Thitivada Clanjiu

สื่อญี่ปุ่นชี้ “นาฬิกายืมเพื่อน” สะท้อนวัฒนธรรม “ลอยนวล” ของไทย

วารสาร “นิเคอิ เอเชียน รีวิว” ได้นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับกรณีที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมถูกพบว่าครอบครองนาฬิกหรูมากกว่า 25 เรือน มูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาห์ โดยถึงแม้สาธารณชนจะรับไม่ได้ แต่ก็ยังไร้ความรับผิดชอบจากผู้มากบารมีในรัฐบาลไทย

สื่อมวลชนญี่ปุ่นระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงสนับสนุนพลเอกประวิตรอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะทั้งคู่เคยเป็นผู้นำกองทัพ แต่กรณีอื้อฉาวนี้ก็ทำให้พลเอกประยุทธ์ตกที่นั่งลำบากที่สาธารณชนจะสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไป ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน

ในโลกออนไลน์ ข้อเรียกร้องให้ปลดพลเอกประวิตรมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 80,000 ชื่อ บรรดานักวาดการ์ตูนได้เสียดสีอดีตนายพลอย่างเปิดเผย สื่อต่างชาติเรียกขานว่า “นายพลโรเล็กซ์” กระแสนี้ทำให้รัฐบาลทหารหมดความชอบธรรมที่จะอ้างเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งอ้างมาตั้งแต่การทำรัฐประหาร

กรณีของพลเอกประวิตรเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับอีก 2 กรณีดัง คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ยอมรับว่าได้ยืมเงิน 300 ล้านบาทจากเพื่อนนักธุรกิจที่พัวพันกับธุรกิจอาบอบนวด และกรณีนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนท์ ที่ถูกจับกุมในข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตอุทธยานแห่งชาติ สื่อมวลชนญี่ปุ่นมองว่าทั้ง 3 กรณีนี้สะท้อนว่า คนรวยและมีชื่อเสียงในประเทศไทยแตะต้องไม่ได้ และได้รับสิทธิพิเศษในกระบวนการยุติธรรม ลูกหลานของผู้มีบารมีและคนใหญ่คนโตต่างลอยนวลเหนือกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของพวกเขาก็ตาม

คิงสลีย์ แอบบอต ที่ปรึกษากฎหมายขององค์กร International Commission of Jurists ระบุว่า วัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดอยู่คู่กับประเทศไทยมานมนาน ตั้งแต่ตำรวจที่ไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาคนดังได้ การสืบสวนที่ยืดเยื้อนานหลายปี โดยที่ไม่มีใครต้องรับผิดเลยสักคนเดียว

“นิเคอิ” ระบุว่า กลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2557 อย่างกว้างขวางต่างยอมรับต่อระบบที่ล้าหลังของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

ในปี 2560องค์กรความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 105 จาก 175 ประเทศในเรื่องคอร์รับชั่น ลดลงอย่างชัดเจนจากอันดับ 76 ในปี 2558

ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังบั่นทอนความเชื่อที่ว่า “รัฐบาลทหารปราบปรามคอร์รับชั่นได้กีว่ารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง” ผลการสำรวจระบุว่า การจ่ายเงินใต้โต๊ะในโครงการต่างๆ ของภาครัฐยังสูงถึง 25-30% ของงบประมาณมูลค่ากว่า 676,000 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติหลายรายยอมรับว่าต้องจ่ายสินบนมากถึง 30% เพื่อให้ชนะประมูลโครงการของรัฐ

ความเห็นของสื่อมวลชนและนักวิชาการก็เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลทหาร ที่อ้างว่ามีความชอบธรรมทางศีลธรรมเพื่อชดเชยความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง นักวิชาการระบุว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ “ล้มละลายทางศีลธรรม” และกรรณีอื้อฉาวของพลเอกประวิตรถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของเรื่องคอร์รับชั่นมากมายที่มีมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม คนวงในแวดวงทหารบอกกับ “นิเคอิ” ว่า พลเอกประยุทธ์จะยังคงยืนเคียงข้างพลเอกประวิตร เพราะทหารมักถือตัวว่า “รักและปกป้องประเทศชาติได้ดีกว่าพลเรือน” และยึดกับปฏิญาณที่ว่า “จะอยู่เคียงข้างและไม่ทอดทิ้งเพื่อน” แต่ในสถานการณ์เช่นนี้หากคนใดคนหนึ่งล้มลง ทั้งองคาพยพก็จะล้มตามกันเหมือนดั่งโดมิโน.

https://amp.mgronline.com/japan/9610000018521.html?__twitter_impression=true

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.