Posted: 20 Dec 2018 11:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-12-21 02:0


ศรันย์ สมันตรัฐ

‘non ridere, non lugere, neque destastari, sed intelligere’

‘ไม่หัวเราะ ไม่โศกสลด ไม่สาบส่งแช่งส่ง แค่ทำความเข้าใจ’

-Spinoza-

“They occupy the whole landscape of my thought”

-James Grover Thurber-

ภูมิทัศน์ คือ คำ ที่น่าหลงใหล สำคัญนัก และ กำกวม

Landscape is an attractive, important and ambiguous term.

-D.W.Meinig-

ที่ดึงดูดน่าหลงใหลเพราะคำนำพาจิตใจไปสู่ความน่ารื่นรมย์น่าพอใจแห่งสถานที่ในความทรงจำข้างนอกประตู อาจทำให้เรารำลึกถึงสภาวะแวดล้อมและสภาพนิเวศวิทยา อาจช่วยให้เราตระหนักในการออกแบบและใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา หรือ น้อมนำให้เราวาดและถอดทำความเข้าใจทัศนียภาพอันตรึงใจ หรือ เป็นหนทางให้เราเข้าใจระบบของมวลมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติ

ที่มันสำคัญเพราะมันเป็นพาหะความหมายมากมายมหาศาล เป็นสหวิทยาการศิลปศาสตร์ และ เป็นพื้นที่สาธารณะ

ศิลปิน, นักวิทยาศาสตร์ธรณีสัณฐาน, สถาปนิกและนักวางผังเมือง, นักภูมิศาสตร์ และ นักประวัติศาสตร์ต่างถือว่า “ภูมิทัศน์”เป็นคำเฉพาะทางวิชาการ (technical term) และมีมิติตรงต่อนโยบายการเลือกแนวทางพัฒนาการการจัดการประเทศภูมิภาคเมืองและชนบท แต่ที่สำคัญเหนือกว่าที่กล่าวมาทั้งหมด คือ เพราะภูมิทัศน์คือโลกทั่วไปที่ถูกขยายตัดปรับแต่งใช้ แล้วตีวงล้อมผนึกเป็นมวลรวมประดาโฉมหน้าสามัญทั้งหลายแล้วย้อนกลับมาสถาปนาสาเหตุและลักษณะการแสดงออกอันพิเศษเฉพาะเจาะจงของสังคมไม่ว่าสังคมใด

และเพราะว่า “ภูมิทัศน์” ถูกหยิบใช้จากผู้คนวงการมากมายและหลากหลายวัตถุประสงค์มันจึงกำกวมยิ่ง เราต้องเตือนตัวเองว่าไม่ควรคาดหวังคำจำกัดความที่สะอาดหมดจดได้ แต่เราอาจลดความกำกวมนี้จากการเทียบเคียงกับคำที่มีความหมายใกล้เคียง

แม้ว่าภูมิทัศน์จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติ-Nature แน่ แต่ก็ทดแทนกันไม่ได้ ธรรมชาติเป็นองคาพยพของทุกภูมิทัศน์ แต่ก็ไม่มากไปกว่าส่วนอื่นของภูมิทัศน์นั่นคือส่วนที่มันมีผลกระทบต่อผู้คน ในแง่นี้ภูมิทัศน์ก็เป็นสิ่งเฉพาะเจาะจงร่วมระหว่างธรรมชาติกับผู้คนมากกว่าจำแนกแยกออกอย่างน้อยก็ในสาขาที่ไม่คุ้นกับ“ธรรมชาติ”เช่นศิลปะและวิทยาศาสตร์ธรณี อันที่จริงแล้วมโนทัศน์ภูมิทัศน์อยู่ไม่เห็นคล้อยตามไปกับการแบ่งคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเลย แม้ว่าการเริ่มต้นดูเหมือนจะเป็นภาพของการผสมปนเปอย่างสับสนของชีววิทยาวิทยาศาสตร์กายภาพและวัฒนธรรมซึ่งแสดงออกรายล้อมอยู่รอบตัวเรา ทว่าเหนือกว่าสิ่งอื่นภูมิทัศน์คือเอกภาพของผู้สังเกต ความประทับใจของมนุษย์ที่มีต่อภูมิทัศน์ก็เป็นมากกว่าตรรกะทางวิทยาศาสตร์

แม้ว่าทุก ภูมิทัศน์ คือ ทัศนียภาพ แต่ภูมิทัศน์ก็ไม่อาจแทนที่กันได้กับทัศนียภาพ-scenery อีกนั่นแหละ

