แฟ้มภาพประชาไท
Posted: 23 Dec 2018 03:48 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-23 18:48
'สมชัย' เดินหน้าตรวจสอบปมระดมทุน 'พลังประชารัฐ' เผยมี 4 กรณีเข้าข่ายใช้ตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรให้ซื้อโต๊ะจีน จี้ กกต. ทำงานเชิงรุก ขู่หากเพิกเฉยเจอ ม.157 'จาตุรนต์' ระบุต่อให้คืนเงินโต๊ะจีนก็หนีผิดไม่พ้น ถือความผิดสำเร็จแล้ว ชี้เป็นภาระใหญ่ กกต.พิสูจน์เป็นกลางแค่ไหน
23 ธ.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากมีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานร่วมซื้อโต๊ะจีนภายในงาน ว่า ในมาตรา 73 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ มีข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง 4 รายการ ดังนี้
กรณีแรก เป็นโต๊ะจีนในนาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท ต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรี่ยไรหรือไม่ หรือหากตัวรัฐมนตรีเป็นผู้บริจาคเอง ตามกฎหมายระบุว่าจะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น อีก 2 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาจากไหน ต้องมีการตรวจสอบ
กรณีที่สอง เป็นโต๊ะจีนของนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค จำนวน 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท กรณีนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะหากนายอุตตมเป็นผู้บริจาคเองก็จบ แต่หากเงิน 3 ล้านบาทไปเรี่ยไรจากคนอื่นก็จะผิดในฐานะใช้ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ไปเรี่ยไรเงิน
“ส่วนกรณีนายณพพงศ์ ธีระวร หรือ ดร.เอก ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และ รมว.อุตสาหกรรม มีความลึกลับซับซ้อน เพราะมีการบริจาคจำนวนเงินที่สูงมากที่สุด มีการระบุว่าจองโต๊ะถึง 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท หาก ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาของ 2 รัฐมนตรีจริง และจ่ายเงินของตนเองจริง จะได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากการเรี่ยไรหรือไม่ แต่ในทางนิตินัยกลับพบว่า ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งพิเศษของรัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถือเป็นที่รับรู้ของสังคมเพราะมีการให้เครดิตตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ความจริง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง ซึ่งมาตรา 73 ไม่ครอบคลุมถึง จึงไม่เข้าข่ายข้าราชการการเมือง เอาผิดไม่ได้” นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนอยากชี้ให้สังคมเห็นว่า มีการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่หาเงินเข้าพรรค ดังนั้นคนที่เป็นรัฐมนตรีคนที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.เอก ต้องรู้จักละอาย และรับผิดชอบในเรื่องนี้ และกรรมการบริหารพรรคในฐานะที่เป็นองค์รวมของกิจกรรมนี้ ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครชักชวน ให้มาร่วมบริจาคหรือไม่
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนรายการที่ 4 คือ กรรมการบริหารพรรค 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท ซึ่งมี 7 คน ใน 26 คน ที่เป็นข้าราชการการเมือง จึงต้องไปตรวจสอบว่าทั้ง 7 คนนี้ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปชักชวนเรี่ยไรหรือไม่ ตนถือว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งต้องดูตามกฎหมายว่าจะพาดพิงถึงกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ซึ่งในมาตราที่ 27 กำหนดโทษไว้ชัดว่า ใครทำผิดมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
นายสมชัย ระบุว่าเรื่องนี้จึงต้องเดินหน้าต่อ และทั้ง 10 คน ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความผิด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และท้าทาย กกต. ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง แม้จะมีผู้บริหารของ กกต.บางคน พูดว่าระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้นั้น ขอให้กลับไปดูกฎหมายใหม่ เพราะในกฎหมาย กกต.มาตรา22 วรรครองสุดท้าย ระบุไว้ชัดเจนว่า ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดที่อาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม มาตรานี้เป็นไม้เด็ดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจ กกต.ไว้
นายสมชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับกรณีการจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรค เพราะกฎหมายมุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ถ้าตัวบุคคลมีความผิดก็ถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี พร้อมขอให้ กกต.อย่าทำงานเชิงรับ แต่ต้องติดต่อกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอดูรายชื่อแขกที่ร่วมงานทั้งหมด แผนผังจากออแกไนซ์ และต้องขอดูกล้องวงจรปิดภายในงานว่ามีใครบ้าง และข้อมูลจากสื่อที่ลงข่าว ว่าได้แผนผังมาอย่างไร
“จะให้เวลา กกต.ในการรวบรวมข้อมูล 1 สัปดาห์ ถ้ายังไม่คิดทำอะไร อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157 เพราะสังคมอยากเห็นการทำงานเชิงรุกของ กกต. เพื่อให้เห็นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่นอนรอว่าเมื่อไรจะครบ 60 วัน ที่พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดมาให้ เพราะประเด็นนี้เป็นที่สงสัยของสังคม มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการการเมืองไปทำให้เกิดประโยชน์และความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง กกต.จะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่เช่นนั้น กกต. จะเสื่อมศรัทธาไปมากกว่านี้” นายสมชัย กล่าว
'จาตุรนต์' ชี้ภาระใหญ่ กกต.พิสูจน์เป็นกลางแค่ไหน
วันเดียวกันนี้ (23 ธ.ค.) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการจัดโต๊ะจีนระดมทุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังมีข่าวหน่วยงานราชการบริจาคซื้อโต๊ะ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นภาระหนักทั้งของฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นแกนนำที่เป็นรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับความเป็นกลางของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้าราชการการเมือง เพราะการบริจาคเงินจำนวนมาก โดยปรากฏว่าผู้ซื้อโต๊ะเป็นกระทรวง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจบ้าง เข้าข่ายผิดกฎหมาย การที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจไปสนับสนุนด้วยการบริจาคเป็นเงินและทรัพย์สินให้แก่พรรคการเมือง นอกจากนั้น รัฐมนตรีไปร่วมงานด้วย ไปนั่งโต๊ะด้วย จากข้อมูลหลายโต๊ะเป็นการจัดหามาของรัฐมนตรีบางคน ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของเป็นข้าราชการการเมืองเป็นรัฐมนตรีแล้วไปเรี่ยไร
นอกจากนั้น ปัญหาคือใครบริจาคกันแน่ บริจาคจำนวนเท่าไร และถ้าบริจาคจำนวนมากเอาเงินมาจากไหน ส่วนคนที่มานั่งกินโต๊ะจีนที่เป็นข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะชี้แจงยากว่า มาในสถานะอะไร ใครเป็นคนซื้อโต๊ะให้กันแน่ เป็นเรื่องที่เข้าข่ายมีความผิดที่ร้ายแรง และจะชี้แจงแสดงหลักฐานยากมาก ในขณะที่กฎหมายพรรคการเมืองบังคับให้ต้องชี้แจงกับ กกต. และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะภายใน 30 วัน หากพบว่าเป็นความผิดต้องลงโทษผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งจะมีผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐโดยตรง จะเป็นความลำบากของ กกต.ในการพิสูจน์การทำหน้าที่ กกต.อีกครั้งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้อง กฎ กติกาโดยรวมด้วย คือ คสช.ยังแทรกแซงการทำงาน กกต.เป็นระยะ และไม่ได้ประกาศว่า จะไม่แทรกแซงอีก เพราะ คสช.ยังสามารถปลดกรรมการ กกต. อย่างที่ทำมาแล้วได้ด้วย เป็นเรื่องหนึ่งทำให้คงไม่มีใครแน่ใจ กกต.เป็นกลาง และทำได้ถูกต้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ การที่รัฐมนตรีไปชักชวนให้คนมาบริจาค หรือเข้าข่ายลักษณะเรี่ยไร มีปัญหาซ้อนเข้ามา คือ รัฐมนตรีเล่านี้ยังคงมีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์ และสามารถใช้อำนาจของการเป็นเจ้ากระทรวง ให้คุณ ให้โทษ กับห้างร้านเอกชนได้ และมีอำนาจกำกับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจได้ด้วย รวมถึงอาจเสนอเรื่องเข้า ครม.อนุมัติงบประมาณ หรือโครงการที่เอื้อกับเอกชนก็ได้ด้วย ปัญหาจึงมาอยู่ที่การที่ ครม.หรือรัฐบาลนี้ไม่อยู่ในสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการทำให้สามารถใช้อำนาจให้คุณให้โทษ และเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ตัวเองเป็นแกนนำ ปัญหาพันกันไปหมด แต่เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังอยู่ในสถานะที่สามารถใช้อำนาจเพื่อให้ได้เปรียบแก่พรรคการเมืองที่สนับสนุนเป็นนายกฯ ได้
