Posted: 25 Dec 2018 09:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 00:38
ห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าว ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้นับระยะเวลารวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และกำหนดโทษของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี ให้มีการร่วมสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนและอัยการในคดีบางประเภท ขณะที่คดีที่พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เมื่อผู้เสียหายหรือผู้กล่าวหาร้องขอ อัยการที่มีเขตอำนาจในการสอบสวนคดี ฯลฯ
25 ธ.ค.2561 วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นั้น ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
นอกจากนี้ยังให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งรัดดำเนินการจัดทำ แผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม ร่าง พ.ร.บ. แล้วแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปไว้ดังนี้
1. ห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือจัดให้บุคคลดังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่สร้างความเสียหายแก่บุคคลเกินสมควรเมื่อเทียบกับความจำเป็นของรัฐ
2. ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และกำหนดโทษของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว
3. กำหนดให้สามารถร้องทุกข์นอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ได้ และให้พนักงานสอบสวนส่งคำร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจโดยเร็ว
4. กำหนดให้มีการร่วมสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในคดีบางประเภท
5. ในคดีที่พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เมื่อผู้เสียหายหรือผู้กล่าวหาร้องขอ พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจในการสอบสวนคดีอาจแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือรับทำการสอบสวนเอง โดยอาจแจ้งให้พนักงานสอบสวนเข้าร่วมทำการสอบสวนคดีนั้นได้
6. กำหนดให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้ อย่างต่อเนื่องไว้ ในการถามคำให้การหรือสอบปากคำผู้ต้องหาในคดีที่มีข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
7. กำหนดให้พนักงานสอบสวนอาจเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการในการกันผู้ต้องหาคนหนึ่งคนใดไว้เป็นพยาน หรือในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นสมควร เพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวน และเพื่อให้มีพยานหลักฐานนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นที่ได้กระทำความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่าผู้บงการหรือตัวการสำคัญ
8. ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการในกรณีอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ส่งสำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองวันก่อนวันครบกำหนดขังผู้ต้องหาครั้งสุดท้าย และในกรณีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ส่งสำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่วันก่อนครบกำหนดขังผู้ต้องหาครั้งสุดท้าย เพื่อให้สามารถดำเนินคดีได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
9. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหา และกำหนดให้ในกรณีปรากฏพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในสำนวนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องโดยมีพยานหลักฐานว่ามีบุคคลอื่นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในสำนวนใด ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนบุคคลนั้นซึ่งปรากฏตามสำนวนว่าเป็น ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเป็นผู้ต้องหาเพิ่มเติมในสำนวนนั้นได้
10. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีอาญาในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ กรณีใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. นั้น ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เช่นกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปประกอบการพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ) รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จใน การพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินคดี แต่ทั้งนี้จะให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินการโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ ไม่ว่าทางใด
2. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีระบบติดตามตรวจสอบ หรือแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ โดยจะต้องเป็นระบบที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
3. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และให้ผู้รับผิดชอบดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน และแจ้งผลการตรวจสอบ รวมทั้งเหตุแห่งความล่าช้าไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง
4. กำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติระยะเวลาของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในกรอบระยะเวลา พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนทราบทุกปี
5. กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ว่าเป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม ตลอดจนวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรให้มีมาตรการเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานโดยเร็ว ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี
แสดงความคิดเห็น