็กซัส) เมือง San Jose (แคลิฟอร์เนีย เมือง Oakland (แคลิฟอร์เนีย) เมือง Chicago (อิลินอยส์) เมืองSacramento (แคลิฟอร์เนียและ เมือง Las Vegas (เนวาดา) ที่ผมอยู่ จะเห็นได้ว่า เป้าหมายปลายทางของสนามบินจอห์น เวย์น ส่วนใหญ่ จะเป็นเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เอง ซึ่งเป็นรัฐเดียวกับรัฐอันที่ตั้งของสนามบินแห่งนี้ จึงเป็นการบินในภายในรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง

ขณะที่แคลิฟอร์เนียภาคใต้เองยังมีสามบินท้องถิ่น (Local Airport) อยู่อีกที่ ภายใต้การจัดการบริหารงานของแอล.เอ.เค้าน์ตี้ คือ สนามบิน Burbank สนามบินแห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีเที่ยวบินบินไปเมืองต่างๆ ในเขตแคลิฟอร์เนียหรือเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเขต แอล.เอ.มากนัก เช่น จากสนามบิน Burbank ไปยังสนามบิน San Jose ที่อยู่ทางเหนือของแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

ส่วนสายการบินที่มาลงที่สนามบินขนาดเล็กอย่าง จอห์น เวย์น นับว่าเป็นสายการบินขนาดใหญ่ของอเมริกันแทบทั้งสิ้น ได้แก่ United Airlines, American Airlines, Southwest Airlines, Alaska Airlines และ Delta Air Lines ไม่รวมสายการบินของเอกชนอเมริกันจำนวนมากที่บินมาจากฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของอเมริกามายังออเร้นจ์เค้าน์ตี้ เค้าน์ตี้ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นเค้าน์ตี้ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงเมือเทียบกับเคาน์ตี้อื่นๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย

อเมริกามีสนามบินขนาดเล็กแบบจอห์นเวย์จำนวนมาก เฉพาะในนครลาสกัส คลาร์คเคาน์ตี้เอง นอกจาก Mc Carran International Airport สนามบินประจำเมืองลาสเวกัสแล้วยังมีสนามบินนอร์ธลาสเวกัสที่เป็นสนามบินขนาดเล็กที่อยู่ทางด้านเหนือของเขตลาสเวกัสสตริพ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับงานการบินพาณิชย์ของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละเคาน์ตี้ ถือเป็นการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละที่นั้นๆ

แปลว่า รัฐบาลท้องถิ่นตั้งแต่ซิตี้ยันเค้าน์ตี้และสเตท (รัฐ) ในอเมริกาให้ความสำคัญกับสนามบินขนาดเล็กอย่างมาก มันเป็นสถานที่เพื่อการพาณิชย์ที่เป็นที่มาแหล่งรายได้ของท้องถิ่นที่สำคัญ

ผลของการกระจายอำนาจการปกครองของรัฐอเมริกัน ทำให้ท้องถิ่นอเมริกันสามารถยืนอยู่บนลำแข้งลำขาของตนเองได้โดยไม่ยาก ธุรกิจสนามบินขนาดเล็กสามารถสร้างรายได้และงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล ไม่รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องอีกจำนวนมาก

นอกจากการอนุมัติปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไทยเรายังอืดอาดในเรื่องการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานคือสนามบินขนาดเล็กและทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสไปมากมาย เพราะต้องไม่ลืมว่าในอนาคตการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นสิ่งจำเป็น และถือเป็นเรืองปกติ เอกชนมีกำลังซื้ออากาศยานเอาไว้งานเพื่อการธุรกิจกันเป็นจำนวนมาก

การวางโครงสร้างพื้นฐาน 2 ประการที่เหมาะสม คือ สนามบินขนาดเล็กตามเมืองต่างๆ กับโรงเรียนการบินพลเรือน ตลอดถึงโรงเรียนธุรกิจการบินเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขี้นอย่างเร่งด่วนในเวลานี้

