Posted: 24 Dec 2018 10:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-25 01:23


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ 4 รมต. ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้ง 'ประยุทธ์' หากถูกเสนอชื่อป็นหนึ่งในรายชื่อของบุคคลที่จะเป็นนายกฯในนามของพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ควรลาออกจากหัวหน้า คสช. และตำแหน่งนายกฯ ด้วย

25 ธ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 ธ.ค.61) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ถึงบทบาทของรัฐบาล, ก.ก.ต., พรรคการเมือง และภาคประชาชนต่อการเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้ รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ที่เป็นแกนนำของพรรคการเมืองลาออกจากตำแหน่งโดยพลัน หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ถูกเสนอชื่อป็นหนึ่งในรายชื่อของบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ควรลาออกจากหัวหน้า คสช. และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

ครป. ประเมินด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง การซื้อขายเสียงล่วงหน้า ทั้งในรูปแบบนโยบายประชานิยมที่แฝงเร้นไปกับนโยบาย แลโครงการของรัฐ การซื้อขายเสียงโดยตรง และการทุจริตการลงคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น ครป. ขอเรียกร้องให้ ก.ก.ต. ติดตาม เฝ้าระวัง พฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ :

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
เรื่อง บทบาทของรัฐบาล, ก.ก.ต., พรรคการเมือง และภาคประชาชนต่อการเลือกตั้ง

นับจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องและขอแสดงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อบทบาทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

1. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะผู้บริหารปกครองประเทศ ทั้ง คสช. และ ครม. ยังคงมีอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการออกกฎหมายและบริหารประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นรัฐบาลรักษาการตามบรรทัดฐานที่พึงจะเป็นในช่วงที่มีการเลือกตั้งประกอบกับมีรัฐมนตรีบางคนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรค และพรรคนี้มีท่าทีในการสนับสนุนหัวหน้า คสช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง จึงทำให้เกิดความเปราะบางต่อการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐในทางที่อาจสร้างความได้เปรียบและเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้โดยง่าย

ดังนั้น เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดความเป็นธรรมและมีความเที่ยงธรรม ครป.จึงขอเรียกร้องให้ คสช. และ ครม.วางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ในการนี้ ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีทั้ง 4คน ที่เป็นแกนนำของพรรคการเมืองลาออกจากตำแหน่งโดยพลัน และในอนาคตหากมีการเสนอชื่อ หัวหน้า คสช. เข้าไปเป็นหนึ่งในรายชื่อของบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ครป. ขอเรียกร้องให้ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อลาออกจากหัวหน้า คสช. และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรดูแลจัดการเลือกตั้งต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม ในสถานการณ์เลือกตั้งปัจจุบัน มีระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ซึ่งประชาชนจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

ครป. ขอเรียกร้องให้ กกต. ดำเนินการประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับอย่างกว้างขวาง เข้มข้นและต่อเนื่อง อนึ่ง ครป.ประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การใช้อำนาจรัฐในทางที่มิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง การซื้อขายเสียงล่วงหน้า ทั้งในรูปแบบนโยบายประชานิยมที่แฝงเร้นไปกับนโยบาย แลโครงการของรัฐ การซื้อขายเสียงโดยตรง และการทุจริตการลงคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น ครป. ขอเรียกร้องให้ กกต. ติดตาม เฝ้าระวัง พฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด และหากผู้ใดมีพฤติกรรมที่ส่อว่าละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กกต. ควรดำเนินการตรวจสอบโดยพลันและจริงจังเพื่อให้ทันสถานการณ์ ทั้งนี้ จักต้องดำเนินการอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบกันไปด้วย

3. พรรคการเมืองจะต้องหาเสียงด้วยนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้จริง นโยบายการพัฒนาประเทศเชิงสร้างสรรค์ และนโยบายที่สร้างความเป็นธรรมทุกด้านแก่ประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติทั้งในระยะสั้น และระยะยาว และเป็นนโยบายที่ไม่สร้างผลกระทบในทางลบ หรือสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง หรือความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต การหาเสียงที่พึงยุติ และไม่ควรให้เกิดขึ้นคือ การหาเสียงด้วยการกล่าวหาโจมตีซึ่งกันและกัน ด้วยข้อมูลเท็จ การโฆษณาชวนเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือในสิ่งที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศในระยะยาว และการหาคะแนนเสียงด้วยการทุจริตเลือกตั้งทุกรูปแบบ

4. ประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนจาก “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งธรรมดา” เป็น “พลเมืองที่กระตือรือร้น” หรือ เปลี่ยนจาก “ผู้ตั้งรับทางการเมือง” เป็น “ผู้ปฏิบัติการเชิงรุกทางการเมือง” จากบทเรียนการเมืองที่ผ่านมา ในการกำหนดนโยบายพรรคการเมือง มักกำหนดนโยบายแบบฉาบฉวย คิดเอง ประเมินเอง และมีลักษณะเชิงประชานิยม เพื่อหวังชนะเลือกตั้งเป็นหลัก ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายนั้น ก็กระทำในเชิงพิธีการเท่านั้น ครั้นเมื่อได้อำนาจรัฐและเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคการเมือง ก็มักละเลยสัญญาประชาคม โดยใช้นโยบายบริหารประเทศ ในทิศทางที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาด มากกว่าตอบสนองความต้องการของประชาชน ส่วนนโยบายที่มีการนำไปปฏิบัติเพื่อตอบสนองประชาชนก็มีบ้าง แต่มักเป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งตอบสนองเฉพาะประชาชนที่เป็นฐานเสียงของตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่คนทั้งปวง และมักสร้างความเสียหายแก่ประเทศ

ครป. จึงขอเสนอต่อภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มสาธารณะประโยชน์ กลุ่มชนเผ่า กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กลุ่มพื้นที่ และกลุ่มอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ ร่วมกันลุกขึ้นมาเป็น “ผู้ปฏิบัติการทางการเมืองในเชิงรุก” ทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง โดยมีแนวทางดำเนินการนำเสนอเพื่อพิจารณาดังนี้

4.1 ประชาชนในแต่ละกลุ่มอาชีพ หรือพื้นที่นัดหมาย และร่วมตั้งวงเสวนา หรือสนทนากัน ภายในกลุ่มเกี่ยวกับปัญหาความต้องการของกลุ่มตนเองให้ชัดเจน

4.2 ร่วมระดมสมองคิดค้นแนวทาง หรือมาตรการในการแก้ปัญหาของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และการพัฒนาในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน

4.3 นำแนวทางและมาตรการที่ตกผลึกทางความคิดแล้ว เสนอต่อพรรคการเมืองแต่ละพรรค และถามความคิดเห็นและจุดยืนของพรรคการเมืองเหล่านั้นว่า มีความเห็นต่อแนวทางและมาตรการของประชาชนอย่างไร

4.4 นำข้อสรุปที่ได้รับจากพรรคการเมืองเผยแพร่แก่มวลสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคการเมืองใด

4.5 หลังการเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล ภาคประชาชนควรติดตามการบริหารประเทศของพรรคการเมืองเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องว่า ได้กระทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนมากน้อยเพียงใด ในการนี้ภาคประชาชนสามารถสร้างกลไกการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการไปทวงถามโดยตรงที่ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ ที่ทำการพรรค หรือ ที่บ้าน ส.ส.ของพรรค

5. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางการเมืองในเชิงรุกของภาคพลเมือง ครป.ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ จัดให้มี “โครงการสมัชชาประชาชนเพื่อกำหนดทิศทางประเทศไทย” ระดมข้อเสนอเนื้อหาความต้องการของประชาชน จัดทำ “คู่มือการเลือกตั้งฉบับประชาชน”เปรียบเทียบข้อเสนอของประชาชนกับนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค รณรงค์ทางสื่อสาธารณะ พร้อมจัดเวที “สมัชชาประชาชน 4 ภาค” ร่วมกับองค์กรประชาธิปไตย องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชน “สร้างสัญญาประชาคมกับพรรคการเมือง”พร้อมกำหนดมาตรการติดตามและตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้ข้อเสนอของภาคประชาชนได้รับปฏิบัติต่อไป

ท้ายที่สุด ครป.เห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และการบริหารบ้านเมือง หลังจากนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ทางสาธารณะ นำเสนอความต้องการ ติดตามและตรวจสอบ การทำงานของพรรคการเมืองและรัฐบาลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในที่สุด

ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน

แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) / แถลงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.