Posted: 20 Dec 2018 08:15 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-12-20 23:15
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ‘ทนายจูน’ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รับรางวัลสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมฝรั่งเศส-เยอรมัน ในฐานะบุคคลผู้มีผลงานอันโดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เจ้าตัวย้ำ เลือกตั้งที่จะมาถึงภายใต้การควบคุมของ คสช. ไม่ได้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนหลักนิติรัฐในประเทศไทย แต่ยังต้องทำงานเป็นกระบวนการ ต้องต่อสู้อยู่ทุกวัน ต้องมีพันธกิจตลอดชีวิต และต้องต่อสู้ไปอีกหลายทศวรรษจนถึงช่วงของคนรุ่นอนาคต
20 ธ.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและเยอรมนีทำพิธีมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมฝรั่งเศส-เยอรมัน (The Franco-German Prize for Human Rights and the Rule of Law) ประจําปี 2561 แก่ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ‘ทนายจูน’ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะบุคคลผู้มีผลงานอันโดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อยกย่องในความทุ่มเทและการอุทิศตนให้กับการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
หลังรับรางวัล ศิริกาญจน์ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและเยอรมนี ทูต เพื่อนร่วมงาน ครอบครัวและมิตรสหาย ที่มอบรางวัลให้และมีส่วนในรางวัลดังกล่าว โดยมีรายละเอียดคำกล่าวดังนี้
“ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นการยกย่องคุณค่าสากลของสิทธิมนุษยชนและความสำคัญของหลักนิติรัฐ อันเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
รางวัลนี้ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญ ไม่ใช่ต่อตัวดิฉันเท่านั้น หากยังรวมถึงพวกเราทั้งหมดที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องเผชิญความยากลำบาก และต่อสู้เพื่อสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้สำหรับทุกคน ทั้งสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ถูกพรากและทำลายอย่างมาก นับแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีโดยรัฐบาลทหาร เราได้พบเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า นิติรัฐที่พังทลายในสังคมไทย ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาล คสช. เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เราต้องก่อร่างสร้างหลักนิติรัฐให้มั่นคงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราตระหนักดีว่าไม่ใช่งานง่าย และไม่อาจทำงานนี้ได้สำเร็จเพียงลำพัง
รางวัลนี้จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ประชาคมระหว่างประเทศและหน่วยงานการทูตให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน และการหนุนเสริมหลักนิติธรรม
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แรงสนับสนุนเช่นนี้จะดำรงสืบเนื่องต่อไป พร้อมกับการต่อสู้ของเราเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ในช่วงก่อนและภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 หากไม่มีการเลื่อนไปอีก เนื่องจากรัฐบาลทหารได้กำหนดระบอบการเมืองของตนโดยการออกประกาศคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งจะยังสร้างผลกระทบต่อไปในสังคมไทย แม้รัฐบาลทหารจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
การเลือกตั้งที่จะมาถึงซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. ไม่ได้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนหลักนิติรัฐในประเทศไทย เรายังต้องทำงานเป็นกระบวนการ ต้องต่อสู้อยู่ทุกวัน ต้องมีพันธกิจตลอดชีวิต และต้องต่อสู้ไปอีกหลายทศวรรษจนถึงช่วงของคนรุ่นอนาคต
ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระ 70 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เราต่างต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น และเราจะไม่ยอมถอยหลัง เพราะเราตระหนักว่า สิ่งที่ทำไม่ได้เป็นเพียงการคุ้มครองประโยชน์ในวันนี้ หากหมายถึงการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ภารกิจของเรายังไม่สิ้นสุด และเราหวังว่าจะมีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการต่อสู้ที่ไม่ยุตินี้ต่อไป ขอบคุณ”
'ทนายจูน' จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เตรียมรับรางวัลผู้หญิงกล้าหาญ จากรัฐบาลสหรัฐ
ยังพิจารณาอยู่ อัยการเลื่อน 'ทนายจูน' ฟังคำสั่งครั้งที่ 8 คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐาน
ทนาย 'ศิริกาญจน์ เจริญศิริ' รับรางวัล Lawyers for Lawyers ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลด้วยว่า ศิริกาญจน์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อดําเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งรวมถึงกรณี 14 นักศึกษา จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จนทําให้ศิริกาญจน์ต้องกลายเป็นผู้ที่ถูกดําเนินคดีทางอาญาถึง 3 คดี จากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในศาลทหารกรุงเทพ หนึ่งในนั้นคือการถูกกล่าวหาภายหลังว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับกลุ่มนักศึกษา ทำให้ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และอาจถูกดำเนินคดีในศาลทหารเช่นเดียวกัน
สำหรับรางวัลสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมฝรั่งเศส-เยอรมัน (The Franco-German Prize for Human Rights and the Rule of Law) เป็นรางวัลประจำปีที่มอบโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส แก่บุคคลผู้มีผลงานอันโดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมจากทั่วโลกตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
ในปี 2561 มีผู้ได้รับรางวัลจากทั่วโลกรวม 15 คน ได้แก่ 1. Mr.Yu Wensheng (จีน), 2. Ms.Aminata Traoré (โกตดิวัวร์ ), 3. Mr.Mohamed Lotfy (อียิปต์), 4. Mr.Alfredo Okenve (อิเควทอเรียลกินี), 5. Mr.Nityanand Jayaraman (อินเดีย), 6. Ms.Chak Sopheap (กัมพูชา), 7. Ms.Hessen Sayah Corban (เลบานอน), 8. Ms.Mekfoula Mint Brahim (มอริทาเนีย), 9. Mr.Daoud Nassar (ปาเลสไตน์), 10. Ms.Liz Chicaje Churay (เปรู), 11. Mr.Oyub Titiev (รัสเซีย), 12. Ms.Vuyiseka Dubula-Majola (แอฟริกาใต้), 13. Mr.Anwar al Bunni (ซีเรีย), 14. Ms.Susana Raffalli Arismendi (เวเนซุเอลา). และ 15. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ไทย)
แสดงความคิดเห็น