Posted: 18 Dec 2018 04:10 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-18 19:10


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลงานดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภค กว่า 111 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องทุกพรรคออกกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถป้องกันปัญหาผู้บริโภคได้


18 ธ.ค.2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าจากการดำเนินการช่วยเหลือด้านคดีความของศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้ให้ความช่วยเหลือดำเนินคดี จำนวน 577 คดี โดยเป็นคดีช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 207 คดี คดีผู้บริโภคเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาต่างๆ จำนวน 181 คดี และคดีผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจประกัน จำนวน 61 คดี และคดีปกครอง คดีแบบกลุ่ม คดีอาญา คดีละเมิดทั่วไป อีก 128 คดี

ในปี 2561 มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านคดี จำนวน 26 คดี ซึ่งมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำนวน 17 คดี รวมเป็นมูลค่าความช่วยเหลือ 111,155,797 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการเยียวยา จำนวน 23 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายในกรณีถูกฟ้องคดี จำนวน 87 ล้านบาท โดยมี 1 คดี ที่ศาลไม่อนุญาตให้ฎีกา

เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า จากการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านคดีในปีที่ผ่านมา ทั้งหมด 26 คดี พบว่า มีคดีที่ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาความเสียหายเชิงลงโทษจากศาลจังหวัดจันทบุรี และคดีที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย นอกจากจะได้รับค่าเสียหายเป็นมูลค่าจำนวนเงินแล้วยังมีการกำหนดสงวนสิทธิ์การรักษาพยาบาลในอนาคตให้ถึง 5 ปี รวมถึงชนะคดีในกรณีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นจำเลยจากการใช้สิทธิร้องเรียนของตนเอง เช่น คดีบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องผู้บริโภคว่าใช้สิทธิเกินส่วนเรียกค่าเสียหาย 84 ล้านบาท หรือคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถูกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก็อดจิ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ‘เสื้อลายคายมาจิ’ เป็นลิขสิทธิ์ของ มพบ. และทำเพื่อรณรงค์เรื่องพลังงานในประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ส่วนศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ ปตท. ฎีกา

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มูลนิธิฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกรณีประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐวิสาหกิจ รวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งศาลยกฟ้องเพราะเหตุว่ามูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้เสียหาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ โดยมูลนิธิฯ คาดหวังว่าจะสามารถเป็นผู้เสียหายในการป้องปรามการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

เฉลิมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคดีที่ดำเนินการฟ้องร้องไปนั้น ถึงแม้จะมีผลคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถบังคับคดีได้ เช่น คดีฟ้อง กทม. ที่อนุญาตให้มีการสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายในซอยร่วมฤดี ที่ผ่านมา กว่า 4 ปี ยังไม่สามารถบังคับคดีได้ หรือคดีที่ฟ้องหน่วยงานรัฐ เช่น บขส. หรือ ขสมก. ถึงแม้ว่าจะมีผลคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดแล้ว ผู้บริโภคก็ยังไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย จะต้องดำเนินการบังคับคดีไปยึดหรืออายัดทรัพย์สิน จึงจะได้รับเงินชดเชยความเสียหายตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นภาระกับผู้บริโภคทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องรอนานกว่าจะได้รับมาซึ่งความเป็นธรรม

กฤษฎา กิตติพันธ์เลิศ ผู้เสียหายกรณีซอยร่วมฤดี กล่าวว่า จากการฟ้องคดีมากว่า 9 ปี และมีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีการดำเนินการรื้อถอนใดๆ จึงอยากตั้งคำถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง ว่าหากเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ แต่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันจนเกิดความเสียหาย จะมีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และถูกบริษัท มาสด้าฯ ฟ้องคดี กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของให้ถึงที่สุด นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้มีการเร่งออกกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า (Lemon Law) เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไป

โสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มพบ. กล่าวว่า คดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ
รถตู้โดยสารที่จังหวัดจันทบุรี จนมีผู้เสียชีวิตถึง 25 รายนั้น ขอชื่นชมศาลจังหวัดจันทบุรีที่ได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ ร่วมจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 21,636,125 บาท และได้มีคำพิพากษาเชิงลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่เรียกร้องไปอีกจำนวนครอบครัวละ 500,000 บาท

ศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ฟ้องคดีกลุ่ม 3 คดี ได้แก่ คดีเครื่องสำอางอันตรายเพิร์ลลี่ คดีกระทะโคเรียคิง และคดีปัดเศษค่าโทรวินาที พบว่า ยังมีคำสั่งที่แตกต่างกันระหว่างคดีที่ดำเนินการโดยมูลนิธิฯ กับภายนอก ว่าสมาชิกกลุ่ม หมายถึง ผู้ฟ้องคดีเท่านั้นหรือสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายทั้งหมด เช่น คำพิพากษาในคดีกลุ่มกรณีรถยนต์ฟอร์ด ที่กำหนดเงื่อนไขของสมาชิกที่จะให้ได้รับความคุ้มครองเฉพาะกลุ่มที่มีรายชื่อเป็นผู้เสียหาย ขณะที่คดีเครื่องสำอางอันตรายเพิร์ลลี่มีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยกำหนดสมาชิกกลุ่มให้เป็นผู้เสียหายทั้งหมด ซึ่งมูลนิธิฯ คาดหวังว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งหมด

สามารถ อรรถกฤษณ์ ผู้เสียหายกรณีกระทะโคเรียคิง กล่าวว่า ในชั้นไต่สวนคดีแบบกลุ่มคดีนี้ พบว่า
มีความล่าช้า ซึ่งเกิดจากการเลื่อนคดีบ่อยครั้งและไม่ได้มีการนัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเกิดภาระค่าใช้จ่าย คาดหวังว่าคดีแบบกลุ่มควรจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและศาลจะรับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม เพราะหากให้ผู้บริโภคแต่ละรายไปดำเนินคดีด้วยตนเองจะเกิดความยุ่งยาก



วชิร พฤกษ์ไพบูลย์ ทนายความทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ.
กล่าวว่า การทำคดีทางการแพทย์นั้นพบความยุ่งยากเรื่องพยานที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเวชระเบียนซึ่งเป็นเอกสารที่อยู่กับโรงพยาบาลฝ่ายเดียวทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลในเวชระเบียนตรงกับการรักษาในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือไม่ รวมถึงกระบวนการของศาลที่กำหนดประเด็นให้ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ฟ้องสืบพยานก่อน ทั้งที่ควรเป็นฝ่ายจำเลยสืบพยานก่อนเพื่อให้ผู้เสียหายแก้ต่าง และหวังว่าจะไม่มีการทำกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์เพื่อสร้างภาระให้ผู้บริโภค

เยาวภา จำรัสสมบูรณ์ ผู้เสียหายกรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส กล่าวว่า ผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมที่ท้ายที่สุดจับได้เพียงเทรนเนอร์ของบริษัท แทนที่จะเป็นเจ้าของบริษัท ขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทบทวนผู้ที่มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกคนที่เป็นผู้ใช้บริการและเสียหายจากกรณีนี้



วันทอง ศรีจันทร์ ผู้เสียหายกรณีสามล้อเอื้ออาทร กล่าวว่า โครงการของรัฐมีเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีอาชีพ ดังนั้นประชาชนไม่ควรถูกฟ้องคดีหรือเป็นผู้เสียหายจากโครงการนี้ แต่รัฐกลับปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานโครงการ และปล่อยให้มีสหกรณ์และสถาบันการเงินของรัฐดำเนินการจนสร้างปัญหา ทำให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกธนาคารฟ้องอย่างไม่เป็นธรรม จึงขอเสนอให้รัฐกำกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและถูกฟ้องคดี



สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรค ให้มีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ให้มีสภาผู้บริโภคแห่งชาติ หรือสภาพลเมือง เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวแทนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภคและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกระดับ นอกจากนี้ทุกพรรคการเมืองควรมีรูปธรรมการลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน เช่น เพิ่มงบบัตรทอง ปรับระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียว สนับสนุนให้ประชาชน มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เช่น บำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชน เรียนฟรีทั้งในระบบและนอกระบบ โดยผ่านการจัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดินในปัจจุบัน

สารี กล่าวอีกว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทางานคุ้มครองผู้บริโภค มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ การเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเลือกซื้อสินค้า สนับสนุน และส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอนโยบาย มาตรการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงช่วยเหลือผู้บริโภคในการดำเนินคดี โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ในการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯ ได้ เพื่อช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และยังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบาย สาธารณะของประเทศ ร่วมบริจาคผ่านบัญชี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (2) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 319 - 2 - 62123 – 1 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.