ที่สำคัญคือเทศบาลของเมืองใหญ่ๆ หรือท้องถิ่นที่มีกำลังทุนน่าจะเป็นผู้สามารถลงมือสร้างสนามบินของพวกเขาเอง เพื่อเป็นที่มาของรายได้ของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากการขนส่งผู้โดยสารเมืองต่อเมืองแล้ว การขนส่งสินค้าก็สะดวกรวดเร็ว เข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วมากขึ้น ไม่รวมถึงธุรกิจด้านการแพทย์หรือการสาธารณสุขการขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลที่พวกเขาต้องการจะไปก็สามารถบริการได้อย่างทันท่วงทีเช่นเดียว

เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการธุรกิจการบินบางคน เขาบอกผมว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลงทุนธุรกิจการบินแบบดังกล่าว ซึ่งก็คือการบินพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยเอกชน อย่างน้อยเวลานี้กลุ่มบริษัทซีพี ก็มีความคิดและความพร้อมที่จะหันมาทำธุรกิจการบินประเภทดังกล่าว โดยเฉพาะแอร์คาร์โก้ระหว่างจังหวัด

ความล่าช้าของภาครัฐจึงอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการทำธุรกิจการบินทั้งในประเทศและภูมิภาค เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีสนามบินขนาดไม่ใหญ่จำนวนไม่น้อยกระจายอยู่ทั่วและกำลังจะสร้างใหม่อีกจำนวนหนึ่ง การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างเมือง (ระหว่างประเทศ) และสินค้าก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การอ้างเรื่องความใกล้กันของสถานที่ก่อสร้างสนามในแต่ละจังหวัด จึงอาจใช้ไม่ได้ ถ้าพิจารณาจากเทรนด์ของธุรกิจการบินในอนาคต เรา (ท้องถิ่น (อบต.เทศบาล) /รัฐบาลกรุงเทพ) สามารถพิจารณาเพื่อก่อสร้างสนามบินขนาดเล็กประจำจังหวัด ได้เกือบทุกจังหวัด รองรับการเติบโตของธุรกิจการบินในอนาคต เพราะเครื่อง private jet ไม่จำเป็นต้องใช้สนามบินขนาดใหญ่

แบบจำลองสนามบินในเมืองไทยในจังหวัดต่างๆ ที่มีอยู่ ณ เวลานี้จึงใช้ไม่ได้ แบบอย่างการสร้างสนามบินขนาดเล็กที่ดี ควรพิจารณาหรือนำความรู้ประกอบมาจากความใกล้ในระยะรัศมี 20-30 ไมล์จากแมคแคเรน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ลาสเวกัส ถึงสนามบินนอร์ธลาสเวกัส เขายังบินกันได้

เพราะฉะนั้นปัญหาหรือคำถามต่อการสร้างสนามบินอย่างเช่น สนามบินพัทลุง ที่ว่าสนามบินพัทลุงอยู่ในระยะใกล้กับสนามบินตรังและสนามบินหาดใหญ่มากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อระบบการบิน? ก็เป็นอันหมดไปได้

การเตรียมตัวในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินจึงเป็นสิ่งจำเป็นละควรเร่งทำเสียในตอนนี้ คิดว่านักการเมืองไทย ที่กำลังหาเสียงอยู่ในขณะนี้น่าจะเข้าใจดีและมีวิสัยทัศน์ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร พรรคการเมืองน่าจะชูเป็นนโยบายได้ด้วยซ้ำ

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคม แต่คิดว่ากระทรวงคมนาคม สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะลงมือศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงเสียที

ไม่ได้ปฏิเสธ Hi Speed Train หรือรถไฟความเร็วสูง (ซึ่งน่าจะต้นทุนสูงด้วย) แต่สายการบินเสรี คู่กับธุรกิจสนามบินขนาดเล็ก สำหรับการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกรุงเทพ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ รวมถึงกระจายความเจริญไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยได้อย่างมาก

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.