ความหมายของทัศนียภาพก็มีขอบเขตจำกัดตามสำนึกเลือกสรร เช่น ที่เกิดเหตุการณ์,ชนิดของชนบทที่มีคุณค่าน่าหลงไหลด้วยสุนทรียภาพบางประการในขณะที่ภูมิทัศน์คือสิ่งที่อยู่ทุกหนแห่งและมีนัยถึงบางสิ่งที่ถูกสำรวจตรวจตราแต่ก็ไม่จำเป็นต้องน่าหลงใหล แม้ว่าความสนใจในภูมิทัศน์มักประกอบด้วยสุนทรียภาพเสมอแต่ภูมิทัศน์ไม่ถูกกำหนดนิยามจากสุนทรียภาพ-aesthetic (แต่กลับกัน)ภูมิทัศน์ศิลปะหรือภูมิทัศน์ศึกษากลับจำเป็นต้องมี ปรัชญา รสนิยม และ อัตตวิสัย ที่นำสู่การยกระดับแบบแผนและความเข้มข้น (style and emphasis)

ภูมิทัศน์ คือสิ่งที่รายอยู่รอบตัวเราทุกหนแห่ง แม้ภูมิทัศน์เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม-environment แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นคุณสมบัติที่ถาวรและแยกไม่ออกจากทุกพีชชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่แวดล้อมและยังชีวิตให้อยู่ ภูมิทัศน์แคบจำกัดกว่านั้นไม่ครอบคลุมเรื่องยังชีวิต ภูมิทัศน์ถูกนิยามด้วยมุมมองของเราด้วยการแปลความจากจิตใจของเรา

“สิ่งแวดล้อมยังชีพเราในฐานะสรรพชีวิตสิ่งสร้าง ภูมิทัศน์จัดวางเราในฐานะวัฒนธรรม”-“Environment sustains us as creatures; landscape displays us as cultures.”-Meinig


ทำนองเดียวกัน ภูมิทัศน์สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องแต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับสถานที่-places สถานที่ระบุถึงพื้นที่ที่มีขอบเขตกำหนดชัดเจน ส่วนที่คล้ายกันคือมันก็เป็นคำที่มีความกำกวมเช่นเดียวกัน สถานที่มีความหมายทั่วไปกำกวมแตกต่างกันระหว่างความหมายทางสังคมและความหมายทางปัจเจก แบบแรก (certain areas as places) สถานที่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงทางสังคมเช่นชื่อเฉพาะตำแหน่งแห่งที่ความเฉพาะหรือเอกลักษณ์ที่มีรับรองทางกฎหมาย แบบหลัง (a personal sense of place) ขึ้นกับประสบการณ์ส่วนตนและความลึกซึ้งละเอียดอ่อนต่อของแต่ละคน (เมื่อไรก็ตามที่เราตระหนกถึงความเบลออันไร้ขอบเขตของโลกและเราซ่อมแซมด้วยชิ้นส่วนของสิ่งแวดล้อมของเรา,บางอย่างที่เฉพาะเด่นชัดและอยู่ในความทรงจำ) ในแง่นี้สถานที่จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ภูมิทัศน์ไม่ใช่ แม้ว่าวิถีที่เราใช้มองภูมิทัศน์ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความคาดหวัง กระนั้นภูมิทัศน์ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ออกไปด้านนอกและเป็นภววิสัยกว่าความรู้สึกส่วนบุคคลต่อสถานที่ (a personal sense of place) เป็นเรื่องสัมผัสต่อเนื่องมากกว่าเป็นจุดโฟกัส,ตำแหน่งแห่งที่,หรือ พื้นที่อันนิยามเฉพาะ

แม้ว่าภูมิทัศน์จะเป็นส่วนหนึ่งและเกี่ยวเนื่องต่อส่วนของผิวโลกอย่างแน่นอน แต่ก็ภูมิทัศน์ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ ภูมิภาค, พื้นที่ หรือ ภูมิศาสตร์ มันมีทั้งความสลับซับซ้อนและความกำกวมคลุมเครือ ณ จุดนี้ที่ซึ่งสำคัญและบางครั้งก็ก่อกวนไปในศาสตร์ภูมิศาสตร์ ...จุดเน้นหนักที่แตกต่างกันของเป้าหมายนำไปสู่ลักษณะทั่วไปที่แตกต่างกันของแต่ละศาสตร์ ในแง่ภูมิศาสตร์การใช้แผนที่เป็นเครื่องมือปัจจัยพื้นฐานมีส่วนเป็นกระดุมเม็ดแรกเป็น สัญญะหลักของความสัมพันธ์ทางที่ว่างและใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ได้กว้างขวางและก็ไม่จำเป็นต้องตรงกับเป็นส่วนที่มองเห็นได้ของภูมิทัศน์ ภูมิทัศน์ไม่จำกัดเครื่องมือและการเห็นตรงด้วยตาสำคัญมากความแจ้งชัดของชีวิตประจำวันบนโลกเป็นเรื่องที่ภูมิทัศน์ให้ความใส่ใจ แต่ทักษะของภูมิศาสตร์เป็นคุณูปการต่อภูมิทัศน์แน่นอน



