Posted: 23 Dec 2018 07:38 AM PST
Submitted on Sun, 2018-12-23 22:38

ใบตองแห้ง

พรรคอนาคตใหม่ ถูกหยามหยัน “ไพร่หมื่นล้านกระอัก” ไพรมารีโหวตทำพรรคแตก คนไม่พอใจถูกตัดชื่อ ออกมาโวยวาย แห่ลาออก


ก็เป็นที่สะใจ ของคนอยากให้คว่ำ รอกระทืบซ้ำ ให้อนาคตหมดไหม้ ทั้งที่ถามกลับ มีพรรคการเมืองไหนมั่งวะ ยอมให้ทำไพรมารีโหวต แม้ผลที่ออกมาอาจตำหนิได้ว่า ไร้เดียงสา โลกสวยเกินไป

พรรคการเมืองเพิ่งตั้งใหม่ เพิ่งรับสมาชิก ยังทำไพรมารีไม่ได้ คุณไม่ใช่เดโมแครต รีพับลิกัน อย่างน้อยต้องมีสมาชิกมั่นคง 1-2 ปีขึ้นไป ไม่ใช่เป็นสมาชิกไม่กี่วันก็มีสิทธิโหวตผู้สมัคร ขณะที่ยังมีผู้นิยมพรรค ไม่ได้สมัครสมาชิกอีกมากมาย

พูดง่ายๆ ในเขตเลือกตั้ง อาจมีคนนิยมอนาคตใหม่ 2-3 พัน แต่ไพรมารีโหวตชนะกัน 150-140 มันไม่ได้แปลว่าผู้ชนะเหมาะสม กว่า แต่อาจแปลว่าผู้ชนะหาคนมาสมัครสมาชิกได้มากกว่า

พรรคจึงต้องมีกรรมการสรรหา ตรวจคุณสมบัติ นี่อยู่ในหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ เพียงมีปัญหาคือเวลาตัดชื่อใคร แล้วเขาโวยวาย พรรคก็บอกสาธารณะไม่ได้ ว่าคนนี้ไม่เหมาะสมอย่างไร เพราะจะกลายเป็นประจาน จึงถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ว่าพรรคตัดชื่อถูก หรือมีอคติ

นั่นเป็นข้อสรุป ไม่น่าทำไพรมารีโหวตเอาชนะกัน พรรคตั้งใหม่ควรใช้ประชาธิปไตยแบบซาวเสียง ปรึกษาหารือ ผ่านไป 1-2 สมัย มีสมาชิกแน่นอนมั่นคงค่อยโหวตแข่งขัน

ย้ำอีกที นี่เป็นบทเรียนพรรคการเมืองมวลชน เราไม่ได้พูดถึงพรรคที่ตั้งด้วยพลังอำนาจรัฐ อำนาจเงิน นั่นเขาจิ้มตัวผู้สมัครได้ ใครจะโวยวายก็อุดปาก ต่างตอบแทน หรือถ้าเป็นพรรคการเมืองเก่า นั่นเขามีฐานมวลชนแน่นอนในภาคของตน ประกาศิตได้ว่าจะให้ใครเป็นเสาไฟฟ้า

ความขัดแย้งในอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผลประโยชน์ เพราะคงไม่มีใครคิดว่าจะชนะ ส.ส.เขต และพรรคก็ไม่ได้ช่วยเงินมากมาย นอกจากบางคนที่หวังอิงกระแสธนาธร ได้คะแนนไปไต่เต้า ส่วนใหญ่ขัดแย้งกันเพราะ “เสียความรู้สึก” เสียมากกว่า แต่นี่เป็นปัญหาสำคัญ ของพรรคการเมืองมวลชนที่ตั้งด้วยอุดมคติ ทุกยุคสมัย

อ้าว พรรคอุดมคตินี่แหละ แตกง่าย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เขียนไว้

