Posted: 25 Dec 2018 08:43 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-25 23:43
ศาลสั่งเหมืองทองทุ่งคำ จ่ายค่าเสียหายกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย 6 คน คนละ 170,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง คนละ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีคนละ 90,000 บาท หลังตัดสินชาวช้านชนะคดีฟ้องกลับ
25 ธ.ค. 2561 เฟสบุ๊คแฟนเพจเหมืองแร่เมืองเลย V2 เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เดินทางมาที่ศาลจังหวัดเลย พร้อมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และทนายความจากศูนย์กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีชาวบ้านฟ้องกลับคดีซุ้มประตู กรณีต่อเนื่องจากที่เหมืองทองคำฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 50 ล้านบาทจากการทำป้าย หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง และปิดเหมืองฟื้นฟู ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน
จากคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีซุ้มประตู 50 ล้าน กับตัวแทนชาวบ้าน 6 คน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องและให้บริษัททุ่งคำฯ จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมแก่ทนายของชาวบ้านเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท จากนั้นชาวบ้านจึงฟ้องกลับบริษัทฯข้อหาละเมิดพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ
เวลา 10.30 น. ทนายความสรุปผลคดีในวันนี้ว่า การขึ้นป้ายปิดเหมือง-ฟื้นฟู และป้ายหมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและสงบในการแสดงความคิดเห็น จากการที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบและเรียกร้องให้หน่วยงานมาดูแลและเยียวยา เพราะฉะนั้นการที่ชาวบ้านขึ้นป้ายเป็นสิทธิที่ชาวบ้านทำได้
การขึ้นป้ายปิดเหมือง-ฟื้นฟู และป้ายหมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง ทำให้จำเลยเสียหาย 50 ล้าน ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ศาลเห็นว่า กรณีนี้ทางโจทก์ได้นำสืบอย่างชัดเจน และมีพยานหลักฐาน โดยมี ดร.อาภา หวังเกียรติ มาเบิกความในฐานะนักวิชาการและฐานะอนุกรรมการฯ ที่เบิกความว่า จำเลยรับรู้และรับทราบมาโดยตลอดว่าจำเลยประกอบกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และบริษัทก็รับทราบจากการประชุมว่ามีข้อเสนอให้ปิดเหมืองฟื้นฟู
ดังนั้นน่าเชื่อว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่าการติดป้ายเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่จำเลยกลับนำคดีมาฟ้องต่อศาล เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า จำเลยไม่สามารถนำสืบได้เลยว่า เสียหายยังใงและทำให้ถูกเกลียดชังยังใง แต่ในทางกลับกันกลับปรากฏว่าตอนที่จำเลยมาฟ้องคดีต่อโจทก์ จำเลยหยุดประกอบกิจการอยู่แล้ว เพราะใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าหมดไปแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ศาลเห็นว่า การที่เอาพยานเพียงปากเดียวมาเบิกความและไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มาแสดง แม้ว่าการใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีต่อศาล เป็นสิทธิตามกฏหมายที่ให้อำนาจไว้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลที่มุ่งหมายหรืออาจจะนำมาซึ่งให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย โดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือกำบังกลั่นแกล้งคนอื่น ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีนี้จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 6 คน
ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้ง 6 คน คนละ 170,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง คนละ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีคนละ 90,000 บาท
แสดงความคิดเห็น