ลาติฟา โมฮัมเหม็ด อัลมัคตูม (ที่มา: Youtube/Free Latifa)

Posted: 25 Dec 2018 08:46 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 11:46

จากกรณีเจ้าหญิงลาติฟา โมฮัมเหม็ด อัลมัคตูม พระธิดาในราชวงศ์ดูไบของนายกฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ที่มีข่าวว่าหนีออกจากประเทศเพราะต้องการเสรีภาพ ต่อมาถูกจับและไม่มีข่าวอีกเลยตั้งแต่เดือน มี.ค. ทางการอาหรับเอมิเรตส์เผยแพร่ภาพถ่ายของเธอกับอดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อพยายามกลบข่าวลือ แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติยังคงเป็นห่วง

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศรายงานว่ามีการเปิดเผยภาพของเจ้าหญิง ลาติฟา โมฮัมเหม็ด อัลมัคตูม พระธิดาของประมุขแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยมีข่าวว่าเธอพยายามหนีออกจากประเทศเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ปีนี้

ภาพดังกล่าวถูกระบุไว้ว่าถ่ายเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นภาพชุดที่เผยให้เห็นลาติฟาอยู่กับแมรี โรบินสัน อดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ลาติฟาเป็นพระธิดาของโมฮัมเหม็ด บิน ราชีด อัลมัคตูม นายกรัฐมนตรีของ UAE ประเทศที่ประกอบด้วยเจ็ดรัฐ โดยก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าเธอไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะนับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. เป็นต้นมา มีการตั้งสมมติฐานว่าเธออาจจะพยายามหลบหนีออกจากประเทศ ผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าเห็นเธอขึ้นเรือยอร์ชออกจากชายฝั่งของอินเดียก่อนที่เรือลำดังกล่าวจะถูกสกัดจับและ UAE ก็บีบให้เธอกลับดูไบ อย่างไรก็ตาม ทางการ UAE ปฏิเสธการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าเธอกำลังพักอาศัยอยู่ที่บ้านกับครอบครัวของเธอ

เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลในหมู่กลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติ พวกเขาเรียกร้องให้ทางการพิสูจน์ว่าลาติฟายังคงปลอดภัย จนกระทั่งเมื่อ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของ UAE เปิดเผยว่าพวกเขาได้ส่งถ้อยแถลงเรื่องลาติฟาให้สำนักงานกลไกพิเศษของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็นระบุว่าเพื่อเป็นการโต้ตอบ "ข้อกล่าวหาเท็จ" เกี่ยวกับลาติฟา รวมถึงเป็น "หลักฐานว่าเธอยังคงมีชีวิตอยู่และอาศัยอยู่กับครอบครัว"

ถ้อยแถลงของ UAE ระบุว่าชุดรูปถ่ายที่โรบินสันอยู่กับลาติฟา ถูกถ่ายในช่วงบ่ายวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งลาติฟากับโรบินสันใช้เวลาร่วมกัน โดยพวกเขาเผยแพร่ภาพนี้โดยได้รับความยินยอมจากทั้งสองคนแล้ว ถ้อยแถลงระบุอีกว่าในช่วงที่โรบินสันมาเยือนดูไบนั้นเธอได้ทำให้แน่ใจว่าลาติฟาได้รับการดูแลและสนับสนุนอย่างดี

ก่อนหน้านี้ ลาติฟา เคยถ่ายวิดีโอของตัวเองความยาว 39 นาทีไว้ก่อนหน้านี้การพยายามหลบหนี โดยกล่าวถึงสาเหตุที่เธอพยายามหลบหนีออกจากดูไบซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองว่าเธอถูกทารุณกรรมและถูกคุมขังเป็นเวลาสามปี และบางครั้งก็เป็นการขังเดี่ยวหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2545 เธอเคยพยายามหลบหนีครั้งแรกเมื่อตอนที่เป็นวัยรุ่นมาแล้ว เธอกล่าวในวิดีโออีกว่าถ้าหากมีคนเห็นวิดีโอนี้แสดงว่าเธออาจจะเสียชีวิตแล้วหรือไม่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่แย่มากๆ

วิดีโอที่ออกมาเมื่อเดือน มี.ค. ระบุอีกว่าสาเหตุที่ลาติฟาต้องการหนีออกมาเพราะเธอต้องการเสรีภาพไม่อยากถูกจำกัดการเดินทาง เธอถูกห้ามไม่ให้ออกจากเมืองหลวงดูไบอีกโดยไม่ได้รับอนุญาต ลาติฟาบอกอีกว่าสำหรับใน UAE แล้ว "ถ้าคุณเป็นผู้หญิง ชีวิตของคุณถูกออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง"

ข่าวในช่วงนั้นระบุว่ามีเอลวี โฌวแบร์ อดีตสายลับชาวฝรั่งเศสกับเพื่อนชาวฟินแลนด์ของลาติฟาเป็นผู้ช่วยเธอหลบหนีขึ้นเรือยอร์ช โฌวแบร์เป็นผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวเรื่องราวของตัวเองที่หลบหนีออกจาก UAE ในปี 2551 หลังถูกกล่าวหาในข้อหาทุจริต พวกเขาถูกจับกุมชั่วคราวและได้รับการปล่อยตัวในเดือน มี.ค. และหนึ่งเดือนหลังจากนั้นราชวงศ์อัลมัคตูมก็แถลงโต้ตอบรายงานข่าวต่างประเทสว่าโฌวแบร์จับเจ้าหญิงไปเรียกค่าไถ่

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยแถลงถึงกรณีลาติฟาว่าเธอถูกลิดรอนเสรีภาพและเธอควรได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับทนายความและคนที่เธอรักได้ รวมถึงให้มีการปฏิบัติต่อเธออย่างเป็นธรรมในการดำเนินคดี แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องอีกว่าเธอควรได้รับการการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงให้เธอมีสิทธิในการเดินทางและเดินทางไปต่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล UAE เพิ่งจะออกถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่องเกี่ยวกับลาติฟาเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ระบุว่าพวกเขา "เสียใจอย่างมากที่สื่อพยายามตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้" รวมถึงบอกว่าลาติฟา "เป็นที่รักและได้รับการใส่ใจ" จากครอบครัวเธอ อย่างไรก็ตามสื่อซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสังเกตว่าภาพถ่ายล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเป็นภาพที่มีลักษณะรายละเอียดความคมชัดต่ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้รวมถึงโรบินสันก็ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้

UAE เป็นรัฐที่ประกอบด้วยเจ็ดรัฐหรือที่เรียกว่าเอมิเรตส์ ซึ่งเรียกตามตำแหน่งผู้นำรัฐคือเอมีร์ (emir) ได้แก่ อาบูดาบี ดูไบ อัจมาน ฟูไจรา ราส อัล ไคมา ซาร์จา และ อุม อัล คูเวน UAE ถูกปกครองด้วยสภาของเอมีร์จากเจ็ดรัฐ สภานี้เป็นผู้แต่งตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี เจ็ดแคว้นค่อนข้างมีความเป็นอิสระ โดย UAE มีราชวงศ์ทั้งสิ้นจำนวนหกราชวงศ์ด้วยกัน (ที่มา: BBC, Wikipedia)

เรียบเรียงจาก

Sheikha Latifa: Images of 'missing' Dubai princess released, BBC, 24-12-2018

UAE releases pictures of disappeared princess Sheikha Latifa, CNN, 24-12-2018

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.