เรายืนยันคำ ภูมิทัศน์ธรรมดาสามัญ ‘ordinary landscape’เพื่อเจาะจงให้เห็นความมุ่งหมายหลักของเราในการศึกษาความต่อเนื่องของผิวสัมผัสที่เราสามารถเห็นได้รอบตัวเรา ใช่ในแง่ ภูมิทัศน์ เรายอมรับแน่นอนว่าไม่สามารถศึกษาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราพยายามที่จะมอง เห็นองคาพยพของสิ่งที่เราศึกษาในบริบทในฐานะที่เป็นส่วนย่อยของมวลรวมซึ่งอยู่ภายใต้การสรรค์สร้างอันต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากกระบวนการที่ไม่ได้ตั้งใจในชีวิตประจำวันและจากการออกแบบภูมิทัศน์ที่รอบคอบ ตราบเท่าที่เรายังเพ่งความสนใจเจาะจงเป็นพิเศษในภูมิทัศน์เรากำลังติดต่อตกลงอย่างหลักการสำคัญกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Insofar as we focus on particular landscapes, we are dealing primarily with vernacular cultures.) ด้วยความหมายแนวเช่นนี้ การศึกษาทางภูมิทัศน์คือ การร่วมทางแบบหนึ่งของแบบแผนการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมซึ่งเสาะแสวงหาความใจต่อวิถีชีวิตวันต่อวันของผู้คนธรรมดา อันที่จริงความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมนี้ก็ใกล้ชิดยิ่งนักเมื่อพิจารณาว่าการศึกษาภูมิทัศน์เริ่มต้นจากปัจจุบันอันโจ่งแจ้ง ‘palpable present’ ซึ่งนั่นคือที่เราต้องไปไกลกว่าสิ่งที่เห็น, การแปลถอดความหมายมีความจำเป็นมากกว่าการมองกราดไปยังประดาวัตถุอันแจ้งโจ่งครึ่มในตัวมันเอง

แต่ความหมายของธรรมดาสามัญ (ordinary) นั้นชัดเจนมาก เราถือเอาภูมิทัศน์ทั้งปวงประหนึ่งสัญลักษณ์, ประหนึ่งการแสดงออกของคุณค่าของวัฒนธรรม, พฤติกรรมทางสังคม, และ การกระทำของปัจเจกชนที่ทำงาน ณ ตำแหน่งแห่งที่เฉพาะในห้วงเวลาหนึ่ง ทุกทุกภูมิทัศน์คือการประสมรวมกันและการศึกษามันอาจต้องใช้แบบแผนทางประวัติศาสตร์,การนิยามที่มีมิติทางวิธีวิทยา,เพื่อขึงภาพภูมิทัศน์จำหลักจากอดีตให้ถึงปัจจุบัน และทุกทุกภูมิทัศน์คือรหัสหนึ่งรหัสและการศึกษามันอาจต้องให้การถอดรหัสค้นทั้งทางวัฒนธรรมและความหมายที่ธรรมดาสามัญแล้ววินิจฉัยโฉมหน้านั้น

ทั้งหมดนี่ไม่ใช่บัญญัติรูปแบบการศึกษาภาคบังคับ แต่คือการสำรวจเข้าไปในความเป็นไปได้และเชื้อเชิญให้ทุกคนได้เข้าไปด้วยกัน ยังมีอาณาบริเวณอีกมากมายมหาศาลที่จำเป็นต้องมีนักสำรวจอีกคนหลายหลายแบบแผน ภูมิทัศน์นั้นอัดแน่นไปด้วยหลักฐานและสลับซับซ้อนยิ่ง ซ่อนรหัสที่เราก็ไม่ควรแน่ใจได้เลยทีเดียวว่าเราได้อ่านมันออกทั้งหมดแล้ว หรือว่าเราอ่านไปแล้วถูกต้องหรือไม่ ภูมิทัศน์นั้นอยู่รายรอบตัวเราเข้าถึงได้เสมออย่างไม่สิ้นสุด สิ่งที่ใครก็อาจเห็นได้แต่เราอาจต้องการการเห็นหลายแบบ ทัศนียภาพต่อเนื่อง ภาพองค์ประกอบศิลป์ รหัสที่เขียนทับภาพ ภาพขยายจุลภาค ในคราวเดียวกัน ภูมิทัศน์ในทุกทุกอนาคตที่จะมีอีกมากมหาศาลที่รอคอยจักษุสัมผัสให้ความหมาย

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรันย์ สมันตรัฐ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หมายเหตุ: แปลเรียบเรียงจาก Introduction to ‘The Interpretation of Ordinary Landscapes’, Meinig & Jackson, (1979 : 1-6)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.