Posted: 25 Dec 2018 09:47 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-26 00:47


ครม. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมส่งให้ สนช.พิจารณา ให้กลุ่มคู่รักหลากหลายทางเพศจดทะเบียนคู่ชีวิต สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน รวมถึง สามารถให้สิทธิยินยอมทางการแพทย์ และการดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตได้

25 ธ.ค.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ (25 ธ.ค.) ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเสนอ หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพิจารณาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง ทำการศึกษาค้นคว้า และเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศต่างๆ กับบริบทสภาพสังคมของประเทศไทย ในการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

“เงื่อนไขในการจดทะเบียนคู่ชีวิต สามารถทำได้ในกรณีที่บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพศเดียวกัน สมรสกัน ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติ สืบสายโลหิตระหว่างกัน และการจดทะเบียนคู่ชีวิต ให้ทำที่สำนักทะเบียน ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด” ณัฐพร กล่าว

ณัฐพร กล่าวว่า สำหรับสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต กำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือ อุปการละ เลี้ยงดูกัน รวมทั้ง ให้มีสิทธิในฐานะคู่ชีวิต อาทิ สิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล อำนาจจัดการศพ การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ การจัดการทรัพย์สิน การรับมรดก

“แต่ไม่รวมถึงการรับบุตรบุญธรรม การเปลี่ยนคำนำหน้านาม การเปลี่ยนชื่อสกุล รวมทั้ง สวัสดิการของรัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหลายฉบับ รวมถึง งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการ ตลอดจนปรับแก้กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” ณัฐพร กล่าว

ณัฐพร กล่าวว่า ส่วนการยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต สามารถสิ้นสุดลงได้ด้วยความตาย การแต่งงานหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลอื่น และกระบวนการฟ้องร้องทางศาล และว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำเนินการลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นจากการรับรองสถานะ และจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อเป็นการรับรองสิทธิเบื้องต้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การสมรสที่เท่าเทียมกันต่อไป

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ประกอบด้วย 6 หมวด 44 มาตรา ดังนี้

1. อารัมภบท (มาตรา 1 – 4 ) กำหนดเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย คำนิยามสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะ คำว่า “คู่ชีวิต” รวมทั้งกำหนดรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

2. หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 5 – 20) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการจดทะเบียนคู่ชีวิต ตลอดจนความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต

3. หมวด 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 21 – 24) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต

4. หมวด 3 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 25) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต

5. หมวด 4 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 26 – 41) กำหนดเหตุที่ทำให้การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง หลักเกณฑ์การสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิต การขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และเหตุแห่งการฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต ตลอดจนผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต

6. หมวด 5 มรดก (มาตรา 42- 43) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต

7. หมวด 6 อายุความ (มาตรา 44) กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่ชีวิตภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.