“เพราะแกนนำและสมาชิกส่วนมากมาด้วยอุดมการณ์เสรี ความคิดหลากหลาย เป็นปัจเจกสูง การทำงานร่วมกันเป็นระบบที่เอาพรรคเป็นที่ตั้งจึงยาก ต้องกอดคอฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันจึงจะหลอมรวมเข้าด้วยกันได้ ปัญหาอุปสรรคมีทั้งเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ความขัดแย้งทางความคิด นิสัยสไตล์การทำงาน ตำแหน่ง ผลประโยชน์ในพรรค ไปจนถึงลาภยศและภัยอันตรายจากนอกพรรค พรรคมวลชนทั้งหลายจึง “โตแล้วแตกๆ ๆ” ซ้ำไปเรื่อย ในแต่ละครั้ง คนที่พ้นออกไปมีทั้งคนเก่ง คนมีอุดมการณ์ แกนนำ ผู้ปฏิบัติงาน สมาชิก”

อนาคตใหม่นี่ยังไม่ทันมีผลประโยชน์ แต่แค่ตำแหน่งผู้สมัคร ก็แตกได้ (เดี๋ยวมีปาร์ตี้ลิสต์ ทำใจ)

ธรรมชาติของคนมีอุดมการณ์ โดยเฉพาะลิเบอรัล เป็นอย่างนั้นจริง ปัจเจกสูง ขัดแย้งง่ายตั้งแต่เรื่องความคิด ท่าที วิธีการทำงาน ไปกระทั่งขี้หมูราขี้หมาแห้ง แถมเป็นเรื่องธรรมดา ที่ในฝ่ายก้าวหน้า ย่อมมีตัวกูก้าวหน้ากว่า

อนาคตใหม่เป็นพรรคที่พยายามรวมความคิดหลากหลาย มีตั้งแต่ซ้ายเก่า แดง เหลือง คนกลางๆ จนถึงคนรุ่นใหม่ที่มี ความคิดเฉพาะทาง ซึ่งเป็นทั้งจุดด้อยจุดเด่น เพราะยิ่งหลอม รวมยาก แต่หากไม่หลากหลาย จะเป็นอนาคตใหม่ได้อย่างไร

พรรคจึงถูกเรียกร้องให้มีจุดยืนประชาธิปไตยหนักแน่น เข้มข้น นำเสนอนโยบายที่มีไอเดียใหม่ๆ นำประเทศก้าวพ้นกับดัก พร้อมกับลบล้างผลพวงรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันในวิธีการทำงานต้อง Compromise ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นข้อต่อ ต้องถนัดในการทำงานความคิดคน การโน้มน้าวจูงใจ ซึ่งไม่ใช่ลิเบอรัลเก่งกล้าจะทำได้ทุกคน

จากจุดเริ่มต้นที่กระแสสูง มวลชนต้อนรับกว้างขวาง พอลงสนามสู่งานจัดตั้ง สู่การเมืองระบบเลือกตั้ง จึงพบว่ามันไม่ง่าย เกิดปัญหามากมาย แม้แต่กองเชียร์ฝ่ายลิเบอรัล ก็รู้สึกไม่ได้ ดังใจ ในแง่ของความสมดุลระหว่างจุดยืนกับการ Compromise แบบ “เหวเฌอปราง”

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปกป้อง หรือพร่ำบอกต้องให้เวลาให้โอกาส เพราะพรรคก็ต้องปรับตัว กองเชียร์ก็มีสิทธิวิจารณ์ (กองแช่งช่างหัวมัน) ทั้งพรรคและมวลชนต้องผ่านการเรียนรู้ คนเรามักจะเริ่มต้นด้วยการหวังสูง ถูกกระชาก แล้วก็กลับไปมองอย่างเป็นจริงอีกครั้ง

อนาคตใหม่ควรคิดเสียว่านี่คือการทดลองสร้างพรรคมวลชน ไม่จำเป็นต้องหวังได้ ส.ส.มาก แค่พอมีปากเสียงหลังเลือกตั้ง แล้วท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ให้คนเสียดาย เขกหัวตัวเอง “ทำไมตอนนั้นไม่เลือกอนาคตใหม่วะ” ก็เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่



เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1982104

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.