เมื่อถามว่า การที่พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า หากตรวจสอบแล้วผู้ใดไม่สามารถบริจาคได้ตามข้อกฎหมายจะคืนเงิน ตรงนี้ถือว่าความผิดได้เกิดขึ้นก่อนแล้วหรือยัง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตอนจัดงาน และมีคนบริจาคมาแล้ว และรับเงินมาแล้วต้องเปิดเผย ถ้าจะคืนต้องชี้แจงและเปิดเผยเช่นเดียวกัน คนจะสนใจว่า คืนเพราะอะไร ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ที่คืนเงินนั้นผิดกฎหมาย ปัญหาตามมาคือความผิดได้สำเร็จไปแล้ว การคืนเงินก็ไม่ได้ทำให้พ้นผิดได้ แต่การพูดออกมาเร็วๆ ว่า ถ้าพบผิดจะคืน แสดงให้เห็นแล้วว่าที่ทำไปไม่ได้ระมัดระวัง หรือขั้นย่ามใจว่าจะทำอะไรก็ได้ และที่กระทบความรู้สึกคนมากคือ ทำไมถึงจัดงานครั้งเดียวได้เงินมหาศาลขนาดนี้ และเป็นเงินของราชการกับวิสาหกิจด้วย ซึ่งหมายความว่าเอาเงินประชาชนมาบริจาคให้พรรคการเมืองใช่หรือไม่ และคำถามใหญ่ที่ตามมาอีกคือจะใช้เงินมากขนาดนี้ไปทำอะไร
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า การลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเอาเปรียบทางการเมือง และประกาศจะอยู่เป็นรัฐบาลทำหน้าที่จนจบนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเอาไว้ในลักษณะเพื่อเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช. เอาเปรียบพรรคการเมื่องอื่นๆ คือ สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการที่จะใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปหาเสียงได้ตามใจชอบ ซึ่งผิดหลักการที่จะทำให้การเลือกตั้งเสรีเป็นธรรม และยังเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ซึ่งจะแก้ได้ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กับครม.ลาออก แล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในการเป็นรัฐบาลรักษาการ ส่วนการแก้ได้ในการเป็นหัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศไม่ใช้อำนาจ คสช.แทรกแซงการทำงาน และเวลานี้ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามที่จะเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็พูดออกมาแล้วจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อเป็นแคนดิเดต เพียงแต่ยังไม่เป็นทางการ แต่เมื่อเป็นทางการจะเห็นภาพรวมชัดเจนของการใช้วิธีสารพัดที่ไม่ชอบธรรม เพื่อการเป็นนายกฯ ต่อไป
การที่พรรคพลังประชารัฐประกาศถ้าเลือกพรรคตนเองเข้าไป จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ชัดยิ่งกว่าชัดอยู่แล้ว แต่นั่นก็เป็นข้อดีอยู่เหมือนกัน ทำให้คนไทยตัดสินใจง่ายขึ้นว่าถ้าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และบริหารประเทศอย่างที่บริหารมาแล้ว 4-5 ปี นี้ต่อไป ก็ให้เลือกพรรคพลังประชารัฐ ถ้าไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ และต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่างชัดเจน ตนคิดว่าจากการที่พรรคพลังประชารัฐประกาศขึ้นมาอย่างนี้ จะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่าขณะที่กลไกหลังการเลือกตั้งต้องจับตาดูด้วยแน่ เพราะแนวโน้มที่พรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงสูงถึง 126 เสียงขึ้นไป มันยากมาก ใครที่ติดตามการเมืองมาจะรู้ว่ายากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นส่ิงที่น่าติดตามคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งฐานะนายกฯ และฐานะหัวหน้า คสช. จะใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของ กกต. และแทรกแซงผลการเลือกตั้ง และใช้อำนาจของตนเองไปบีบคั้นพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ตนเป็นนายกฯ อย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ส่วนทางเลี่ยงที่จะไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง และไปบีบคั้นพรรคการเมืองให้ไปสนับสนุนตนเองเป็นนายกฯ นั้น
"สิ่งที่ทำได้ง่ายสุด คือ การที่ประชาชนพร้อมใจกันไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และทำให้พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็จะทำให้เราสามารถป้องกันเดตล็อก หรือวิกฤติการเมืองที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันการใช้อำนาจ คสช.แทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลได้" นายจาตุรนต์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น